ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

การปฏิวัติของประชาชนในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ 
25 มกราคม 2553 
ที่มา : เว็บไทยอีนิวส์

บัดนี้ ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า พร้อมแล้วที่จะแตกหักกับฝ่ายประชาธิปไตย 

เพราะพวกเขาหมดเวลารอคอย และหมดทางเลือกที่จะเดิน การปราบปรามผู้รักประชาธิปไตยที่กำลังจะมาถึง จะนำไปสู่ “การปฏิวัติของประชาชน” ที่มวลชนผู้รักสันติไม่ได้ต้องการ แต่ฝ่ายเผด็จการนั่นแหละที่จะเป็นผู้ก่อขึ้น 

ผลลัพธ์จะไม่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงส่วนตัวของผู้ใด แต่จะกำหนดโดยพลวัตของประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากจะต้องมาถึงไม่ช้าก็เร็ว 

1. รัฐประหาร 19 กันยายน ที่ยังไม่เสร็จสิ้น 

ในตลอดกว่าสามปีมานี้ ความผิดพลาดสำคัญที่สุดของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยคือ การก่อรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 อันนำมาซึ่งผลที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ถึงปัจจุบัน 

นับแต่รัฐประหารปี 2500 เป็นต้นมา พวกเขาได้สถาปนาระบอบเผด็จการจารีตนิยมขึ้นมาอย่างมั่นคง โดยมีเปลือกนอกที่สลับกันระหว่างเผด็จการทหารที่เปิดเผย กับระบอบรัฐสภาที่มีรัฐบาลเลือกตั้งเป็นหุ่นเชิด 

พวกเขาเผยโฉมหน้าที่แท้จริงที่เป็นเผด็จการ และก่อรัฐประหารแต่ละครั้ง เมื่อพวกเขาต้องใช้กำลังรุนแรงเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันเองในกลุ่มปกครอง หรือเพื่อปราบปรามประชาชน (เช่น รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519) 

หรือเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บังเอิญมีนายกรัฐมนตรีที่พวกเขาไม่พึงประสงค์ (รัฐประหาร 2534 และ 2549) หลังจากนั้น พวกเขาก็จะยอมให้มีระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ใช้เป็นหน้ากากปกปิดใบหน้าปีศาจที่แท้จริงของพวกเขา เพื่อหลอกลวงทั้งประชาชนไทยและชาวโลก โดยเนื้อในอำนาจรัฐก็ยังคงเป็นการใช้อำนาจแฝงเร้นของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยอยู่เหมือนเดิม 

ในอดีต พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างเด็ดขาดทุกครั้งในการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลในระบอบรัฐสภา ภายหลังรัฐประหารแต่ละครั้ง พวกเขาก็ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อในเป็นเผด็จการ ให้มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลหุ่นเชิดของตน ในขณะที่อดีตผู้นำรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปแล้ว ล้วนหมดอำนาจและสถานะทางการเมือง โดยไม่สามารถย้อนกลับมาท้าทายอำนาจเผด็จการแฝงเร้นได้อีก พวกเขาจึงเชื่อมั่นว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะเป็นเหมือนทุกครั้งในอดีต 

แต่การณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากผู้นำรัฐบาลพรรคไทยรักไทยยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท อีกทั้งผลสะเทือนของรัฐธรรมนูญ 2540 และผลสำเร็จของรัฐบาลช่วงปี 2544-2548 ทำให้เกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชั้นล่างจำนวนมาก ก่อตัวเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารขึ้นมาอย่างช้า ๆ 

ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยไม่เข้าใจว่า โครงสร้างเศรษฐกิจและดุลกำลังทางชนชั้นของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา 

พวกเขาจึงประเมินศักยภาพของอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยและการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารต่ำเกินไป หลังจากยัดเยียดรัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับ 2550 แล้ว ก็ให้มีการเลือกตั้ง โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยการหนุนช่วยอย่างทั่วด้านจากกองทัพ หน่วยราชการ และองค์กรหุ่นตามรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์อันเป็นตัวแทนเผด็จการจารีตนิยมจะชนะเลือกตั้งเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลได้ตามประสงค์ แต่การณ์กลับเป็นว่า พรรคพลังประชาชนภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ 

