ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รู้จัก...จอห์น ล็อค

คอลัมน์ : กว่าจะเป็นประชาธิปไตย
เรื่อง : รู้จักจอห์น ล็อค
โดย : จักรภพ เพ็ญแข

ผมได้ยินบางคนพูดเรื่อยว่า ตัวเองเป็นนักปฏิบัติ ไม่ชอบคิดมากและคิดนาน ส่วนใหญ่ก็เพื่อชิ่งกระทบคนอื่นๆ บางคนที่ร่วมวงสนทนาหรือประชุมอยู่ด้วยกัน และยกตนข่มท่านว่าเหนือกว่าคนเหล่านั้น สุดท้ายผมก็ได้เห็นคนอย่างนี้หายสาบสูญไปในงานหรือภารกิจที่ซับซ้อน ไปปฏิบัติอยู่ที่รูไหนก็ไม่ทราบได้ เมื่อเวลาผ่านไป เห็นอะไรที่ครบรอบวงขึ้น จึงเข้าใจว่าเขาพูดอย่างนั้นเพราะเกิดปมด้อยว่าสู้ทางปัญญาความคิดกับคนอื่นๆ เขาไม่ได้ ก็เลยต้องข่มไว้

ในชีวิตจริงงานและภารกิจที่ซับซ้อนและประสบความสำเร็จทุกอย่างเป็นผลมาจากการคิดดีและคิดนานพอ ไม่ใช่พรวดพราดออกไปทำเพื่อโชว์อินทรีย์อันแก่กล้าของตน

ประสบการณ์แบบนี้ทำให้ผมคิดถึงคนอย่าง จอห์น ล็อค (John Locke) อยู่เสมอ เพราะคนคิดดีและคิดนานพออย่างล็อคทำให้เกิดนักปฏิวัติขึ้นหลายคนในอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เขาคิดและเขียนทฤษฎีที่มีพื้นฐานจากสันดานของมนุษย์และวิวัฒนาการของสังคมอย่างไม่ตอแหล ทำให้ผู้คนที่ศึกษางานของเขาในหลายร้อยปีต่อมาตาสว่าง สมกับเป็นปัญญาชนคนสำคัญในยุคสมัยที่ขนานนามกันว่ายุคสว่างทางปัญญา หรือ Enlightenment

เรามาคุยเรื่องล็อคกันเสียหน่อยปะไร เดี๋ยวนี้มีคนที่อยากปฏิวัติสังคมโดยไม่ยอมศึกษาจนลึกซึ้งและรอบคอบ จนน่ากลัวว่าปฏิวัติกันแทบล้มแทบตาย กลับไปได้ดีกับมหาอำมาตย์

จอห์น ล็อค เป็นชาวอังกฤษในศตวรรษที่ ๑๗ และเป็นแพทย์ เขาเป็นนักประชาธิปไตยเบื้องแรกอีกคนหนึ่งที่ไต่เต้ามาจากระบอบอำมาตยาธิปไตย และโดยระบบอุปถัมภ์ อันเป็นกลไกสำคัญของฝ่ายอำมาตย์ พ่อของล็อคเป็นทนายความและนักการเมืองท้องถิ่นที่เมืองชูแม็กน่า แม่เป็นผู้หญิงสวยขนาดนางงาม ล็อคเรียนหนังสือเก่ง ช่วงมัธยมศึกษาพ่อจึงส่งไปลอนดอน ไปอาศัยบ้าน ส.ส. อเล็กซานเดอร์ ป๊อปแฮม ที่นับถือกัน เมื่อถึงขั้นอุดมศึกษาก็ไปต่อที่โรงเรียนไครสต์เชิร์ชของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจนจบปริญญาตรีและปริญญาโท แต่ปรากฏว่า พ่อหนุ่มล็อคเบื่อหน่ายต่อปรัชญาโบราณที่อาจารย์สอนเป็นอย่างยิ่ง กลับไปลุ่มหลงงานของนักปรัชญาใหม่ๆ ในยุคนั้น เช่น เดสคาร์ตส์ เป็นต้น จึงได้เริ่มเสาะหาแหล่งเพาะแนวคิดใหม่ๆ และเริ่มพัฒนาความคิดของตัวเองให้ตกผลึกขึ้นเรื่อยๆ แต่ในแง่อาชีพ เขากลับเลี้ยวไปทางแพทย์ จนได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์และขลุกอยู่กลับการทำวิจัยหาความรู้อยู่เป็นปีๆ และได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตสถาน ชีวิตของ จอห์น ล็อค ช่วงนี้แทบจะบอกไม่ได้เลยว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของนักคิดที่จะเข้าขัดขวางระบอบกษัตริย์นิยมในอังกฤษและเริ่มวางรากฐานของระบอบประชาชนขึ้น จนกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ของระบอบประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

