ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : ตอนที่ 38 นายกรัฐมนตรีระบอบเก่า


ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : หลังรัฐประหาร
ตอนที่ 38 : นายกรัฐมนตรีระบอบเก่า
โดย : กาหลิบ
พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2550 (หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน)

*****************************************************************************
ความเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ชำนาญการด้วยตัวเองนั้น เป็นคติเก่าตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เพราะระบบราชการยังอ่อนหัด และสังคมภายนอกไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย คนที่ได้อำนาจรัฐจึงต้องเก่งเอง

*****************************************************************************
นายกรัฐมนตรีระบอบเก่า

ถึงใครจะบ่นว่าบ้านเมืองวุ่นวายขนาดไหนเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้ง ผมก็ยังเห็นแง่งามและประโยชน์ของช่วงเวลาแบบนี้

ไม่ได้สนใจว่าคนไหนอยู่สายของใคร หรือ “เจ๊ดัน” ทำหน้าที่สำเร็จแล้วใครต้องทำอะไรเพื่อเป็นการตอบแทนใครบ้าง หรือรายชื่อคณะรัฐมนตรีเสร็จสรรพเรียบร้อยโรงเรียน คปค. ก่อนจะได้ตัวหัวโต๊ะคือนายกรัฐมนตรีเสียอีก อะไรต่อมิอะไรเทือกนั้น

แต่สนใจที่ความหมายของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า

ช่วงเวลาแบบนี้แหละครับที่ทั้งสังคมจะได้รวมพลังกันคิดอย่างสร้างสรรค์กันอีกสักครั้งว่า คนที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทยควรจะมีที่มาและความรู้ความสามารถอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะ “ที่มา” นี่สำคัญมาก เพราะเอามาใช้พยากรณ์ “ที่ไป” ได้ไม่น้อย

ฟังความเห็นของหลายๆ คนแล้ว ดูจะเชื่อว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นผู้ชำนาญการในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น กฎหมาย เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ฯลฯ แล้วเอามาประเมินว่าผู้ชิงชัยคนใด “เก่ง” หรือ “ไม่เก่ง”

บางคนระบุว่าจะต้องได้นักเศรษฐศาสตร์ เพราะไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจจะทรุด ขณะนี้คู่ค้าต่างประเทศหยุดหรือไม่ก็ชะลอสัญญาอะไรต่างๆ ไปหมดหลังจากการยึดอำนาจ จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่

ทำราวกับว่าความเชื่อมั่นสร้างได้ง่ายๆ เหมือนพลิกฝ่ามือ เปรียบไปก็เหมือนเห็นเขายิงกันตายต่อหน้าต่อตาแล้วมือปืนหันมาบอกละล่ำละลักโดยปืนก็ยังคาอยู่ในมือว่า “เชื่อผมเถอะครับ ผมเป็นคนมีเหตุผล พูดจารู้เรื่อง!” ของพรรค์นี้มันต้องใช้เวลา

บางเสียงก็บอกว่า นักกฎหมายสิที่บ้านเมืองจะต้องเชิญมาเป็นผู้นำในเวลาอย่างนี้ เพราะจะได้รู้กลไกของรัฐธรรมนูญและการดำเนินการบริหารบ้านเมืองตามหลักนิติธรรม ถึงขนาดเถียงกันแล้วว่านักกฎหมายแบบไหนจึงจะดี เพราะได้ยินชื่อตั้งแต่ผู้พิพากษาระดับหัวหน้าศาล นักกฤษฎีกาผู้ชำนาญการกฎหมายของฝ่ายบริหาร ไปจนถึงอาจารย์สอนนิติศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัย

เถียงจะเป็นจะตายกับคนที่บอกว่าได้นักกฎหมายมาก็เป็นกรรม เพราะบางคนเชื่อมั่นเอาทีเดียวว่านักกฎหมาย (โดยเฉพาะที่อาวุโส) มักมีโลกทัศน์แคบ ตีความเอาตามตัวอักษร ไม่สนใจล่ะว่าโลกภายนอกเขาอยู่กันอย่างไร ที่สำคัญคือมักจะมีลักษณะอำนาจนิยม หลายคนถึงกับใช้สรรพนามแทนตัวว่า “อาจารย์” ทั้งที่เขาไม่เคยมอบตัวเป็นลูกศิษย์เลย

ช่างเถอะครับ

ไม่ว่าจะเถียงว่าศาสตร์ใดสร้างนายกรัฐมนตรีที่ดีและเพียบพร้อมกว่า เป็นเรื่องของสำนักความคิดอย่างเดียวกันทั้งนั้น (หรือใช้คำของอาจารย์คึกฤทธิ์ฯ คือ “คติ” เดียวกันทั้งสิ้น)

นั่นคือเชื่อว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ชำนาญการในตัวเอง

ชำนาญในศาสตร์สาขาต่างๆ อย่างที่เรียกว่า ผู้รู้ หรือ expert

หรือชำนาญในการประยุกต์ศาสตร์เข้ากับการปฏิบัติได้ ก็มักเรียกว่า ผู้ปฏิบัติที่มีความรู้ หรือ technocrat

ความเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ชำนาญการด้วยตัวเองนั้น เป็นคติเก่าตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เพราะระบบราชการยังอ่อนหัด และสังคมภายนอกไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย คนที่ได้อำนาจรัฐจึงต้องเก่งเอง เพราะพึ่งใครไม่ได้

ผิดกับยุคนี้ที่ผู้ชำนาญการเต็มเมือง จะเอาศาสตร์สาขาใดล่ะ ประชาชนก็พัฒนาขึ้นเป็นคนละคน เกิดอะไรขึ้นก็ตามเรื่องทันและเข้าซึมซาบโดยตลอด เพียงแต่อาจจะไม่กล้าพูดดังๆ

นายกรัฐมนตรีจึงไม่จำเป็นต้องเก่งเองทุกเรื่อง แต่ต้องเป็นนักบริหารที่เก่ง รู้ชัดเจนว่าตัวเองไม่รู้อะไร และจะไปเชิญคนเก่งที่ไหนมาช่วยทำงาน

ข้อสำคัญสำหรับครั้งนี้ จะต้องมีความสามารถในการประสานประโยชน์และมีมนุษย์สัมพันธ์ดีเยี่ยม เพราะจะมีคน “บอกบท” มากมายเกินกว่าจะนับได้ถ้วนทั่ว

นึกแล้วก็เหนื่อยแทน เอาเป็นว่าขอข้อเดียวก่อน...คือมีความอดทนเกินมนุษย์ธรรมดาๆ ก็แล้วกันครับ.

--------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น