ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ข้อเสนอจาก คอป. โดย กาหลิบ


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ข้อเสนอจาก คอป.

โดย กาหลิบ


สำหรับท่านที่ยังเคลือบแคลงใจว่า เขาจะปรองดองกันตรงไหน อะไรจะเป็นเนื้อหาสาระของการปรองดอง ขอแนะนำให้เริ่มต้นที่ข้อเสนอแนะ ๗ ข้อของ คอป. หรือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ที่มีศาสตราจารย์คณิต ณ นครเป็นประธาน

โดยเฉพาะใครที่ไม่เคยเชื่อว่าฆ่าฟันกันแล้วจะมาปรองดองกันได้ ยิ่งต้องอ่านข้อเสนอเหล่านี้ ถึงเวลาจะได้คัดค้านกันได้ตรงประเด็น โดยไม่ติดค้างอยู่แค่ในขั้นความรู้สึก

ประธาน คอป.ส่งหนังสือราชการยาวหลายหน้ามาถึง คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ และขอให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติตามนั้น

คอป. ซึ่งตั้งในรัฐบาลที่แล้ว ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะบังคับให้รัฐบาลเห็นด้วยกับตนได้ แต่ในทางการเมืองแล้วสายตาของคนในประเทศก็จับจ้องมองรัฐบาลอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับข้อเสนอทั้ง ๗ ข้อนี้

สายตาที่ว่านี้ มีทั้งเห็นด้วยกับการปรองดอง เพื่อให้ความวุ่นวายหลายปีนี้สิ้นสุดลงเสียที และมีทั้งผู้ที่ไม่ศรัทธาในการปรองดองเพราะเห็นว่าเป็นกับดักล่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปเสียท่าอีก

สาระสำคัญของข้อเสนอทั้ง ๗ ข้อ พอจะสรุปสั้นๆ ได้ว่า

๑. รัฐบาลต้องยึดหลักนิติธรรม (Rule of Law)

๒. ทุกฝ่ายต้องไม่ทำสิ่งที่กระเทือนบรรยากาศของการปรองดอง

๓. การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาก่อให้เกิดปัญหาลุกลาม จึงควรกระทำดังนี้:

๓.๑ ตรวจสอบคดีการเมืองทั้งหมดเสียใหม่ว่าตั้งข้อหารุนแรงเกินไปหรือไม่

๓.๒ เร่งให้เกิดการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีการเมือง

๓.๓ แยกผู้ต้องขังในคดีการเมืองออกจากอาชญากรประเภทอื่นๆ

๓.๔ อัยการควรชะลอคดีมิให้ขึ้นสู่ศาล

๔. เน้นการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยกระทำดังนี้:

๔.๑ การชดเชยและเยียวยาต้องกระทำด้วยมาตรการที่กำหนดขึ้นพิเศษ

๔.๒ ต้องชดเชยและเยียวยาอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง

๔.๓ เยียวยาอย่างสอดคล้องต่อสภาพปัญหาจริงที่มีลักษณะกว้างขวาง

๔.๔ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาทำหน้าที่นี้

๕. นอกจากเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมด้วย โดยกระทำดังนี้:

๕.๑ เร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของผู้ชุมนุมและผู้เกี่ยวข้อง

๕.๒ จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่คดีถึงที่สุดในทันทีโดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

๕.๓ หากคดีถึงที่สุดหรือมิให้ประกันตัว ควรช่วยเหลือไปที่ครอบครัวโดยมนุษยธรรม

๖. การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่ากังวล จึงควรกระทำดังนี้:

๖.๑ ถึงเป้าหมายจะเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ควรนำมาใช้จนเกินสมควร

๖.๒ ยุติการกล่าวอ้างสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง

๖.๓ การดำเนินคดีหมิ่นฯ ของหน่วยงานต่างๆ ควรมีเอกภาพ

๖.๔ อัยการในคดีหมิ่นฯ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ

๖.๕ ควรเร่งปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้

๖.๖ รัฐบาลต้องระวังการนำประเด็นกฎหมายหมิ่นฯ มาใช้ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง

๗. ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ใหญ่โตมากจนหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่อาจแก้ไขได้โดยลำพังอีกต่อไปแล้ว

สรุปมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้สาธุชนทั้งหลายเริ่มใคร่ครวญกันว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะในเวลาอีกไม่นานนักนี้ ข้อเสนอทั้ง ๗ ข้อจะเป็นหัวใจของการถกเถียงทางการเมืองเพื่อหาทางออกในปัจจุบัน

ถ้าเลี้ยวผิด ณ จุดนี้ ความรุนแรงทางการเมืองจะมากวักมือเรียกอยู่หยอยๆ.

--------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews ของ คุณจักรภพ เพ็ญแข พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ปรองดองแบบมวลชน โดย กาหลิบ



คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ปรองดองแบบมวลชน

โดย กาหลิบ


ในขณะที่ผู้เจรจา ปรองดองทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งงานของเขาอยู่นั้น จำเป็นที่พวกเราผู้ร่วมต่อสู้พลีชีวิต เลือดเนื้อ และอนาคตของตนเองเพื่อประชาธิปไตยกันมา ต้องถามตัวเองว่า การ ปรองดองเกิดประโยชน์อย่างไรต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของเมืองไทย หรือมีโทษอย่างไรบ้าง เราต้องถามให้ชัดเจนเสียก่อนที่ใครบางคนจะหันกลับมาถามประชาชนผู้รวมพลังขึ้นเป็นมวลชนว่า ต้องการจะร่วมในกระบวนการ ปรองดองกับเขาด้วยหรือไม่

