ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ไพ่กัมพูชา โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ไพ่กัมพูชา

โดย กาหลิบ


ความจริงราชอาณาจักรกัมพูชาก็เป็นประเทศเต็มตามคุณสมบัติ แต่เจ้าของประเทศไทยขณะนี้กำลังมองเขาเหมือนไพ่ในมือใบหนึ่ง จะเลือกเล่นเลือกใช้เมื่อไหร่ได้ทุกเมื่อ ตามแต่เกมการเมืองของตนจะชักนำไป ผลลัพธ์ทุกอย่างก็เพื่อผลการแย่งชิงอำนาจภายในประเทศไทย ไม่ได้เกี่ยวกับกัมพูชาหรือการเมืองข้ามชาติใดๆ เลย

ประเด็นคือกัมพูชาและอาเซียนที่จับตามองไทยมาตลอดตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เขาก็เข้าใจเกมของใครบางคนในเมืองไทย

เหตุต้องปะทะกันอีกครั้งใกล้ปราสาทตาควายและปราสาทตาเมือนธม จึงเป็นเรื่องของหลักการปะทะตอบโต้ของฝ่ายทหาร ไม่ใช่นโยบายหรือจุดยืนทางการเมืองของรัฐบาลกัมพูชา

จุดยืนฝ่ายเขายังคงเป็นการไกล่เกลี่ยเจรจาทางการทูต ไม่ใช่ยิงใส่กัน โดยให้อินโดนีเซียผู้เป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ ปรากฏว่าไทยเล่นบทอันธพาลทุบโต๊ะ และไม่ยอมรับวิถีทางสันติขึ้นมาเสียเฉยๆ ชักแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาอ้างซึ่งอาเซียนเขาก็รู้ทันอีก

ความชัดเจนของเขาทำให้ประชาคมอาเซียนส่วนที่ยังมองภาพไม่ชัดถามว่า ถ้าไทยไม่ต้องการกติกาสากลแล้วไทยต้องการอะไรเล่า? คำตอบจึงผุดขึ้นมาเองว่า ไทยไม่ได้ต้องการอะไรหรอก เพียง จะหาเรื่องให้มีเกิดเหตุยิงกันที่ชายแดนเพื่อหวังผลบางอย่างที่กรุงเทพมหานครเท่านั้นเอง

ขาดความมั่นใจที่ศูนย์อำนาจเมื่อใด ก็ต้องอาละวาดฟาดฟันไปทั่วทิศเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและหาข้ออ้างที่จะเคลื่อนกำลังทหารทุกทีไป

ปัญหาการเมืองของคนที่ไฟธาตุใกล้จะแตกอีกแท้ๆ เป็นเหตุให้ไทยเสื่อมเสียชื่อเสียงที่เคยมีในสายตาเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอาเซียน เหมือนคนทะเลาะกับเมียมาจากบ้านแล้วมาหาเรื่องทะเลาะกับเพื่อนโดยไม่มีสาเหตุ คนที่มองเห็นเขาก็ลดความนับถือไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ถามว่าปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชามีจริงหรือไม่ ตอบได้ว่าจริง ไม่เฉพาะผืน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ยังมีอีกหลายจุดตลอดแนวชายแดนที่ยาวถึงประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร เช่นเดียวกับที่เรามีปัญหาทางเมียนมาร์ ลาว และมาเลเซีย และเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เขาก็มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับเพื่อนบ้านของตน แต่เขาก็ไม่ใช้สงครามมาแก้ไขปัญหานั้น

ผู้นำล่าสุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่แก้ไขปัญหาพิพาทในดินแดนด้วยกำลัง คือซัดดัม ฮุสเซ็น อดีตประธานาธิบดีอิรัก บัดนี้ก็ถูกจับแขวนคอตายไปแล้ว

เปิดฉากเถียงกับเขาว่าใครยิงก่อนยิงหลัง แต่พอทั้งหมู่บ้าน (ประชาคมอาเซียน) เขาชวนแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีกฎเกณฑ์​ให้ประธานอาเซียนเป็นตัวกลางในการสังเกตการณ์และหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นแค่ขั้นตอนแรกที่ยังไม่ได้ชี้ถูกผิดอะไร ก็ดิ้นหนี ปฏิเสธอารยะประเทศเขาอย่างทื่อๆ เถื่อนๆ จนกระบวนสันติภาพชะงักงัน

ผู้อารยะเขาต้องวิ่งเข้าหาพิสูจน์ความจริงที่ประกอบด้วยพยานหลักฐานครบครัน การอ้างด้านๆ ว่าฉันถูกแกผิด แต่พอเขาชวนหาความจริงกลับหนีหัวซุกหัวซุนย่อมชวนให้สงสัยในความถูกต้องและเจตนาของผู้ก่อปัญหานั้น

คนอยากแก้ไขปัญหากับคนที่อยากหาเรื่องโดยไม่คิดจะแก้นั้นมองโลกแตกต่างกันมาก

กัมพูชาจึงคือไพ่ใบหนึ่งในเกมอำนาจของชนชั้นนำไทย ที่หยิบมาเป็นเครื่องมือในขณะที่ศึกช่วงชิงอำนาจ ณ ศูนย์กลางเข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้น หากรั้งสังขารไม่อยู่ ก็จะเข้าใช้ประโยชน์จากประเด็นที่จุดเอาไว้นี้ เช่น อาจขยายให้กลายเป็นสงครามจริงเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น ถือโอกาสเปลี่ยนรัฐพลเรือนให้เป็นรัฐทหารเพื่อเว้นวรรคประชาธิปไตย แสวงประโยชน์ส่วนตนจากอาวุธสงคราม งบราชการลับและอื่นๆ เป็นต้น

แต่ถ้าขบวนประชาธิปไตยถูกปราบจนราบคาบด้วยเครื่องมืออื่นๆ ไม่ว่าจะหลอกล่อให้ปรองดองและดึงเข้าสู่เกมเลือกตั้งที่ฝ่ายเขาเตรียมรุกฆาตฝ่ายประชาชนเอาไว้เต็มที่ เขาก็จะไม่ทิ้งไพ่กัมพูชา ทิ้งไว้ในมืออย่างนั้นจนกว่าจะถึงจังหวะต่อไป

นิสัยอย่างนี้ทำให้ชนชั้นนำไทยเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ไปทั่วโลก ยิ่งดูถูกเขาว่าโง่เง่าไม่รู้เท่าทัน เขาก็ยิ่งเกลียดชังเป็นทวีคูณ

ชาติที่รู้เจ็บรู้จำเหล่านี้เขาจึงสัมผัสใจกับชาวประชาธิปไตยและประชาชนชาวไทยที่ไม่ใช่ศักดินาและอำมาตย์แนบแน่นขึ้นทุกวัน

ไม่นานก็เหลือตัวคนเดียวในตึกสูง.

------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน "กาหลิบ" และทีมงาน สมัคร SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ.10.00-18.00น.)/e-mail : tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น