ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เชิญร่วม รำลึกสี่ปีการจากไป... ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล



เชิญร่วม “รำลึกสี่ปีการจากไป... ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล”
ณ ร้านหนังสือ “TPNews” อิมพีเรียลลาดพร้าว ชั้น 4 (เยื้องลิฟต์แก้ว)
วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556

กำหนดการ

13.30-13.40 น. คุณจอม เพชรประดับ กล่าวนำ
13.40-14.00 น. วิดีโอลิ้งค์ คุณจักรภพ เพ็ญแข เรื่อง "มรดกของลุงสุพจน์"
และ กล่าวเปิด
14.00-15.00 น. คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ผู้ก่อตั้ง นปช. สนทนาเรื่อง
"สุพจน์ ด่านตระกูล... ในความทรง จำของผม"
15.00-16.00 น. อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ก่อตั้ง กลุ่มนิติราษฎร์ สนทนาเรื่อง
"คุณูปการของสุพจน์ ด่านตระกูล ต่อการพัฒนา
ประชาธิปไตยไทย"
16.00-17.00 น. คุณดอม ด่านตระกูล สนทนาเรื่อง "ลูกสาวเล่าถึงพ่อ"
17.00น. คุณป้าโสภณ ด่านตระกูล ภรรยาลุงสุพจน์ฯ กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานตลอดจนวิทยากรมอบของที่ระลึก
17.15น. คุณจอม เพชรประดับ กล่าวสรุปและปิดงาน
*******************************************************************

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ถอดรหัสคึกฤทธิ์ใน “ไผ่แดง” (ตอนที่ ๑)


คอลัมน์ หนังสือกับประชาธิปไตย นิตยสาร Red Power ฉบับที่ ๓๑ (ธันวาคม ๕๕)
ตอน ถอดรหัสคึกฤทธิ์ใน ไผ่แดง” (ตอนที่ ๑)
โดย จักรภพ เพ็ญแข

นักอ่านที่มีอายุเกิน ๔๐ ปี น่าจะคุ้นเคยกับงานเขียนที่โด่งดังมากอีกเรื่องหนึ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นงานเขียนที่สะท้อนความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของตัวผู้เขียนและสังคมไทยได้ดียิ่ง ด้วยเป็นงานผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องของชาวบ้านอย่างมีชีวิตชีวาแบบที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ถนัดนัก กับการทำภารกิจต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคที่ต่อมาเรียกกันว่า สงครามเย็นผู้เขียนจะรับงานจากใครมาเขียนหรือจะเขียนเองด้วยอุดมการณ์ฝ่ายขวาของตนก็สุดจะเดา รู้เพียงว่า งานที่เขียนเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร ชาวกรุงเล่มนี้กลายเป็นงานการเมืองเต็มรูปแบบที่รับใช้ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งในภาวะเผชิญหน้าในครั้งนั้นอย่างเต็มสูบ และที่น่าสนใจก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ไม่ค่อยได้พูดถึงงานชิ้นนี้ในเวลาต่อมานัก ผิดกับ สี่แผ่นดิน” “หลายชีวิต” “ห้วงมหรรณพและอีกหลายเล่มที่ผู้เขียนมักนำมาคุยถึงด้วยอารมณ์สนุกและภาคภูมิใจอยู่เนืองๆ ทั้งที่งานชิ้นนี้แพรวพราวไปด้วยศิลปะการประพันธ์อย่างยากที่จะหางานอื่นมาเปรียบได้ แถมยังเน้นอุดมการณ์แบบ ไทยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พยายามตีตราประทับเอาไว้ให้มั่นคง ทั้งความยอมรับในวิถีชีวิตแบบไทย รวมทั้งให้ยอมรับในความยากจนและความด้อยพัฒนาแบบสุดขั้ว การหลงรักในสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องตั้งคำถาม ความเข้มแข็งของชาวบ้านในการต่อต้านลัทธิที่เห็นว่า แปลกปลอมเข้ามา แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็ไม่นิยมนำหนังสือเล่มนี้มาเอ่ยอ้างถึง ซึ่งทำให้น่าสงสัยว่างานชิ้นนี้อาจเป็นภารกิจเฉพาะหน้าที่ทำแล้วก็อยากให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ต้องมานั่งจดจำกันอีก แบบที่ทางจิตวิทยาใช้คำว่ามีปมความผิดหรือ guilt complex

ไผ่แดงคือหนังสือเล่มที่ว่านี้

ผมอ่าน ไผ่แดงครั้งแรกมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมและอ่านอย่างชื่นมื่นสนุกสนานซ้ำแล้วซ้ำอีกมาจนถึงปัจจุบัน ความรู้สึกที่ไม่ได้เปลี่ยนแปรไปตามเวลาก็คือความชื่นชมในศิลปะของผู้เขียน ซึ่งสามารถนำความเป็น ชาวบ้านมาเล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนาน แถมยังยิ่งใหญ่เกรียงไกรและกลายเป็นกลไกส่งเสริมระบอบรัฐไทยเพื่อสู้กับศัตรูหมายเลขหนึ่งในครั้งนั้นอย่างมีประสิทธิภาพอีกต่างหาก การเล่าถึงฉากหลัง การวางบุคลิกตัวละคร การเดินเรื่องอย่างฉับไวราวภาพยนตร์ ล้วนทำด้วยมือครู ไม่น่าแปลกใจที่ผู้เขียนจะได้รับผลสัมฤทธิ์ในทางการเมืองสมตามความตั้งใจของตน

แต่เมื่อผมมาอ่านงานชิ้นนี้ซ้ำ ซ้ำในห้วงเวลาที่บ้านเมืองเกิดการแบ่งแยกอุดมการณ์และความเชื่อแบบกีฬาสีคือ แดง เหลือง ชมพู และหลากสีขึ้นแล้ว มีอะไรบางอย่างที่กระโดดออกจากตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันสวยงาม อันเป็นสิ่งใหม่ที่ผมไม่ได้นึกคิดมาก่อน สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นผลการสังเกตอาการใหม่ๆ เหล่านั้น เหมือน แดน บราวน์ ที่เห็นอะไรหลายอย่างกระโดดออกจากงานศิลปะของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ื แล้วนำมาแต่งนวนิยายเรื่อง The Da Vinci Code จนทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์สายธารที่สองที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะถูก ประวัติศาสตร์สายหลักทับซ้อนจนมิด

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เริ่มต้นว่า...

ถ้าหากว่า จะมีเทวดาตนใดเหาะเหินเดินอากาศจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางเหนือของพระมหานครนั้นประมาณแปดสิบหรือเก้าสิบกิโลเมตร ด้วยระยะทางที่เทวดาเหาะ เทวดาตนนั้นจะมองเห็นคลองเล็กๆ สายหนึ่ง แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเลื้อยคลานเข้าไปอย่างลดเลี้ยว ถ้าหากว่าเทวดาตนนั้นจะเหาะตามคลองนั้นเข้าไป โดยไม่เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นาและควาย ในไม่ช้า เทวดาตนนั้นจะมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ หมู่หนึ่ง มีบ้านคนไม่กี่สิบหลังคาเรือน มีจำนวนคนอยู่ไม่กี่ร้อยคน กลางหมู่บ้านนั้นมีวัดซึ่งเป็นวัดที่แสดงฐานะทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านนั้นเองให้เห็นได้ว่าไม่รุ่งเรืองนัก หลังคาชาวบ้านนั้นมุงด้วยจากเป็นส่วนมาก มีหลังคากระเบื้องดินเผาและสังกะสีอยู่ไม่กี่หลัง ส่วนโบสถ์ของวัดนั้นก็มุงด้วยดินเผาธรรมดา มีศาลาการเปรียญขนาดย่อมมุงสังกะสีอีกหลังหนึ่งและกุฏิพระสองหลัง มุงจากแกมสังกะสี หอระฆังที่โซเซน่ากลัวหอหนึ่งและมีศาลาท่าน้ำของวัดปลูกอยู่ริมคลองอีกหลังหนึ่ง...

อ่านครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมเกิดมโนภาพราวกับว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พาเราไปทัศนาจรชีวิตชาวบ้านไผ่แดงด้วยเครื่องบินขนาดเล็กที่บินต่ำจนมองเห็นสรรพสิ่งต่างๆ ทำให้นึกนิยมในกลวิธีอันชาญฉลาดของผู้เขียน แต่มาในบัดนี้กลับทำให้นึกไปเสียอีกแง่หนึ่ง แท้ที่จริงแล้วผู้เขียนกำลังพาเราซึ่งเป็น ชนชั้นสูงหรือ ชนชั้นกลางไปสังเกตธุระของ ชนชั้นล่างในลักษณะที่มองลงมาจากที่สูง สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีในประโยคแรกของ ไผ่แดงคือสำนึกของความเป็นเทวดาน้อยๆ ของเราเอง ทันที่เรา เหาะไปดูชาวบ้าน ก็เท่ากับเราอยู่เหนือหัวชาวบ้านขึ้นมาแล้ว อะไรจากนี้ไปก็ทำให้เผลอคิดไปได้ว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่ต่ำกว่าตนทั้งนั้น รวมทั้ง (ความ) เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นาและควาย...พอคิดได้อย่างนี้มโนภาพก็เปลี่ยนไปทันที ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น รัฐไทยและผู้มีอำนาจไทยได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากหัวหน้าค่ายโลกเสรีคือสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ รวมถึงพาหนะทางอากาศทั้งเครื่องบินทหารและพลเรือน เราทั้งหลายที่อ่าน ไผ่แดงคงไม่ใช่เทวดาที่เหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยตัวเองเสียแล้ว แต่เรากำลังนั่งเฮลิคอปเตอร์ทหารบินฉวัดเฉวียนไปตามไร่นาสาโทต่างๆ เหนือหัวชาวบ้านด้วยเสียงโรเตอร์ดังพั่บๆ จนหมูหมากาไก่เบื้องล่างต้องตกอกตกใจ และมองลงมาเห็นชีวิตเล็กๆ จนหลงผิดไปได้ว่าชีวิตเหล่านั้นเล็กน้อยและไม่สำคัญเท่ากับตน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ นั่งมากับเราลำนี้ กำลังลดระดับลงจอดที่หมู่บ้านไผ่แดง และกำลังจะส่งกองกำลังชอนไชเข้าไปในหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านไผ่แดงอย่างที่พวกเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพื่อจะผูกอุดมการณ์ใหม่ให้กับเขา นั่นคืออุดมการณ์ที่ดูจะเป็นเป็นพระรัตนตรัยใหม่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเส้นเชือกที่ผูกความคิดและจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ไว้กับเสาต้นหนึ่ง และยังผูกไว้เช่นนั้นจนปัจจุบัน

ตัวละครแรกที่โผล่ออกมารับคนดูบนเวทีก็คือตัวละครที่คลาสสิคที่สุดตัวหนึ่งในโลกวรรณคดีไทย และจะเป็นพระเอกตัวจริงของ ไผ่แดงไปจนตัวอักษรสุดท้ายของเล่ม

“...สมภารกร่างเป็นคนอายุราวสามสิบเจ็ดถึงสามสิบแปดปี อายุพรรษานับได้สิบแปดพรรษาพอดี เพิ่งได้เป็นสมภารเมื่อสองปีที่แล้ว หลังจากที่สมภารเก่าได้มรณภาพไป พระกร่างมีรูปร่างกำยำล่ำสันเหมือนกับชายฉกรรจ์อื่นๆ ในละแวกบ้านนั้น และเมื่อก่อนอายุจะครบบวชก็ได้เคยทำไร่ไถนา อันเป็นสัมมาอาชีพและได้เคยทำบาปกรรมต่างๆ มาไม่น้อยกว่าคนหนุ่มอื่นๆ ในละแวกบ้านเดียวกัน แต่เมื่อพระกร่างได้เข้ามาบวชเรียนตามประเพณี อะไรบางอย่างในวัดได้ทำให้ผ้าเหลืองเกาะตัวอยู่อย่างเหนียวแน่น เปลื้องไม่ออก พระกร่างก็อยู่ในเพศบรรพชิตเรื่อยๆ มา ได้เรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี แต่แล้วก็เรื้อๆ ไป จะสอบนักธรรมโทก็ดูจะติดขัดอยู่ พอดีสมภารองค์เก่ามรณภาพ พระกร่างก็ได้เป็นสมภาร อาศัยที่วัดไผ่แดงนั้นเล็ก อยู่ห่างไกลและไม่มีใครสนใจ และเนื่องด้วยพระกร่างเป็นคนเกิดที่ละแวกบ้านไผ่แดง หายจากบ้านไปนั้นก็เฉพาะเมื่อวันเป็นนาคไปบวชที่วัดปากคลอง เพราะท่านสมภารที่นั่นเป็นอุปัชฌาย์ และเมื่อตอนไปสอบนักธรรม ชาวบ้านบ้านไผ่แดงก็มิได้มีใครรังเกียจ เมื่อพระกร่างกลายเป็นสมภารกร่าง คงให้ความเคารพนับถือและเชื่อฟังต่อไป เช่นเดียวกับที่เคยให้แก่สมภารองค์เก่า...