พวกเขาจึงต้องส่งกลุ่มอันธพาลการเมืองเสื้อเหลืองออกมาสร้างสถานการณ์จลาจลบนท้องถนน ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน สร้างสถานการณ์วุ่นวายเพื่อบั่นทอนรัฐบาล ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญทำลายพรรคพลังประชาชนและคณะรัฐบาล แล้วให้กองทัพก่อรัฐประหารเงียบ จัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นหุ่นเชิดได้สำเร็จในที่สุด อันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐประหาร 19 กันยายน 

การเคลื่อนไหวของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยโดยใช้เครือข่าย “สี่ขาหยั่ง” อันได้แก่ กลุ่มอันธพาลการเมืองเสื้อเหลือง พรรคประชาธิปัตย์ องค์กรรัฐธรรมนูญ และคณะนายทหาร ประสานร่วมมือกันทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชน บรรลุเป็นรัฐประหารเงียบเมื่อเดือนธันวาคม 2551 จึงเป็นการต่อเนื่องของรัฐประหาร 19 กันยายนที่ยังไม่เสร็จสิ้นนั่นเอง 


2. รัฐบาลเลือกตั้งที่อ่อนแอและทุจริตคือความจงใจของอำมาตยาธิปไตย 

ระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นกรณีตัวอย่างรวบยอดที่แสดงถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงในการใช้ประโยชน์จากระบอบรัฐสภา โดยพวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตย 

สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ รัฐสภาที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็กที่อ่อนแอ ให้มีรัฐบาลหุ่นเชิดไร้อำนาจที่แท้จริงในการบริหารแผ่นดิน แต่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจแฝงเร้นของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่ไร้ความสามารถและไม่อาจแก้ปัญหาของประชาชนได้ เต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย นักการเมืองคือต้นเหตุแห่งปัญหาและความเลวร้ายทั้งปวง ประชาชนไม่อาจหวังพึ่งตนเองด้วยการใช้สิทธิทางประชาธิปไตยไปเลือกนักการเมืองที่มีความสามารถเข้ามาแก้ปัญหาของพวกเขา 

สิ่งที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยต้องการคือประชาชนไทยที่เอาแต่ชูสองมือ เงยหน้าชะเง้อรอคอยความเมตตา “หยาดฝนจากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน” จากพวกเขาที่เป็นผู้ปกครองอันเปี่ยมไปด้วยความกรุณา คุณธรรม จริยธรรม สุจริตขาวสะอาด และสูงส่งตลอดไปเท่านั้น 

เราจึงได้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นหุ่นเชิดของเผด็จการ เป็นรัฐบาลที่ไร้ความสามารถทางบริหาร เต็มไปด้วยวาทศิลป์ที่เป็นเท็จ การกอบโกยผลประโยชน์ และทุจริตคอรัปชั่น 

ทั้งหมดนี้ นอกจากจะแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยและรัฐสภานั้นล้มเหลวดังกล่าวแล้ว จุดประสงค์อีกประการหนึ่งของพวกเขาก็คือ ในเงื่อนไขที่เหมาะสม พวกเขาก็จะใช้ความล้มเหลวในการบริหารและทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลเป็นข้ออ้างก่อรัฐประหารได้อีกครั้ง 

พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงของความล้มเหลวของประชาธิปไตยและระบอบรัฐสภาในประเทศไทย เป็นที่มาของรัฐบาลเลือกตั้งที่ล้มเหลวและทุจริต นักการเมืองทรยศขายตัว และความเลวร้ายทั้งปวงที่ผู้คนหลงเข้าใจว่า เกิดจากระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม และในท้ายสุด พวกเขานั่นแหละที่เป็นรากเหง้าของรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2500 


3. อำมาตยาธิปไตยมาถึงทางตัน 

หนึ่งปีของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เต็มไปด้วยความล้มเหลวและทุจริตคอรัปชั่น ตลอดจนความอยุติธรรมเลือกข้างของกระบวนการยุติธรรมที่กระทำกันอย่างโจ่งแจ้งไร้ยางอาย ทำให้ประชาชนที่มีธรรมชาติที่รักความยุติธรรมไม่อาจทนนิ่งเฉยอยู่ได้ และกระตุ้นให้การเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมแผ่ขยายออกไปทั่วประเทศในหมู่ชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท 