เมื่อมีใครขอให้ลืมเรื่องเก่าและเตรียมก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาใหม่ ภาพในห้วงสำนึกและความทรงจำของมวลชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมักจะคล้ายคลึงกัน นั่นคือนึกถึงมวลชนจัดตั้งของฝ่ายตรงข้ามซึ่งหลายคนเรียกว่า ม็อบมีเส้นการโค่นทำลายรัฐบาลมวลชนด้วยกลไกตุลาการ วุฒิสภา องค์กรอิสระ องค์กรวิชาชีพที่มีเบื้องหลังเป็นธุรกิจ จนกระทั่งสั่งการให้กองทัพกระทำรัฐประหารยึดอำนาจ

เดิมพันก็สูงถึงขนาดฆ่าฟันประชาชนกลางถนนหลวงได้ในเวลากลางวันแสกๆ โดยมุ่งจะเด็ดชีพคนบริสุทธิ์เป็นร้อยเป็นพัน แสดงถึงความคิดหวงแหนอำนาจอย่างรุนแรงชนิดแลกกับอะไรก็ได้

นี่คือต้นทุนของมวลชนก่อนที่ใครจะพูดคำว่า ปรองดองขึ้นมา

พูดให้เป็นธรรม ก็ต้องยอมรับว่าบางคนที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา ปรองดองก็มีเจตนาที่ดี นั่นคืออยากเห็นบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อย โดยหวังให้ส่งผลตรงไปยังเศรษฐกิจและสังคมที่จะกระเตื้องตาม

แต่ในเจตนาที่ดีนั้นเอง จะปิดตาข้างหนึ่งหรือสองข้างจนไม่เห็นความจริงข้างต้นนั้นหาได้ไม่ ถ้าทำอย่างนั้นก็จะเกิดการปรองดองที่ไม่สมบูรณ์ กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่กว่าเดิมเสียอีก

การวาดภาพตอนจบของละครการเมืองในระดับโศกนาฏกรรมเที่ยวนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครทั้งนั้น ไม่ว่าเทวดาหรือคน

ถ้าอย่างนั้นฝ่ายประชาชนที่รวมตัวเป็นมวลชนประชาธิปไตยแล้วในวันนี้ควรตั้งต้นตรงไหน?

ข้อพิจารณาอันดับแรก อย่าเอาเดิมพันทั้งหมดของฝ่ายประชาชนไปใส่ใน ปรองดอง

รูปธรรมคืออย่าลาก แกนนำ” “แกนตาม” “แกนนอนและ แนวร่วมของขบวนประชาธิปไตยไปผสมพันธุ์กันอยู่ในหม้อปรองดองเดียวกันหมด เพื่อเคี่ยวไปนานๆ และเคี่ยวพร้อมกันจนเนื้อเปื่อย

ใครอยากจะมอบตัวหรือแสดงเจตนา ปรองดองให้ทั้งสองฝ่ายประจักษ์ก็ให้ทำไป เพราะอาจเกิดประโยชน์ต่อขบวนการได้หากมีการ ปรองดองกันจริง ผู้ที่พ้น ตราบาปก็จะได้รับหน้าที่หรือมียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ที่นำมาใช้เกื้อกูลพี่น้องประชาชนต่อมาได้ ไม่ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียเลย

ใครไม่มั่นใจและต้องการยืนหยัดในการล้อมพื้นที่อำนาจของฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะหลุดเข้าไปในพื้นที่อำนาจของ เขาก็ทำงานอยู่นอกพื้นที่นั้นต่อไป มุ่งสร้างองค์กรทำงานที่เข้มแข็งจริงจังเพื่อรองรับสถานการณ์วันที่ ปรองดองมีอันต้องพังพินาศลง ถึงวันนั้นขบวนการประชาชนก็จะไม่สูญเปล่า สภาพการสื่อสารโทรคมนาคมในโลกยุคนี้มีแต่เอื้อเราทั้งสิ้น

อันดับสอง ผู้เจรจา ปรองดองฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องล้วงลึกไปถึงโครงสร้างทางอำนาจของฝ่ายตรงข้ามและนำกลับมาเป็นของประชาชนบ้าง ไม่แตะอยู่แค่ผิวเหมือนเครื่องสำอางประทินโฉม

รูปธรรมของการนี้คือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา โดยไม่เว้นหมวดไหนหรือมาตราใด ความในรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องส่งผลไปจนถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเครื่องมืออื่นๆ เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ระเบียบวิธีพิจารณาพิพากษาคดี เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขให้เกิดผลจริงๆ นั้นต้องใช้เวลา แง่นี้พอเข้าใจกันได้อยู่ แต่ก็ต้องเปิดประตูไปสู่การแก้ไขเอาไว้ก่อน

กองทัพจะต้องลดความสามารถในการฆ่าประชาชนและประหารรัฐ หลักคิดคือทหารเป็นของฝ่ายประชาชน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือผู้บังคับบัญชาสูงสุด ไม่ได้เป็นเพียง จ๊อกกี้อย่างที่ประธานองคมนตรีไปเสี้ยมสอนไว้

อันดับสุดท้ายผู้เจรจา ปรองดองของฝ่ายประชาชนต้องเจรจาโดยตรงกับหัวหน้าใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น การเจรจากับลูกหาบนั้นเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์โภชย์ผลใดๆ เลย

คงไม่ต้องเอ่ยตรงนี้ว่าต้องเจรจากับคนชื่ออะไร.