สังเกตไหมครับว่า ในเรื่องการเมืองการปกครองแล้วเมืองไทยเป็นเมืองประหลาด ผู้นำท้องถิ่นของเรามีมานานแล้วและเรียกขานตำแหน่งเปลี่ยนแปลงกันมาเรื่อยตามยุคตามสมัย ก่อนจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านก็มีพ่อหลวง หัวหน้าคุ้ม และอีกหลายอย่างไปจนถึงพ่อขุน แต่ภายหลังที่ได้รวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่กษัตริย์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ ของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดูเหมือนว่าผู้นำท้องถิ่นจะค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงไปจนแทบจะหมดความสำคัญ จนถึงเล่นรังแกกันอย่าง ครูบาศรีวิชัยทางเหนือหรือ กบฏผีบุญทางอีสานก็โดนกันมาแล้วทั้งนั้น สุดท้ายตัวละครที่เป็นตัวแทนอำนาจท้องถิ่นก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับสมภารกร่าง นั่นคือเป็นคนชั่วๆ ดีๆ ได้เข้าสู่อำนาจก็เพราะไม่มีใครมาแข่งขันด้วย ถึงจะยอมรับกันว่าเป็นผู้นำการเมืองหรือเป็นผู้นำทางความคิดของชาวบ้าน แต่ก็ถูกตีตราว่าไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าชาวบ้านธรรมดาที่ชนชั้นบนเขาเหยียดหยามอยู่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ ทางการมีความชอบธรรมที่จะกวาดต้อนผู้คนทั้งหมดเหล่านี้ไปอยู่ภายใต้อำนาจที่ใหญ่หลวงของแผ่นดิน เพราะอำนาจนั้นเขาดีกว่าวิเศษกว่าและมี ความชอบธรรมในทุกทางมากกว่า อ่านเผินๆ ก็ดีอยู่หรอกครับที่นิทานชาวบ้านทำให้พระสงฆ์องคเจ้าหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านท่านออกมาในแนวเงอะๆ งะๆ เซ่อๆ ซ่าๆ หากว่าเราอยู่ในระบอบอื่นที่มิใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเขาบอกว่าประชาชนปกครองกันเอง จึงต้องหาทางออกในทุกปัญหาและแสวงหาปัญญากันเอาเองในวงประชาชน แต่ถ้าระบอบอื่นเขาจะบอกทีเดียวว่าประชาชนไม่พร้อมหรอก โง่เง่าเซอะซะถึงขนาดนั้นจะไปปกครองตัวเองอย่างไรไหว คนอ่านยุคก่อนอาจจะประทับใจว่าสมภารกร่างท่านเป็นคนธรรมดาสามัญไม่น่าหมั่นไส้ แต่มายุคนี้เรารู้ทันขึ้นมาหน่อยว่า ตัวผู้เขียนเขาวางบุคลิกลักษณะของสมภารกร่างอย่างนั้น ก็เพื่อให้สมภารกร่างท่านเป็นเพียงหัวหน้าชุมชนเล็กๆ และต้องขึ้นกับชุมชนที่ใหญ่โตขึ้นไปจนถึงระดับชาติเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ว่า สมภารกร่างถูกวางตัวให้เหมือนกันชาวบ้านร้านถิ่น เก่งก็ไม่เก่ง ออกจะกลางๆ เรียนหนังสือก็ค่อนมาทางไม่เก่ง หัวไม่ดี แถมยังเคยทำบาปทำกรรมมาก่อนตามประสาลูกทุ่งที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ จะเป็นเทวดาในวันหนึ่งคงไม่ได้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ฯ คงกำหนดไว้ในใจว่า ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับมาตามธรรมชาติโดยไม่มีใครต้องมอบให้ หรือความคิดทางการเมืองแบบทะเยอทะยาน อันเป็นสิทธิที่ชอบธรรมของคนในสังคมประชาธิปไตยนั้น ออกจะแสลงและเป็นอันตรายกับระบอบที่สถาปนาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ จึงต้องทำกรอบเอาไว้ด้วยการตีตราว่าไอ้ชาวบ้านเรามันก็เท่านี้ จะไปตั้งตัวใหญ่โตสลักสำคัญอะไรกันนักหนา

ระหว่างนั่งทอดหุ่ยอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ สมภารกร่างก็มองเห็นกำนันเจิมพายเรือมุ่งหน้ามาหา ทันทีที่เห็นภาพกำเนินเจิม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็บรรยายความในใจของสมภารกร่างในทันที สมภารจะแยกคนอย่างกำนันเจิมว่าเป็นฝ่ายที่เรียกว่า อาณาจักรซึ่งเป็นคนของหลวงหรือของรัฐ ในขณะที่คนอาศัยวัดอย่างสมภารกร่างถือเป็นฝ่าย พุทธจักรแยกกันเสียอย่างเพื่อ ทำให้สมภารได้รับความสะดวกในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้หลายอย่างจนติดเป็นนิสัย...

ตลอดประวัติศาสตร์โลก ไม่ว่าจะในศาสนาใดนั้น การแบ่งสังคมเป็นฝ่ายรัฐและฝ่ายศาสนาเกิดขึ้นตลอดมา ในยุโรปก็มีศาสนจักรและอาณาจักร (Church and State) ที่ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันมาตลอดเพื่อชิงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ในศาสนาอิสลามก็แบ่งชัดเจนระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับคนอื่นๆ ที่มิใช่ แม้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนาก็มิใช่ตัวศาสดานั้นเอง ในสังคมพุทธของไทยก็เป็นอย่างที่สมภารกร่าง ท่านรำพึง แบ่งออกได้เป็นอาณาจักรและพุทธจักรจริงๆ แต่น่าสังเกตตรงที่ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ท่านเริ่มนี้ไว้ใน ไผ่แดงแต่ท่านไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านี้ การเขียนงานต่างๆ ต่อมาหลายครั้ง จะเน้นการโจมตีจนถึงขั้นทำลายล้างต่อพระสงฆ์หรือผู้นำศาสนาหลายองค์และหลายคน เช่น วิวาทะกับท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องจิตว่าง ซึ่งนำมาสู่การเรียกขานสำนักของท่านพุทธทาสคือสวนโมกข์ว่าเป็นเพียง ไนต์คลับเป็นต้น ซึ่งดูจะเป็นงานชั่วชีวิตของท่าน การสร้างอำนาจที่คานกันเองในหมู่บ้าน ระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นการแบ่งปันอำนาจกันอย่างสงบสันตินั้น แท้ที่จริงก็เป็นการคานเพื่อให้หาใครที่ใหญ่จริงไม่ได้เท่านั้นเอง สุดท้ายหมู่บ้านอย่างไผ่แดงก็ต้องขึ้นกับอำนาจตัดสินที่สูงกว่าและใหญ่ยิ่งกว่า และนำไปสู่การปกครองในระบอบที่อำนาจแผ่ไปรวมเก็บไว้ในที่เดียว การเตรียมให้คิดยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าเป็นภารกิจที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ รับมาปฏิบัติมานานนักหนาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่รู้ว่าตนเองจะไม่ได้ดีอะไรในฝ่ายคณะราษฎร์ จึงตัดสินใจออกมาข้างฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎร์เสียเลย

นักเคลื่อนไหวอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ จึงมีนัยซ่อนเร้นอยู่เสมอเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย สิ่งที่ท่านไม่ได้บอกชัดๆ คือประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้นคนพันธุ์ท่านเขาไม่เอา เพราะมีแต่ประชาชน คนที่เหนือกว่าประชาชนจะไม่มีที่ยืนเลย แต่ถ้าบอกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขล่ะก็ได้ ท้ายที่สุดคนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็ต่อต้านทั้งระบอบคู่แข่งทั้งสองระบอบ นั่นคือระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหลือรอดอยู่เพียงระบอบเดียวอย่างที่พรรณนามาอย่างมีศิลปะใน ไผ่แดงนี่เอง

กำนันเจิมมาหาสมภารกร่างด้วยเรื่องร้อนใจเกี่ยวกับตัวละครหลักอีกตัวหนึ่งคือนายแกว่น แก่นกำจร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมก๊วนมากับสมภารกร่างสมัยยังเป็นเด็กและวัยรุ่น แกว่นเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพยำเกรงและมีลูกน้องเดินตามหลังมากที่สุดในหมู่บ้าน เรื่องที่กำนันกังวลคือ แกว่นดูท่าว่าจะได้รับความคิดแทรกซึมจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนเริ่ม จัดตั้งลูกน้องของตัวตลอดจนชาวบ้านร้านถิ่นเข้าให้แล้ว ว่าแต่ว่าอะไรคือคอมมิวนิสต์นั้น ดูกำเนินเจิมแกก็ยังงงๆ อยู่

ท่านรู้จักไอ้ตัวอะไรนั่นไหม?”

ตัวอะไร? สมภารย้อนถามอย่างไม่เข้าใจ

ไอ้ตัวนิดๆ หน่อยๆ อะไรนั่นน่ะครับ... เอ! ติดริมฝีปากอยู่เมื่อกี้นี้เอง... อ้อ! นึกออกแล้ว... ไอ้ตัวคอมมิวนิสต์ที่หลวงท่านสั่งให้ต่อต้านนั่นปะไร ท่านว่ามันร้ายนักเชียว พอมันมาถึง ไร่นามันก็ริบหมด วัดวาอารามก็เลิก แล้วก็ โอ๊ย! อะไรอีกตั้งพะเรอเชียว

แต่จะเข้าใจคอมมิวนิสต์หรือไม่เข้าใจ สิ่งหนึ่งที่กำเนินเจิมแกเข้าใจอย่างแน่นอน คือคำสั่งของฝ่าย อาณาจักรย่อมใหญ่หลวงศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเสียกว่าความรู้สึกของชาวบ้านซึ่งรวมเอาฝ่าย พุทธจักรเข้าไว้ด้วย

ฉันจะไปห้ามเขาอย่างไรกำนัน ฉันเป็นพระ ไม่เห็นจะเกี่ยว...

ก็ถึงว่าเถอะครับกำนันพูดอย่างเห็นใจ ผมบอกกับเจ้านายที่อำเภอท่านแล้วเชียว ว่าท่านเป็นพระเป็นเจ้า จะมาเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่เขากลับบอกว่า จะต้องใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์กันให้หมด ไม่ว่าพระว่าสงฆ์กันล่ะ ต้องขอแรงกันทั้งนั้น

เมื่อกำนันตัวแทนฝ่ายอาณาจักรพายเรือกลับไปแล้ว ความกังวลใจของสมภารกร่างก็มิได้ลดน้อยลงไป ท่านจึงทำสิ่งที่ทำทุกครั้งเมื่อเกิดความรู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้ นั่นคือเดินเข้าโบสถ์ที่ว่างคนแล้วปิดประตูลั่นดาลอยู่ในนั้นแต่องค์เดียว เมื่อประตูโบสถ์วัดไผ่แดงปิดลงแล้วนั่นเอง ความสำคัญที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้ก็ปรากฏตัวขึ้น ท่ามกลางความตระหนกตกใจจนแทบคุมสติไม่อยู่ของสมภารกร่าง สมภารกร่างพบว่าทางออกของเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ฝ่ายพุทธจักรหรือฝ่ายอาณาจักรเลย แต่กลับไปอยู่เสียที่อำนาจบางอย่างที่สูงล้ำขึ้นไปอีกจนมนุษย์ธรรมดามิอาจหยั่งได้

นี่คือฉากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พรรณนานำทางมา

“...พอเข้าไปถึงในโบสถ์ สมภารก็ปิดประตูลั่นดาลเพราะอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากให้ใครมากวน ครั้งแล้วก็จุดเทียนหน้าพระหลายดวง และจุดธูปบูชาพระอีกกำมือหนึ่ง ลงกราบพระแล้วก็นั่งมองพระพุทธรูปที่เป็นประธานในโบสถ์วัดไผ่แดง

สมภารกร่างไม่มีความรู้ในทางโบราณวัตถุ แต่ก็รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณมาก พระประธานวัดไผ่แดงเป็นพระสำริด บริสุทธิ์เท่าขนาดคน สมภารกร่างเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้น บางนี้ยังไม่มีหมู่บ้านและยังไม่มีวัด มีคนแก่ปลูกเรือนอยู่ริมคลองหลังเดียว วันหนึ่ง หลวงพ่อพระประธานก็ลอยน้ำมาติดอยู่ริมตลิ่ง คนแก่นั้นไปพบเข้า ก็ไปตามชาวบ้านจากบางอื่นมาช่วยกันยกขึ้นตั้งไปบนฝั่ง เป็นที่สักการะของคนที่สัญจรไปมา จนที่สุดที่ที่หลวงพ่อตั้งอยู่ก็กลายเป็นวัดและบ้านไผ่แดงก็มีคนมาปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กันเป็นหมู่จนทุกวันนี้...

ทันทีทันใดนั้นเอง ผู้เขียนก็วกเข้าสู่หัวใจของเรื่อง ไผ่แดงอย่างชนิดที่คนอ่านแทบจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว

“...สมภารกร่างนั่งมองหลวงพ่ออยู่นาน แสงเทียนจับองค์พระให้แลดูงามนัก ใจนั้นนึกว่า ถ้าปีหน้าข้าวกล้างาดำในบางนี้งอกงามดี ก็จะบอกบุญชาวบ้านปิดทองหลวงพ่อเสียใหม่ให้งดงามขึ้นไปอีก ขณะที่ใจนึกอยู่นั้น ตาก็มองอยู่ที่หน้าหลวงพ่อ แล้วสมภารกร่างก็เห็นกับตาว่าหลวงพ่อยิ้มด้วย

สมภรกร่างขนลุกซู่ไปทั้งตัว แต่ก็ข่มใจไว้ด้วยเหตุผล เพราะแสงเทียนที่เคลื่อนไหวนั้นอาจทำให้ตาฝาดไปก็ได้ แต่จิตใจสมภารยังไม่ทันจะสงบดี หลวงพ่อก็พูดออกมาว่า

สมภารมีทุกข์ร้อนอะไรหรือ วันนี้ดูหน้าไม่สบาย?”

ใจหนึ่งนั้นอยากจะวิ่งหนี แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่เชื่อหู สมภารเหลียวเลิกลักดูในโบสถ์รอบๆ ก็ไม่เห็นว่ามีใครมาแอบแฝงอยู่ได้ เพราะโบสถ์วัดไผ่แดงเป็นโบสถ์เล็ก ไม่มีที่ที่จะแอบแฝง ทันใดนั้นก็มีเสียงพูดมาจากพระประธานอีกว่า

อย่าตกใจไปเลย ฉันอยากคุยกับสมภารมานานแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาและโอกาส

หลวงพ่อ... หลวงพ่อครับ...สมภารพูดละล่ำละลัก ใจนั้นก็นึกถึงผลของการปาฏิหาริย์ครั้งนี้ ชาวบ้านจะแตกตื่นสักเพียงไร คนจะมานมัสการกันสักเท่าไหน และสภาพวัดไผ่แดงจะต้องเปลี่ยนไปเป็นวัดที่ใหญ่วัดที่สำคัญ แต่ทันใดนั้น หลวงพ่อก็พูดสอดขึ้นมาว่า

ฉันพูดกับสมภารแล้ว สมภารอย่าไปบอกกับใครนะ เขาหาว่าสมภารโกหกฉันไม่รู้ด้วย ต่อหน้าคนอื่นฉันไม่พูดหรอก ไม่เชื่อคอยดูไปซี...

