ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คำต่อคำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร : เกร็ดชีวิต ตอนที่ 4


โดย : พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ที่มา : รายการทอล์ค อะราวด์ เดอะ เวิลด์ # 25
เรียบเรียงจากการออกอากาศ วันพุธที่ 10 ก.พ. 53 โดย Nangfa

****************************************************************************

เกร็ดชีวิต : ตอนที่ 4


เมื่อวานเล่าเรื่องเอาหุ้นเข้าตลาดและวิธีการเพิ่มทุน และเรื่องการลงทุนตึกชินฯ 1, ชินฯ 2, ชินฯ 3 มีทฤษฎีบอกว่าอย่าเก็บไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นไข่แตกทั้งตะกร้า ไม่มีอะไรเหลือ ซึ่งผมขอเล่าตัวอย่างให้ฟังอีกคนหนึ่ง

มีฝรั่งคนหนึ่งมีเงินเข้าใจว่า 500 กว่าล้านเหรียญ ก็เอาไปให้เรแมน บราเดอร์ บริหาร ได้ปันผลมา มีความรู้สึกว่ากิจการดีมาก กำไรดี ก็ส่งเงินไปให้บริหารอีก ในที่สุดอยากซื้อบ้านสวยๆ ก็ไปซื้อบ้าน อยากซื้อรถสปอตก็ไปซื้อรถสปอต ทุกอย่างผ่อนหมดเพื่อเอาเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าที่ไปผ่อนเขา พอเรแมนฯ ล้ม แกหมด ทีนี้ทั้งบ้านทั้งรถก็ต้องผ่อน แล้วจะเอารายได้ที่ไหนมาผ่อน เพราะเงินไปลงทุนเรแมนฯ หมด นั่นคือการเอาไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน ในที่สุดก็หมดตัว ซึ่งหลายคนเคยหมดกับนกแก้วชม้อยมาก็คล้ายๆ อย่างนี้

เหมือนกัน วันนี้ผมจึงระมัดระวังว่าจะเก็บทรัพย์สินอย่างไรดี

เอาไปลงทุนในทรัพย์สินที่มองเห็นชัดเจน เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ขายยากหน่อย ก็คือ ที่ดินบ้าง ตึกบ้าง
ก็มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ครอบครัวก็มีหุ้นอยู่ ซึ่งเป็นอะไรที่ซื้อง่ายขายคล่อง
อีกส่วนก็ต้องเก็บเงินสดไว้ เผื่อเราจะไปลงทุนอย่างอื่น ซื้ออย่างอื่น ไปดำรงความสุขในชีวิตบ้าง

ก็แบ่งเป็นเงินสด หุ้น ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เห็นไหมครับว่าเราต้องกระจาย อย่าเอาทุกอย่างไปไว้ที่เดียวกัน พอถึงเวลามันมีปัญหา คนเราบางทีทฤษฎีก็แม่น แต่ปฏิบัติไปๆ มาๆ ก็พลาดเหมือนกัน เหมือนครอบครัวผม ความที่รักชาติมาก ขายกิจการเสร็จได้เงินสดเข้ามาเป็นเงินต่างประเทศ แทนที่จะเก็บไว้เมืองนอกบ้างไว้เมื่องไทยบ้าง แต่ความรักชาติเอาเก็บเข้ามาเมืองไทยหมดทุกบาททุกสตางค์ ก็เลยเป็นประเด็นกล่าวหาเรื่องภาษีบ้าง แล้วในที่สุดก็ถูกอายัดอยู่ในประเทศไทย ถ้าเป็นคนที่ไม่ต้องรักชาติมาก เก็บไว้เมืองนอกบ้าง เอาเข้ามาบ้างก็ไม่เดือดร้อนเหมือนที่โดนวันนี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ทำพลาดก็ต้องยอมรับว่าพลาด ก็เล่าให้ฟัง

