ความยุติธรรมและความเสมอภาคที่แท้จริงไม่มีในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเลือกข้างและกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...
3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ
2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์
1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์
สด จาก เอเชียอัพเดท
วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554
จักรภพ:อำมาตย์จวนตัวใช้แผนแดงฆ่าแดงฯ
จักรภพ:อำมาตย์จวนตัวใช้แผนแดงฆ่าแดง ประชาชาติไทยถูกผลักไสให้เลือกแนวทางปฏิวัติ
ภาพล่าสุดของจักรภพ เพ็ญแข ใส่เสื้อแดงสกรีนรูป ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำการปฏิวัติ 2475 เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์จากต่างประเทศ ซึ่งไม่ระบุสถานที่แน่ชัด ว่า หนทางการปรองดองดูตีบตันเพราะนโยบายของฝ่ายอำมาตย์กำลังผลักไสให้ประชาชนไทย ลุกฮือขึ้นปฏิวัติมวลชนแทนแม้แต่กลไกที่เรียกว่า "แดงฆ่าแดง" ก็ไม่อาจปิดบังโฉมหน้าที่แท้จริงของระบอบ นี้ได้อีกต่อไป
0 0 0 0 0
หมายเหตุไทยอีนิวส์: หลัง จากแกนนำนปช.ในต่างประเทศได้พากันเดินทางกลับบ้านกันเกือบหมดทุกคนแล้ว ล่าสุดคือ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หากไม่นับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีเพียงจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรี อดีตโฆษกรัฐบาล และแกนนำนปช.เท่านั้น
เราได้ สัมภาษณ์จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งพำนักลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ เพื่อเปิดเผยทัศนะจุดยืนของเขาต่อสถานการณ์การเมืองไทยตลอดห้วง 3 ปีที่เขาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และทิศทางแนวโน้มในปี 2555
1.คนสนใจกันมากว่าแกนนำที่ไปพักพิงลี้ภัยในต่างประเทศก็กลับมาหมดแล้ว ล่าสุดคือคุณอริสมันต์ ไม่ทราบว่าคุณจักรภพประเมินสถานการณ์อย่างไร และพร้อมจะกลับบ้านหรือยัง?
ขอบคุณครับ ผมทราบว่าพี่น้องมวลชนหลายท่านห่วงใยผม และอยากเห็นผมกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้แข่งขันกับโลกเขาได้ ยิ่งเห็น “แกนนำ” เดินทางกลับกันจนหมดแล้วอย่างนี้ก็ยิ่งห่วง กลายเป็นกลัวว่าจะถูกโดดเดี่ยวจนอยู่ไม่ได้และมีอันตราย
ขออาศัยโอกาสนี้กราบขอบคุณต่อพี่น้องทุกท่านเสียก่อนครับ ขอยืนยันว่ากำลังใจอย่างนี้มีความหมายและมีความสำคัญต่อผมมาก และทำให้สู้ต่อได้อีกนาน
ผมประเมินว่าเมืองไทย ณ วันนี้มีบรรยากาศคล้ายวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ หรือวันรุ่งขึ้นหลังการปฏิวัติสยามโดยคณะราษฎร สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัชกาลที่ ๗ ถูกยึดอำนาจไปแล้วหลังเวลา ๖.๐๐ น. ของวันที่ ๒๔ ด้วยความอ่อนแอหรือประมาทเลินเล่ออย่างไรก็ตาม แต่ปฏิสัมพันธ์ในช่วงหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงทำให้เหตุการณ์กลับตาลปัตร พระปกเกล้าฯ เสด็จฯ กลับจากหัวหินคืนสู่พระนคร และผู้แทนของคณะราษฎรก็ได้เฝ้าฯ เกือบจะในทันที