ในที่สุดตำนานอันลือลั่นก็พระประธานพูดได้ก็เริ่มขึ้นในบทที่หนึ่งของนวนิยายเรื่อง ไผ่แดงนี่เอง หลวงพ่อพระประธานท่านไม่ได้พูดทักทายสมภารกร่างเพียงเท่านี้ แต่ทั้งเรื่องต่อมาท่านได้กลายเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของสมภารกร่างเลยทีเดียว พูดคุยแนะนำอะไรต่างๆ กันแทบทุกบททุกตอน และเป็นตัวละครที่ใหญ่โตมโหฬารไปจนจบเรื่อง

ผมเองก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิตย์ การได้อ่านนวนิยายในทำนองพุทธสัญลักษณ์อย่างเรื่องนี้ย่อมจะทำให้เกิดความปีติยินดีอยู่มาก ใครเล่าจะไม่ดีใจที่พระพุทธรูปในโบสถ์ท่านพูดได้สอนได้ขึ้นมา ใครเล่าจะเป็นที่ปรึกษาชีวิตได้ดีไปกว่าพระประธานในโบสถ์ที่สงบเงียบสงัดคน นึกแล้วก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในจินตนาการอันสมบูรณ์ของผู้เขียนและหวังให้เป็นเรื่องจริงขึ้นมาในใจเราเอง แต่เมื่อเติบโตขึ้นในแนวคิดทางการเมือง ความรู้สึกนั้นก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป ความสนใจในพระธรรมยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่จะมากขึ้นตามทุกข์ของชีวิตที่มีมากขึ้นตามครรลองของมนุษย์ปุถุชน แต่ความสงสัยในสัญลักษณ์ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ นำมาใช้ในเรื่องนี้มีมากขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ตั้งใจสื่อสารสิ่งใดที่ทำให้พระประธานพูดได้ โดยเฉพาะในเมืองไทยขณะนั้นที่ดูเหมือนจะเคลื่อนใกล้สงครามกลางเมืองระหว่างอำนาจเก่ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ขึ้นทุกขณะ คิดไปก็รู้สึกขึ้นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ คงจะไม่ได้สอนธรรมะผ่านปากพระประธานวัดไผ่แดงอย่างที่เราเคยเข้าใจกันแต่แรก แต่หวังผลการเมืองที่ซ่อนเร้นลึกซึ้งในระดับชาติทีเดียว

โดยเฉพาะเมื่อบทแรกนี้จบลงตรงที่สมภารกร่าง หารือกับหลวงพ่อพระประธานว่าปัญหาของ แกว่น แก่นกำจร ที่หลวงเขากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นี่จะทำอย่างไรดี  

“...(แต่) ผมหนักใจเรื่องทางอาณาจักร เขาสงสัยว่ามันจะผิดอย่างไรอยู่ ผมจึงอยากรู้ว่าผมจะทำอย่างไรดี จะเตือนมันตรงไหนดี เพราะความผิดความถูกเดี๋ยวนี้ ดูมันจะเกินศีลห้าธรรมบถสิบออกไปทุกที ผมเองก็จนปัญญาไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก

ฉันไม่มีปัญญาจะบอกสมภารหรอกในข้อนี้หลวงพ่อว่า เพราะฉันเองอยู่มาจนป่านนี้ ก็ไม่เคยเล่นการเมืองและก็ไม่คิดว่าจะเล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

คำตอบของพระประธานวัดไผ่แดง เสมือนการตอกหน้าผากของคนที่สนใจการเมืองไทยและติดตามการเมืองไทยมานานพอควร สมภารกร่างดีอกดีใจที่หลวงพ่อท่านพูดได้ และถือเอาโอกาสนั้นปรึกษาหลวงพ่อในเรื่องที่หนักอกอยู่ แต่หลวงพ่อท่านก็พูดให้กำลังใจกลับไปกลับมา คล้ายบทสนทนาระหว่างพระเจ้ามิลินทร์กับพระนาคเสน ที่ฟังแล้วก็เลื่อมใสในปัญญาของผู้พูด แค่ผู้ฟังแทบจะไม่ได้อะไรกลับไปเลย สมภารกร่างมิได้แสดงความรู้สึกใดๆ ในคำตอบจากหลวงพ่อ ได้แต่นั่งนิ่งๆ จนเทียนดับไปเอง โดยหลวงพ่อและสมภารต่างก็มิได้สนทนาปราศรัยอะไรกันอีก ผู้เขียนลงท้ายว่าเรื่องหลวงพ่อพูดได้กลายเป็นความลับสำคัญที่สมภารกร่างเก็บไว้กับตนเพียงองค์เดียว มิได้แพร่งพรายให้ใครได้ทราบเลยนับแต่คืนนั้นเป็นต้นมา

เมื่อเราโตขึ้น เราก็รู้ว่าเมืองไทยเรามีพระประธานที่พูดได้เหมือนกัน จะวัดไหนก็คงไม่ต้องบอก พระประธานพูดได้ในเมืองไทยของเรานี้ เอาเข้าจริงแล้วก็พูดตามคติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ อย่างไม่หนีกันเลย หลวงพ่อของเราเลือกที่จะพูดในบางเวลา เลือกที่จะพูดกับคนบางคน และเลือกเสียด้วยว่าจะให้ใครเข้าใจในสิ่งที่พูดและใครจะต้องรู้สึกงุนงงสับสนจนแทบจะไปกระโดดหน้าผาตาย เพราะหลวงพ่อพูดได้ของเราท่านพูดให้คนเอาไปตีความตามใจตัวเอง มองในทางหนึ่งก็เป็นปรัชญาอันลึกซึ้งแหลมคมนัก แต่มองอีกทางหนึ่งก็ขาดความรับผิดชอบอย่างมากในฐานะของผู้เป็นประธาน เพราะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบอะไรใดๆ คำว่า กิจของสงฆ์นั้นมีหลักการและคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่ใช่คำกล่าวอ้างอย่างมักง่ายเพียงเพื่อตนเองจะได้อยู่เหนือน้ำตลอด โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครนอกจากตนเอง

พระประธานในโบสถ์วัดไผ่แดงที่แท้ น่าจะเป็นผู้สอนธรรมะและเตือนสติสมภารกร่างและใครๆ ในยามขาดสติหรือตกเป็นเหยื่อของอกุศลมูลจนโงหัวไม่ขึ้น หาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ไม่ได้เขียน ไผ่แดงและ ไผ่แดงถูกจารจารึกโดยพุทธทาสภิกขุ ศรีบูรพา หรือแม้แต่พระพยอม กัลยาโณแห่งวัดสวนแก้ว เชื่อว่าหลวงพ่อไผ่แดงคงจะยกข้อธรรมะหรือพุทธวัจนะที่จับใจมาแนะนำสมภารกร่าง แทนที่จะแนะนำในทางโลกย์แต่ถ่ายเดียว ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นมีมากนัก และหลายข้อก็ตรงกับปัญหาชีวิตของคนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้อย่างเหมาะเหม็ง พระหรือโยมที่สอนธรรมะได้เพียงจำกัด หากมิใช่เจตนาก็ย่อมแสดงถึงปัญหาส่วนองค์หรือส่วนตนที่ยังศึกษาไม่เพียงพอ หาใช้ความจำกัดของพระศาสนาไม่

(อ่านต่อฉบับหน้า)


********************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สนับสนุน เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"บางทีมีสัมผัส" โดย "จักรภพ เพ็ญแข"


"บางทีมีสัมผัส" พ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มใหม่ล่าสุด เป็นการรวมงานเขียนกลอน ช่วงหลังรัฐประหาร และช่วงลี้ภัยการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๕ และคำอธิบายเบื้องหลังกรณี"กลอนสมัคร" ที่เคยโด่งดังในโลกไซเบอร์ โดย "คุณจักรภพ เพ็ญแข" ความหนา ๑๔๔ หน้า ราคาเล่มละ ๑๕๐ บาท ส่งทางไปรษณีย์ขอเพิ่มค่าส่งอีก ๒๐ บาท รวมเป็น ๑๗๐ บาท 

สั่งซื้อ ติดต่อ คุณนุชรินทร์ ต่วนเวช โทร. ๐๘๕-๕๐๔ ๙๙๔๔ หรือทางอีเมลล์ :tpnews2012@gmail.com 

โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอิมพีเรียลลาดพร้าว เลขที่ ๒๒๔-๒๔๒ ๓๙๔๓ ชื่อบัญชี น.ส.นุชรินทร์ ต่วนเวช 

พี่น้องเสื้อแดงที่อยู่ต่างจังหวัด มีความประสงค์จะรับไปขาย คิดราคาพิเศษค่ะ 

***********************************************************

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“ร้านหนังสือ...กล่องดวงใจข้างในขบวนการ”


คอลัมน์ เขียนถึงคนรัก

ตอน “ร้านหนังสือ...กล่องดวงใจข้างในขบวนการ”
โดย จักรภพ เพ็ญแข

ร้านหนังสือมีมนต์เสน่ห์สําหรับคนรักหนังสือ ยากที่จะอธิบายให้ถึงใจว่าทําไม แต่คนรักหนังสือจะหลุดหายเข้าไปได้ง่ายๆ ในร้านหนังสือดีๆ เสมือนว่าโลกหยุดหมุน ปัญหาส่วนตัวในทางโลกถูกทิ้งเอาไว้หน้าร้านจนหมด เหลือแต่มนุษย์ที่ตัดการประดับประดาออกไปจนรู้สึกโปร่งสบาย กระหายแต่ความรู้ ความรัก ความดี และความงาม และมองหนังสือแต่ละปก ข้อความแต่ละบรรทัด ตัวอักษรแต่ละตัวด้วยจิตว่าง จนได้เจอเล่มที่พอใจรักใคร่ ก็คว้ามาสํารวจตรวจสอบอย่างพินิจ สุดท้ายก็ชวนกันไปสนทนาอย่างรื่นรมย์ในที่ที่พึงใจ

พรํ่าพรรณนามาเสียหลายประโยค เพียงเพื่อจะบอกท่านผู้อ่านที่รักว่านี่ล่ะคือเหตุผลข้างต้นของร้านหนังสือใหม่ในบรรณพิภพที่ชั้นสี่ของห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว ที่หลายท่านกรุณามาช่วยเปิดและช่วยอุดหนุนและเห็นว่าจะไปชวนพรรคพวกมาเยี่ยมเยียนกันอีก ซึ่งทําให้เราอบอุ่นใจมาก

ร้านหนังสือเล็กๆ ขนาดแค่หนึ่งคูหาแห่งนี้ไม่มีชื่อ ได้แต่ไปยืมชื่อสํานักข่าวร่วมอุดมการณ์มาใช้ เราจึงเรียกกันง่ายๆ ว่า ร้านทีพีนิวส์ (TPNews Bookshop) หรือร้านหนังสือของสํานักข่าวทีพีนิวส์นั่นเอง เหตุผลง่ายๆ มี 2 ข้อคือ ทีพีนิวส์มาจากภาษาสากลว่า TPNews หรือ Thai People's News แปลเป็นไทยได้ตรงใจเราว่า สํานักข่าวประชาชนไทย อันเป็นอุดมการณ์ของเราอยู่แล้ว เราคงไม่ทําอะไรให้ใครอื่นเพราะประชาชนสําคัญที่สุดอยู่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ สํานักข่าวทีพีนิวส์กับร้านหนังสือทีพีนิวส์จะเดินเคียงไปด้วยกันเสมอ เพื่อบริการข่าวสารอันเป็นข้อมูลระยะสั้นและหนังสืออันเป็นข้อมูลระยะยาวอย่างสมบูรณ์ที่สุดตามสติปัญญาความสามารถของเรา

ผมบอกกับ คุณนุชรินทร์ ต่วนเวช ผู้ที่ได้ร่วมทุกข์สุขทางงานสื่อและงานการเมืองมานับสิบปี และยอมมาเป็นผู้จัดการร้านทีพีนิวส์ ณ บัดนี้ว่า ร้านหนังสือเป็นที่รักของเราก็จริงอยู่ แต่ร้านทีพีนิวส์มิใช่มีไว้สนองความต้องการของเรา หากเราหวังให้เติบโตเป็นเครื่องมือรับใช้มวลชนในขบวนการต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงต่อไป คุณนุชรินทร์ ทีมงานอาสาสมัครของเรา และตัวผมเองเชื่อมั่นอย่างไม่มีวิจิกิจฉาว่า ประชาธิปไตยต้องอ่านหนังสือ ประชาธิปไตยต้องไม่คิดอย่างโอหังว่าตัวเองมีความรู้จนไม่ต้องแสวงหาเพิ่มเติม ถึงร้านหนังสือเล็กๆ ของเราจะไม่ใช่อะไรมากมาย แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของแหล่งความรู้และการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งของขบวนการ

ในการต่อสู้ทางการเมือง เราจะคิดถึงแต่อํานาจและการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองมิได้ เมื่อฝุ่นหายตลบและจางลงไปแล้ว สิ่งที่เราต้องใคร่ครวญเสียแต่บัดนี้คือประชาชนจะร่วมกันดูแลบ้านเมืองนี้อย่างไร เมื่อมองให้ทะลุโวหารทางการเมืองและก้าวผ่านอารมณ์ชั่วแล่นไปแล้ว เราต้องสะสมทั้งข้อมูล ความรู้ และสร้างภูมิปัญญาขึ้นมาเป็นฐาน มิฉะนั้นเราจะถูกยึดอํานาจคืนจากผู้ชํานาญการทั้งหลาย (technocrats) ในฝ่ายตรงข้ามและประชาชนก็จะถูกเหยียดหยามว่า "ไม่พร้อม" เสมอไป ไม่ต่างอะไรจากคณะราษฎร์ที่ถูกโจมตีด้วยวาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามมาตลอด วันนี้บรรพบุรุษประชาธิปไตยทําให้เราเห็นแล้วว่าเราต้องพัฒนาสมองของเราก่อนจะคิดพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง เพื่อความเป็นเจ้าของอํานาจที่สมบูรณ์และยั่งยืน อย่าลืมเป็นอันขาดว่าเรากําลังต่อสู้กับผู้มีอํานาจเหนือองค์ความรู้เก่าๆ ในสังคมไทย เพราะเขามีอํานาจมากและมีมานานจน "ปัญญาชน" ต่างสยบยอมอยู่แทบเท้าของเขา และกลับเอา "ความรู้" มาทิ่มแทงประชาชนผู้มิใช่อภิสิทธิ์ชนจน "ความรู้" กลายเป็นเครื่องมือกดขี่ที่ทรงประสิทธิภาพอีกชนิดหนึ่งไป เราจึงต้องฟื้นอํานาจและสิทธิโดยธรรมชาติของเราด้วยการพัฒนาฐานความรู้ของประชาชนและเพื่อประชาชนเอง เลิกเอาของสําเร็จรูปมาใช้เหยียดหยามกันเองว่าใครสูงใครต่ำตามเงื่อนของสถาบันและหลักสูตรต่างๆ (ซึ่งเป็นของเขาทั้งนั้น) เสียทีเถิด