หลังจากที่ผมทำธุรกิจอยู่ตัวแล้ว ตอนปี 35 มีตังค์ร่วมหมื่นล้านแล้ว ครอบครัวมีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีตึก มีที่ดิน บังเอิญช่วงนั้นผมกับ “คุณชวน” ก็พอคุ้นเคยกัน ก่อนเลือกตั้งปี 35 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็มีการเลือกตั้ง เมื่อคุณอานันท์ฯ มาเป็นนายกฯ รอบ 2 หลังจากนั้นก็เลือกตั้ง ช่วงหาเสียงเลือกตั้งผมก็ได้คุยกับนายกฯ ชวน, คุณนิพนธ์, คุยกับคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ เพราะตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้าการเมืองพรรคไหนเลย ก็มาชวนผมว่ามาเข้าพรรคประชาธิปัตย์ดีกว่า ผมก็บอกยังไม่พร้อม ตอนนั้นยังไม่ค่อยอยากเข้า แต่ก็คันๆ อยู่เหมือนกัน ก็ยังไม่ได้เข้าแต่ก็ไปช่วยทำโพลล์ ให้พรรคประชาธิปัตย์วันนั้น คุณชวนก็ได้เป็นนายกฯ

ผมไปมาหาสู่กับพรรคประชาธิปัตย์และคุณชวนอยู่พักใหญ่ๆ จนถึงปี 37 ช่วงนั้น พล.อ.ชวลิต ออกไปอยู่พรรคความหวังใหม่ซึ่งก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลของคุณชวนอยู่ ก็มาชวนผมว่าเล่นการเมืองไหม มาอยู่ความหวังใหม่ไหม ผมก็ไปคุยกับท่าน ท่านให้ผมไปเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจ ยังไม่กล้าตัดสินใจ ยังไม่กล้าขอคุณหญิงฯ ในตอนนั้น ช่วงเดียวกันนั้นมีข่าวตลอด คุณจำลองก็อยู่ระหว่างการจะปรับครม. ของคุณจำลอง ซึ่งเข้าใจว่ามีโควต้าของพรรคพลังธรรมอยู่ คุณจะลองก็หาตัวคนเปลี่ยนหมดเรียบร้อย ยกเว้นตำแหน่งเดียว คือกระทรวงการต่างประเทศ ที่คุณประสงค์ สุ่นศิริ เป็นรัฐมนตรีฯ อยู่ตอนนั้น ยังหาใครเปลี่ยนไม่ได้ กติกาของคุณจำลองที่คิดขึ้นมาเองว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีหมดทุกคน ไม่มีคนเก่าเหลืออยู่เลย ยกเว้นกระทรวงการต่างประเทศเพราะยังไม่มีคนเปลี่ยน

อยู่มาวันหนึ่ง คุณจำลอง ใส่ชุดม่อฮ่อม รองเท้ายาง เดินมาหาผมที่ตึกราชวัตร ชวนว่าให้ไปเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศให้หน่อยได้ไหม? ผมก็เป็นคนชอบเรื่องการต่างประเทศมาก และคิดว่าเป็นกระทรวงที่ไม่มีผลประโยชน์ เราเป็นนักธุรกิจ ถ้าเริ่มต้นที่กระทรวงที่ไม่มีผลประโยชน์จะดูดีกว่า และเราก็ชอบด้านการต่างประเทศ ก็เลยคันเป็นพิเศษ รีบไปปรึกษาคุณหญิง คุณหญิงใจก็ไม่อยากให้เป็น เพราะไม่ชอบ ให้เล่นการเมือง แต่ผมก็คิดว่าทำงานมาสำเร็จหมดแล้ว ชีวิตครอบครัวก็โอเคแล้ว ธุรกิจก็เข้มแข็งแล้ว อยากเป็นนักการเมือง พอดีมีข้อเสนอมา คุณหญิงก็ไม่รู้จะฝืนใจยังไงก็เลยยอม

ผมเลยตัดสินใจมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ปรากฏคุณจำลองก็ดีใจ ประกาศปรับครม. ทุกตำแหน่งของโควต้าพลังธรรม ดร.วิชิตฯ ก็ไปเป็นรัฐมนตรีคมนาคมก็หน้าใหม่ คุณสุดารัตน์เป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคมก็หน้าใหม่ ผมไม่รู้ว่า คุณประสงค์ สุ่นศิริ โกรธแค้นมากที่เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้วไม่มีใครมาเปลี่ยน จู่ๆ ผมมาเปลี่ยน ซึ่งผมไม่รู้เรื่องจริงๆ เพราะเป็นเรื่องภายในของพลังธรรม ในเมื่อคุณจำลอง-เจ้าของพรรคเขาจะเปลี่ยนและมาชวนผม ผมก็รับไปโดยที่ไม่ได้คิดว่าไปเตะคุณประสงค์ ทำให้โกรธแค้นมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ก่อนเป็นนั้น คุณชวนเคยชวนผมเข้าไปร่วมในพรรคประชาธิปัตย์แล้วผมปฏิเสธ แต่พอปี 37 ก่อนที่คุณชวนจะเดินทางไปอเมริกา แคนาดา ผมไปขอพบคุณชวน ซึ่งปกติผมขอพบคุณชวนจะให้พบทันที แต่วันนั้นคุณชวนบอกว่าจะต้องเดินทาง ไม่มีเวลาเลย กลับมาค่อยพบกัน ผมก็พูดไม่ออก พยายามพูดทางโทรศัพท์ว่าโดยมารยาทผมต้องไปบอกคุณชวนก่อน ระหว่างที่คุณชวนไม่อยู่คุณจำลองก็มาถามแล้วถามอีกจนผมตอบรับ พอคุณชวนกลับมาถึงก็ไม่ค่อยพอใจ เชิญผมไปพบที่บ้านพิษณุโลกกับคุณวิศณุ (ตอนนั้นเป็นเลขาฯ ครม.) ในที่สุดคุณจำลองก็มีการพูดว่าจะให้ผมเป็นหรือไม่ให้เป็น ผมก็บอกว่าถ้าท่านไม่อยากให้ผมเป็นก็บอกตรงๆ มาเลย ผมจะได้ไม่เข้า แต่ท่านก็ไม่กล้าพูดอะไร ผมก็เข้าไป คุณจำลองก็ปรับครม. คุณชวนเลยต้องเซ็นเข้ากราบบังคมทูลฯ

ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ 105 วัน ผมก็ขยันทำงาน ไปต่างประเทศไปโน่นไปนี่ เช่าเครื่องบินบ้าง อะไรบ้าง สารพัดอย่างเพื่อให้งานมันเดินได้รวดเร็วทันใจ หลังจากนั้นไม่นานก็มีการบีบจนผมต้องลาออก เพราะว่าเข้าผิดพรรค พอผมลาออกช่วงนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคพลังธรรมก็ยังอยู่ต่อไป หมอกระแสฯ มาแทนผมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ

ผมออกมาอยู่เฉยๆ พักหนึ่ง ตอนผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศผมเป็นสมาชิกพรรคพลังธรรม เพราะคุณจำลองบอกว่าเงื่อนไขการเป็นรัฐมนตรีคือเป็นสมาชิกพรรค ผมก็เป็น ตอนช่วงนั้นผมก็ต้องประกาศบัญชีทรัพย์สินเพราะเป็นเงื่อนไขของพรรคพลังธรรม โดยที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนั้นยังไม่บังคับว่าทุกคนต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่คุณจำลองบอกว่าคนเป็นรัฐมนตรีโควต้าพรรคพลังธรรมต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ผมก็เลยต้องเปิดเผยด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ทำความอึดอัดให้กับครอบครัวพอสมควร เพราะเราเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างจะ Low Profile การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินก็ต้องโชว์ว่ามีเงินสดเท่าไหร่ มีที่ดินเท่าไหร่ มีหุ้นเท่าไหร่ ตอนนั้นราคาหุ้นก็ใช้ได้ ราคาหุ้น+เงินสด+ที่ดินขณะนั้นก็แสดงว่ามีทรัพย์สินอยู่ประมาณ 60,000 กว่าล้าน (ปี 37) และก่อนหน้านั้น ทางฟล็อบแม็คกาซีนก็ลงไปว่าเมื่อเดือนก.ค. ผมมีมูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวอยู่ประมาณ 2.2 มิลเลียน US ก็ประมาณ 50,000 กว่าล้านบาท (ดอลล่าร์ละ 25+) แต่ตอนนับราคาหุ้นช่วงเดือน พ.ย. ก็พบว่ามีประมาณ 64,000 ล้านบาท