ผมเข้าใจว่าความกลัวสถาบันกษัตริย์ในส่วนลึกของหัวใจของผู้ปฏิวัติ ประกอบกับความประหลาดใจที่กษัตริย์ไม่ขอลี้ภัย (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะห่วงใยพระราชวงศ์ที่ถูกกักขังเป็นตัวประกันอยู่) ทำให้บางคนในคณะราษฎรเกิดความคิดในทางประนีประนอม และยังเผลอคิดต่อไปว่าการ “ปรองดอง” เช่นนั้นจะนำไปสู่ความสงบของบ้านเมือง และทำให้พลเมืองได้รับโอกาสร่วมปกครองบ้านเมืองโดยอัตโนมัติ
แม้มีลางบอกเหตุหลายอย่างก็กลับไม่สังเกตเห็นหรือมองข้ามไปเสีย อาทิ การที่พระปกเกล้าฯ ขอเติมคำว่า “ชั่วคราว” หลังธรรมนูญการปกครองสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ ที่คณะราษฎรอุตส่าห์เสี่ยงหัวขาดเสนอขึ้นมา
จนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญแบบ “ปรองดอง” ขึ้นมาแทนในวันที่ ๑๐ ธันวาคมของปีเดียวกันนั้น
ประชาธิปไตยจึงพิการมาตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มต้น
ผมเห็นว่าถ้าพวกเราใน พ.ศ. นี้ คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัวและมองสถานการณ์แค่ปลายจมูก โดยไม่มองโครงสร้างรวมของระบอบการเมืองการปกครองแล้วล่ะก็ ประวัติศาสตร์การเมืองส่วนนี้จะซ้ำรอยให้เราได้เจ็บใจกันแน่
อย่าลืมว่าการลุกฮืออย่างเงียบๆ ของพลเมืองไทยใน พ.ศ.๒๕๔๙-ปัจจุบัน นับเป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก หากเราไม่ตระหนักให้ดีว่าเหตุที่่เขาขอ “ปรองดอง” ก็เพราะเขากำลังเพลี่ยงพล้ำ ไม่ใช่เพราะมีน้ำใจต่อประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง
ท้ายที่สุดเรานั่นแหละที่จะกลายเป็นผู้เพลี่ยงพล้ำเสียเอง ความคิดนี้ทำให้ผมยังไม่กลับเมืองไทย ขออยู่นอกพื้นที่อำนาจเพื่อทำงานไปตามอุดมการณ์และเป้าหมายไปจนถึงวันที่เป็นไปไม่ได้เสียก่อนครับ
2.คุณจักรภพประเมินสถานการณ์การเมืองของไทยอย่างไรนับแต่เดินทางออกนอกประเทศมาจะครบ 3 ปี ฝ่ายประชาธิปไตยมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนต่อสู้ไปเพียงใด
ก้าวหน้ามากครับ ก้าวหน้าทั้งปริมาณและคุณภาพ
ในแง่ปริมาณผมนึกขอบคุณ นปช.ฯ และกลุ่มพลังประชาธิปไตยทุกกลุ่ม ไว้ว่าจะวิเคราะห์สถานการณ์ตรงกันหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่แต่ละกลุ่มช่วยสร้างและเสริมในเชิงกิจกรรมการเมือง ส่งผลให้เราขยายจำนวนสมาชิกของขบวนประชาธิปไตยมาถึงขนาดนี้ และเหนียวแน่นกันระดับนี้ได้
ส่วนคุณภาพเราต้องขอบคุณปัญญาชน นักวิชาการ นักคิด และพลเมืองภิวัฒน์จำนวนมาก ที่ทำงาน “ปิดลับ” โดยผ่านไซเบอร์ และการจัดตั้งด้วยวิธีการอันสร้างสรรค์ต่างๆ จนเรายกระดับแนวคิดขึ้นมาขั้นนี้ได้
ความสำเร็จทั้งปริมาณและคุณภาพของขบวนประชาธิปไตยในห้วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เป็นความสำเร็จที่เพียงไม่กี่ปีก่อนยังนึกว่าเป็นฝันกลางวัน โดยไม่อาจเป็นจริงได้เลย
แต่วันนี้ทุกอย่างประจักษ์แก่สายตาและจิตใจแล้วว่าบ้านเมืองกำลังถึงคราวปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ อาจจะยิ่งใหญ่กว่า ร.ศ.๑๓๐ และ พ.ศ.๒๔๗๕ เสียด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือการยกตัวขึ้นของขบวนประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด ยังยกขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีเพดานจำกัด
3.ประเมินสถานการณ์ในปีใหม่2555และสถานการณ์การเมืองในระยะต่อไปอย่างไร และขบวนการประชาธิปไตยกับแนวร่วมขบวนประชาธิปไตยในภาพใหญ่ควรกำหนดจังหวะก้าวอย่างไร