--------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

๕ ปีที่เห็น “มือ” โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ๕ ปีที่เห็น มือ

โดย กาหลิบ


๑๙ กันยายนของทุกปีจากนี้ไป คือวันการเมืองที่ต้องนำมาตีความทางประวัติศาสตร์การเมืองกันอย่างจริงจัง แต่ละปีที่มวลชนไทยร่วมต่อสู้และได้รับอิสรภาพและความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนก็จะกระจ่างใสขึ้นโดยลำดับ

ความเข้าใจ หรือโดยศัพท์ปัจจุบันคือ ตาสว่างจะเกิดรวดเร็วกว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โศกนาฏกรรม ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และพฤษภาทมิฬเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ด้วยซ้ำ เพราะอำนาจควบคุมความเข้าใจทางสังคมกำลังค่อยๆ หลุดมือจากผู้เผด็จการเบ็ดเสร็จของไทยมาสู่สาธารณชน การทำให้คิดไปในทางเดียวกันโดยไม่กล้าคิดแย้ง หรือมีปัญญาก็ไม่กล้าใช้ เริ่มลดลง

หลายท่านได้เขียนหรือพูดเพื่อตีความเหตุการณ์รัฐประหารไปแล้ว และควรสนับสนุนให้อีกหลายท่านออกมาแสดงความเห็นอีก เวลาผ่านมาแล้ว ๕ ปีแต่มวลชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับ อนุญาตให้รู้ว่าการปล้นอำนาจอธิปไตยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ เกิดจากปมใดเป็นหลัก ได้ยินแต่บทละครเรื่องเดิมว่าต้องยึดอำนาจก่อนที่รัฐบาลของประชาชนจะกลายเป็น เผด็จการเท่านั้น

หลักคิดนี้ก็แปลกดี เพราะผู้ที่ออกมายึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลของประชาชนได้ คงไม่ถือว่าตัวเป็นประชาชน แล้วคนเหล่านี้คือใคร ในหมู่ พวกเขาใครเป็นนาย ใครเป็นบ่าว ใครเป็นนาย ใครเป็นพล เขาแบ่งหน้าที่และจัดสรรผลประโยชน์เพื่อป้องกันความขัดแย้งกันเองอย่างไร

คำว่า อำมาตย์จึงถูกนำมาใช้งานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อเป็นตัวแทนของความรู้สึกที่มวลชนมีต่อชนชั้นที่อยู่เหนือกว่าตน

ส่วน อำมาตย์มีชนชั้นภายในระบอบอันฉ้อฉลของตนอย่างไร มวลชนก็ค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มและทำความเข้าใจมาโดยลำดับ

สิ่งนี้คือวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยของไทย ซึ่งจะเกิดช้ามากหรือไม่เกิดเลยหากไม่มีรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เพราะองค์ประกอบอื่นๆ ของการยึดอำนาจนั้นซับซ้อนและมองยากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการโหมโรงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การข่มขู่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งสามจนต้องติดคุกโทษฐานที่ไม่รับคำสั่งตน การกดดันให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกหรือพักงานของตัวเองไปช่วงหนึ่ง การยกเลิกผลการเลือกตั้งที่มวลชนแสดงเจตนารมณ์แล้ว การทำลายอย่างมีระบบโดยฝีมือตุลาการและองค์กรอิสระ

แต่ทหารที่เคลื่อนพลและอาวุธออกมายึดอำนาจนั้นมองเห็นได้ชัดกว่ามาก

โดยภาพรวมแล้ว ภาพอำพรางของระบอบการปกครองที่เป็นจริงของไทย ใช้เวลานานหลายสิบปีเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ เข้าเป็นระบบเดียวกัน และยังทดลองใช้แบบลองผิดลองถูกมาตลอดกว่าจะลงตัวและนำมาใช้ซ้ำได้อย่างมั่นใจ แต่มวลชนใช้เวลาเพียงห้าปีในการถอดรหัส

จะเกลียดชังการรัฐประหารอย่างไรก็ตาม แต่ปิศาจตนนี้เป็นเหตุให้มวลชนไทยยกระดับความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

เรียกอย่างฝรั่งว่า “necessary evil” หรือ ปิศาจที่จำเป็นก็ยังได้

อรรถประโยชน์ของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ จึงเกี่ยวพันกับองค์ความรู้ทางประชาธิปไตย ถึงตัวการรัฐประหารจะเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกอีกชิ้นหนึ่งก็จริง แต่ทำให้ผู้สังเกตการณ์อย่างเราๆ ท่านๆ มองเห็นเครื่องจักรใหญ่หรือโรงงานทั้งโรงได้อย่างกระจะตา

แล้วดูสิว่า เมื่อมวลชนรู้ทันและตาสว่างแล้วการพัฒนาประชาธิปไตยไทยเกิดขึ้นได้รวดเร็วขนาดไหน

เอาห้าปีมาสู้กับหลายสิบปีอย่างไรก็สู้ได้ แล้วยังอีกห้าปีหรือสิบปีต่อไปอีกเล่า ระดับความรู้และความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นไปถึงไหน ถึงผู้คนที่วางแผนโฆษณาชวนเชื่ออยู่ในขณะนี้ จนสื่อโฆษณาล้นทะลักไปทั้งจอเงิน จอแก้ว สิ่งพิมพ์ จนถึงข้างตึก จะทำงานเต็มที่ (และโกยเงินกันเต็มที่) แต่ลึกๆ ต่างก็กลัวอยู่ในใจว่าจะสู้ความเร็วของการเรียนรู้ภาคประชาชนไม่ไหว

ข้อเสนอ ปรองดองถึงได้เกิดขึ้น ในฐานะยุทธวิธีเพื่อดำรงสถานภาพ ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหาอันแท้จริงของประเทศ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมวลชนส่วนใหญ่เขาก็ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ ก็เห็นฆ่าฟันกันโครมๆ อย่างไม่เห็นแก่ชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนอย่างนี้แล้ว

จะให้เขาเชื่อได้ ผู้เผด็จการไทยจะต้องลงทุนและเสียสละมากกว่าเงื่อนไขในกรอบ ปรองดอง

โดยเฉพาะเมื่อยุทธศาสตร์ มือที่มองไม่เห็นมันพังพินาศไปแล้ว.

