ความยุติธรรมและความเสมอภาคที่แท้จริงไม่มีในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเลือกข้างและกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...
3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ
2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์
1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์
สด จาก เอเชียอัพเดท
วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554
รองนายกรัฐมนตรี โดย กาหลิบ
คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง รองนายกรัฐมนตรี
โดย กาหลิบ
เห็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนหนึ่งที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วทำให้รู้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ลืมพระราชพิธีและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์แน่ จึงไม่จำเป็นต้องเตือนกัน ปัญหาคือจะลืมฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำสายเดียวกันคือมวลชนไทยหรือไม่เท่านั้น
มวลชน พลเมือง ปวงชนชาวไทย ฯลฯ เป็นเจ้าของประเทศไทยก็จริง แต่จำนวนเกือบเจ็ดสิบล้านและไม่ได้เห็นหน้ากันทุกคนทุกวันก็ทำให้รัฐบาลเผลอลืมไปได้เหมือนกัน ผิดกับผู้มีอำนาจในโครงสร้างเดิมที่ถูกบังคับให้ได้เห็นหน้าและมีความสัมพันธ์กันในกิจกรรมต่างๆ ตลอดปีนั้น รัฐบาลลืมไม่ลงแน่
วันนี้จึงขอทำหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่ง คือเตือนรัฐบาลไว้เสียแต่ต้นว่าเราคาดหวังอะไรจากแต่ละท่านในคณะรัฐมนตรี วันหลังจะได้ไม่ตอกกลับให้เจ็บใจว่า ทำไมไม่พูดเสียแต่แรก?
เอาแค่รองนายกรัฐมนตรีเสียก่อนก็ยังได้
ตำแหน่งที่เรียกว่า รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นั้น รู้สึกจะกระจายหน่วยงานควบคุมดูแลกันอยู่ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์คงดูแลฝ่ายปกครองทั้งของรัฐและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นตามสายงานของกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกโกวิทย์ วัฒนะ และ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ใครจะได้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่รู้ แต่ภาพที่ยังเบลอกว่านั้นคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ที่เปิดโอกาสให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐ (บาล) ได้ทุกเมื่อ ส่วนหน่วยงานเฉพาะกิจอย่าง ศอฉ. นั้นใครจะดูแลหรือใครจะสั่งปิดกิจการก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน ยังไม่ต้องพูดถึงหน่วยงานข่าวกรองอย่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือหน่วยที่มีลักษณะข้ามกระทรวงอย่างกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งโดยทฤษฎีอยู่กับตำรวจแต่ในทางปฏิบัติอยู่กับผู้ที่มีอำนาจที่สูงส่งกว่านั้นมาก
ยังไม่ได้พูดถึงกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นผู้ดูแลความมั่นคงของรัฐซึ่งจะปล่อยให้ลอยเท้งเต้งไปตามใจของ “มือที่มองไม่เห็น” ไม่ได้เป็นอันขาด
ไม่ต้องดูไกลนัก เอาแค่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาก็พอ หน่วยงานทั้งหลายที่พูดมานี้ ล้วนอยู่ภายใต้คนๆ เดียวคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่มีอำนาจชนิดเบ็ดเสร็จที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ระยะใกล้
คุณสุเทพฯ ใช้อำนาจได้มากขนาดไหน พวกเราที่ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐจนล้มตายกันเป็นร้อยๆ ได้รับรู้มาแล้วด้วยประสบการณ์ตรงไม่ใช่หรือ
หากเราห่วงหน้าตารองนายกรัฐมนตรีจนเกินไป ถึงขนาดต้องเจียดหน่วยงานแบ่งกันคนละนิดคนละหน่อยเพราะกลัวน้อยใจบ้างอะไรบ้าง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจเสียการควบคุมในสายงานด้านความมั่นคงไปได้ ยิ่งเขาเล่นเกมยื้ออำนาจไม่ยอมให้รัฐบาลของประชาชนได้มีอำนาจอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะเป็นผลร้ายมากขึ้นหากเรามาแตกแยกกันเอง
รวมความแล้ว นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะต้องดูแลงานนี้ชนิดรวมศูนย์ ไม่เป็นเบี้ยหัวแหลกหัวแตก จับตามองพฤติกรรมความเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์ และยึดเอาความเข้าใจและประสบการณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (การรัฐประหาร) ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ (พฤติกรรมปราบปรามประชาชนแบบพฤษภาทมิฬ) ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ (การปะทะกับประชาชน) และในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (การล้อมปราบประชาชน) เป็นที่ตั้ง
ส่วนจะบริหารในระดับโครงสร้างและปฏิบัติการ รวมถึงการวางกำลังกันอย่างไร คงไม่ต้องนำมาพูดในที่นี้
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประเด็นร้าวลึกๆ มาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่ร้าวกันในยุคเพื่อไทยเท่านั้น เรื่องนี้เป็นความร้าวเชิงโครงสร้างและอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจโดยตรง
กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวแถวของกระทรวงเศรษฐกิจที่ไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของรองนายกรัฐมนตรีคนใดโดยเบ็ดเสร็จมาก่อน แม้ในยุคที่ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง
แนวคิดโดยประเพณีคือ งานนโยบายเศรษฐกิจควรมีลักษณะถ่วงดุลและคานกัน ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลมากจนเกินไป
แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงาน “ในกำกับ” ของกระทรวงการคลัง ก็ยังถูกหุ้มด้วย “อำนาจพิเศษนอกรัฐธรรมนูญ” ตามแนวคิดว่านักการเมืองไว้ใจไม่ได้ สุดท้ายดูเหมือนจะกลายเป็นหน่วยงานประเภท untouchable ที่อยู่นอกวงโคจรของรัฐบาลไป
ประเด็นคือจะบริหารงานเศรษฐกิจที่ว่าด้วย ๑) การเงิน ๒) การคลัง ๓) การตลาด (ของชาติ) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่เปิดโอกาสให้แต่ละยูนิตพลิกพลิ้วตามกลไกตลาดและตามสภาพเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร
งานนี้แบ่งกันดูแลก็ไม่มีปัญหา แต่นายกรัฐมนตรีและ “ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรี” จะต้องเข้าควบคุมกลไกการบริหารด้วยตัวเอง แทนที่จะมอบรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรูปแบบ “ซาร์”
การล้มละลายของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดของการกำหนดนโยบายต่อโลก
สุดท้ายคือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ซึ่งอาจรวมถึงสื่อภาครัฐด้วย
โจทย์ใหญ่มีเพียงหนึ่งเดียวคือ จะส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมของคนไทยไปสู่ระบอบอะไร หากเตรียมขี้ข้ารุ่นใหม่ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพียงรักษาความน้ำเน่าอย่างเดิมก็พอเพียง
แต่ถ้าเป้าหมายปลายทางคือ ความเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำนักงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ และอื่นๆ จะมีงานช้างรอให้ทำ
นายกรัฐมนตรีจะดูแลเอง หรือมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นโต้โผใหญ่สักหนึ่งคน ก็ได้ทั้งนั้น.
------------------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น