เรามีทางเลือกใหญ่ๆ สองทางสำหรับการทำงานประชาธิปไตย
ทางแรกคือต่างคนต่างทำตามอุดมการณ์และความถนัดของตน หรือต่างคนต่างเดินไปสู่เป้าหมาย (ที่เชื่อว่า) เป็นเป้าหมายเดียวกัน จนกว่าจะพบว่าเป็นคนละเป้าหมายหรือกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ทางที่สองคือทำงานร่วมกันโดยกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีร่วมกันขึ้นมา โดยต่างคนต่างทำตามความถนัดและความสามารถของตนเช่นเดิม เพียงมีพิมพ์เขียว (blueprint) ขึ้นมาสักฉบับหนึ่งเท่านั้น
พิมพ์เขียวนี้ก็มิได้มาจากคำสั่งของนายทุนหรือผู้ที่วางตัวเป็นชนชั้นที่สูงส่งกว่า แต่มาจากการทำงานร่วมกันเพื่อให้เป็นกรอบการทำงานที่เราวัดผลและเสริมประสิทธิภาพในการทำงานได้
ผมคงไม่ก้าวล่วงถึงขั้นไปชี้นำว่า ใครควรทำอะไรและทำอย่างไร แต่บอกได้ว่าการทำงานแบบที่สองคือร่วมมือกันตามยุทธศาสตร์นั้น จะเกิดขึ้นแน่ เริ่มต้นอาจจะไม่กี่ราย และใครรู้ในภายหลังก็เข้าร่วมในภายหลังได้ ไม่ควรคิดน้อยใจหรือคิดอาละวาดสร้างความสำคัญ
ปัญหาอัตตาสูง (ego) เป็นเรื่องที่ถ่วงงานของเราเรื่อยมา จนบางคนกลายเป็นมนุษย์ที่ขอกันดีๆ ไม่ได้ แต่กลายเป็นถูกสั่งได้ เพราะได้เผยจุดอ่อนจนถูกมนุษย์คนอื่นเขาเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้ตัว
ผมคิดว่าคนในขบวนประชาธิปไตยนั้น แบ่งประโยชน์ออกได้เป็น ๒ แนวทางตามคำตอบของผมในข้อที่แล้ว ทางหนึ่งคือปริมาณ และอีกทางหนึ่งคือคุณภาพ ซึ่งไม่ได้แปลว่าฝ่ายปริมาณจะไร้คุณภาพหรือฝ่ายคุณภาพจะไร้ปริมาณโดยสิ้นเชิง เป็นเพียงจุดเริ่มต้นว่าใครเฉดไหนเท่านั้นเอง แต่ละคนจะได้สร้างดวงดาวในสไตล์ของตัวเองขึ้น ขบวนประชาธิปไตยของเราทุกวันนี้ใช้วิธีแบ่งงานกันทำ (division of labor) ได้อย่างสบาย
4.ประเมินสถานการณ์ในปี2555และระยะต่อไปของฝ่ายอำมาตย์อย่างไร และขบวนประชาธิปไตยต้องกำหนดจังหวะก้าวรับ ก้าวรุก อย่างไร
ผมคิดว่าศักดินา-อำมาตย์มาถึงระยะหมดเครื่องมือใหม่ในการรักษาอำนาจ และเริ่มงัดเอาของเก่ามาใช้ประโยชน์ แล้ว ไม่ว่าอำนาจกองทัพ อำนาจศาล-ตุลาการ อำนาจองค์กรอิสระ อำนาจผ่านภาคธุรกิจ อำนาจผ่านสื่อมวลชนในสัมปทานรัฐ อำนาจกำหนดควบคุมทรัพยากรธรรมชาติอย่างมวลน้ำในเขื่อน ใช้มาเรื
จนกลไกเหล่านี้สึกหรอและกระสุนเริ่มด้าน มวลชนก็อยู่ในสภาพ “รู้ทัน” ขณะนี้เขาจึงหันมาใช้เครื่องมือใหม่อย่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตามกรอบความคิด “แดงฆ่าแดง” ที่เราพูดกัน แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ ที่เขาเองก็รู้ดีคือความเสื่อมถอย ณ ศูนย์กลางของระบอบ ปัญหามะเร็งในเนื้อในตัวเองทำให้เครื่องมือใดก็ใช้การไม่ได้เต็มที่ วิกฤติการณ์การเมืองไทยจึงจะไม่มี บทจบที่ “สวยงาม” อย่าง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ หรือ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ อีกและฝ่ายเขาก็รู้ดี ผมคิดว่า “๖ ตุลา” ครั้งต่อไปคงรุนแรงกว่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ขบวนประชาธิปไตยไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากเตรียมกายและเตรียมใจให้พรั่งพร้อม การเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองจะเกิดขึ้นแน่ และการบริหารระยะเปลี่ยนผ่านน่าจะเป็นหัวใจของเรื่อง