จุดผกผันในชีวิตของล็อคคือมาได้ผู้อุปถัมภ์ที่มีอิทธิพลสูงในยุคนั้น และเป็นนักคิดตัวยงเกี่ยวกับระบอบประชาชนในอังกฤษ เขาคือ ลอร์ด แอนโธนี่ แอชลี่ย์ คูเปอร์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เอิร์ลแห่งชาฟต์เบอร์รี่ ซึ่งมารักษาตัวด้วยอาการตับติดเชื้อ จนถูกคอกันมากกับหมอล็อคซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองล้ำหน้า ชาฟต์เบอร์รี่จึงแนะนำให้ล็อคได้รู้จักกับบุคคลต่างๆ อีกมากมาย เพื่อให้ทดสอบแนวคิดและเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวางขึ้น ขนาดให้ล็อคมาอยู่ที่บ้านด้วยเลย

ณ คฤหาสน์ชาฟต์เบอร์รี่ ล็อคได้เข้าเรียนกับ โธมัส ไซเด็นแฮม ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ที่สนใจในศาสตร์อันว่าด้วยพฤติกรรมมนุษย์ ผลจากการเรียนโดยตรง บวกกับความกระหายใคร่รู้ส่วนตัว ทำให้ล็อคศึกษาลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดเขียนบทความเชิงวิชาการชิ้นงามๆ ออกมาได้ ผลงานชิ้นหนึ่งที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับเขาคือ ความเรียงเกี่ยวกับความเข้าใจในมนุษย์ หรือ An Essay Concerning Human Understanding ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจว่าคนคืออะไร มีความต้องการอย่างไร อยู่ร่วมกันในสังคมแบบไหนจึงจะผาสุก บทความชิ้นนี้เองที่แตกแขนงออกเป็นงานความคิดเชิงสังคมของเขาและส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อคนอื่นๆ ในรุ่นหลัง

พูดได้ว่าล็อคเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่จับเอาหลักวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์สังคม เพื่อเป็นรากฐานทางการเมืองและสังคมอีกต่อหนึ่ง

ล็อคมีโอกาสตอบแทนบุญคุณของชาฟต์เบอร์รี่อย่างจังเมื่อท่านเอิร์ลล้มป่วยด้วยโรคตับ ยุคนั้นการผ่าตัดกับตัวโรคมีความเสี่ยงอันตรายพอๆ กัน ไม่รักษาก็ตาย รักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจจะไม่รอด ล็อคมีบทบาทในการโน้มน้าวให้ชาฟต์เบอร์รี่เข้าผ่าตัดและยอมรับความเสี่ยงนั้น จนในที่สุดเจ้าบ้านก็รอดตายและหายขาดจากโรค งานนี้ทำให้ชาฟต์เบอร์รี่ถือว่าล็อคช่วยชีวิต จึงสนับสนุนล็อคหนักขึ้นไปอีก เมื่อท่านเอิร์ลได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ล็อคจึงได้รับหน้าที่ที่ออกไปไกลจากวงการหมอ นั่นคือการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้เขากลายเป็นแพทย์ที่มีความรู้ทางสังคมดีกว่ามาตรฐานทั่วไป

แม้ต่อมาชาฟต์เบอร์รี่ชะตาตก ขนาดหลุดจากตำแหน่งและอำนาจถึง ๙ ปี ล็อคก็ยังได้ประโยชน์จากภาวะว่างงาน เพราะเขาเดินทางไปฝรั่งเศสและได้เรียนรู้ถึงบรรยากาศที่กำลังแวดล้อมการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ใกล้จะเกิดขึ้น เมื่อกลับมา ก็เกิดงานนิพนธ์ชิ้นสำคัญขึ้น นั่นคือ สองสนธิสัญญาแห่งรัฐบาล หรือ Two Treatises of Government