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ครอบครัวจะมีเงิน 70,000 กว่าล้านในปัจจุบัน ราคาหุ้นก็ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามเศรษฐกิจ แต่ระหว่างทางนั้นหุ้นจะขึ้นจะลงเราก็ได้เงินปันผล และเงินที่มีอยู่ฝากแบงค์ก็ได้ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นก็เป็นทรัพย์สินที่ได้หากันมาจนมีตังค์แล้วจึงคิดว่าควรจะทำงานให้กับบ้านเมือง สังคม และประชาชนบ้าง จึงตัดสินใจไปทำงาน แต่ก็เกิดความหมั่นไส้ไม่พอใจ ขัดแย้งกันมาตรงนั้นตรงนี้ ตามประสาแบบไทยๆ กันมาพอสมควร

เดือนก.พ. ปี 38 ผมยังจำได้ว่าหลังวันสราญรมย์ (ประมาณวันที่ 10 ก.พ.) ถ้าครั้งหนึ่งเราเป็นสมาชิกสราญรมย์ถือว่าเราเป็นสมาชิกตลอดไป ก็คือคนที่เป็นทูตหรือรัฐมนตรีของกระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ถือเป็นสมาชิกสราญรมย์ แต่เดี๋ยวนี้ธรรมเนียมตรงนี้หายไปหมดแล้ว ทำลายโดยคนสราญรมย์เอง ก็น่าเสียดาย

พอปี 38 ต้นปี เดือนก.พ. ผมลาออกจากรัฐมนตรีต่างประเทศก็ไม่ได้ทำอะไร จนถึงเดือนพ.ค. ก็มีเรื่อง สปก.4-01 ทำให้คุณจำลองต้องถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลคุณชวน คุณชวนจึงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คุณจำลองมาขอร้องผมว่าท่านไม่เอาแล้ว ขอให้ผมเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทน ผมคิดอยู่พักหนึ่งจึงตัดสินใจ เพราะบรรดาคนที่เป็นรัฐมนตรีด้วยกันก็มาขอร้องว่าอย่าทิ้งพรรคเลย ช่วยกันหน่อย ซึ่งวันนั้นพรรคพลังธรรมก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พรรคประชากรไทยกำลังขึ้นมา ผมถูกขอร้องให้เป็นหัวหน้าพรรค

ผมเป็นหัวหน้าพรรคก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง 6 วัน เตรียมตัวอะไรก็ไม่ทัน ส่งคนก็ไม่ทัน และกฎหมายฉบับนั้นบังคับว่าพรรคการเมืองหนึ่งต้องส่งคนอย่างน้อย 120 คน เราก็ส่งตัวจริงบ้างปลอมบ้าง เพราะมันหาไม่ทัน ผมก็วางแคมเปญหาเสียงโดยใช้วิธีการตลาดเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก เป็นภาพที่ผมชี้มือ ถ่าย 150 กว่าภาพ คัดมาได้ภาพเดียว ปรากฏว่าเป็นภาพที่ขายดีโด่งดังในกรุงเทพฯ ในที่สุดเราก็ชนะเป็นที่ 1 ในกรุงเทพฯ ชนะประชากรไทยซึ่งคิดว่าจะเป็นที่ 1 ได้ส.ส.มา 16 คนในกรุงเทพฯ ได้ต่างจังหวัดมา 5-6 คน ก็ได้ร่วมรัฐบาล คุณบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 38

ช่วงนั้นถ้าท่านจำได้มีคนไปยิงตัวเองในตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีหุ้นเคยขึ้นไปถึง 1400 แล้วก็ตกลงมา ตอนนั้นหุ้นกลุ่มบริษัทของครอบครัวผมก็มีมูลค่าสูง เพราะหุ้นขึ้นสูง ตอนนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองเรื่องเศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศขาดดุลถึง 8.1% ของ GDP คนมองว่าเศรษฐกิจไม่ไหวแล้ว ค่าเงินแข็งเกินไปอาจจะต้องลดค่าเงิน