5.ทางเลือกของสังคมไทยระหว่างการปรองดองกับการปะทะกันอย่างถึงรากถึงโคนสิ่งใดจะเป็นแนวโน้มหลัก
“ปรองดอง” เป็นคำที่ดีและไพเราะ แต่ไม่สอดคล้องต่อธรรมชาติของระบอบการเมืองการปกครองแบบอำนาจสูงสุด (absolutism) ระบอบอำนาจสูงสุดไม่ยอมรับการแบ่งปันในอำนาจและผลประโยชน์ แต่มองตนเองว่าเป็นผู้จัดการอำนาจและผลประโยชน์นั้นเอง
ผู้กุมอำนาจในลักษณะนี้จะไม่เห็นว่าการแข่งขันทางอำนาจเป็นเรื่องปกติ แต่เห็นว่าเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดกวาดล้างโดยสิ้นเชิง
หลักฐานในการเมืองไทยบอกเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “การปรองดอง” ในอดีตไม่มีความหมายใดๆ ในยามที่เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองในระยะต้นและระยะกลาง อาจมีประโยชน์บ้างในระยะปลาย ที่ผู้แพ้และชนะต่างรู้ชะตาของตนเองอย่างค่อนข้างเด็ดขาดแล้ว
ผมไม่เก่งพอที่จะวิเคราะห์ได้ว่า “การปะทะ” จากนี้ไปจะออกมาในรูปใดและรุนแรงขนาดไหน แต่การสร้างบรรยากาศต่อต้านแนวปฏิรูปอย่างที่กำลังกระทำกับ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่กำลังรณรงค์ต่อต้านกฎหมายหมิ่นฯ ในขณะนี้ เสมือนเป็นปฐมบท (pre-requisite) ที่นำไปสู่ “๖ ตุลา” ครั้งที่ ๒ ได้ ลองสังเกตแนวคิดที่พูดผ่านปากคนต่างๆ ของฝ่ายศักดินา-อำมาตย์ขณะนี้จะพบว่าคล้ายคลึงกัน เช่น ใครที่จะแก้ไขกฎหมายนี้ให้ไปอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น ไม่ต่างอะไรนักจากแนวทางของวิทยุยานเกราะ กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่ม ทส.ปช. ของ พ.ศ. นั้น ประเด็นขณะนี้จึงไม่ใช่การเลือกระหว่างปฏิรูปหรือปฏิวัติ หากมวลชนไม่สามารถแม้แต่จะเสนอให้แก้ไขกฎหมายอย่างเปิดเผยตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแล้ว แนวปฏิรูปจะถูกบีบให้เปลี่ยนเป็นแนวปฏิวัติโดยอัตโนมัติ
6.คุณจักรภพใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างไร และเป็นไปได้ไหมที่ขบวนการปฏิวัติหรือปฏิรูปอาจก่อตัวมาจากต่างประเทศคล้ายกับคณะราษฎรเมื่อปี2475
ผมขอรวมคำถามนี้มาตอบพร้อมกันตรงนี้นะครับ การปฏิวัติใดๆ ในอดีตเกิดขึ้นจากความคิดทางอุดมการณ์ก็ได้ จากตำรับตำราหรือลัทธิใดๆ ก็ได้ แต่จะไม่ยกขึ้นเป็นสถานการณ์ปฏิวัติหากไม่เกิดความฉุกเฉินอย่างฉับพลัน (immediacy) ขึ้นก่อน
สถานการณ์โดยรวมจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิวัติในแต่ละสังคม ไม่ใช่ถูกชี้นำโดยเอกเทศจาก “ผู้นำปฏิวัติ” โดยอัตวิสัยเท่านั้น
สังคมไทยเราถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมปฏิรูป เพราะไม่ชอบการเผชิญหน้าและไม่ชอบความยืดเยื้อ โดยปกติคงไม่อยากปฏิวัตินัก แต่คำถามคือเรากำลังถูกผลักไสให้ดาหน้าไปสู่สถานการณ์เช่นว่านั้นหรือไม่
ผมคิดว่าเงื่อนไขแบบนั้นกำลังปรากฏขึ้นอย่างช้าๆในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบไทย ศูนย์กลางจะอยู่ที่ใดน่าจะไม่สำคัญนัก ซ่อนตัวอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้ เพราะขบวนปฏิวัติต้องปรับตัวอีกนับครั้งไม่ถ้วนในสถานการณ์จริง
แต่ถ้าจะตอบกันสั้นๆ ศูนย์กลางในการปฏิวัติประชาธิปไตยไทยที่จะเกิดขึ้นในต่างประเทศมีความเป็นไปได้สูงครับ.
ที่มา : http://thaienews.blogspot.com/index.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น