----------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ใต้รัฐบาล โดย กาหลิบ


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ใต้รัฐบาล

โดย กาหลิบ


คำว่า รัฐบาล นั้น โดยสากลก็หมายถึงกลไกและกระบวนการทั้งหมดในการบริหารประเทศ และมีศูนย์กลางอยู่ที่หัวหน้ารัฐบาลของแต่ละรูปแบบการปกครอง ของไทยเราก็ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี และตัวนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีก็ขึ้นกับรัฐสภาอีกต่อหนึ่ง เรียกว่าระบบรัฐสภา ส่วนที่เรียกประเทศไทยว่าราชอาณาจักรไทยนั้นก็เพราะมีประมุขเป็นกษัตริย์ ประเทศที่ถือตนเองเป็นสาธารณรัฐ เขาก็เรียกคนที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลของเขาว่าประธานาธิบดี อย่างนี้เป็นต้น

ประเด็นของไทยในวันนี้ เกิดจากหลักการพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๓ อย่างคือ

๑. ผู้นำ / ผู้กำหนดนโยบาย

๒. ระบบราชการ

๓. ประชาชน / มวลชน

แต่ความจริงประเทศไทยกลับสะท้อนว่า ฝ่ายประชาชนเพิ่งได้มาเพียงสองในสามเท่านั้นเอง นั่นคือมีผู้นำและผู้กำหนดนโยบายที่มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก และมีมวลชนที่พร้อมสนับสนุน

ระบบราชการที่ควรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลด้วยนั้น ในใจจริงแล้วเขาไม่เคยถือตนเองว่าอยู่ภายใต้รัฐบาลเลย

ขึ้นอยู่กับใครก็นึกถึงคำพูดของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อหลายปีมาแล้วว่าทหารทุกๆ นายและกองทัพไม่ควรถือว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของคอกม้า รัฐบาลเป็นเพียงจ็อคกี้ ส่วนเจ้าของคอกม้านั้นเขาก็พูดชัดเจนว่าทุกๆ คนเป็น ทหารของพระราชา

เพราะฉะนั้นจะกระทำตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ก็ให้นึกคำพูดนี้ไว้ให้ดี

ทหารมีจิตวิญญาณอยู่ที่วินัยและการเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา คำพูดที่ชี้นำว่าผู้บังคับบัญชาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาถือเป็นเรื่องร้ายแรง ถ้าจะเอากันถึงที่สุดก็มีโทษเป็นกบฏ

ขณะนี้แนวคิดเดียวกันนั้นได้ไหลซึมเข้ามาในสายงานพลเรือนของระบบราชการเช่นเดียวกันแล้ว ซึ่งถือเป็นวิกฤติร้ายแรงในการบริหารรัฐกิจ

ยิ่งถ้าฝ่ายการเมืองทำตัวเละเทะเหลวไหล วางคนไม่เหมาะสมกับงาน เล่นพวก บ้าอำนาจ มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว และดำเนินการบริหารบ้านเมืองไม่ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า เขาก็ยิ่งเอามาใช้เป็นข้ออ้างในการขโมยอำนาจบริหารไปจากรัฐบาลของประชาชนได้ง่ายขึ้น

ข่าวแว่วมาว่ามีการส่งสัญญาณไปยังผู้นำหน่วยราชการพลเรือนหลายหน่วยที่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลโดยเปิดเผยในทำนองว่าให้ทำตัวเป็นหอกข้างแคร่รัฐบาลไปเรื่อยๆ เถิด ถึงเวลาก็จะปกป้องให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แถมอีกว่า รัฐบาลนี้ถูกโค่นลงเมื่อใดก็จะปูนบำเหน็จรางวัลกันให้ถึงใจด้วย

การเจาะยางรัฐบาลของประชาชนด้วยการแอบขโมยข้าราชการไปเป็นของตน เป็นเรื่องเก่าที่ทำกันมาทุกๆ ครั้งที่ฝ่ายประชาชนได้เป็นรัฐบาล

ประเด็นคือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประชาชนควรจะวางตนอย่างไรในสภาพเช่นนี้

อันดับแรก เมื่อรัฐบาลพบว่าข้าราชการคนใดกระทำตนเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายอย่างชัดเจนจนจับได้ ก็ต้องจัดการให้ชัดเจนเด็ดขาดและส่งสัญญาณให้สังคมรู้ด้วยว่าทำเพราะอะไร

ไม่ต้องมาอ้างว่า ปรองดองเพราะถ้าใครคิดบ่อนทำลายการทำงานของรัฐบาลจนมวลชนเสียประโยชน์ ก็ถือว่าเขาไม่ได้คิดดีกับประชาชนตั้งแต่ต้น แล้วจะต้องไปปรองดองหาพระแสงอันใด

อันดับสอง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกๆ ท่านโปรดกรุณาตรวจสอบข้าราชการในสังกัดของท่านในเรื่องวินัยและการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ

กระทำตนเป็นหมอเก่งๆ ที่สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายก่อนจะเกิดโรคได้ก็จะดี

อันดับสุดท้าย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนใดที่ไม่อำนวยสะดวกให้กับทุกๆ นโยบายที่ต้องทำให้ถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว ก็เท่ากับบ่อนทำลายโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย ควรถือเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ที่ต้องขจัดให้พ้นไปด้วยวิธีบริหาร

สรุปแล้วคืออย่านอนรอความตายครับ.