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2555 ร้านทีพีนิวส์จึงเกิดขึ้นเพื่อมนุษย์ที่แท้ทุกคน ถึงเวลาที่เราจะหยุดค่านิยมของผู้มีการศึกษาแบบจอมปลอมและเริ่มสร้างความรู้เท่าทันขึ้นมาเป็นอาวุธทางปัญญาของเรา ยิ่งครวญครํ่าว่า "เรียนมาน้อย" ยิ่งต้องแสวงหาความรู้จากหนังสือ เว็บไซต์ ผู้ที่มีความรู้มากกว่าเรา เป็นเท่าทวีคูณ ยิ่งลําบากยากจน กระเสือกกระสนต่อสู้ ยิ่งต้องหาโอกาสเพิ่มเครื่องมือทางปัญญาของตนเองมากกว่าคนที่เขาเกิดมาได้เปรียบ

ในร้านนี้มีหนังสือหลายเล่มที่ครั้งหนึ่ง "ต้องห้าม" และเคยถูกยึดถูกนําไปทําลายมาแล้วมากต่อมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ยิ่งรู้ว่าเล่มไหนมีอิทธานุภาพขนาดนั้น เราก็ยิ่งได้ความรู้ว่าผู้มีอํานาจยิ่งใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้เขากลัวประชาชนจะรู้อะไร ความตาสว่างในปัจจุบันก็จะเพิ่มขึ้นมาอย่างประมาณมิได้

ก่อนจะทิ้งท้ายให้ท่านได้เห็นบางปกหนังสือและบรรยากาศวันที่พี่น้องของเรามาร่วมเปิดร้านทีพีนิวส์ ผมขอกราบเรียนเชิญทุกท่านด้วยความเคารพให้มาเยี่ยมเยียนกันที่ร้านบ้าง ซื้อไม่ซื้อไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่องเลย ขอให้มาพบหน้าค่าตาและแสดงตนว่าเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์กันอยู่ เท่านั้นก็เป็นการเพียงพอ ใครเป็นคนทำหนังสือ อยากนําผลงานตัวเองมาวางที่ร้าน ก็แวะมาบอกกล่าวกันอย่างญาติพี่น้องได้เช่นกัน ใครไม่ว่างจะต่อสายมาหากันก่อนก็หาขัดไม่ ที่หมายเลข 085-5049944 และอีเมล tpnews2012@gmail.com พร้อมทักทายท่านอยู่ทุกเวลา

ขอกราบขอบพระคุณนักคิด นักเขียน เจ้าของร้านและแผงหนังสือทั้งในอดีตและปัจจุบันทุกท่านและทุกกิจการที่นําทางพวกเรามาจนถึงหัวโค้งที่สําคัญของบ้านเมืองในวันนี้.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : Red Power ฉบับที่ 29

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

“จุดยืน” (๓-จบ)


Core Respondence จอม เพชรประดับ – จักรภพ เพ็ญแข

จอม คุณจักรภพ มองอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าเป็นนักประชาธิปไตยไหมครับ หรือเป็นแค่นักการเมือง

จักรภพ ผมว่าท่านเป็นนักเสรีนิยม ท่านพอใจสังคมเปิด หลากหลายและ แข่งขัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าท่านก็เชื่อว่าท่านแน่พอ ท่านแข่งได้ อย่า

ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ท่านเป็นผู้เล่นนะไม่ได้เป็นคนร่าง จำได้ไหมครับท่านลงเป็น ส.ส.ร. เชียงใหม่แล้วไม่ได้ ท่านไม่ได้ร่างกับเขา แต่พอเป็นฉบับขึ้นมาท่านก็บอกว่าท่านศึกษาบทเรียนจากพลังธรรมมาแล้ว เหนื่อยเชียว แผลเยอะเลย มาตั้งไทยรักไทยแล้วก็เข็ญลงสนามเลือกตั้ง ปี ๒๕๔๔ ปรากฏว่าท่านก็สามารถจะใช้กลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๔๐ สร้างอาณาจักรทางการเมืองขึ้นมาได้จนกระทั่งบัดนี้ ทั้งหมดเป็นผลจากการสร้างตอนนั้นทั้งสิ้น แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่มันเป็นมาตรฐานใหม่ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย ซึ่งเราก็ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนก็คือสิ่งที่เรียกว่าคดีซุกหุ้น ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๓ ส.ค. ๒๕๔๔ จำได้ใช่ไหมครับ คือท่านนายกฯ ทักษิณฯ ท่านไม่ได้เป็นนายกฯ เลย ท่านเข้าการเมืองครั้งแรกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพรรคพลังธรรม แล้วต้องชี้แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ปรากฏว่าพอชี้แจงแล้วก็มีคนเอาตรงนี้มากล่าวโทษว่าท่านซุกหุ้น เอาหุ้นเอาเงินไปหลบอยู่ตามคนต่างๆ ใกล้ตัว ท่านก็ต้องสู้คดีนี้ ใช้เวลา ๖ เดือนแรกในการเป็นนายกฯ ๖ เดือนแรกท่านเกือบไม่ได้เป็นนายกฯ เลยนะ ท่านเป็นนายกฯ ที่ต้องสู้คดี แล้วเรื่องนี้ก็เรียกว่าหลอกหลอนท่านตลอดจนกระทั่ง ๓ สิงหาคม ปี ๔๔ แล้วสุดท้ายก็มีการพิพากษา ถ้าจำไม่ผิด ๘ ต่อ ๗ ทำให้ท่านพ้นมลทิน ทุกคนก็หายใจโล่งอกว่าได้นายกฯ แล้ว ทีนี้ก็รอให้ท่านมาทำหน้าที่ อย่าลืมว่าตอนนั้นท่านยังไม่ได้ทำ ๓๐ บาท ยังไม่ได้ปราบยาเสพติด ท่านยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ๖ เดือนแรกของการเป็นนายกฯ

ที่ผมเล่ามาตรงนี้เพื่อจะตอบคุณจอมว่า ท่านเองก็สร้างมาตรฐานเหมือนกันว่า ถ้าเราเอานักธุรกิจมาเป็นผู้นำการเมือง เราอาจจะเอามาตรฐานเดียวกับที่เราวัดข้าราชการมาใช้ไม่ได้ สมมติว่าเราเอามาตรฐานข้าราชการมาใช้ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องซุกหุ้นเท่าไหร่ นี่พูดกันตรงๆ แต่นายกฯ ทักษิณเป็นนักธุรกิจสะสมทรัพย์สินมานาน แล้วคนเป็นนักธุรกิจเขาบอกเสียงดังฟังชัดเลยนะว่าผมมาหาเงินครับ ชีวิตนี้ ถูกไหม? เขาไม่ได้บอกว่าผมเป็นพรหมจรรย์ เป็นพรหมจารีครับแต่แอบหาเงินนะ เขาบอกเขามาหาเงิน แล้วหลักการคือ maximizing profit หากำไรสูงสุดนะ แต่จะทำมาหากินอะไรก็คนละเรื่อง

ประเด็นคือว่าพอท่านจะเปลี่ยนจากการทำประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นการทำประโยชน์ส่วนรวม เส้นตรงนี้มันเป็นเส้นที่ท่านคือคนแรกที่ทำให้เราเห็นว่ามันต้องใช้มาตรฐานอะไร

เพราะฉะนั้นถามว่าท่านเป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่ ผมคิดว่าท่านเป็นประชาธิปไตยขึ้นเรื่อยๆ

จอม ทีนี้ในส่วนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง แนวคิดที่จะให้เกิดประชาธิปไตย จริงๆ ดูเหมือนยังคงไม่มีความหวังสักเท่าไหร่ คนเสื้อแดงเองก็ดูจะผิดหวังอยู่ในหลายกรณี ภาพที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังจะทำอยู่ก็คือกำลังพยายามที่จะสมยอมกับกลุ่มอำนาจเก่า มีการรอมชอมกัน สมยอมกัน อะไรต่างๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คุณจักรภพเองรู้สึกอย่างไร นี่คือการสมยอมกันทางอำนาจในที่สุดหรือเปล่า

จักรภพ ผมกลับมองว่าเป็นทางเลือกของประชาชน คือพรรคเพื่อไทยก็มีเอกภาพ

ในเรื่องปรองดอง คือทุกคนอยากจะพูดแต่เรื่องปรองดอง ถ้าใครไม่พูดปรองดองไปอยู่นอกรั้ว อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันจะปรองดอง มันก็เป็นทางเลือกอันหนึ่ง จะถูกหรือผิดผมคิดว่าเราก็อย่าเพิ่งไปรีบด่วนสรุป เนื่องจากว่ามวลชนมองอยู่ มวลชนเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะชอบข้างนี้ แต่พรรคเพื่อไทยมาตัดสินใจว่าจะปรองดองรอมชอม เพราะฉะนั้นมวลชนก็ต้องรอตัดสินพรรคเพื่อไทยในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งต่อไป ว่ามวลชนพอใจในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเดินมาทางนี้หรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ขณะเดียวกันในฐานะซึ่งก็พรรคพวกกันทั้งนั้น เคยอยู่ไทยรักไทยด้วยกันมานะครับ แล้วก็มาพลังประชาชน ผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าผมอยากจะให้มีเวลาเอาหูแนบพื้นดินกันดูสักนิดว่ามันเสียงอะไรแน่ อย่าได้ยินแต่เสียงตัวเอง แล้วตรงนั้นมันจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการเมืองมันไม่ได้แปลว่าถูกต้องนะคุณจอม การเมืองบางครั้งมันกลายเป็นร่างทรงของมติมหาชน เช่น สมมติเราอยากจะไปอย่างนี้ แต่เมื่อทำจริงๆ แล้วประชาชนเขาไม่เอาเราก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ แต่ถ้าปรับเปลี่ยนแบบกะล่อนก็ต้องหลุดจากอำนาจ คนก็ไม่เอา แต่ถ้าปรับเปลี่ยนอย่างมีศิลปะ อันนี้เขาก็ถือว่าเป็นการบริหารงานการเมือง หลายคนก็ทำ เหมือนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนหนึ่ง ผมยกสหรัฐฯ บ่อยหน่อยเพราะมันชัด อย่าง “FDR (Franklin Delano Roosevelt)" แกเป็นคนแรกเลยอาจจะของโลกก็ได้ที่ใช้คนไปทำประชามติก่อนตัดสินใจวางนโยบาย คือแกไปถามก่อนว่าคนจะเอาอะไรแล้วแกก็ทำตามนั้น คนก็รักแกเหลือเกินว่าทำไมถึงเดาใจประชาชนถูก แกไม่ได้เดาแกไปถามว่าจะเอาอะไร มาสมัยนี้ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ถามมติมหาชน ทั้งๆ ที่คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์พรรคเพื่อไทย คือนายกฯ ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจเรื่องพวกนี้ ผมว่าก็เสียโอกาส

จอม มีคนกังวลเหมือนกันว่าบรรยากาศของประเทศไทยนับจากนี้ ปรองดองก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีความหวังสักเท่าไหร่ว่าจะปรองดองกันได้ หรือยอมจะคุยกันให้ได้ ความเป็นกังวลก็คือว่าอนาคตของประเทศ เมื่อปรองดองกันไม่ได้ ความขัดแย้งจากกลุ่มต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น แล้วอำนาจหลักก็ไม่ยอมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกระแสของความต้องการหรือความสนใจของประชาชน เราจะมีหายนะเกิดขึ้นอีกไหมครับในอนาคตอันใกล้ มองว่าอนาคตจะไปถึงจุดนั้นอีกหรือเปล่าหรือยังไง

จักรภพ มันมีสำนวนอยู่อันหนึ่งที่เรียกว่าดวงดาวทุกอย่างมันเรียงตัวมาสู่หายนะ ผมไม่อยากจะบอกว่าเมืองไทยเราเข้าสู่ชะตากรรมนั้น ขอตอบแบบให้มันสมกับตัวเองนะ ให้มันเล็กลงหน่อย ก็คือ

อันที่หนึ่งผมคิดว่าการปรองดองเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการพยายามแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเราต้องให้เกียรติกับคนที่พยายามจะทำ ให้เขาทำให้สำเร็จ ถ้าเขาทำสำเร็จเราก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เรื่องนี้ไม่มีเรื่องได้หน้าหรือเสียหน้า เป็นเรื่องบ้านเมืองจะจบหรือไม่จบความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเคารพสิทธิ์ของคนในการที่จะไม่เชื่อเรื่องปรองดอง แล้วให้เขาอยู่นอกกรอบปรองดอง แต่ตรงนี้ต้องมีความเป็นธรรมทางการเมืองนะ ใครที่เขาเดินในเรื่องปรองดอง แล้วปรองดองได้ผลจริงๆ ประชาชนรับ เขาจะได้ตำแหน่งทางการเมือง เขาจะได้อำนาจทางการเมืองต้องให้เขานะ คนที่อยู่ข้างนอกต้องรอนะเพราะไม่ได้ไปร่วมช่วยกับเขา แต่ว่าประชาชนทั่วไปท่านไม่ได้มองตรงนั้นหรอก ท่านมองแค่ว่าปัญหาบ้านเมืองจะจบไหม คนจะค้าจะขายเขาอยากจะเพียงแค่ว่าเขาจะไปคุยกับใครเขาเหนื่อยที่จะตอบเพื่อนฝูงชาวต่างประเทศว่าเมื่อไหร่เมืองไทยจะจบ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เหมือนกับนักการค้า ผมเคยถามนักผลิตท่านหนึ่งตอนผมอยู่ในครม. ท่านนายกฯ สมัครฯ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เขาก็ตอบไม่เกรงใจ ผมถามว่ารัฐบาลจะช่วยทำอะไรกับภาคธุรกิจบ้าง เขาก็ตอบตรงๆ ว่า ช่วยดีที่สุดคืออย่ายุ่ง ให้เขาทำมาหากินของเขา ลดภาษีให้เขามากๆ ส่งเสริมการทำการค้าและเข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะตรงที่เขาจะโกงคน นอกนั้นปล่อยให้กลไกตลาดมันตัดสิน ผมค่อนข้างเห็นด้วยนะ แน่นอนครับ นักธุรกิจมีโลภโมโทสัน มีเห็นแก่ตัวมีใจดำ แต่ว่าเราเป็นใครที่เราจะไปตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าว่าคนนี้จะต้องโกงแน่ ฉันเลยต้องห้ามมันไว้ก่อน บางทีขอโทษ ก็ต้องปล่อยให้เขาทำก่อน แล้วจากนั้นสังคมจึงต้องหาวิธีแก้ ถามว่ามันเป็นเรื่องดีไหมที่ปล่อยให้เสียหายก่อนแล้วค่อยมาแก้ วัวหายแล้วล้อมคอก ผมก็ต้องตอบทุกทีว่าประชาธิปไตยไม่มีทางเลือก คุณจอมกับผมเรารู้จักกันมาตั้งหลายปี แต่เราจะรู้ไหมว่าเดี๋ยวจะลุกไปทำผิดอะไร ผมอาจจะลุกไปขโมยของแล้วไป คุณจอมก็ไม่รู้หรอกเพราะไม่รู้ความในใจผม เพราะฉะนั้นคุณจอมจะมาคิดว่าผมเป็นคนซื่อสัตย์ควรจะเลือกผมเป็นผู้พิพากษาก็ไม่ได้ แต่คุณจอมเห็นว่าผมน่าจะเป็นผู้พิพากษาจนกระทั่งผมขโมย คุณจอมก็ต้องบอก เอ้าคนนี้ต้องไปเป็นนักโทษไม่ใช่เป็นผู้พิพากษา นี่คือประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นปรองดองไปเถอะครับ แล้วเราจะเห็นผลจากการปรองดองนั้น ผมเชียร์ให้สำเร็จ เพราะประเทศไทยเสียโอกาสไปมากแล้ว ประเทศไทยช้ำมากแล้วก็เสียโอกาสมาก วันนี้เราควรเป็นผู้นำอาเซียนแล้วนะ