ตอนนั้นผมเป็นรองนายกฯ คุณบรรหารให้คุมด้านจราจร มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณสมัคร คุณสมัครคุมกรมทางหลวง คุณบรรหารบอกว่าภายในขอบวงแหวนให้เป็นหน้าที่ของผมเรื่องจราจร ภายในวงแหวนก็ขึ้นอยู่กับกรมทางหลวงก็เป็นหน้าที่ของคุณสมัคร เราก็ช่วยกันทำงานแก้ปัญหาจราจร และถ้าท่านจำไม่ผิดเรื่องรถไฟใต้ดิน รอมา 17 ปีไม่มีใครกล้าตัดสินใจ ผมเป็นคนตัดสินใจเมื่อมีนาคมปี 39 หลังจากที่ผมเป็นรองนายกฯ คุมเรื่องจราจรมาได้ 6 เดือน จึงตัดสินใจเรียกให้ประกวดราคาทำรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งวิ่งอยู่ในปัจจุบัน หัวลำโพง-ห้วยขวาง แต่พอถึงการตัดสินใจว่าใครได้ไม่ได้นั้น ผมลาออกจากการร่วมรัฐบาลก่อน คนที่ตัดสินใจตอนนั้นก็คือท่านสมัครกับคุณชัยภัค ศิริวัฒน์ ซึ่งเป็นคนมาดูแลแทน

ในระหว่างที่ผมร่วมรัฐบาลคุณบรรหาร เข้าใจว่าคุณสุรเกียรติจะเป็นรัฐมนตรีคลัง เราก็มีการห่วงใยกันในเรื่องเศรษฐกิจว่าเงินบาทจะไปไม่ไหว เพราะการที่เราขาดดุลบัญชีเงินเดินสะพัดถึง 8.1% ของ GDP อันตราย และวันนั้นหม่อมเต่าเป็นปลัดกระทรวงการคลัง มีการประชุมเรื่องเศรษฐกิจ ผมก็ยกมือถามหม่อมเต่า ว่าวันนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดนี้ มีคนพูดกันว่าค่าเงินบาทอยู่ไม่ได้ มันเป็นว่าเราจะลดค่าเงินวันไหนเท่านั้นเอง ต้องลดแล้วล่ะ มีวิธีอื่นที่จะแก้ไขไหม

หม่อมเต่าบอกว่าเราต้องตัดรายจ่ายของภาครัฐลง เพราะไม่เช่นนั้นการขาดดุลมันจะขาดดุลหลายอย่าง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลการค้า และขาดดุลงบประมาณ ซึ่งอันตราย แต่ฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วย ผมยังชมหม่อมเต่าว่าขอบคุณมากที่เป็นข้าราชการที่กล้าพูดต่อครม. ว่าให้ตัดงบประมาณ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามทฤษฎี ผมก็ฝากทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลว่าควรจะตระหนักว่าควรอย่างยิ่งที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ถ้าไม่เช่นนั้นค่าเงินบาทจะอยู่ไม่ได้ ผมเตือนตั้งแต่ต้นปี 39 สุดท้ายปลายปี 39 พล.อ.ชวลิตฯ มาเป็นนายกฯ ตอนนั้นผมไม่ได้ร่วมรัฐบาล ผมมาร่วมเมื่อค่าเงินบาทลดเรียบร้อยแล้ว เงินบาทลดวันที่ 1 ก.ค. 40 ผมเข้าร่วมรัฐบาลเมื่อ ส.ค. 40

ตอนระหว่างที่ผมออกจากคุณบรรหารไปแล้วเลือกตั้งใหม่แล้ว ผมไม่ได้เล่นการเมืองแล้วเพราะลาออกจากพลังธรรม หลังจากที่คุณบรรหารยุบสภาผมก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม เพราะแนวทางไปด้วยกันไม่ได้ คุณชัยวัฒน์ฯ มาเป็นหัวหน้าพรรคแทน หลังจากนั้นคุณชัยวัฒน์ฯ ก็มาโจมตีผมทั้งๆ ที่ผมเป็นคนเลือกแกไปเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม เพราะผมเห็นแกจบวิศวะ เสร็จแล้วคุณชัยวัฒน์ก็ไปขัดแย้งกับ TPI ไม่รู้เพราะอะไร ทำให้ TPI มาขัดแย้งกับผมต่อพอผมเป็นหัวหน้าพรรค นี่คือความขัดแย้งที่สั่งสมกันมาเรื่อยจากการทำงาน