----------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ศาลปกครอง (รัฐบาล) โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ศาลปกครอง (รัฐบาล)

โดย กาหลิบ

ความจริงเราต้องขอบคุณ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่รับงานมาสร้างข่าวเรื่อง นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะดูเหมือนจะพยายามให้เกิดความรู้สึกว่าโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม กระตุ้นความคิดเคียดแค้นอาฆาตมาดร้าย สุดท้ายก็เอาวาทกรรมที่คงไปนอนคิดมาทั้งคืนออกมาใช้ นั่นคือสนับสนุนวิธีการยื่นฟ้องต่อตุลาการศาลปกครองว่าถูกกลั่นแกล้งรังแก โดยเรียกกลยุทธ์นี้ว่า ถวิลโมเดลยุให้ข้าราชการอื่นๆ ทำอย่างเดียวกันนี้อีก

เหตุที่ต้องขอบคุณ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อเขาหลุดปากออกมาว่าเขาพูดเพื่อใครหรือทำเพื่อใคร เราจะได้มองตามไปที่เขาชี้ แล้วก็ต้องช่วยฉายไฟให้มันสว่างไสวไปตรงนั้น

นายนริศฯ ช่วยเอ่ยคำว่า ตุลาการศาลปกครอง ออกมา ทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า ในกระท่อมไม้ไผ่ที่เราเรียกกันว่ารัฐบาลของประชาชนนั้น มันมีหอกข้างแคร่อยู่ที่ใดบ้าง

ไม่ต้องมาเจื้อยแจ้วอธิบายว่า ตุลาการศาลปกครองเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ อันเป็น ฉบับประชาชนเพื่อประกันความเป็นธรรมในการใช้อำนาจรัฐในกรณีที่ประชาชนคนธรรมดาถูกคนมีอำนาจในรัฐบาลกลั่นแกล้ง เพราะพูดอีกก็ถูกอีก

แน่จริงแลดูผลที่เกิดขึ้นจริงในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมากันดีกว่าว่า มันเป็นไปตามหลักการที่ว่านั้น หรือมันชัดเจนว่าเป็น หลักกู

เพราะดูจะบังเอิญเสียเหลือหลาย ศาลปกครองโผล่ขึ้นมามีบทบาททีไร มักจะเป็นในช่วงรัฐบาลเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกขึ้นมาทุกทีไป แต่ในช่วงรัฐบาลศักดินา-อำมาตย์ ศาลกลับเงียบเฉยไม่เป็นข่าวโด่งดัง ราวกับลาไปพักร้อนเสวยสุขกันที่อื่นหมด ไม่ว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เกิดการขุดศพขึ้นมาใช้เป็นผีดิบซอมบี้กันอย่างรื่นเริง

ยุให้ทำเป็นสูตรเลยด้วยซ้ำ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า โมเดล คือเอาเป็นตัวแบบหรือต้นแบบเลย

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ นั้น มีกลไกที่เรียกว่าก้าวหน้าหลายอย่าง เหนือกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ รวมทั้งฉบับ พ.ศ.๒๕๑๗ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ที่เคยถือเป็นอันดับหนึ่งในความเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เรื่องนี้คงไม่ต้องถกเถียง และเราต้องนึกขอบคุณสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดนั้นให้มาก

ปัญหากลับมาอยู่ที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เป็น ของดีที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของระบอบการปกครองที่เลว

เสมือนให้ดาบคมๆ กับโจรก็ไม่ปาน

สุดท้ายเมื่อฝ่ายประชาชนถูกหลอกล่อครั้งแล้วครั้งเล่าให้ยอมรับระบอบศักดินา-อำมาตย์ โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลยแม้แต่เศษเนื้อข้างเขียง ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนเขาก็กะล่อนพอที่จะเอามรดกของมวลชนอย่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในมุมของเขา

ตามกลยุทธ์นี้ ศาลปกครองก็ไม่ต่างอะไรจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตลอดจน องค์กรอิสระอื่นๆ ไปจนถึงวุฒิสภา

ก็วุฒิสภาเดียวกับที่เลือกตัวแทนส่วนใหญ่ของฝ่ายศักดินา-อำมาตย์มานั่งจัดสรรผลประโยชน์อันมหาศาลในกิจการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมของชาติซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่ออำนาจควบคุมทางสังคมใน กสทช. นั่นแล

เพราะฉะนั้น ถวิลโมเดลมันไม่มีดอก

แผ่นดินนี้มีแต่อำมาตย์โมเดลอย่างเดียวเท่านั้น

บางเวลาเขาเอากองทัพมารัฐประหาร บางครั้งเขาก็เอาองค์กรอิสระมาล้มรัฐบาล และบางคราวเขาก็เอาผู้พิพากษาเข้ามาช่วย

สรุปแล้วก็โมเดลเก่าแก่ลายคราม... เอาปืนของประชาชนมาฆ่าประชาชนนั่นเอง.

-------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ทัวร์พิเศษสุด สักขีพยานฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา

ทัวร์พิเศษสุด

สักขีพยานฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา / เปิดโฉมหน้าพนมเปญ


"เลือดไทยระอุข้น เลือดอาเซียนพลุ่งพล่าน ส.ส.ไทยเตรียมฟาดแข้งทีมรัฐบาลกัมพูชาในฟุตบอลมิตรภาพ ๒๔ ก.ย. นี้ ณ กรุงพนมเปญ รีบจองทัวร์พิเศษ "กองเชียร์ไทยหัวใจแดง" สามวันสองคืน สุดยอดวีไอพี พบนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นแห่งกัมพูชา ลุ้นการแข่งขันสุดมัน เพียงท่านละ ๗,๐๐๐.- (รวมค่ารถ-อาหาร-โรงแรม-ประกันอุบัติเหตุ)