งานชิ้นนี้แหละที่นักประชาธิปไตยควรอ่านกันทุกคน ล็อคเขียนถึง “กฎธรรมชาติ” ที่มนุษย์มีและเป็น ในทำนอง “ที่เห็นและเป็นอยู่” (สำนวนแปลชั้นเยี่ยมของ มโนภาษ เนาวรังษี จาก “Being There” ของ เจอร์ซี่ โคซินสกี้) ไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดให้มีให้เป็น และงานชิ้นนี้อีกแหละที่ทำให้เรารู้จักคำสำคัญที่เรานำมาใช้กันอย่างคุ้นปากจนกลายเป็นวาทกรรม นั่นคือ ความชอบธรรม (legitimacy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง ลองคิดดูก็ได้ว่าหากไม่มีงานอย่างนี้ขึ้นในโลกและเป็นที่ยอมรับ เราจะเอาอะไรมาเถียงกับระบอบเผด็จการเล่า เราคนตัวเล็ก มีอำนาจต่อรองน้อย จะไปคัดง้างกับผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ด้วยอะไร ถ้าไม่ใช่แนวคิดทางสังคมว่าอะไรถูกและอะไรผิด งานของล็อคจึงเปรียบเสมือนการถมที่เตรียมการปลูกต้นไม้ประชาธิปไตยจนกลายเป็นสวนป่าที่ดกดื่นร่มรื่น

ด้วย “กฎธรรมชาติ” และ “ความชอบธรรม” นี่เอง ล็อคจึงทำให้สังคมยุคนั้นถกเถียงกันจนแทบแตกสลาย คำถามที่เรียบง่าย (แต่มีพิษ) คือ อะไรคือระบอบการปกครองที่ดีกว่าสำหรับสังคมมนุษย์ ระหว่าง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช” (Absolute Monarchy) ที่เป็นอยู่ในยุคนั้น กับ “ระบอบความชอบธรรมทางการเมือง” หรือ (Political Legitimacy) ที่คนส่วนใหญ่ร่วมกันกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว

พูดให้ชัดเจนคือ งานเขียนของเขาถามสังคมด้วยเสียงดังฟังชัดว่า ระหว่างคนๆ เดียวมีอำนาจสูงสุดและกำหนดทุกอย่าง กับ คนในสังคมร่วมกันตัดสินใจและสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้น อะไรดีกว่า

ล็อคจึงนับเป็นนักคิดคนแรกๆ ของโลกที่ชวนให้คนคิดหาความชอบธรรมเปรียบเทียบระหว่างระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ในพุทธศักราชนั้นยังไม่มีวาทกรรมอย่างนี้ให้ใช้

ผลจากความคิดที่ก้าวหน้าและใหญ่โตขนาดจะปฏิวัติความคิดทางสังคม ล็อคก็ต้องอยู่ในสภาพเหมือนพวกเราในยุคหลังคือกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ผู้มีอำนาจกล่าวหาว่าเขาเกี่ยวข้องกับกรณีบ้านไรด์ ซึ่งเขาไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นเลย แต่การลี้ภัยไปเนเธอร์แลนด์กลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะล็อคใช้เวลาในการปรับปรุงข้อเขียนเก่าๆ ของเขาให้สมบูรณ์และสะท้อนแนวความคิดของตัวเองให้ดีขึ้น

งานเขียน ๓ ชิ้นที่ปรากฏเกือบจะติดกันจึงกลายเป็นฐานความคิดแบบล็อคที่คนสนับสนุนกันมาก ได้แก่ ความเรียงว่าด้วยความเข้าใจในมนุษย์ สองสนธิสัญญาของรัฐบาล ซึ่งเป็นงานเดิมที่เขาปรับปรุงใหม่ และจดหมายเกี่ยวกับขันติธรรมต่อเพื่อนร่วมโลก (A Letter Concerning Toleration) ซึ่งเป็นงานชิ้นใหม่