จอม มีความหวังว่าจะสำเร็จไหมครับ ตามความคิด

จักรภพ ส่วนตัวหรือครับ ผมค่อนข้างเป็นห่วง ที่คุณจอมถามมาก่อนหน้านี้เป็นคำตอบในตัวด้วยว่า กลไกหลักมันไม่ขยับตัว ทุกคนบอกว่าฉันจะสร้างกฎใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่กฎนี้บังคับเธอนะไม่ใช่บังคับฉัน แล้วอย่างนี้มันจะจบยังไง ถ้าคุณจอมกับผมจะทำความตกลงกัน ถ้าเราทะเลาะกันนะ เราก็ต้องตกลงกันว่า คุณจอม ห้องนี้เราแย่งกันว่าใครได้เช่าก่อน เราตกลงกันอย่างนี้ไหมเพื่อเราจะได้คบกัน เราไม่เอาห้องนี้กันทั้งคู่ เราจับมือกันแล้วเดินกันออกไป แต่ไม่ใช่ผมบอกว่า คุณจอม เพื่อความเป็นธรรมคุณจอมออกไปเถอะ ผมเอาห้องนี้ มันก็ไม่จบ

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องการปรองดองผมห่วง แต่ถามว่าเห็นว่าจะประสบความล้มเหลวหรือไม่ ผมว่ามันเร็วไป ณ วันนี้มันก็มีสัญญาณที่มันผสมผสานระหว่างอะไรต่างๆ ออกมาว่ามันจะไปได้หรือไปไม่ได้ แต่ที่สำคัญก็คือเราต้องกล้าพูดถึงประเด็นปัญหา เหมือนที่ผมตอบไปตอนต้น ถ้าเราไม่พูดถึงประเด็นปัญหาเราปรองดองไปก็เป็นเพียงแค่การหยุดพักรถระหว่างทาง มันยังไม่ถึงที่

จอม ช่วงนี้ก็เป็นช่วงการพักรบ

จักรภพ พักร้อนนะ

จอม ส่วนตัวคุณจักรภพเอง โอกาสที่จะกลับประเทศไทยมีแค่ไหนและเมื่อไหร่ครับ วางไว้อย่างไร

จักรภพ ผมกำลังคิดอยู่ครับ และปรึกษามวลชนต่างๆ พี่น้องต่างๆ เยอะแยะ คือทุกท่านก็คิดแตกต่างกันไป หลายท่านก็บอกรีบกลับมาเถอะ ช่วยพัฒนาทำอะไรต่อ ตอนนั้นก็เป็นแผล็บเดียวก็กลับมาเป็นต่อ ท่านก็ตั้งให้เสร็จ อีกทางหนึ่งท่านก็บอกว่ามันยังไม่น่าไว้ใจนะอยู่ไกลไปก่อน ผมเองออกจากอาชีพสื่อมวลชนมาเข้าสู่การเมืองก็แปลว่าผมเองก็มีตัณหาทางการเมืองไม่ใช่ไม่มี ถามว่ามีตำแหน่งมาให้จะให้เป็นรัฐมนตรี อยากเป็น ทำไมจะไม่อยากเป็น เพราะเรารู้สึกว่าจะได้ทำงานอะไรที่มันผลักดันได้ดีกว่าที่เราเป็นคนทั่วไป แต่เงื่อนไขของการไปเป็นตำแหน่งต่างๆ ในขณะนี้มันคือเงื่อนไขของการเข้าไปร่วมส่งเสริมปัญหาเก่าหรือเปล่า ถ้าหากมันไปส่งเสริมปัญหาเก่าเราก็หักใจไว้ก่อน แล้วก็ทำงานที่มันเป็นเรื่องของการเลียบค่าย มันเหมือนกับเรามองสวนเกษตรว่าสงสัยใช้ปุ๋ยเคมีมากดินพังหมดแล้ว แทนที่เราจะเข้าไปทำท่าปลูกกับเขาแล้วก็จะตายก็ช่างมัน เราไม่ใช่คนซื้อกล้า เราไม่ใช่คนออกเงิน จะตายก็ช่างมัน มีประโยชน์หรือว่าเราอยู่นอกเขตที่สงสัยนั้นแล้วก็ทำแปลงใหม่ช้าๆ ไปเรื่อยๆ มีประโยชน์กว่า แล้วถึงวันหนึ่งไอ้แปลงอันนั้นก็อาจจะมีประโยชน์สำหรับคนที่จะต้องอพยพจากแปลงมีพิษมาใช้แปลงนี้ก็ได้ ผมค่อนข้างจะมองตัวเองว่าอยากจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการทำอันที่สองนี่มากกว่า

จอม ครับ ขอบคุณมากที่ร่วมรายการ วันนี้เวลาหมดนะครับ หวังว่าคงจะมีโอกาสพบกันอีกครั้ง หรือว่าพูดคุยกันอีกครั้งในประเทศไทย

จักรภพ ขอบคุณมากครับ

จอม ขอบคุณมากครับที่ให้โอกาส สวัสดีครับ
มวลชนที่เคารพรักครับ ผมนําบทสัมภาษณ์นี้มาลงไว้ให้ท่านได้พิจารณา ไม่ใช่ว่าดีวิเศษหรือสลักสําคัญอะไร แต่ท่านจะได้ทราบว่าคนอย่างผมมีจุดยืนอย่างไร จะได้ประเมินค่าและเลือกใช้ผมในงานสร้างประชาธิปไตยของชาติบ้านเมืองได้อย่างเหมาะสมกับหน้าที่และอุดมการณ์

ขบวนประชาธิปไตยล้วนมีคนมากมายและหลายชนิด บางครั้งเสียงลือเสียงเล่าอ้าง โดยเฉพาะในทางลบ ก็ส่งผลให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้บ่อยๆ ยิ่งเกี่ยวกับตัวบุคคลยิ่งดูจะสับสนและเข้าใจผิดมาก ตัวผมเองก็ไม่ได้พ้นไปจากครรลองนี้ จึงหวังว่าคําพูดข้างต้นคงจะแทนคําอธิบายในหลายคําถามที่ค้างคาใจท่านได้บ้าง

ทั้งนี้ด้วยความนอบน้อมคารวะต่อมวลชนทุกท่านครับ

จักรภพ เพ็ญแข

-------------------------------------------------------------------------------------------
TPNews : ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, นิติราษฎร์, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สมัครสมาชิก เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เชิญร่วมเป็นเกียรติในการเปิดร้านหนังสือ TPnews






















วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2555 เวลา 13.30-16.00 น.

สถานที่ ห้างอิมพีเรียล เวิร์ล ลาดพร้าว ชั้น 4 (หน้าลิฟต์แก้ว)

วิทยากรรับเชิญ : “อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล”

พิธีกรเสื้อแดง : “จ.เจตน์”

กำหนดการ :

13.30 น. ลงทะเบียน รับของที่ระลึก ดื่มชา,กาแฟ

14.00 น. “คุณแม่ณัฐวรรณ เพ็ญแข” ประธานทำการเปิด, ถ่ายภาพร่วมกัน

14.15 น.วิดีโอลิ้งค์จาก “คุณจักรภพ เพ็ญแข” (เจ้าของร้าน)

14.45 น. “อ.ปิยบุตร” พูดคุยในหัวข้อ “หนังสือไทยที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของผม”

15.30 น. (ประมาณ) ประธานมอบของที่ระลึกแก่วิทยากร, เสร็จพิธี

***********************************************************************************

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“จุดยืน” (๒) โดย จักรภพ เพ็ญแข


คอลุมน์ เขียนถึงคนรัก
ตอน "จุดยืน" (๒)
ที่มา : Red Power ฉบับที่ ๒๗ (กรกฎาคม ๕๕)


มวลชนที่รักและเคารพครับ

พวกเราสบายดีไหมครับ ผมหวังว่าท่านจะสบายกายและสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ถึงในใจจะไม่สบาย เพราะได้เห็นเล่ห์กระเท่และความชั่วร้ายของอำนาจเดิมอย่างกระจะตา ก็ขอให้รักษาร่างกายของท่านเตรียมไว้สำหรับขบวนประชาธิปไตยในปัจจุบันและอนาคต ถึงผมอยู่ห่างกายกับท่าน จนหลายท่านนึกเอาเองว่าผมคงทิ้งห่างจากมวลชนไปแล้ว บางครั้งก็เกิดข่าวลือต่างๆ นานาตามประสาคนที่อยู่ไกลกัน แต่ทำงานทุกอณูของชีวิตเพื่อการปฏิวัติประชาธิปไตยในเมืองไทยโดยตรง ขอให้ท่านมั่นใจและอย่าได้ห่วง งานสร้างประชาธิปไตยมีทั้งเปิดเผยและปิดลับ มีทั้งงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โปรดอย่านึกว่าการโผล่หน้าแสดงตัวต่อมวลชนเท่านั้นจึงจะถือว่าทำงาน วันหนึ่งเมื่องานของเราบรรลุผลบ้างแล้ว ผมคงมีโอกาสเล่าให้ท่านฟังกันได้ว่าเราทำอะไรกันไปบ้างและจะทำอะไรต่อไปอีก

สิ่งสำคัญที่สุดคือจุดยืน ในคอลัมน์ "เขียนถึงคนรัก" วันนี้ ผมจึงขอเสนอบทสัมภาษณ์ตอนที่ ๒ กับ "คุณจอม เพชรประดับ" เพราะแสดงจุดยืนของผมได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ขอเชิญรับความสำราญครับ......

จักรภพ เพ็ญแข

Core Respondence จอม เพชรประดับ จักรภพ เพ็ญแข

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

จอม                 ผมก็ได้ฟังคุณจักรภพได้พูดไว้เหมือนกัน การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรใน ๓ ส่วนนี้ครับ

จักรภพ           จริงๆ ไม่ได้พูดขึ้นมาก่อน ผมไปพูดคุยกับกลุ่มเล็กๆ เป็นการภายใน แล้วก็มีท่านหนึ่งถามขึ้นมาว่า ทำไมทางฝั่งประชาธิปไตยจึงไม่มีธงเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลและปฏิรูปกองทัพ เพื่อจะไม่ให้วงจรอุบาทว์ในการทำร้าย ฆ่าฟันประชาชนกลับมาอีก

ผมก็ตอบว่า สถาบันศาลกับสถาบันกองทัพก็ได้พูดชัดเจนแล้วว่าเป็นสถาบันที่เกี่ยวพันกับอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด พูดง่ายๆ คือเกี่ยวข้องกับคำว่าพระราชอำนาจ อย่างกองทัพเองก็ออกมาพูดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยุคนี้ว่า กองทัพเทิดทูนสถาบัน ใครจะมาละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ไม่ได้ กองทัพจะเอาชีวิตเข้าแลก ศาลเองก็พูดตลอดเวลาว่าเป็นการพิพากษาในพระปรมาภิไธย แล้วศาลเวลาออกมานั่งบัลลังก์ไม่ว่าจะเป็นองค์คณะหรือเป็นอย่างไรก็ตามก็จะอยู่ภายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ทุกครั้ง เป็นเหมือนกับองค์ประกอบของกระบวนการพิจารณาคดี
           
เพราะฉะนั้นโดยสัญลักษณ์และโดยเนื้อหา การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสถาบันศาลหรือสถาบันกองทัพโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่ได้

ผมเองถามตัวเองว่าลัทธิที่ว่ามีผู้รู้ดีกว่าประชาชน เวลามันปรับสู่ประชาธิปไตยจะทำยังไง อย่างในสหรัฐอเมริกาเขาไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ และก็ไม่มีผู้ดีเก่า เพราะต่างคนก็ต่างเป็นผู้อพยพกันมาทั้งนั้น ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว เขาก็ตกลงว่าระบบดีที่สุดคือเราต้องมาคานอำนาจกัน ก็คือสถาบันบริหารมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า สถาบันนิติบัญญัติมีสมาชิกวุฒิสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสองสภา แล้วก็สถาบันศาลก็คือ ศาลสูงสุด คือ supreme court มีผู้พิพากษาศาลสูงสุด ๙ คน และเลือกกันเองได้ประธาน ๑ คน เรียกว่า chief justice เป็นระบบที่เขาตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้วเมื่อเขาสร้างประเทศ สุดท้ายมันก็ยังได้ผลอยู่ มีวิกฤติ มีเรื่องระหองระแหง มีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์นินทากันมาตลอด แต่สุดท้ายระบบนี้ก็ยังมี ก็คือว่าเขาคานกันอยู่ เช่น ประธานาธิบดีเป็นคนเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดแต่สภาเป็นคนเลือก ศาลสูงสุดมีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเอาชนะประธานาธิบดีและสภาได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันกับการทำความผิดแต่ละครั้งก็จะมีปัญหาที่ทั้ง ๓ สถาบันต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สมัยประธานาธิบดีนิกสัน เรื่องวอเตอร์เกต สมัยประธานาธิบดีคลินตัน เรื่องเซ็กส์-โมนิก้า ลูวินสกี้, พอล่า โจนส์ ก็ต้องเอาทั้ง ๓ สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกัน

ผมกำลังพูดอย่างนี้ครับว่าการปฏิรูปศาล ผมว่าหลักการของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นและคานอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ มันน่าจะเป็นวิธีการปฏิรูปที่ดี และขณะเดียวกันก็จะเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์พ้นข้อครหาว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