กรณี “สงกรานต์นองเลือด” มีผลเพียงทำให้ขบวนประชาธิปไตยชะงักงันไปช่วงสั้น ๆ แต่ก็สามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำความอยุติธรรมที่รัฐบาล กองทัพ และกระบวนการยุติธรรมรวมหัวกันภายใต้การบงการของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยทำการกดขี่ประชาชน เปิดเผยเนื้อแท้ของระบอบอำมาตยาธิปไตยว่า พวกชนชั้นปกครองและสมุนของพวกเขานั้นคือผู้บัญญัติและใช้กฎหมายที่แท้จริง 

กฎหมายสำหรับพวกเขาจึงมิได้มีไว้เพื่อทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในขณะที่กองทัพก็มิใช่กองทัพของชาติและประชาชน หากแต่เป็นเพียง “กองกำลังอาวุธส่วนตัว” ของกลุ่มเผด็จการอำมาตยาธิปไตย 


ทั้งหมดนี้ได้ยกระดับความตื่นตัวรับรู้และสร้างความโกรธแค้นในมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ขบวนการประชาธิปไตยยิ่งขยายตัว ประชาชนได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญว่า ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมไม่อาจได้มาด้วยการวิงวอนร้องขอ แต่ต้องได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนเอง 

แม้กระทั่งกรณี “การถวายฎีกา” ก็เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนว่า ต้องการประชาธิปไตยและความเป็นธรรม 


รัฐบาลประชาธิปัตย์ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแย่งชิงมวลชนไปจากฝ่ายประชาธิปไตย ทุกวันนี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดเป็นที่ดูถูก เยาะเย้ย เกลียดชังอยู่ทั่วไป ในขณะที่ความเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญ 2540 และอดีตผู้นำไทยรักไทยให้กลับคืนมากลับดังก้อง 

จึงเป็นที่แน่ชัดแก่พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยว่า จะให้มีการเลือกตั้งในขณะนี้ไม่ได้เป็นอันขาด พวกเขาจะต้องไม่ยุบสภา และหากจำต้องยุบสภา ก็จะต้องไม่ให้มีการเลือกตั้ง 

บัดนี้ ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้มาถึงทางตันแล้ว พวกเขาได้ใช้เครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยมาจนเกือบหมดสิ้น 

ทั้งอันธพาลการเมืองเสื้อเหลือง กลไกตำรวจ ราชการ นักการเมืองทรยศขายตัว ในขณะที่การใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดคือ มีลักษณะจำกัดขอบเขต เชื่องช้า และไม่แม่นยำ 

ในขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เป็นหุ่นเชิดก็อ่อนแอ ไร้ความสามารถ และขาดเอกภาพที่จะต่อกรกับอดีตผู้นำไทยรักไทยและขบวนประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ประการสำคัญคือ พวกเขาตระหนักว่า “เวลาใกล้หมดแล้ว” ขณะที่ “เวลา” เป็นของฝ่ายประชาธิปไตย หากพวกเขาปล่อยให้สถานการณ์ประชาธิปไตยคลี่คลายไปดังเช่นหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเขาก็จะมีโอกาสน้อยลงเรื่อย ๆ ที่จะขจัดขบวนการประชาธิปไตยให้หมดไป 

ที่ผ่านมา ได้มีสัญญาณบ่งชี้มาเป็นลำดับว่า ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยกำลังเตรียมแผนการกันอย่างขมักเขม้นเพื่อปราบปรามประชาชนในขั้นเด็ดขาด พวกเขาให้บรรดานักการเมืองและนักวิชาการขายตัวที่เป็นสมุนรับใช้ของพวกเขา เรียงหน้ากันออกมาป่าวร้องกันอย่างเปิดเผยว่า “ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง” 

