ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ใครเป็นใครในคณะรัฐประหาร โดย จักรภพ เพ็ญแข

โดย : จักรภพ เพ็ญแข
ที่มา : คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 36
---------------------------------------------------------------------------------
ขณะนี้มหาอำมาตย์กำลังเข้าตาจน แก้ปมที่ตัวเองผูกไว้ไม่ได้ ข่าวการรัฐประหารจึงหวนกลับมาเป็นแฟชั่นการเมืองอีกครั้งเพื่อจะล้มกระดานแล้วเริ่มต้นกันใหม่ เผด็จการรูปแบบไหนในโลกก็คิดเข้าข้างตัวเองอย่างนี้ทั้งนั้น คิดว่าล้างไพ่มันเสียทั้งหมด ปัญหาทั้งปวงก็จะหมดไป ตัวเองยังเรืองอำนาจและเป็นผู้อำนวยการสร้างในทางการเมืองต่อไปได้ ไม่ยอมรับความจริงว่าเผด็จการส่วนใหญ่มักจะวินาศฉิบหายไปพร้อมกับกระดานที่ตัวล้มด้วย อย่างน้อยบารมีอันมากล้นจะสึกกร่อนลงอย่างรวดเร็วน่าใจหาย

ภาพลวงตาเช่นนี้ ทำให้อำมาตย์เขาไม่เคยเลิกคิดที่จะยึดอำนาจในบ้านเมืองด้วยกำลังอาวุธแม้เพียงเสี้ยววินาทีเดียว

มีเหตุผลเพียง ๔ ประการที่ทำให้คนพวกนี้ไม่กล้ากระทำการรัฐประหารหรือยังรีรออยู่

๑. มีเครื่องมือยึดอำนาจอย่างอื่นที่แนบเนียนและโฉ่งฉ่างน้อยกว่า เช่น อำนาจตุลาการ
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กลุ่มมวลชนที่ระดมมาด้วยอำนาจรัฐ บวกการบิดเบือนข่าวสารจนสาธารณชนเกิดความเข้าใจผิด เป็นต้น ก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ไปพลางก่อน

๒. ฝ่ายอำมาตย์เกิดความแตกแยกในผลประโยชน์และในทัศนะจนไม่อาจรวมสังขารให้ติดเพื่อมายึดอำนาจจากฝ่ายประชาธิปไตยได้

๓. ฝ่ายประชาธิปไตยทำท่าจะแตกแยกกันเอง จนพลังฝ่ายประชาชนลดลงถึงระดับที่ไม่อาจต่อสู้ทัดทานเขาได้ เขาก็จะเงียบคอยดูก่อน

๔. แรงกดดันจากประชาคมโลก โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจผู้มีอิทธิพลโดยตรงต่อมหาอำมาตย์ เครือข่าย และระบอบอำมาตย์โดยรวม

นอกเหนือจากนี้แล้วเขาอยากทำรัฐประหารตลอดเวลาเพื่อนำเมืองไทยกลับสู่เผด็จการเต็มรูปกันตลอดเวลาล่ะครับ

รูปแบบการปกครองอย่างเกาหลีเหนือและเมียนมาร์นั้นชอบใจนัก ตรงกับจริตในใจและระบอบที่ตนสร้างไว้ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทุกประการ ตั้งแต่การใช้กำลังกองทัพ การล้างสมองทางวัฒนธรรมอย่างหนักหน่วง การทำลายล้างองค์กรทางสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อให้ตัวเป็นใหญ่และเป็นศูนย์กลางของรัฐ การยกตัวเองให้เท่ากับชาติ และท้ายที่สุดคือถือคติหรือลัทธิที่เรียกกันในบัดนี้ว่า บูชาบุคคล

ระบอบเผด็จการไม่ว่าจะนำโดยทหารหรือพลเรือน เจ้าหรือไพร่ก็ตามที หากเป็นเผด็จการเต็มสูบแล้วก็มีความหื่นกระหายจะก่อการรัฐประหารในเวลาที่ตนเห็นว่าสมควรหรือหมดน้ำอดน้ำทนแล้วทั้งนั้น

เพราะความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยกับเผด็จการคือความอดทนต่อเพื่อนมนุษย์ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีขันติธรรมนี้และต้องมีมากพอ เพราะต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งเพียรพยายามที่จะหา “มติ” ให้ได้ในทุกเรื่อง แต่เผด็จการเขาทนไม่ได้ในความเป็นมนุษย์อย่างนี้ และทารุณเฆี่ยนตีจนทุกคนต้องยอมเขา

นั่นคือความคิดที่นำมาสู่การรัฐประหารและสร้างระบอบเผด็จการขึ้น คราวนี้เอาข้อมูลสักเล็กน้อยใส่ลงไปในความคิดเพื่อให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อย ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้หาตัวเจอว่าเชื้อรัฐประหารมันแพร่จากไหนไปสู่ใคร

จะต่อต้านรัฐประหารทั้งที มันก็ต้องรู้เลาๆ ว่าใครเป็นใครในคณะรัฐประหาร

ทั้งหมดนี้ก็มิใช่การกล่าวหาต่อบุคคลใด เพียงแต่โดยประวัติศาสตร์แล้ว รัฐประหารเมืองไทยเกิดจากบุคคลในตำแหน่งเหล่านี้ทั้งนั้น ผมจึงเห็นความจำเป็นจะต้องบอกกล่าวกับพวกเราในฝ่ายประชาธิปไตยไว้ก่อนชั้นหนึ่ง

ในกองทัพบกนั้น หน่วยงานที่สำคัญอย่างยิ่งในการรัฐประหารคือกองทัพภาคที่ ๑ หรือ ทภ.๑ ซึ่งเป็นกองทัพที่อยู่ตรงกลางประเทศ มีหน่วยกำลังรบขึ้นตรง ๓ กองพล คือ พล.๑ รอ. พล.ร.๒ รอ. และ พล.ร.๙