พูดง่ายๆ ว่าถ้าหากศาลเป็นของประชาชน หรือศาลอยู่ภายในระบบการถ่วงดุลและคานอำนาจกัน เวลามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในความรู้สึกของคน คนก็จะไม่มองขึ้นไปในที่สูงมาก คนก็จะมองแค่ตรงผู้พิพากษา แล้วก็ตัดสินใจกันไป

ความจริงผู้พิพากษาในเมืองไทย ท่านมีระบบที่ดีนะ เช่น ท่านมีระบบศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น แล้วแต่ละศาลก็จะมีเหมือนกับคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งจะมีผู้พิพากษาอาวุโสอยู่ในนั้น แล้วก็ทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรอง ขนาดประธานศาลฎีกาซึ่งถือว่าสูงสุดของสถาบันยุติธรรม ท่านก็ยังมีคณะกรรมการตุลาการ ซึ่งท่านเป็นประมุขแล้วก็ต้องตัดสินภายใต้ระบบกลุ่ม ระบบองค์คณะ ระบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ทำไมสถาบันศาลจำเป็นจะต้องอ้างถึงพระราชอำนาจในการมาใช้ในการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีไหนก็ตาม

ผมคิดว่าถ้าหากสถาบันศาลหันมาผูกพันกับประชาชนมากขึ้น แล้วก็ลดความเกี่ยวข้องกับสถาบันกับงานของตนเองลง สถาบันตุลาการก็จะเป็นทางออกให้กับเรื่องต่างๆ มากขึ้น แต่แน่นอนครับ มันยังมีปัญหาอื่นอีกเยอะในการปฏิรูปศาล เช่น ระบบของการไต่สวนที่ยาวนานเจ็ดชั่วโคตร เป็นความกันตอนนี้ได้ผลอีกทีลูกโตแล้ว เข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว อย่างนี้มันก็ทำให้เกิดความไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่ามันไม่ได้ผลทางกฎหมายทันท่วงที อย่างนี้ศาลก็ต้องแก้ไข

ในสหรัฐอเมริกาเวลามีคดีเข้าศาลเขาจะไต่สวนคดีต่อเนื่องๆ จนจบ จะกี่เดือนกี่ปีก็ต่อนะ เพราะฉะนั้นทุกคนจะสามารถติดตามได้ว่าความยุติธรรมมันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าหากมีอะไรไม่ชอบมาพากลก็เห็นชัด แต่บ้านเราช้าจนลืมกันไปเลย จำไม่ได้แล้วว่าคดีนี้เป็นยังไง เรียกไปไต่สวน “งง” นั่นก็เป็นเรื่องต้องปฏิรูปด้วย แล้วก็เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยึดโยงกับประชาชนที่ผมพูดตอนแรกมันต้องหาวิธี

อย่างในสหรัฐอเมริกา ผมไม่ได้บอกว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุดนะ เป็นแค่แนวคิดหนึ่ง ก็คือเขาให้ผู้ที่มีคุณสมบัติในทางกฎหมาย เช่น ต้องเรียนมาดีกรีนี้ มีตำแหน่งอย่างนี้ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ไม่ใช่ใครก็ไปลงได้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการลงสมัครรับเลือกตั้งนี่แหละแต่เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติและไม่มีการหาเสียง เป็นเรื่องของการเลือก การตัดสินใจ คือเหตุที่เขาเอาประชาชนเลือก เพื่อเขาจะลากประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีด้วย ว่ามันมีความเป็นธรรมหรือไม่มี แต่แน่นอนครับ ระบบบางอย่างที่อเมริกามี ผมก็ไม่แน่ใจว่าพอมาอยู่ในเมืองไทยแล้วมันจะอลเวงไหม เช่น ระบบลูกขุน สมมุติว่าผมถูกกล่าวหาคดีฉ้อโกงแล้วผมขึ้นศาล ผมก็จะมีคน 12 คนซึ่งผมไม่รู้จัก ต้องให้แน่ใจว่าไม่รู้จักนะ มาฟังผมให้การในศาลว่าน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ แล้วเขามีอำนาจที่จะบอกว่า จักรภพ ผิดหรือไม่ผิด แล้วผู้พิพากษาซึ่งนั่งเป็นประธานในการประชุมอยู่จึงจะตัดสินว่า เมื่อเขาบอกว่าผิดแล้วต้องลงโทษอย่างไรตามกฎหมาย มันก็ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจคือผู้พิพากษากับคณะลูกขุน คือตัวแทนประชาชน แต่แน่นอนมันก็มีข้อเถียงเยอะ บ้านเรา สงสัยลูกขุนจะถูกซื้อตัว ตังค์หมด มีคนมาจ่ายตังค์ ก็ว่ากันไป แต่ผมยกตัวอย่างว่าเราต้องเริ่มพูดคุยกันเรื่องนี้ว่าวิธีการแบบไทยจะเอายังไง ที่จะทำให้ระบบศาลเป็นไปได้

ส่วนกองทัพผมคิดว่ากองทัพต้องเริ่มตระหนักว่าธงชาติมี ๓ สี คือ แดง ขาว น้ำเงิน สีแดงที่แปลว่าชาติ และสีน้ำเงินที่แปลว่าพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่สีเดียวกันนะ คนละสี คนละแถบ คิดกันมาแล้วนะว่าคนละแถบ เพราะฉะนั้นกองทัพนอกจากปกป้องสถาบันแล้ว กองทัพจะต้องปกป้องชาติ โดยแยกชาติจากพระมหากษัตริย์ด้วย

คือในวันนี้มีการพูดถึงเรื่องของการเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสองสิ่ง มันก็ทำให้เกิดผลอันหนึ่งก็คือว่าเราไม่สามารถจะแยกระหว่างสถาบันกับตัวบุคคลได้ เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ซับซ้อนเข้าใจยากเหมือนกัน ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานเขาจะแยกออกชัดเจนนะครับ เช่น ยกตัวอย่างว่า อย่างกษัตริย์สวีเดน คาร์ล ที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ เวลาท่านมาร่วมงานลูกเสือแจมบุรีในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ท่านจ่ายเงินเองนะ เพราะมาในฐานะคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ ไม่ใช่มาในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีของสวีเดน เพราะฉะนั้นคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ บางทีก็เป็นคนบางทีก็เป็นกษัตริย์ เพื่อเขาต้องการที่จะบอกว่าสถาบันใหญ่กว่าบุคคล

ตรงนี้ผมเองก็ไม่บังอาจที่จะชี้แนะว่าสมควรหรือไม่ในเมืองไทย เพียงแต่อยากจะบอกว่าหลักคิดทุกอย่างต้องนำมาคิดหมด และที่สำคัญก็คือต้องยอมรับความจริงว่าของทุกอย่างที่อยู่คงทนทานในโลกนี้ต้องผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั้งนั้น ถ้าหากไม่ผ่านการพิสูจน์ก็รอเวลาที่จะมีคนมาพิสูจน์ ถ้าพูดไม่เพราะก็คือรอคนมาลูบคมลองดี ซึ่งมันไม่ดี

จอม                 มองอย่างไรกับขบวนการการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงและ
กลุ่มนิติราษฎร์ สองกลุ่มนี้จะเป็นขบวนการที่ให้ความมั่นใจได้แค่ไหนว่าจะนำไปสู่การที่ทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือมองว่าอย่างไร

จักรภพ          ความจริงชัดเจนมากครับ ขบวนการเสื้อแดงจะในนาม นปช. หรือกลุ่มใดก็ตามเป็นมวลชน แปลว่าประชาชนที่มีพลัง มวลชนต่างจากประชาชนตรงนี้ คือมีพลังบวกเข้าไป ส่วนนิติราษฎร์เป็นเสมือนที่ปรึกษามวลชน

คำว่าที่ปรึกษาหมายความว่า เขามีหน้าที่ในการเสนออะไรใหม่ๆ ให้มวลชนพิจารณา รับหรือไม่รับก็ไม่มีสิทธิบังคับ มวลชนอาจจะบอกว่าไร้สาระไม่ฟังก็ได้ หรือมวลชนจะบอกว่าดีน่าคิด แล้วเอามาทำอะไรกันต่อก็ได้

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อแดงกับนิติราษฎร์สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่อยากเห็นหรือไม่อยากได้ยินใครมาพูดว่า นิติราษฎร์เงียบหน่อยช่วงนี้ นิติราษฎร์อย่าไปพูดเยอะ เขาจะอย่างนั้นอย่างนี้กัน

จริงๆ เราควรจะขอบคุณความหลากหลายในขบวนประชาธิปไตยไทยด้วยซ้ำ ว่าในเมื่อมีคนจะปรองดองก็มีคนที่เตือนอยู่ว่าระวังหน่อยนะ ตรงนั้นตรงนี้ ไม่ดีใจเหรอ ผมว่าเราเป็นคนเราก็ดีใจนะว่ามีคนคอยเตือนเรา

เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือ นิติราษฎร์เป็นที่ปรึกษาและผมไม่ได้เชียร์เฉพาะนิติราษฎร์ ใครก็ตามที่มีสติปัญญา มีประสบการณ์ ควรจะเตือนทั้งสิ้น ควรจะรวมกลุ่มขึ้นมา อย่างไม่ต้องเรื่องการเมืองหรอกครับ เป็นต้นว่าเรื่องของธุรกิจเราก็สามารถที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างได้ เช่น นักธุรกิจที่มีประสบการณ์มารวมตัวกัน ไม่ต้องเป็นหอการค้า ไม่ต้องเป็นสภาอุตสาหกรรม ทำเป็นกลุ่มอิสระขึ้นมาเหมือนนิติราษฎร์ แต่ในทางการค้าธุรกิจ แล้วเตือนรัฐบาลก็ได้ว่า ภาษีอย่างนี้ไม่มีใครเขาลงทุนนะ แรงงานอย่างนี้ตายนะ ก็ควรจะมีนิติราษฎร์ในทางธุรกิจหรือในทางอื่นขึ้นมาเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเรามีวุฒิภาวะและลดการไปขึ้นกับตัวบุคคลแต่มาขึ้นกับพวกเรา ขึ้นกับองค์คณะของประชาชนมากขึ้น

จอม                 คิดว่าถึงที่สุดแล้วขบวนการของคนเสื้อแดงกับนิติราษฎร์จะสามารถ
เดินไปบนเรือลำเดียวกันได้ไหมครับ บนเส้นทางเดียวกันได้ไหม หรือจะมาความขัดแย้งกันในอนาคต

จักรภพ          พูดยากนะครับ ผมตอบได้เพียงแค่ว่าขณะนี้คนเสื้อแดงก็เรือลำหนึ่ง นิติราษฎร์ก็เรือลำหนึ่ง แต่ว่าเป็นเรือในขบวนเดียวกัน ลำใหญ่ลำเล็กแต่ว่ามาด้วยกันเป็นขบวนเรือ เหมือนพยุหยาตรา ต่างฝ่ายก็ต่างเห็นกันแล้วก็มีไมตรีต่อกัน โบกมือยิ้มแย้มแจ่มใส มีบางระยะเหมือนกันที่บอกว่า เรือนิติราษฎร์ไปขับห่างๆ หน่อย เดี๋ยวมาเปื้อนฉัน ก็มี แต่สุดท้ายก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ที่คุณจอมถามคือจะมาเป็นเรือลำเดียวกันไหม ผมเองตอบไม่ได้ แต่พูดได้เพียงว่าสุดท้ายถ้าเป้าหมายเดียวกันมันก็เหมือนนั่งเรือไปเจอกันที่ปากแม่น้ำ ซึ่งมันแคบและจะต้องผ่านคอขวดเพื่อเข้าไปที่ใดสักที่หนึ่ง มันอาจจะไม่มีทางเลือกต้องเหลือลำเดียว ซึ่งคนที่อยู่ในเรือใหญ่จะลงมาเรือเล็กหรือเรือเล็กขึ้นเรือใหญ่ก็ไม่รู้ ผมก็ไม่ได้มีความวิเศษวิโสที่จะไปวิเคราะห์ได้ รู้แต่เพียงว่าความคิดแบบกลุ่มนิติราษฎร์ ถ้าหากนำเสนอในเมืองไทยเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ถ้าไม่โดนโห่ก็โดนยิง แต่มาวันนี้ก็กลายเป็นกระแสธรรมดาคนก็นั่งฟัง แล้วที่ผมปลื้มใจมากก็คืออาจารย์ทั้งหลายท่านก็พูดเป็นภาษาวิชาการ มีทฤษฎีเยอะแยะ พี่น้องที่ดูเหมือนเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยก็นั่งฟังนั่งจด สนใจ ไม่เข้าใจก็กลับไปค้น แรงผลักดันตรงนี้มันมาจากไหน แรงผลักดันที่พยายามจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ตอบได้คำเดียวว่ามันมาจากความรู้สึกที่ว่าแนวทางนี้อาจจะเป็นทางออกของชีวิตเขาก็ได้

จอม                คุณจักรภพ มองอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าเป็นนักประชาธิปไตยไหมครับ หรือเป็นแค่นักการเมือง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

*********************************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, นิติราษฎร์, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สมัคร เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"จรรยา ยิ้มประเสริฐ" เปิดตัวหนังสือ "แรงงานอุ้มชาติ"




ที่มา : เว็บไซต์ไทยอีนิวส์ วันที่ 1 เมษายน 2555

ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศเขียน หนังสือที่ "ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน 

1.ทำไมคุณจรรยาเขียนเล่มนี้ออกมา และพล็อตสำคัญของหนังสือนี้คืออะไร และเพราะอะไรคนควรควัก 300 บาท ไปซื้อมาอ่าน


จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กเชื่อและพูดมาโดยตลอดว่า “ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้า ไม่ได้ต้องการผู้นำเก่งเท่านั้น แต่ต้องการประชาชนที่เก่งและรู้เท่าทันผู้นำที่เก่งด้วย”

แต่การเมืองไทยหรือจะพูดว่า วิธีการเมืองไทยที่เห็นและสัมผัสมาตลอดชีวิต เป็นเรื่องของการล่อหลอกและกล่อมเกลาประชาชนด้วยข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ “เท็จปนจริง” ที่แยกกันไม่ออก และมักจะนำเสนอข้อมูลเฉพาะ “ด้านเดียว" และ "ด้านดี” ของผู้นำ

ไม่ว่าจะมาจากสถาบันระดับสูง และ/หรือสถาบันนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารบ้านเมือง ที่อัดฉีดแคมเปญต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค จอมพล ป. ที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เป็นวิถีการเมือง “บนลงล่าง รองรับด้วยโครงสร้างชนชั้นในสังคมวิถี “ไพร่-ผู้ดี-สมมุติเทพ” ที่ให้ค่าและความสำคัญกับชนชั้นสูงมากกว่าประชาชนทั่วไป