ให้สื่อสารมวลชนกระแสหลักทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่เป็นสมุนเผด็จการปลุกปั่นโฆษณาชวนเชื่อ ใส่ร้ายป้ายสีอันเป็นเท็จว่า ขบวนการประชาธิปไตยเสื้อแดงเป็น “พวกโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์” และ “ขบวนการสาธารณรัฐ” 

การรื้อฟื้นกลุ่มอันธพาลเสื้อเหลือง การเคลื่อนไหวนอกสภาของนักการเมืองบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยขององคมนตรีบางคนและคณะนายทหาร เป็นต้น 

พวกเขาพลาดโอกาสที่จะขุดรากถอนโคนขบวนการประชาธิปไตยไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสงกรานต์ปี 2552 แต่คราวนี้ พวกเขาจะไม่พลาดโอกาสนั้นอีกแล้ว! 

4. “การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชน” 

เบื้องหน้าภัยจากการปราบปรามของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องไม่ประมาท หากแต่ตระเตรียมรับมือกับการรุกของเผด็จการ 

การทำงานมวลชนขั้นพื้นฐานยังคงเน้นขยายฐานมวลชน จัดตั้งมวลชน เพิ่มจำนวนสมาชิก ก่อรูปคณะแกนนำหลัก และตระเตรียมคณะแกนนำสำรองในสถานการณ์ฉุกเฉิน เชื่อมต่อและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ร่วมมือสามัคคี เน้นจุดร่วมที่มุ่งสร้างประชาธิปไตย สร้างแนวร่วมกับกลุ่มคนที่เห็นต่างที่ไม่ใช่สมุนอำมาตยาธิปไตย บริหารจัดการทรัพยากรคน วัสดุและการเงินที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีโครงสร้างการจัดตั้งและแผนงานสำรองสำหรับสถานการณ์สู้รบที่กำลังมาถึง 

แต่ในขณะที่ขบวนการประชาธิปไตยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ “สถานการณ์สู้รบ” การเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยต้องยึดเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะหน้าให้ชัดเจนคือ โค่นล้มระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา ขจัดอำนาจและกลไกรัฐธรรมนูญของอำมาตยาธิปไตย ที่เป็นอิทธิพลแฝงเร้นคุกคามรัฐบาลเลือกตั้ง และเป็นรากเหง้าของรัฐประหารมาทุกยุคสมัย 

ในด้านยุทธวิธีการเคลื่อนไหว การรุกทางการเมืองจะต้องดำเนินไปพร้อมกับการตระเตรียม “รับ” ในสถานการณ์ที่ฝ่ายเผด็จการตัดสินใจใช้ความรุนแรง เพื่อจำกัดและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด และเพื่อ “การรุกตีโต้กลับ” เมื่อฝ่ายเผด็จการดำเนินจังหวะก้าวที่ผิดพลาด 

คณะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” ที่นำโดยประธานวีระ มุสิกพงศ์ ได้พิสูจน์ตนเองท่ามกลางการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและเสี่ยงอันตรายแล้วว่า พวกเขาเป็นแกนนำที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว อดทน ชาญฉลาด ยืดหยุ่นพลิกแพลง ไว้วางใจได้ และเสียสละอย่างสูง สมควรอย่างยิ่งที่ได้รับความรักและเชื่อมั่นศรัทธาอย่างเหนียวแน่นจากมวลชนประชาธิปไตยทั่วประเทศ 

ประชาชนไม่ว่าในที่ใดในโลกล้วนต้องการสันติและประนีประนอม เพราะพวกเขามีแต่สองมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ไม่มีกองทัพ กฎหมาย และกลไกยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ประชาชนจึงปฏิเสธความรุนแรงเสมอมา ข้อเท็จจริงชี้ว่า ผลของความรุนแรงใด ๆ ที่เกิดขึ้นทุกครั้งในประวัติศาสตร์ในแต่ละประเทศทั่วโลกคือ การบาดเจ็บสูญเสียของฝ่ายประชาชนล้วน ๆ 