ในที่สุดช่วงที่ผมลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรมแล้ว ยังไม่ได้เข้าไปเป็นรองนายกให้พล.อ.ชวลิตฯ ช่วงนั้นค่าเงินบาทยังไม่ลด ก็มีการประชุมกัน มีคุณชาตรี โสภณพนิช คุณชุมพล ณ ลำเลียง จากปูนซิเมนต์ไทย มีคุณสงวน จากศรีไทยปศุสัตว์ และคุณธนินท์ เจียรวนนท์, คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี, คุณอำนวย วีรวรรณ ก็เชิญผมไปร่วมด้วย ทานข้าวแถวภัตตาคารใกล้ๆ แบงค์กรุงเทพฯ สีลม ถามความเห็นกันว่าค่าเงินบาทควรจะลดหรือยัง คุณอำนวยตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีคลังให้พล.อ.ชวลิตอยู่ ผมก็บอกว่าถ้าเราไม่ลดก็จะมีการโจมตีค่าเงินบาท น่าเป็นห่วง ถ้าลดตอนนี้จะลดน้อย ไม่ลดฮวบฮาบ เพราะเราจัดการเอง แต่ถ้าถูกบังคับให้ลดต้องลดเยอะ จะเสียหายกันเยอะ

หลายคนในนั้นก็บอกว่ารอธันวาค่อยลดก็ได้ ยังไม่ต้องลดตอนนี้หรอก สุดท้ายก็เป็นการคุยหารือกันเฉยๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เศรษฐกิจก็ดำเนินต่อไป จนถึงเดือนก.พ. 40 เข้าใจว่าวันวาเลนไทม์ เป็นวันที่จอร์จ โซรอสเริ่มโจมตีค่าเงินบาท ปรากฏว่าทางฝ่ายเราไปคิดว่ามีเงินสำรองอยู่เยอะ โจมตีมาเราก็สู้ โดยเอาเงินสำรองไปสู้ สู้จนสู้ไม่ไหว อย่าลืมว่ากองทุนที่มันเก็งกำไรเขามีเงินสำรองเยอะกว่าเรา เพราะฉะนั้นก็ไปสู้กัน เพราะความไม่รู้และคิดว่าสู้ได้ แต่ไม่คิดว่าปัจจัยพื้นฐานของเรามีปัญหา สู้กันจนแพ้ เราพัง ที่เรียกว่าต้มยำกุ้งดีซีส ก็คือการที่เราถูกโจมตีจนหมด

ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าระบบ BIBF ทำให้เงินไหลเข้าประเทศมากจากเงินกู้ ตอนนั้นคนไทยรวยจากเงินกู้เป็นส่วนใหญ่ เงินอยู่ในภาคเก็งกำไรเป็นส่วนใหญ่ เงินในภาคการผลิตมีแต่ไม่มากจึงไม่แข็งแรง การโจมตีจึงง่าย และเงินเป็นเงินกู้ระยะสั้น เจ้าหนี้ก็เลยเอาเงินออกนอกประเทศได้ง่าย ถึงเวลาเขาขอเงินคืนต้องคืนเขาไปจนเงินหมด เลยต้องเข้า IMF นี่คือที่มาที่บังเอิญผมได้อยู่ในเหตุการณ์รัฐบาลคุณบรรหาร ได้เห็นอาการไม่ค่อยดีจากตัวเลข ตัวเลขพวกนี้จะสอนเราหมดว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร เรื่องพวกนี้ต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจและทันเหตุการณ์

ช่วงที่ผมออกจากการเมืองแล้วยังไม่ได้ทำอะไร คราวหน้าจะพูดต่อว่าเป็นยังไงมายังไงจึงเข้าไปเป็นรองนายกฯ สมัยพล.อ.ชวลิตฯ และทำอะไรได้มากแค่ไหน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเป๋ ทุกคนต้องปรับตัวหมด ผมจะเล่าว่าจะปรับตัวอย่างไร และวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 40 ทำไมกลุ่มชินฯ จึงเข้มแข็งขึ้นมาได้เร็ว เราปรับโครงสร้างกันอย่างไร คราวหน้าจะเล่าเทคนิคการปรับโครงสร้างให้ฟัง เผื่อท่านจะนำไปปรับในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีช่วงนี้ เพื่อที่จะยืนใหม่ให้แข็งยังไง วันนี้ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ.
----------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น