จองด่วนที่ : คุณศรีรัตนา เลิศจารุวงศ์ โทร. 087-937-7325, 084-760-7129,087-9345926

โอนเงินชำระได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ซีคอนสแควร์ 2 เลขที่บัญชี 223-229-9786

หมายเหตุ : (1) กรุณา FAX. ใบโอนเงินมาได้ที่ โทร. 02-721-5691

(2) ผู้เดินทางต้องเตรียมหนังสือเดินทาง (passport) มาด้วย


สักขีพยานฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา / เปิดโฉมหน้าพนมเปญ

กำหนดการ :

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2554

06.00 น. เดินทางออกจากกรุงเทพฯ (บริเวณใต้ทางด่วนพระราม9 ถนนศรีนครินทร์

ติดกับแอร์พอร์ตลิ้งค์สถานีหัวหมาก)

09.00 น. ถึงด่านปอยเปต (ชายแดนไทย-กัมพูชา)

12.00 น. รับประทานอาหารเที่ยง ณ จังหวัดบัตตัมบอง (พระตะบอง)

18.00 น. ถึงกรุงพนมเปญโดยสวัสดิภาพ / รับประทานอาหารเย็นที่โรงแรม /

พักผ่อนตามอัธยาศัย


วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2554

07.00 รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม

10.00น. เสวนาการเมืองไทยในมิติลึก อิสรภาพนอกประเทศ

12.00 น. รับประทานอาหารเที่ยง

13.00 น. ออกจากที่ประชุมไปเที่ยวตลาดใหม่ (พซาทะไม) และตลาดบางเก็งกอง

(ศูนย์เสื้อผ้ามือสองจากยุโรป เกาหลี และญี่ปุ่น)

15.30 น. มุ่งหน้าสู่สนามฟุตบอลเพื่อร่วมต้อนรับ ฯพณฯ สมเด็จเดโช ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กับคณะนักฟุตบอลวีโอพีไทย / ชมฟุตบอล

19.00 น. รับประทานอาหารเย็น / พักผ่อนตามอัธยาศัย


วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554

07.00 น. รับประทานอาหารเช้า

09.00 น. อำลากรุงพนมเปญ

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ณ จังหวัดบัตตัมบอง (พระตะบอง)

14.00 น. ถึงด่านปอยเปต / เดินทางกลับเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ

******************************************************************

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

ละเลยภาพรวม โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ละเลยภาพรวม

โดย กาหลิบ


เห็นพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ออกมาโรมรันทางน้ำลายเกี่ยวกับการถวายฎีกาขอพระราชอภัยโทษให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการเร่งรัดคดีที่ดินถนนรัชดาภิเษกแล้ว นึกอย่างเดียวว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้

ความรู้สึกโดยรวมอย่างนี้สำคัญกว่ากระบวนการตรวจชื่อผู้ถวายฎีกา สำคัญกว่าความยุติธรรมในกรณีที่ดินรัชดาฯ และสำคัญยิ่งกว่าการขอรับพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งแปลว่าความกรุณาอันยิ่งใหญ่ จาก ฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

เพราะ ความรู้สึกนั้นเองอาจจะกลายเป็นพลังผลักดันทิศทางของบ้านเมืองไปด้านใดด้านหนึ่งได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในยามที่สงครามใหญ่เพื่ออนาคตของชาติเพิ่งจะเริ่มต้น

การชวนทะเลาะในประเด็นยิบย่อย เช่น รัฐบาลที่แล้วแกล้งตรวจสอบรายชื่อช้าเพื่อหน่วงเหนี่ยวการถวายฎีกา การสืบพยานที่บกพร่องจนนำไปสู่ความอยุติธรรมในคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นต้น อาจส่งผลให้รัฐบาลได้รับผลเฉพาะหน้าตามความต้องการ แต่ก็อาจเกิดผลเสียหายบางอย่างโดยไม่เจตนาได้

จำคำพูดของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ที่ออกมาตอบคำถามเรื่องครอบครัวชินวัตรขายหุ้นใหญ่ในเครือชินคอร์ปให้กับเทมาเส็คของสิงคโปร์ได้ไหม?

ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ขึ้นศาลแท้ๆ ที่ไหนก็ชนะทุกคดีไป แต่ผลจากภาพรวมในวันนั้นยังคงหลอกหลอนและสร้างความเสียหายทางการเมืองให้กับฝ่ายประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน

ผลการแอบสำรวจพบว่า คำพูดวันนั้นสร้างแนวร่วมเพิ่มขึ้นมากมายให้กับขบวนการเสื้อเหลือง

โดยสรุปและไม่ได้ยกมาทุกตัวอักษร คนพูดในวันนั้นชี้แจงว่าตัวเองมีหน้าที่ในทำให้การซื้อขาย ถูกต้องตามกฎหมายและต้องการอธิบายความในเชิงกฎหมายเท่านั้น ส่วนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของตน

พูดถูกแต่ผลออกมาผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์ และส่งผลกระทบมาจนถึงวันนี้ เพราะทำให้ภาพรวมของการสื่อสารทางสังคมแสดงว่า คนฉลาดทางสมอง ไม่ต้องมาใส่ใจใดๆ กับคนโง่ที่เขาใช้หัวใจเป็นสำคัญ

เกิดศัตรูทันทีกับคนที่เขาไม่ได้โง่แต่ถูกทำให้เหมือนคนโง่ ด้วยการเอากฎหมายมาปิดปากเขา แถมยังทำให้คนที่รู้สึกว่า รู้ทันเกิดความเจ็บอกเจ็บใจและเข้าร่วมกับขบวนการผีสางอะไรก็ได้เพื่อแสดงความรู้สึกเจ็บแค้นและต่อต้าน

ผู้ที่ชิงชังระบบทุนนิยมและนายทุนอยู่แล้วโดยอุดมการณ์ ก็ถือโอกาสร่วมแสดงความเกลียดชังและใช้เรื่องนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าปิศาจที่เขาสร้างภาพอยู่ในใจอย่างหมกมุ่นนั้นมีตัวตนจริง

แนวร่วมฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพราะเรามัวเมาในรายละเอียดและการมองเข้าข้างตัวเอง โดยไม่ได้ใส่ใจต่อภาพรวมที่ปรากฏขึ้นต่อมวลชนส่วนใหญ่อย่างเพียงพอ

แล้วอะไรคือภาพย่อยและอะไรคือภาพใหญ่?