แต่พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยของไทยก็เหมือนกับพวกเผด็จการในประเทศอื่น ๆ คือ แม้จะเห็นประสบการณ์ซึ่งเผด็จการในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกในท้ายสุดล้วนต้องพ่ายแพ้ต่อประชาธิปไตย แต่เผด็จการในทุกประเทศก็ล้วนเชื่อเหมือน ๆ กันว่า ประเทศตนเป็นข้อยกเว้นและจะสามารถฝืนกระแสประวัติศาสตร์ไปได้ พวกเขาจึงกระทำผิดพลาดซ้ำ ๆ เหมือนกันด้วยการปฏิเสธความต้องการของประชาชนและเชื่ออย่างผิด ๆ ว่า หากใช้กำลังเด็ดขาดเข้าปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยอีกสักครั้ง ใช้ความโหดเหี้ยมสยดสยองของอำนาจรัฐ ก็จะกำราบให้ประชาชนหวาดกลัวยอมจำนน และยืดอายุอำนาจเผด็จการของพวกตนออกไปได้อีก 

เผด็จการอำมาตยาธิปไตยไทยจึงเชื่อว่า พวกเขาจะฝ่าวิกฤตคราวนี้ไปได้เช่นเดียวกับที่เขาทำสำเร็จมาแล้วจากการปฏิวัติ 2475 และกระแสประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม 2516 พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่า ในเวลานี้ เงื่อนไขของสังคมไทยและสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง วันเวลาและ “สวรรค์” ของพวกเขาใกล้หมดแล้ว การลงมือปราบปรามประชาชนที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นความผิดพลาดของพวกเขา และอาจจะลุกลามออกไปเป็น “การปฏิวัติของประชาชน” ที่พวกเขาไม่อาจเอาชนะได้ 

การปฏิวัติของประชาชนที่จะเกิดขึ้น จะดำเนินไป “จนถึงที่สุด” เพียงใดนั้นมิใช่ฝ่ายประชาชนเป็นผู้กำหนด หากแต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของฝ่ายเผด็จการเอง หากพวกเขาไม่ยินยอมที่จะถอยออกไปแต่โดยดีและยังใช้กำลังรุนแรงต่อประชาชน การต่อสู้ของประชาชนก็จะดำเนินไปจนถึงที่สุดโดยตัวมันเอง โดยไม่มีแกนนำคนใด หรือแม้แต่อดีตผู้นำไทยรักไทยจะคาดหมายและควบคุมได้ 


นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวไว้เมื่อสองร้อยปีมาแล้วว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงส่วนตนของปัจเจกชนคนใด” ไม่ว่าผู้นำจะคิดอย่างไร มีเจตจำนงทางอัตวิสัยอย่างไร มีความปรารถนาในทาง “สายกลางและประนีประนอม” สักเพียงใด หากไม่เป็นไปตามทิศทางของประวัติศาสตร์และความต้องการที่แท้จริงของมวลชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก ผู้นำเหล่านั้นก็จะตกขบวนในที่สุด 


การต่อสู้ของประชาชนเพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยนั้น ไม่ว่าในยุคใดสมัยใดและถิ่นฐานใด ล้วนแต่ยืดเยื้อยาวนาน ยากลำบากทั้งสิ้น การเคลื่อนไหวคืบหน้าไปแล้วก็ถดถอย แล้วก็คืบหน้าอีก สู้แล้วแพ้ ก็กลับมาสู้ใหม่ เป็นกระแสขึ้นและลง การชะงักหรือถดถอยอาจเป็นเพียงชั่วครู่ไม่กี่เดือนกี่ปี ไปจนถึงยาวนานหลายสิบปีในระหว่างนั้น เแม้ประชาชนจะถูกสกัดกั้น ถูกกดขี่ ถูกใช้กำลังรุนแรงปราบปราม บาดเจ็บล้มตาย กระทั่งนองเลือดอย่างสาหัส แต่การต่อสู้ของประชาชนก็ฟื้นกลับมาเป็นกระแสใหญ่ได้อีกทุกครั้งจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย 

การต่อสู้ของประชาชนในสังคมและยุคสมัยที่ต่างกันอาจมีสาเหตุเฉพาะหน้าที่ต่างกัน แต่เหตุผลสำคัญที่สุดมีเพียงประการเดียวคือ “ประชาชนต้องการเสรีภาพ”


****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น