แยกลงไปใน พล.ร.๒ รอ. (ปราจีนบุรี) มีหน่วยขึ้นตรงอีก ๓ คือ ร.๒ รอ. (ปราจีนฯ) ร.๑๒ รอ. (สระแก้ว) ร.๒๑ รอ. (ชลบุรี)

พล.ร.๒ รอ./ร.๒ รอ.และ ร.๑๒ รอ. คือ ''บูรพาพยัคฆ์'' หรือเสือตะวันออก

ไข่แดงแถวนี้คือ ร.๒๑ รอ. ที่รู้กันว่าเป็น ''ทหารเสือราชินี'' สายตรงสู่อำนาจสูงส่งของบ้านเมือง แต่อำนาจส่วนตัวแต่ละคนไม่เท่ากัน สุดแต่ว่าใครจะพาตัวใกล้ชิดสนิทแนบขนาดไหน ไม่ได้หมายความว่าใหญ่โตเหนือมนุษย์กันไปหมดทั้ง ร.๒๑ รอ.

ผบ.พล.ร.๒ รอ. ที่มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหาร ส่วนใหญ่โตมาจาก ร.๒๑ รอ. ก็ด้วยแรงหนุนจาก “ลมบน”

ใส่ชื่อและหน้าคนลงไปเสียหน่อย ย้อนไปที่ตัวละครคราวรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จะพบคนอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลอำมาตย์ อันเป็นบำเหน็จรางวัลสำหรับการโค่นรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๔๙

ความจริงพลเอกประวิตรฯ เริ่มต้นที่ ร.๒๑ รอ.แต่ย้ายไปร.๑๒ รอ.ตั้งแต่เป็นพันตรี เพราะขัดแย้งกับ พันโทณรงค์เดช นันทโพธิเดช อย่างรุนแรง กรณีพิพาทกับ “ยอดดอยในดวงใจ” ดับรัศมีพลเอกประวิตรฯ ไปนาน จนมาก้าวหน้าได้ในภายหลังเพราะแรงหนุนจากคนที่ต้องเป็นหนี้บุญคุณกันตลอดไป ได้แก่ พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร และ นายเสนาะ เทียนทอง บวกแรงหนุนที่เพื่อนเก่าโรงเรียนเซ็นคาเบรียล (สายธุรกิจ) ส่งมาให้

ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เติบโตจาก ร.๒๑ รอ.แต่ไม่เคยใกล้ชิดศูนย์อำนาจ แถมเจ็บช้ำน้ำใจเพราะรุ่นน้องอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก ทำการ “แซะ” ถึง ๒ ครั้งในช่วงเป็น ผบ.กรม และ ผบ.พล. เกือบจะคว่ำอยู่เหมือนกัน โชคดีได้นายกทักษิณฯ และพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร เข้าช่วยจนได้เป็น ผบ.พล.๑ รอ. จากนั้นก็ถูกพลเอกประยุทธ์ฯ ตามมาดันแล้วดันอีกจนถึงปัจจุบัน

คบกันอยู่ได้ทั้งที่ฟาดฟันกันมาอย่างนี้เพราะถือว่าสมประโยชน์แบบพิสดาร

แม่ทัพภาคที่ ๑ พลโทคณิต สาพิทักษ์ ก้าวจาก พล.ร.๙ ย้ายมา ร.๑๒ รอ. พบพลเอกประวิตรฯ เมื่อครองยศพันตรี และใกล้ชิดกันมาแต่บัดนั้น เพื่อนฝูงคุยลับหลังว่าเป็นคนพันธุ์เอาใจนายได้สุดยอด ส่วนตัวเองยึดถือลัทธิสุขนิยม

''บูรพาพยัคฆ์'' ทั้งสามพยายามจะบินให้ถึง “ลมบน” โดยอาศัยพลเอกประยุทธ์ฯ สุดท้ายตระหนักว่าตัวเองเป็นได้เพียงข้าวนอกนา

ตัวพลเอกประยุทธ์ฯ เติบโตจาก ร.๒๑ รอ. จนกลายเป็น “เด็กสร้าง” ตอนครองยศพันเอกและกลายเป็นทหารเสือสายตรง เพื่อนฝูงพี่น้องรู้ว่าขาดศักยภาพ แต่ยอมรับกันว่าเป็นนักตอบสนองชนิดพร้อมทุกเมื่อ เจ้าอารมณ์ หุนหันพลันแล่น เก่งคนเดียว ไม่ถนอมน้ำใจใคร แต่ตาไกลพอที่จะคว้าเพื่อนร่วมรุ่นโดยสารมาด้วยหลายราย เช่น พลโทดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (หัวขบวนสาย ร.๑๑ รอ.) พลตรีวิลาส อรุณศรี (อดีต ผบ.พล.ม.๒) พลเรือเอกพะจุณน์ ตามประทีป (ณ สี่เสาเทเวศร์) เป็นต้น

สนับสนุนพลโทดาว์พงษ์ฯ เป็นแม่ทัพภาคที่ ๑ แต่ “บูรพาพยัคฆ์” กลับเลือกพลโทคณิตฯ อาการแยกวงจึงบังเกิดอยู่ภายใน

ฝ่ายประชาธิปไตยควรรู้ด้วยว่า ผบ.กรม ของพล.ร.๙ ทุกกรมมาจาก ร.๒๑ รอ. ทั้งนั้น

ขอเชิญดวงตาทั้ง ๖๔ ล้านคู่มองคนเหล่านี้ไว้ให้ดีเถิดครับ.


---------------------------------------------------------------------------------
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146 ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน) Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น