ดูได้จากคำกล่าวของทักษิณที่นั่งเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัว และได้รับการต้อนรับอย่างหรูหราในทุกประเทศที่ไปเยือน แล้วบอกว่า "ผมคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด" นี่คือตัวอย่างของการให้คุณค่าตัวเองของผู้นำ

ซึ่งภาพที่ได้เห็นมันต่างกันอย่างสุดขั้วกับภาพของประชาชนที่ออกมาต่อสู้จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 หลายคนเสียสละเงินทองกันจนหมดเนื้อหมดตัวเพื่อการต่อสู้ แม้จะยากจนกว่าทักษิณหลายร้อยหลายพันเท่า

หลายคนต้องสูญเสียชีวิต บางคนเสียหัวหน้าครอบครัว และยังมีอีกนับร้อยที่ "สูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ" และ "อีกไม่ทราบจำนวนที่ต้องลี้ภัยในต่างแดน" เป็นการอยู่ที่ต่างแดนยากลำบากแสนสาหัสกว่าผู้ที่อ้างว่า "ได้รับผลกระทบมากที่สุด" เสียด้วย

ถ้าจะพูดแรงๆ ก็คงขอบอกว่าทักษิณพูดโดยไม่มีความรับผิดชอบมากๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้นำมวลชนที่มีวุฒิภาวะ จะไม่มีทางอ้างว่า "ผมได้รับผลกระทบที่สุด" เพราะ ความสูญเสียของประชาชนที่ไม่มีอะไรจะเสีย แต่ยอมเสีย มันเป็นอะไรที่ผู้นำต้องตระหนักถึงก่อนเสมอ

การเมืองชนชั้นสูงและนายทุนของไทย จึงเป็นการเมืองที่หล่อเลี้ยงประชาชนด้วยความฝัน ให้อยู่ด้วยการฝากความหวัง และรอคอยความช่วยเหลือไว้ ภายใต้วิถีการเมืองระบอบ “พ่อขุนอุปภัมภ์เผด็จการ” ที่ อ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้คำนิยามนี้ไว้ดียิ่ง

วิถีคิดแบบนี้มันควรจะเปลี่ยนได้แล้วในทศวรรษที่ 21 ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีได้หลายทาง และก็ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรจะต้องขวนขวายศึกษาและทำความเข้าใจสังคมและการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากการรับเพียงชุดข้อมูลด้านเดียวที่ถูกยัดเยียดให้ เพื่อการหวังผลทางการสร้างมวลชนสนับสนุนของผู้มีอำนาจ

อีกทั้งไม่ต้องพูดกันถึงลักษณะของข้อมูลที่แทบจะไม่เคยตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนระดับล่างที่ไม่ยอมจำนน

การนำเสนอของกระแสหลักทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชน ทั้งหมดทั้งมวลพุ่งไปที่ความสูญเสีย(ในผลประโยชน์และอำนาจ) ของชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น

เป็นการเมืองที่ไม่ว่า “ทักษิณจะไป อภิสิทธ์จะมา” หรือไม่ว่า “อภิสิทธิ์จะไป ยิ่งลักษณ์จะมา” ประชาชนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายอยู่ดี

หนังสือเรื่อง "แรงงานอุ้มชาติ" เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวของความเดือดร้อน การต่อสู้ และการไม่ยอมจำนนต่อนายทุน และรัฐ (รัฐบาลและลูกจ้างรัฐ) ของคนที่ถูกเรียกว่าชนชั้นล่าง - คนงาน กรรมกร ชาวไร่ชาวนาตาสีตาสา - จากบทเรียนการทำงานกว่ายี่สิบปี

และเป็นเรื่องราวที่เล็กได้เขียนไว้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องอาจจะผ่านตาผู้อ่านแล้ว แต่หลายเรื่องมั่นใจว่าผู้อ่านยังไม่เคยเห็น

และยิ่งไม่นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่รวมข้อเขียนกว่า 30 เรื่องไว้ด้วยกัน ที่หนาถึง 430 หน้า ซึ่งจริงๆ ควรจะตั้งราคาขายที่สูงกว่านี้ แต่ด้วยเราไม่ใช่ต้องการค้ากำไรเกินควร และต้องการร่วมแสดงสัญลักษณ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จึงตั้งราคาแค่ 300 บาท

ถ้าคนงานไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาจะเข้าใจได้ทันทีว่า “การทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้นั้น จะได้มาด้วย “การรวมตัวต่อรองทั้งกับนายจ้างและรัฐ ไม่ใช่ได้มาด้วยการร้องขอ” และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็มาจากการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ ทุนและนักการเมืองมาโดยตลอด

2. มีนักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักแรงงานที่เกลียดกลัวทักษิณและคนเสื้อแดงซะส่วนมาก เลยพลอยหันไปสนับสนุนเผด็จการ คุณจรรยาน่าจะเป็นเพียงในไม่กี่คนที่โปรประชาธิปไตย อะไรคือความแตกต่างและมีผลสะเทือนอย่างไรตามมา

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ใช่ค่ะ เล็กตัดสินใจไม่ร่วมกับ NGOs ที่มีการประชุมกันเมื่อปลายปี 2548 ว่าควรจะเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนของสนธิ ลิ้มทองกุล เพราะ “สนธิมีมวลชน” และก็ตัดสินใจไม่ร่วมกับกลุ่มที่ก่อร่างมาเป็น นปช. ในปี 2552 ที่บอกว่า “ต้องรวมตัวกับค่ายเพื่อไทยเพราะมีมวลชน”

แต่สุดท้ายทั้งสองทางเลือก ก็ใช้วิถีการโฆษณาและระดมมวลชนแบบเดียวกัน คือการอัดฉีดความดี และความเป็นสุดยอดมนุษย์ ของคนๆ เดียว ที่แต่ละฝ่ายเชิดชู และ/หรือ ชูและเชิด

ทั้งสองฝ่ายอ้าง “เพื่อประชาธิปไตยคนดี” กับ “เพื่อประชาธิปไตยคนเก่ง” แต่ไม่ได้พยายามกันเลยที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมแห่งการหล่อหลอมหลักการ "ประชาธิปไตยประชน"

อีกทั้งการประท้วงก็ใช้รูปแบบรวมศูนย์ ด้วยเวทีปราศรัยของแกนนำ และสั่งการเคลื่อนไหวจากแกนนำเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้งแกนนำโดยมวลชน ไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ในที่ชุมนุม

พันธมิตรนี่ไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ นปช. ก็เป็นการตั้งกันเองช่วงแรก พอถูกดันหนักขึ้นมาประกาศเลือกตั้งประธาน นปช. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ล็อคสเป็คชิงเลือกตั้งแกนนำระดับชาติก่อนแบบไร้คู่แข่งขัน (อ. ธิดา) แทนที่่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งแกนนำระดับฐาน (หมู่บ้าน จังหวัด) ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งแกนนำระดับชาติ ตามครรลองประชาธิปไตย “ล่างขึ้นบน” ที่ควรจะส่งเสริม

การเมือง 6 ปี ที่ผ่านมา จึงน่าเสียดายตรงที่การจัดตั้งหรือนำมวลชน เลือก “ยุทธวิธีทางการเมือง” มากกว่า “การเมืองหลักการ” เป็นการเมืองที่มุ่งจัดตั้งมวลชนขนาดใหญ่ และแม้ว่ามวลชนร่วมลงขันมาต่อเนื่องตลอดหลายปี แต่่แกนนำก็ไม่เคยวางใจและดูถูกมวลชนมาแบบเดียวกันนี้ทุกยุค ทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญไม่น่าเชื่อว่า นปช. ที่ดึงมวลชนใส่เสื้อแดงได้มากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ กลับไม่สามารถหล่อหลอมวิถี “การเมืองประชาธิปไตยแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน” และเลือกยุทธวิธีการทำงานเป็นกองกำลังของพรรคเพื่อไทย อย่างแยกไม่ออก

ผลสะเทือนและเป็นจุดหักเหของตัวเอง คือ การสังหารประชาชนเดือนเมษาและพฤษภา 2553 ที่ทำให้เล็กลุกขึ้นมาเขียนบทความ “ทำไมถึงไม่รักXXX” แล้วมีปฏิกิริยาของทั้งคนรอบตัว และคนอ่านค่อนข้างแรงทั้งในด้านบวกและด้านลบ

จนต้องตัดสินใจลาออกจากงานทั้งๆ ที่ไม่มีงานใหม่รองรับ ตัดสินใจไม่ติดต่อครอบครัวอีกต่อไป และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยจากต่างแดน ที่ให้พื้นที่เสรีภาพในการคิด เขียน และพูด ได้ดีกว่า “ยอมลำบากกาย แต่มีอิสระทางความคิด”

เล็กมองว่าประเทศจะก้าวหน้า วิถีการเมืองของทุกฝ่ายจะต้องไม่ผูกติดแค่ว่า "คนดีแต่ไม่เก่ง ไม่เป็นไร" หรือ "คนโกงแต่เก่ง ไม่เป็นไร" เราบอกไม่ได้ว่าคนดีนั้นดียังไง คนโกงนั้นโกงจริงหรือเปล่า คนเก่งนั้นเก่งอะไร เก่งแค่ไหน เรื่องพวกนี้มันกลายเป็นเหมือมายาคติมากกว่าที่จะยืนอยู่บนการตรวจสอบ และมาตรฐานด้านกระบวนการศาลสถิตยุติธรรมของไทยก็ถูกตั้งคำถามอีกเช่นกัน

เพื่อวิถีการเมืองที่จะหลุดพ้นจากวงจรอุบาดเดิมๆ สังคมต้องพร้อมที่ยอมรับว่า

1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนประเทศ และต้องไม่มีกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งหลาย โดยเฉพาะข้อเขียนในรัฐธรรมนูญที่ต้องไม่ละเมิดความเสมอภาคของประชาชน และมาตรา 112 ต้องถูกยกเลิก - ต้องไม่มีนักโทษการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าประเทศเปิดรับฟังความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน

2. สิทธิในการรวมตัวในนามสหภาพแรงงาน องค์กร สมาคม และสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างหรือกับรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม และการประท้วงของทั้งคนงานและเกษตร ไม่ใช่เรื่อง “ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายต่อนายทุน” เช่นที่รัฐบาล รัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งสื่อต่างๆ พยายามจะโจมตีทุกครั้งที่คนงานหรือเกษตรกรประท้วง

3. การยอมรับและส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเข้ามาต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตยในรัฐสภาตัวแทนของประชาชน

4. ปรับปรุงคุณภาพ ศักยภาพและการควบคุมราคาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งวางระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นต่อประชาชน ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคนในประเทศ

5. ประเทศไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันและเคารพกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมือง และบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองประชาชน ไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน อาทิ พรก. ฉุกเฉิน และ พรก. ความมั่นคง

6. จำเป็นที่จะมีการปฏิรูปการศึกษา การศาสนา การทหาร สถาบันข้าราชการ สถาบันการเมือง และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมมานับตั้งแต่ 2549 ให้สอดรับกับอารยประเทศทั้งหลาย

7. การเมืองที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และสังคมต้องถูกหล่อหลอมให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และการต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

8. ต้องให้คำนิยามร่วมกันของคนในชาติใหม่ในเรื่อง "ชาติ" และ "ความมั่นคงของชาติ" ที่ปัจจุบันผูกขาดคำนิยามโดย "ทหาร" และ "ชนชั้นสูง" เท่านั้น

ฯลฯ

3. ทราบว่าได้ลี้ภัยการเมือง(self exile)ในต่างประเทศตั้งแต่ 19 พฤษภา 53 ไปอยู่ต่างประเทศ ฟังแล้วก็น่าจะดูดีเพราะไปอยู่ทางยุโรปคงสุขสบายดี ตอนนี้ยังทำงานในตำแหน่งเดิมก่อนลี้ภัยไหม หรือมีองค์กรใดสนับสนุนการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิืปไตยบ้าง หรือมีผลกระทบต่อเรื่องการงาน การเงิน ครอบครัวอย่างไรบ้าง

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: มันเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยว่าการอยู่ยุโรปนั้นสุขสบายดี เพราะยุโรปดูพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง คนที่นี่จำนวนมากอิจฉาคนไทยที่ “โยนเมล็ดพืชผักอะไรตรงไหนก็งอกงาม” และ “มีอาหารกินกันอย่างหลากหลายเหลือเฟือ” ไม่นับว่าเล็กอยู่ที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ค่าครองชีพแพงอันดับสามในยุโรปได้กระมังตามการสังเกตของตัวเองที่เดินทางทั่วยุโรป (รองจาก นอรเวย์ และสวิสเซอร์แลนด์)

แน่นอนว่าสองปีที่ผ่านมาเล็กต้องเผชิญกับความยุ่งยากและลำบากมากมาย ทั้งเรื่องอยู่เรื่องกิน และเรื่องขอวีซ่าอยู่ยุโรป ในขณะที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาการล้มละลาย และความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย

แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมา เล็กก็ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวในทุกทางที่สามารถทำได้ ทั้งทำการศึกษาและเขียนบทความการเมืองไทยต่อเนื่อง ทั้งติดตามปัญหาคนงานไทยที่ถูกพามาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ จัดผลิตสารคดีหลายเรื่องด้านแรงงานและการเมือง

และไม่นับว่าช่วยดูแลเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกสองสามแห่งโดยเฉพาะ www.timeupthailand.net อีกทั้งยังได้พยายามทำงานกับกลุ่มคนไทยที่ยุโรป และจัดรายการวิทยุทางอินเตอร์เน็ทอีก ทำให้ไม่มีเวลาไปทำงานหารายได้อื่นๆ

และนี่ก็เป็นปัญหาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้คือการไม่สามารถผ่อนส่งคืนเงินกู้กับธนาคารได้ จนธนาคารที่ประเทศไทยกำลังดำเนินเรื่องยึดทรัพย์ สมบัติชิ้นเดียวที่มีคือ "ไร่เปิดใจ" และก็เป็นที่มาของการต้องผลิตหนังสือเรื่อง “แรงงานอุ้มชาติ” เล่มนี้ เพื่อขายสร้างรายได้ทำกิจกรรมการเมืองเช่นที่ทำนี้ต่อไป และหวังว่าจะมีรายได้มากพอจะทำให้ไปจ่ายธนาคารไม่ได้ยึดบ้านตัวเองได้

