ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

องคมนตรีในรัฐธรรมนูญ โดย จักรภพ เพ็ญแข

โดย : จักรภพ เพ็ญแข
ที่มา : หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 23

เมื่อวันก่อนผมสนทนายาวเกือบสามชั่วโมงกับทีมงานของเว็ปคนไทยยูเคในเรื่องต่างๆ ความจริงนัดคุยกันเรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียนที่หัวหิน แต่คำถามจากท่านผู้ฟังที่ไหลเข้ามาดั่งสายน้ำพาเราไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจและเกี่ยวกับจุดยืนของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนั้น

เรื่องหนึ่งในนั้นคือจุดยืนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายท่านถามเข้ามาอย่างสนใจมาก ผมตอบไปแล้วก็มานั่งคิดในภายหลังว่า เรื่องนี้สำคัญเกินกว่าจะพูดแล้วก็ผ่านเลยไป ผมจึงขอนำประเด็นหนึ่งที่ได้สนทนามาเขียนบันทึกไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง เพื่อให้ชัดเจนเป็นหลักฐานและเป็นสาธารณะพอที่จะถกเถียงกันต่อไป

นั่นคือประเด็นที่เกี่ยวกับฐานะของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าองคมนตรี ซึ่งในรัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ในหมวดอันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์

พูดเพียงเท่านี้ คนที่อยู่ในกรอบความคิดแบบประเพณีก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรที่ใครจะเข้าไปแตะไปต้องทั้งสิ้น

แต่ปัญหาคือองคมนตรีจำนวนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไป จนผู้คนเขารู้สึกกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่าไม่สมควรและไม่ใช่หน้าที่ พลอยให้คนอีกไม่น้อยคิดเลยไปถึงองค์พระมหากษัตริย์อย่างไม่สมควรและไม่เป็นมงคล

ถ้าองคมนตรีบางท่านไม่แสดงบทบาทดังกล่าว ประเด็นล่อแหลมอย่างนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น อย่าลืมว่าเมื่อประธานองคมนตรีและองคมนตรีเข้ามาเป็นรัฐบาลพิเศษภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนกลายเป็นรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์นั้น สังคมเขาก็ไม่ได้ว่าอะไรมาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะถือว่าเป็นการยุติสภาพอนาธิปไตยในบ้านเมือง

แต่พฤติกรรมทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ หรือ ๓๓ ปีหลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นพฤติกรรมของคนที่จงใจเจตนาทำลายรัฐบาลของมวลชนที่ได้รับความนิยมอย่างมากและมีทีท่าจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อได้ โดยอาศัยข้อกล่าวหาคลาสสิก ๓ ข้อคือ ไม่จงรักภักดี ทุจริตคดโกง และคิดเป็นเผด็จการ

เราต้องนำบทเรียนในเรื่องนี้มาแก้ไขเสียใหม่ในรัฐธรรมนูญและหาทางบังคับใช้ให้ได้ตามนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะมีรัฐบาลเปรม ๑๐๐ หรือสุรยุทธ์ ๒ หรือพลากร ๑ ให้อับอายขายหน้าชาวโลกเขาต่อไป
ขนาดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ๑ เขาก็แสดงอาการรังเกียจจนการประชุมสุดยอดอาเซียนต้องล่มสลายในทางสาระไปเรียบร้อยแล้ว นี่อุตส่าห์ไปประชุมกันถึงหัวหินนะครับ

ตั้งประเด็นกันเสียให้ถูกว่า องคมนตรีคือใคร และมีความสัมพันธ์กับปวงชนชาวไทยอย่างไร

องคมนตรีคือคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชอัธยาศัย เพื่อทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาตามพระราชอัธยาศัย

รับสั่งไว้ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดทำเนียบองคมนตรีที่สวนสราญรมย์เองว่า องคมนตรีคือผู้ให้คำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ ถ้าไปให้คำแนะนำกับคนอื่น ถือว่าไม่ใช่องคมนตรี

แปลว่าบุคคลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี จะเป็นองคมนตรีเฉพาะกิจเท่านั้น ไม่ได้เป็นองคมนตรีไปจนถึงธนาคารกรุงเทพฯ ซีพี หรือเบียร์ช้าง
ในขณะที่ไปประสานให้เขาก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ หรือห้ามมิให้เขาทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา ทั้งๆ ที่รัฐบาลมุ่งรักษากฎหมายบ้านเมืองในกรณีการยึดสนามบินนานาชาติและทำเนียบรัฐบาล อย่างนี้โดยกระแสพระราชดำรัสแล้วก็มิใช่องคมนตรีเป็นผู้ประสาน

แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของนายพลเกษียณ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเกษียณ และอื่นใดก็ตามที่ล้วนแต่เกษียณหรือวางมือจากงานอื่นๆ แล้วทั้งสิ้น

จับประเด็นนี้แหละครับมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียให้เป็นผู้เป็นคนสักที

ประธานองคมนตรีและองคมนตรีเป็นเอกสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ที่จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็ให้ดำรงสภาพเช่นนั้นตามประเพณี ให้ถือว่าจะทรงเลือกใครหรือมีพระบรมราชโองการให้ทำงานอย่างใดเป็นเรื่องส่วนพระองค์ หรือตามวลีที่ว่าตามพระราชอัธยาศัยทั้งสิ้น

หากเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ สภาผู้แทนราษฎรก็มีอยู่แล้วทั้งสภา และโดยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เลือกตั้งก็คงไม่มีใครทำสิ่งใดที่ถือว่าฝ่าฝืนโบราณราชประเพณี ซึ่งกำกับอยู่อย่างเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องใส่มาตราใดๆ ที่เกี่ยวกับองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญ
ตัดออกไปเลยครับ

รัฐธรรมนูญต้องระบุเฉพาะสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ต้องมาพ่วงไว้ในรัฐธรรมนูญ

เราต้องช่วยกันระวังเรื่องการกล่าวอ้างอะไรผิดๆ และนำมาถกเถียงกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย ทำให้ปัญหาบ้านเมืองรุ่มร้อนไม่จบสิ้น อย่างในประเด็นที่หลายคนเผลอคิดไปว่าองคมนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน
พระมหากษัตริย์ จึงสมควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับและลอกต่อกันมาโดยไม่กล้าแตะต้อง

นี่เป็นเรื่องส่วนพระองค์และเป็นพระราชอัธยาศัย ไม่ต่างอะไรกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ปวงชนชาวไทยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเหมือนกัน

แก้ไขเสียอย่างนี้ก็เท่ากับปลดพันธะทางการเมืองไปหนึ่งข้อ ซึ่งเป็นข้อใหญ่ที่ออกจะมีความหมายและจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมาก

ที่สำคัญ จะเป็นการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหมาะสมด้วยการกระทำ ไม่ใช่สอพลอ.

-----------------------------------------------------------------------------
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146
ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน)
Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น