ถ้านำแนวความคิดมาเรียงลำดับให้ดี และเรียนรู้ไปทีละขั้น เราจะพบว่าล็อคชวนให้คนยอมรับว่าธรรมชาติวิสัยของมนุษย์คือความมีเสรีและการกำหนดใจตนเอง (ในงานชิ้นแรกช่วงลี้ภัย) ในชิ้นที่สองเขาชวนเราวิพากษ์ในเชิงระบอบการปกครองว่า เมื่อมนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์และมีความชอบธรรมที่จะสร้างระบอบการปกครองของตัวเองแล้ว ระบอบนั้นคืออะไร และคู่ต่อสู้หรือศัตรูของเราคือระบอบใด จนถึงที่สามที่นับว่าก้าวหน้ามากคือ ความมีน้ำอดน้ำทนต่อเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน เพราะปราศจากสิ่งนี้แล้ว เราคงจะไม่ยอมรับสิทธิและความเสมอภาคของกันและกันได้ง่ายนัก เรื่องหลังนี้ถ้ามองด้วยพุทธทัศนะได้ก็จะดีและง่ายขึ้นมาก นั่นคือมนุษย์และสัตว์ทุกชนิดล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ อย่าเบียดเบียนต่อกันและกันเลย

ก่อนตายไม่กี่ปี ล็อคได้กลายเป็นวีรบุรุษของพวกวิก (Whigs) ซึ่งเป็นขั้วการเมืองแนวปฏิวัติของอังกฤษ มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์ลูกหามาก รวมทั้งคนขนาด จอห์น ไดรเดน และ (เซอร์) ไอแซค นิวตัน คนเหล่านี้นำแนวความคิดของ จอห์น ล็อค ไปต่อยอดจนกลายเป็นนวัตกรรมทางการเมืองสืบต่อมา เช่น ระบอบกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) เป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกา แนวคิดของล็อคได้กลายเป็นพื้นฐานการปฏิวัติประกาศเอกราชจากอังกฤษของประเทศนั้น คำเด่นๆ ของเขา เช่น “เสรีภาพ” (Liberty) “สัญญาประชาคม” (Social Contract) เป็นต้น ปรากฏอยู่ในข้อถกเถียงของคณะบิดาผู้สร้างชาติสหรัฐฯ (American Founding Fathers) ปรากฏในคำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา และเป็นวีรบุรุษชนิดโลกไม่ลืมของประเทศนั้นและของโลก

วอลแตร์แห่งฝรั่งเศสถึงกับเรียกล็อคว่า “ศาสดาล็อค”

เพราะ จอห์น ล็อค พลโลกจึงตั้งคำถามกับตัวเองเป็นครั้งแรกว่า กษัตริย์คือใคร พลเมืองคือใคร และเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในสังคมที่มนุษย์มีเสรีภาพมาแต่กำเนิด?

----------------------------------------------------------------------------------
ฝากกระซิบต่อ :
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146 ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน) Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)

1 ความคิดเห็น:

  1. บทความลักษณะกึ่งประวัติชีวิตบุคคลและ การอธิบายความหมายของการใช้คำ
    น่าอ่านมาก ซึ่งแนวคิดการเมืองทางสายนี้ให้ความรู้แก่ผู้อ่านมาก
    นักปกครองคงจะคุ้นเคยจนมองข้ามไป

    แต่สำหรับคนวงนอกที่มิใช่นักการเมืองเป็นการเพิ่มความรู้อย่างสั้นสั้นครบถ้วน
    ในการนำไปสู่ก้าวต่อไปในทางความคิด

    คำว่า Legitimacyแปลภาษาไทยได้เพียงว่า"ความชอบธรรม"เท่านั้นหรือเพราะ ในภาษาเยอรมัน จะเป็น"ความชอบ..การยอมรับ..ทั้งทางธรรมะ(moral)และ ทางกฎหมาย(law)"
    นี่ถามเพราะไม่ทราบจริงจริง(มิได้บังอาจ)น่าจะขยายคำว่า
    เป็น"ความชอบธรรมทั้งทางศีลธรรมและทางกฎหมาย"นะ

    ตอบลบ