ภาพย่อยคือ การต่อสู้ดิ้นรนหาความยุติธรรมในระบอบที่คนอื่นเป็นใหญ่ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่

ภาพย่อยคือ การผลักดันขั้นตอนทางราชการเพื่อเอาชนะในเกมที่ถูกกำหนดลงมาแล้วว่าเราต้องแพ้

ภาพย่อยคือ เอาการเมืองเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์มาเป็นคู่มวยหลักในการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าคู่มวยหลักอยู่ที่อื่น

เรื่องเหล่านี้สู้ไปมักจะได้ไม่คุ้มเสีย

ภาพใหญ่คือการตั้งธงเชิงระบอบเลยว่า ประชาชนชาวไทยจะได้อำนาจสูงสุดมาเป็นของตนด้วยวิธีใด

อำนาจนั้นรวมทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงอำนาจในรายละเอียดของแต่ละฝ่ายนั้นด้วย เช่น การคุมกองทัพให้อยู่ภายใต้การชี้นำของฝ่ายประชาชน กรรมวิธีในการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เป็นต้น

เมื่อตั้งธงแล้วก็เอาเรื่องที่เล็กกว่าที่ดินรัชดาฯ มาเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งทางความคิดจนกว่าสังคมส่วนใหญ่จะคล้อยตาม และเห็นความฉ้อฉลในระบอบและระบบที่ดำรงอยู่ จากนั้นจะยกมาสู้อีกกี่สิบเรื่องก็ตามใจ เพราะจะเป็นเสมือนคอนกรีตที่เอามาเทเสริมฐานประชาธิปไตยทั้งนั้น

เรื่องนี้จึงไม่ได้คัดค้านขัดคออะไร แต่เตือนมาด้วยความปรารถนาดีว่าเลือกจังหวะเวลาให้ดีกว่าที่เคยทำมา และต้องเอาประชาธิปไตยขึ้นก่อนเสมอเท่านั้นเอง.

-----------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

คณะทำงานมารประเทศ โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง คณะทำงานมารประเทศ

โดย กาหลิบ

การจับกุม นายกิตติชัย เชิงชาญศิลปกุล กระทำอย่างเงียบกริบ คนที่สังคมทั่วไปรู้จักในนามของ พี่ชาย ดา ตอปิโดหายตัวไปจากการติดต่อสื่อสารกับญาติมิตรเพื่อนฝูงหลายวัน ก่อนที่จะรู้กันว่าเขาถูกจับกุมตัวโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เสียแล้ว

หนึ่งในคนที่ไม่รู้ว่าเขาถูกจับคือทนายความของเขาเอง นั่นแปลว่านายกิตติชัยฯ ไม่ได้รับสิทธิ์ในการปรึกษาหารือกับตัวแทนทางกฎหมายของตนเอง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างชัดแจ้ง จนแทบไม่ต้องถามต่อเลยว่าเขามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ หากกระบวนการฉ้อฉลตั้งแต่ต้น เราจะสนใจใยดีต่อผลในขั้นสุดท้ายไปทำไมกัน?

ตั้งสติและมองภาพรวมสักนิด เราจะรู้ได้เองว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้

นายกิตติชัยฯ เป็นญาติคนเดียวที่เทียวขึ้นลงระหว่างกรุงเทพฯ และภูเก็ต เพื่อดูแลน้องสาวที่ถูกตราหน้าว่าเป็นนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแสดงทัศนะกลางสนามหลวงว่าการยึดอำนาจเมื่อวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เกิดจากใคร และเพราะอะไรแน่ โดยลำดับพฤติกรรมโดยละเอียดของคนที่ผู้พูดเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอันแท้จริงของฝ่ายที่ต้องการทำลายประชาธิปไตยและอำนาจสูงสุดของประชาชน

ภาพของพี่ชายที่มาช่วยดูแลน้องสาวที่ป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงเป็นภาพที่ชัดเจนต่อผู้ที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการตรงกันข้าม

บัดนี้คนๆ นั้นถูกจับกุมดำเนินคดีในเรื่องอะไรก็ไม่แน่ชัด และถูกปฏิเสธสิทธิที่จะมีทนายความอยู่ข้างกาย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของคดีความธรรมดา แต่เป็นการสื่อสารทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม

ข้อความที่เขาต้องการสื่อสารนั่นคือ ใครก็ตามที่ช่วยเหลือดูแล หรือแม้กระทั่งแสดงน้ำใจต่อผู้ที่เขาตราหน้าว่าหมิ่นเบื้องสูง ย่อมอยู่ในข่ายที่จะถูกลากเข้าสู่ขุมนรกในกระบวนการ ยุติธรรมโดยไม่ต้องมีความผิดในฐานเดียวกันแต่อย่างใดเลย การติดคุกหรือรับโทษทัณฑ์ใดๆ จากรัฐในยุคนี้เป็นของง่าย เขาช่วยหาความผิดฐานใหม่ให้ได้เสมอ

