ความยุติธรรมและความเสมอภาคที่แท้จริงไม่มีในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเลือกข้างและกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...
3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ
2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์
1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์
สด จาก เอเชียอัพเดท
วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554
รบแบบลิเบีย (๑)
คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง รบแบบลิเบีย (๑)
โดย กาหลิบ
สงครามกลางเมืองในลิเบียขณะนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีแนวคิดปฏิวัติประชาชน สิ่งที่เรานึกว่าเป็นทฤษฎีหรือประวัติศาสตร์ชนิดเก่าสุดกู่ที่ประชาชนธรรมดาๆ ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐอันใหญ่โตอลังการจนแทบไม่กล้าคิด กลายเป็นภาพปัจจุบันของลิเบีย เช่นเดียวกับการต่อสู้ของมวลชนตูนิเซียและมวลชนอียิปต์ก่อนหน้านี้ไม่นาน ส่วนสภาพการณ์ในซีเรียและเยเมนก็กำลังเข้าไคลและเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่คล้ายคลึงกัน
ขณะนี้คนลิเบียแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่ ผู้สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จของผู้นำสูงสุดในลิเบียคือพันเอกมูฮัมมา กัดดาฟี่ที่ไม่ได้เป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ผู้ได้อำนาจมาด้วยการโค่นล้มระบอบกษัตริย์เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อน กับมวลชนผู้สนับสนุนการเปลี่ยนระบอบการปกครองของลิเบียให้เป็นประชาธิปไตย ฝ่ายแรกยึดกุมศูนย์อำนาจเดิมที่นครหลวงทริปโปลี ในขณะที่ฝ่ายหลังมีนครเบงกาซีทางภาคตะวันออกเป็นศูนย์ประสานงานหลัก และเข้ายึดครองเมืองน้ำมันอย่างราส-ลานูฟ ตลอดจนเมืองเศรษฐกิจอย่างเบรก้าและมิสราต้าได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังเข้าตีชิงมิสราต้ากลับคืนอยู่เต็มที่และดูเหมือนจะได้ผลด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือสงครามกลางเมืองครั้งนี้มีฝ่ายที่สาม นั่นคือ ประชาชาติตะวันตกและโลกอาหรับบางส่วนรวมตัวกันภายใต้มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่งกองกำลังทางอากาศเข้ามาในน่านฟ้าลิเบียที่ถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามบิน (no-fly zone) นัยว่า เพื่อป้องกันมิให้กัดดาฟี่สามารถส่งกำลังเข้าถล่มทำลายที่มั่นของฝ่ายประชาชนได้โดยง่าย
ระหว่างนี้ก็เกิดการแปรพักตร์หักหลังกันไปตามประสาการปฏิวัติ กัดดาฟี่ก็สูญเสียมือไม้สำคัญๆ ไปจำนวนหนึ่ง อย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่หนีไปอังกฤษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ไปช่วยนำฝ่ายประชาชน แม่ทัพนายกองทั้งที่อยู่ในประจำการและเกษียณอายุแล้ว เป็นต้น
ความจริงกัดดาฟี่เตรียมจะล้างบางฝ่ายประชาชนมาตั้งแต่วันแรก แต่การแทรกแซงจากต่างชาตินั่นเองที่ทำให้เสียแผน สิ่งที่น่าสนใจและควรจับตาให้ใกล้ชิดคือกัดดาฟี่พยายามปั้นการแทรกแซงจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา เขาเอ่ยถึงคำว่า “ครูเสด (The Crusade)” เมื่อกองกำลังรวมชาติเข้าพิทักษ์เขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบีย ซึ่งหมายถึงประวัติศาสตร์ส่วนที่ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ยกกำลังฆ่าฟันกันอย่างนองเลือดจนยุโรปว่างคนไปหลายร้อยปี หากกัดดาฟี่ปลุกสำเร็จ อาจทำให้ภาพรวมเปลี่ยนจากการปฏิวัติประชาชนของลิเบีย ไปเป็นสงครามศาสนาระหว่างชาติได้ ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากและมีอันตรายมาก
แต่ปัญหาระหว่างประเทศแท้จริงมาจากบทบาทของจีนและอินเดีย ซึ่งยืนหยัดอยู่กับรัฐบาลลิเบียของพันเอกกัดดาฟี่อย่างเหนียวแน่น ความมั่นคงของยักษ์เศรษฐกิจทั้งสองทำให้บางชาติในยุโรปลังเลในนโยบาย ไม่แน่ใจแล้วว่าตนเองเข้าข้าง “ถูก” หรือไม่ ขณะนี้ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสเกิดรวนเรและไม่เข้าช่วยฝ่ายประชาชนที่กำลังต่อสู้ป้องกันเมืองมิสราต้า จนมีข่าวว่า ฝ่ายประชาชนสูญเสียกำลังพลนับร้อยในขณะนี้
เราจึงเห็นว่า ปัจจัยสำคัญในกรณีลิเบียขณะนี้คือการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อสามารถอ้างความชอบธรรมขององค์การสหประชาชาติได้ แต่แนวร่วมอย่างนั้นก็มีจุดอ่อน จุดอ่อนก็คือความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างชาติ เมื่อผลประโยชน์เหล่านี้ยังไม่ขัดกัน ฝ่ายประชาชนลิเบียก็มี “ผู้ปกป้อง” และสามารถเดินหน้ายึดเมืองตลอดจนสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ของตัวเองได้สะดวก เมื่อเกิดภาวะผลประโยชน์ขัดกัน ประชาชนก็กลายเป็นเหยื่อสงครามไปในฉับพลันทันทีอีก ความรุนแรงในฝ่ายรัฐบาลมีแต่จะเพิ่มขึ้นเพราะต้องฉกฉวยโอกาสและบวกด้วยความแค้นที่ถูกขัดขวางปฏิบัติการทางทหารในห้วงก่อนหน้านี้
บทเรียนของฝ่ายไทยในเรื่องนี้จึงสำคัญ หากจะนำองค์การระหว่างประเทศและต่างชาติเข้ามาในการต่อสู้ของเรา จะต้องคำนึงถึงจุดอ่อนและปัญหาใหม่ที่จะติดตามมาด้วย อย่าคิดเอาแต่ได้หรือทางดีแต่อย่างเดียว
ฝ่ายประชาชนจึงอาจสูญเสียมิสราต้าในเร็ววันนี้ ฝ่ายรัฐบาลคงได้ใจและรุกคืบต่อไปจนถึงฐานที่มั่นอื่นๆ โดยเฉพาะราฟ-ลานูฟและเบรก้า หรือไม่ก็เจาะไข่แดงที่เบงกาซีเอาเลยทีเดียว สิ่งที่แน่นอนคือพันเอกกัดดาฟี่ไม่มีทีท่ายอมจำนนหรือยอมรับการต่อรองใดๆ และพร้อมจะทำสงคราม “ครั้งสุดท้าย” เหมือนกับสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเมืองไทยชอบประกาศ แต่ไม่อาจทำเหมือนเขาได้เพราะไม่ใช่เจ้านายเหนือหัวของตัวเอง
ปัญหาคือฝ่ายประชาชนจะผลิตน้ำมันส่งขายเพื่อสร้างเศรษฐกิจของตัวเองได้ตามความตั้งใจหรือไม่?
นี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต่อมา.
(ยังมีต่อ)
-------------------------------------------------------------------------------
สนับสนุน "กาหลิบ" และทีมงาน สมัคร SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ.10.00-18.00น.)/e-mail : tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น