และคงต้องขออนุญาตใช้โอกาสนี้ กล่าวขอบคุณคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนไม่น้อยเลย ทั้งที่เมืองไทยและที่ต่างประเทศ ทั้งคนไทยและเพื่อนฝูงคนต่างชาติ ที่ช่วยกันลงขันและสนับสนุนด้านการเงินมาบ้าง (เป็นการช่วยของผู้รักประชาธิปไตย โดยไม่มีนายทุนใหญ่ใดๆ หนุนหลังทั้งสิ้น) และแม้จะไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ก็ทำให้อยู่และทำงานได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ก็ต้องขอกราบขอบคุณทุกท่านที่อาจจะไม่สามารถเอ่ยนามได้มา ณ ที่นี้ด้วย

แม้แต่หนังสือเล่มนี้ก็ต้องขายแบบ "สั่งจองและจ่ายเงินล่วงหน้า" เพราะเล็กไม่มีเงินจ่ายค่าพิมพ์หนังสือ ต้องรวบรวมเงินจากผู้สั่งจองไปจ่ายค่าพิมพ์ เป็นการทำงานที่พึงพิงมวลชน (ไม่ใช่นายทุน) อย่างแท้จริง

ก็หวังว่าการตอบรับหนังสือจะเป็นไปด้วยดี ไม่ใช่เพราะต้องช่วยเล็ก แต่เพราะว่าหนังสือเรื่องแรงงานที่ให้ภาพองค์รวมของปัญหาแรงงานและโยงถึงต้นตอของการเมืองไทยเช่นนี้ ไม่ค่อยมีการผลิตออกมา การต่อสู้ของแรงงาน ปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจของทั้งสาธารณชนและรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมสหภาพแรงงานไม่ได้รับการส่งเสริมในประเทศไทย

4. มีคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับคุณจรรยามากไหม ที่ยังกลับประเทศไม่ได้ และต้องการหนุนช่วยอย่างไรบ้างจากองค์กรต่างๆ หรือเพื่อนมิตร

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เท่าที่ทราบและติดต่อกันอยู่บ้าง ก็มีกว่าสิบคน ทุกคนลำบากกันถ้วนหน้า ทั้งเรื่องการทำเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ก็ไม่ได้ง่าย เรื่องการขอวีซ่าอยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศที่เขาเลือกอยู่ก็ยุ่งยาก เรื่องเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง ต้องขายบ้าน ขายรถ และทรัพย์สินที่ขายได้เพื่ออยู่กินที่เมืองนอก หลายคนอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเล็กมาก – ฟังเรื่องของเขาแล้ว ไม่บ่นเรื่องตัวเองเลยค่ะ สงสารพวกเขาแทน

อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจช่วยกันตั้งกองทุนอะไรซักอย่างเพื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองของประเทศไทย มันจำเป็นยิ่งที่การเมืองไทยยังไม่สามารถปล่อยวางได้ ที่จะมีกองทุนตรงนี้ ให้คนกลุ่มนี้ที่ลี้ภัยสามารถทำงานเพื่อประชาธิปไตยของไทย แม้ว่าต้องอยู่ต่างแดนก็ตาม

ไม่ใช่ให้พวกเขาต้องอยู่อย่างปิดตัวและความวิตกกังวลว่าจะเอาชีวิตรอดที่ต่างแดนได้อย่างไร ในสภาพที่หลายคนไม่เคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก และภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง และที่สำคัญเล็กมองพวกเขาเป็น "ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งกับประเทศไทย" ที่ควรสนับสนุนให้ได้ทำงานเพื่อสร้างการตื่่นรู้ทางการเมืองไทยกันต่อไป

เสียดายทุกครั้งที่เวลาและสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกใช้คุ้มค่ากับสิ่งที่เขาควรจะทำ และถูกใช้ไปเฉพาะความสุขส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อความสุขของมนุษยชาติ

5. ในอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ใช้ฐานในต่างประเทศรณรงค์ปฏิวัติใหญ่ทั้งยุคเลนิน ซุนยัดเซ็็น โฮจิมินห์ รวมทั้งปรีดี พนมยงค์ กับ คณะราษฎร์ คิดว่าเวลานี้ขบวนทำนองนี้ของไทยมีหรือไม่และมีศักยภาพเพียงใด

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กคิดเรื่องนี้อยู่มากเช่นกัน และคิดว่าจะทำได้ไหมในศตวรรษที่ 21

ข้อสรุป ณ ตอนนี้ คือ การจัดตั้งจากต่างประเทศในยุคนี้ไม่ประสบความสำเร็จแน่ เพราะว่านักการเมืองแบบพรรคนายทุน และพรรคชนชั้นสูงก็รู้เกมส์นี้ และใช้การจัดตั้งมวลชนคนไทยจากต่างแดนเป็นฐานหนุนวิถีการเมืองของพรรคพวกตนเช่นกัน และพวกเขามีทุนมากกว่า และทำได้สำเร็จกว่า และไม่ปล่อยให้คนไทยในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเป็นอิสระจากวิถีการเมืองของเขา

เล็กได้เดินทางไปพบคนไทยที่ยุโรปในหลายประเทศ เพื่อพูดคุยกันเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย ทั้งยังได้พยายามเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งที่ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมัน แต่ก็พบสภาพที่ว่าคนไทยในต่างประเทศก็ไม่ต่างจากในประเทศนักคือมีกลุ่ม “รักทักษิณ” มีเงินทุนจัดตั้งดีกว่า และมีทักษิณเป็นตัวพรีเซนเตอร์ จึงเป็นขบวนใหญ่กว่ากลุ่มที่เอาเรื่องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ต้องยอมรับว่าคนไทยที่มาตั้งรกรากหรือทำงานที่ยุโรปมีฐานครอบครัวมาจากชนบท โดยเฉพาะจากอีสาน พวกเขาก็ฝากความหวังไว้กับทักษิณเยอะว่า อาจจะช่วยดันหรือเทงบประมาณมาช่วยพวกเขาสร้างเศรษฐกิจที่ยุโรปด้วย โดยเฉพาะทำร้านอาหารไทย นอกเหนือไปจากเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยในประเทศไทย

กระนั้น เล็กก็เชื่อว่า การก่อร่างของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการเมืองไทย ได้เริ่มขึ้นแล้วและต่อเนื่องที่ประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และเป็นการก่อตัวของกลุ่มการเมืองที่มีจำนวนไม่ใช่ไม่กี่คนเหมือนอดีต

ไม่ใช่การนำด้วยนักคิดที่โดดเด่นคนใดคนหนึ่งเช่นในอดีต แต่มีมากมายมหาศาลมากกว่าที่ผ่านมา และแต่ละกลุ่มก็เลือกยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นยุทธวิถีของตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง

เป็นการผลักดันให้การเมืองประเทศไทยหลุดพ้นจากวิถี “การเมืองเรื่องบุคคลและตระกูล” สู่ “การเมืองเรืองระบอบและหลักการ” และจากคนหลากหลายแนวคิดมาก และไม่มีตัวผู้นำโดดเด่นคนใดคนเดียว แต่เป็นขบวนการผู้ให้แนวคิดทางความรู้มากกว่า

เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ควรจะเป็น และสอดคล้องกับยุคสมัยแห่งโลกศตวรรษที่ 21 ที่วุฒิภาวะของคนส่วนใหญ่ในสังคมหลุดพ้นจากวิถีการเมืองผู้นำเผด็จการไปกันมากแล้ว และกระแสเทพนิยายและสมมุติเทพก็เป็นเพียงนิทานก่อนนอน ที่ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านให้ลูกฟังกันก่อนนอนกันแล้วเช่นกัน

สังคมต้องการความเป็นเหตุเป็นผล เป็นประชาธิปไตย มีความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างกันได้

และการเปลี่ยนแปลงก็ได้เริ่มแล้วมากมาย จากหลายกลุ่ม อาทิ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ การรณรงค์ของครอบครัวและเพื่อนนักโทษการเมือง และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องร่วมสองปีของกลุ่มญาติวีรชน 2553 ฯลฯ

มันเป็นวิถีการปูทางลงของการเมืองผู้นำเทวดา ตามวิถีสมมติเทพที่มีอัตตาสูงเทียบเขาพระสุเมรุ อย่างไม่หักโค่น เป็นการพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาจากชุดข้อมูลความรู้ของประเทศอื่นๆ “ถ้าอำมาตย์ไม่ลงตอนนี้ก็ถึงคราวแตกหัก” ซึ่งไม่มีใครต้องการให้ไปถึงขั้นนั้น

เพราะมันจะต้องมีคนล้มตาย และไม่มีใครอยากเห็นและเจ็บปวดไปกับการเสียชีวิตในประเทศไทยอีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีบทเรียนการยอมรับการเมืองวิถี "คนเท่ากัน" ด้วยสันติวิธี ในหลายประเทศให้เห็นและศึกษาเป็นตัวอย่าง

6. คุณอยากบอกอะไรที่สุดในเวลานี้

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ในฐานะของคนทำงานเขียน ก็คงบอกว่าอยากให้หนังสือขายได้ ฮา . .

ต้องขอบคุณทนายประเวศ ประภานุกูลมา ณ ที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง ที่รับอาสาโดยไม่เอาค่าใช้จ่ายในการติดตามเรื่องคดียึดบ้าน และเปิดบัญชีให้เพื่อใช้ในการขายหนังสือเล่มนี้ และดูแลค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นที่เมืองไทยให้

อยากบอกว่า สองปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองหยุดนิ่ง ศึกษา และวิเคราะห์บทเรียนและข้อมูลต่างๆ ที่ตัวเองสั่งสมมาตลอดกว่า 20 ปีของการเป็นคนทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่ได้มีโอกาสมากกว่าคนจำนวนมาก ในการเดินทางลงศึกษาปัญหาและการพัฒนาในร่วม 70 จังหวัดทั่วประเทศไทยและหลายสิบประเทศทั่วโลก

ซึ่งเมื่อคิดในแง่นี้ เล็กก็ใช้ทรัพยากรโลกไปเป็นจำนวนมาก เพื่อการศึกษาเรียนรู้ และก็ควรจะใช้มันอย่างคุมค่า และจำเป็นจะต้องร่วมเป็นหนึ่งในประชากรไทยและประชากรโลก ที่ร่วมใช้สมอง สองมือและสองเท้า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การละเมิดสิทธิ และการเอารัดเอาเปรียบคนชั้นล่างในสังคม หรือที่เรียกว่าประชาชนกลุ่มใหญ่ "กลุ่ม 99%"

เล็กทำงานด้วยความเชื่อว่า "จะต้องไม่ทำตัวเป็นผู้นำ" แต่เป็นคนทำงานการศึกษาให้ประชาชนเห็นปัญหาและตัดสินใจหาทางแก้ปัญหาร่วมกันตามวิถีการศึกษามวลชนของเปาโล แฟร์ นักปฏิวัติชาวบราซิล และก็ไม่ได้เชื่อว่าชาวบ้านบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่เล่นเกมส์ไปกับการเมืองด้วย

จากบทเรียนการคลุกคลีและทำงานต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านและคนงานมากมาย ทำให้ตระหนักว่า ประชาชนหรือคนที่ถูกเรียกว่าชาวบ้านนั้นฉลาดและเล่นเกมส์การเมืองต่อรองกับอำนาจตลอดเวลา ด้วยวิถีของเขา คือ "เมื่อการต่อรองและพูดกันตรงๆ มันมาด้วยลูกปืน พวกเขาก็ใช้ยุทธิวิถีขอความเมตตา ขอความช่วยเหลือ"

แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ ประชาชนคนไทยเปลี่ยนวิถีการต่อรองกับอำนาจเบื้องบนด้วย วิถีการร้องขอ ฟูมฟาย และปรักปรำกันไปมา แบบนี้เสีย ซึ่งเป็นวิถีที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการประเทศในระยะยาวและอย่างยั่งยืน

จากบทเรียนการพบเห็นบรรยากาศการเมืองในหลายประเทศ ทำให้ตระหนักว่าเพื่อประเทศก้าวหน้าและพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน "การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีวุฒิภาวะ และอย่างเสรี" คือ หัวใจของการพัฒนาที่แท้จริง

ประชาชนต้องหยุดกันตัวเองออกจากความรับผิดชอบในการบริหารประเทศมาสู่การคิดแบบใหม่ ที่ “ต่อรอง นำเสนอข้อเรียกร้อง และร่วมรับผิดชอบในทิศทางการพัฒนาของประเทศ" ไม่ใช่ลอยตัวทุกครั้งที่มีปัญหาด้วยข้ออ้างว่าเป็นเพราะ “ผู้นำไม่เก่ง นักการเมืองคอรัปชั่น หรือเพราะข้าราชการโกงกิน”

เป็นการเมืองที่คนทั้งประเทศก็ร่วมเหนื่อยด้วย สนุกด้วย และไม่ได้ฝากภาระการคิด การลงมือทำ การนำพาประเทศไว้กับผู้นำ และนักการเมือง หรือข้าราชการเท่านั้น

การทำให้คนในสังคมอยู่ได้อย่างเคารพศักดิ์ศรีในตัวเอง และศักดิ์ศรีของคนอื่นอย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนในสังคมต้องอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เคารพกติกาประชาธิปไตย และต้องขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา

และไม่ใช่ไม่มีคน "รู้ทันชาวบ้าน" และ ยังหลงคิดว่าชาวบ้านใสซื่อบริสุทธิ์และเดียงสา เช่นที่ NGOs หรือคนโปรชาวบ้าน เอาชาวบ้านเป็นฐานกิจกรรมทั่วไปมักจะนำเสนอภาพชาวบ้านกันแบบนั้น

อาจจะไม่ถูกใจคนอ่านเหมือนกันว่าถ้าจะบอกประชาชนคนไทย "ที่ไม่สี" หรือ "สีใด" ก็ตามว่า “หยุดเล่นการเมืองลอยตัวเหนือปัญหาและไม่ต้องรับผิดชอบ” แล้วลงมาร่วม "รับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ” กันเสียที เพื่อรวมกันนำพาประเทศไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมกันโดยทุกคนในประเทศไทย

หนังสือต้องอ่านโดยนักเขียนต้องห้าม-จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองพิกลพิการในต่างประเทศเขียน หนังสือ"ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน ท่านสามารถสนับสนุนนักสู้ที่อุทิศตัวเพื่อการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยให้อยู่ ได้อย่างยืนหยัด


สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่ตัวแทนจำหน่าย โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอิมพีเรียลลาดพร้าว เลขที่ 224-242394-3 ชื่อบัญชี นุชรินทร์ ต่วนเวช จำนวน 330 บาท (หนังสือราคา300 บวกค่าจัดส่ง30บาท) และส่งอีเมลแจ้งรายละเอียดที่อยู่และการสั่งจองไปที่ tpnews2009@gmail.com หรือโทร. 085-5049944

**************************************************