ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความสำคัญของ ๑๐ เมษา


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ความสำคัญของ ๑๐ เมษา

โดย กาหลิบ

ได้ข่าวว่า บ.ก.ลายจุด หรือ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ และมวลชนประชาธิปไตยจำนวนมากท่านได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ บนถนนราชดำเนิน ณ บริเวณสี่แยกคอกวัวขึ้น การรำลึกนั้นจะเป็นหกเดือน เจ็ดเดือน หรือหลายสิบปีจากนี้ไป ก็ย่อมมีความสำคัญในการจารึกเสี้ยวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและจะมีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ในภาพใหญ่

 เราไม่ควรลืมว่าเหตุการณ์คืนนั้นลึกซึ้งและเป็นบทเรียนขนาดไหนต่อขบวนประชาธิปไตย

ในทัศนะของผู้สื่อข่าว เหตุการณ์นองเลือดในคืนนั้นแสดงถึงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธหนักที่เขาใช้กันในสงครามระหว่างฝ่ายทหารที่ยกกำลังมาปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมือเปล่า กับฝ่ายลึกลับที่เรียกกันในภายหลังว่า “ชายในชุดดำ” ซึ่งก็มีอาวุธในมือ และดูเหมือนจะชำนาญในการใช้อาวุธนั้นในระดับที่ไม่แตกต่างจากฝ่ายทหารนัก ผลคือ ความเสียหายต่อฝ่ายทหารถึงขนาดสูญเสียคนระดับนายพันเอก นายพลได้รับบาดเจ็บสาหัส และทหารยศชั้นอื่นๆ ก็ล้มตายอีกมาก ฝ่ายประชาชนก็สูญเสียชีวิตไปมากมายหลายสิบคนจนเลือดนองราชดำเนินอย่างไม่ควรที่

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายทหารต้องล่าถอยในการสัปประยุทธ์กับฝ่ายประชาชนซึ่งทุกครั้งในประวัติศาสตร์เป็นเป้านิ่งให้เขาเข่นฆ่าได้ตามใจ  

คำว่า “ทหารแตงโม” หรือทหารชุดเขียวที่มีหัวใจสีแดง จึงดูเป็นรูปธรรมขึ้นมามากนับแต่คืนนั้นเป็นต้นมา มากขนาดทำให้แกนนำบนเวทีราชประสงค์ส่วนหนึ่งเกิดความคาดหวังว่าตนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเดียวกันในวันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคมเมื่อเขาล้อมปราบเข้ามาถึงตัว

แต่เรื่องนั้นขอเอาไว้วิสัชนากันในคราวอื่น

กลับมาที่ประเด็น “ทหารแตงโม” หรือใครก็ตามที่ปรากฎกายขึ้นในฐานะ “ชายในชุดดำ” ในคืนวันนั้น พูดในเชิงยุทธวิธีแล้ว นั่นคือการลุกฮือของมวลชนติดอาวุธเป็นครั้งแรกในเมืองไทยนับแต่การวางอาวุธของขบวนการคอมมิวนิสต์เป็นต้นมาทีเดียว ถ้าเราเป็นฝ่ายเจ้าของประเทศ เหตุการณ์นี้เริ่มบอกกับเขาแล้วว่าการต่อต้านอำนาจเผด็จการและการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ไม่ธรรมดา เขาก็ย่อมเพิ่มระดับความรุนแรงของอำนาจในมือ การ “กระชับพื้นที่ “ ซึ่งเป็นภาษาไพเราะของการล้อมฆ่าประชาชนจึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เป็นเหตุและผลของกันและกัน สามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาธรรมดา 

คำถามคือทำไมจึงเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วหาย?

คำตอบที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์ ย้อนกลับไปหาเรื่องแนวทางและยุทธศาสตร์ใหญ่ของฝ่ายที่ต่อสู้ต้านทานระบอบเผด็จการโบราณว่า เจตนาสุดท้ายคือการมุ่งแก้ปัญหาการเมืองของประเทศในระดับโครงสร้างจริงหรือไม่ หรือต้องการเพียงอำนาจรัฐบางส่วนเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของตนเองและคณะเท่านั้น 

หากไม่มุ่งหมายขนาดนั้น การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธในคืนวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ก็เป็นเพียงหลอกล่อ (bluff) เขาเล่น เหมือนกับเกมการเมืองอื่นๆ ที่ดำเนินมาตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง 

เป็นการกระทำที่เพียงหวังให้เขาตกใจและเปลี่ยนใจ ปล่อยมือจากปุ่มควบคุมชั่วคราว เพื่อตัวจะได้คืบคลานกลับสู่สถานะอันเคยมีเคยเป็นผ่านรอยปริแยกในผนังด้านข้างของระบอบเผด็จการโบราณเท่านั้น ไม่ได้คิดการใหญ่ไปกว่านั้นเลย

เมื่อปรากฎว่าเขาไม่ตกใจและไม่ยอมเปลี่ยนใจ มิหนำซ้ำยังทารุณโหดร้ายกระหายเลือดกว่าเก่า ตัวกลับกระโดดหนีอย่างขลาดกลัว ละทิ้งมวลชนผู้มีน้ำใจกล้าหาญแต่ไม่รู้แม้แต่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้นในเบื้องหลังไว้เพียงลำพัง 

หากการณ์เป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่าปัญหาวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ไม่ใช่การประสานงานที่บกพร่องแต่อย่างใด แต่มาจากการนำทัพที่ขาดอุดมการณ์และเจตนาอันมั่นคงหวังพิชิตชัยชนะอย่างที่มวลชนทั่วประเทศเขาคาดหวังกันอยู่ในเวลานั้นนั่นเอง

วันที่ ๑๐ เมษาสอนเราว่าจะคิดใช้เหตุผลกับสัตว์ในระบอบเผด็จการโบราณคงจะไม่ได้หรอก เขาล่าถอยไปในคืนนั้นไม่ใช่เพราะเห็นแก่ค่าความเป็นมนุษย์ แต่เพราะมันก็กลัวตายและรู้ว่าอีกฝ่ายเขาสู้ตายเหมือนกันต่างหากเล่า 

ถ้าไม่มีมุมนี้ เราก็จะเจอเหตุการณ์อย่าง ๑๙ พฤษภาคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สรุปแล้วอุดมการณ์นำไปสู่ใจ ใจนำไปสู่กองกำลัง และกองกำลังนั้นต้องเดินด้วยอุดมการณ์อีกต่อหนึ่ง ชาติจึงจะไปรอดและประชาธิปไตยจะไม่สูญเสียมากนัก.

------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น