ต่อไปความผิดว่าเลี่ยงภาษี ทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แม้กระทั่งเมาแล้วขับ ก็อาจถูกนำมาใช้สงเคราะห์ผู้คนที่เขาเห็นว่ามีน้ำใจไมตรี หรือยอมรับอุดมการณ์ของคนที่ถูกกล่าวหาในความผิดอันเกี่ยวกับกษัตริย์และพระราชวงศ์ได้

การลงทัณฑ์กับตัวคนที่ถูกตราหน้าว่ากระทำผิดในเรื่องนี้ ดูจะไม่เพียงพออีกแล้ว บัดนี้ เขาส่งสัญญาณลงมาตามสายแล้วว่า อำนาจราชศักดิ์นี้ต้องขยายไปกระทำชำเราเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ผู้ร่วมงาน ผู้เป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์และการเมือง และหน้าไหนที่มันบังอาจ ท้าทายอำนาจอันล้นพ้นนี้ของผู้ถูกกล่าวหาและลงโทษทั้งหมดด้วย

จุดประสงค์ก็อันเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปีแล้ว นั่นคือเพื่อข่มขู่ให้หวาดกลัว ไม่กล้าแม้กระทั่งจะคิดถึงความถูกผิด และสอนให้คนไทยทอดทิ้งกันและกันเพื่อเอาตัวรอดก่อน

ความจงรักภักดีบางอย่างนั้น ต่อให้แลกมาด้วยการอกตัญญูต่อพ่อแม่ ทรยศหักหลังครอบครัวและเพื่อนฝูง หรือขายชาติเพื่อเอาประโยชน์เข้าตัว เขาก็ชอบและหิวโหยต่อพฤติกรรมเยี่ยงนั้น

สิ่งที่ เขาต้องการไม่ใช่ความรักนับถืออย่างจริงใจหรือความศรัทธาโดยบริสุทธิ์ แต่เป็นความกลัวจากขั้วหัวใจจนไม่กล้าเอ่ยปากว่าไม่รัก

จนสุดท้าย ความจงรักภักดีที่ใช้กฎหมายเถื่อนๆ บังคับเอา เขาก็ยังชอบ

ความสอพลอตอแหลที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักต่างๆ จนทุกคนต้องวิ่งแข่งแสดงความรักใคร่อย่างชนิดหาที่ไหนไม่ได้ในโลกของคนหรือสัตว์ ถึงจะพบว่าเสแสร้งขนาดไหนก็ยังพอใจและเรียกหา

แนวคิดข่มขู่คนรอบข้างของผู้ต้องหา คดีหมิ่นฯในลักษณะนี้ ไม่มีวันออกมาจากข้าราชการคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยใดหน่วยหนึ่งเป็นแน่ เราจึงสืบค้นลงไปจนรู้ว่า บัดนี้ได้เกิดคณะทำงานที่ถูกตั้งขึ้นมาแล้วอย่างลับๆ ภายในระบอบศักดินา-อำมาตย์ โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะไม่รู้และไม่ได้มอง คณะมีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ วางกลยุทธ์ และสร้างกิจกรรมภาคสนามที่หลากหลาย เพื่อทำลายมวลชน ตาสว่างโดยตรงและอย่างเบ็ดเสร็จ

งานลักษณะนี้ไหลออกมาจากมันสมองที่เฉียบแหลม แต่ด้วยทัศนะอันโบร่ำโบราณนี่เอง

คดีหมิ่นเบื้องสูงคดีที่สองภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เกิดขึ้นมาก่อนกรณีนายกิตติชัยฯ แล้วเพียงไม่กี่วัน และคดีนายกิตติชัยฯ อาจเป็นกรณีแรกๆ ของกลยุทธ์ใหม่ที่คณะทำงานชุดนี้กำหนดขึ้น

ขยันขันแข็งกันไม่น้อยทีเดียว

ต้องขอแรงท่านสาธุคุณทั้งหลาย ช่วยฉายไฟไปที่คณะทำงานมารประเทศชุดนี้กันสักหน่อยเถิด.

--------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

คนในตำแหน่งเลขาธิการ สมช. โดย กาหลิบ


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง คนในตำแหน่งเลขาธิการ สมช.

โดย กาหลิบ


หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณว่าอาจจะโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหา ทางลงให้ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ข่าวที่ตามมาไม่กี่วันก็คือ พล.ต.อ.วิเชียรฯ ตัดสินใจยอมรับตำแหน่งใหม่ โดยสมัครใจและจะทำหนังสือมาแสดงเจตนานั้นอย่างเป็นทางการ

เลขาธิการ สมช. คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสายพลเรือน คือนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็คงจะถูกโยกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหรืออะไรอื่นๆ ที่ดูเหมือนว่า ร.ต.อ.เฉลิมฯ ก็ยังไม่แน่ใจนัก

วิธีบริหารแบบไทยๆ ที่เน้นการรักษาหน้า ซื้อใจ ปรับเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร อะไรทำนองนี้ก็คงมีคุณค่าในตัวเองให้ดูเป็นแบบอย่างและบทเรียนอยู่ โดยเฉพาะในยามที่มวลชนประชาธิปไตยยังคงงงๆ กับคำว่า ปรองดองใครสนใจในทักษะของการครองบ้านครองเมืองก็ศึกษาเรียนรู้เอาไว้ ดีหรือไม่ดีก็โปรดไปวินิจฉัยกันเอาเอง

สิ่งที่ต้องสนใจอย่างปล่อยผ่านไปไม่ได้คือตัวตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และผู้ที่จะมาเป็น

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น มีความสำคัญมากหรือน้อย เป็นกลไกหลักของการได้มาซึ่งอำนาจและรักษาอำนาจนั้น ขึ้นกับตัวบุคคลที่มากินตำแหน่งเลขาธิการอยู่มาก ในยุคที่นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ หรือก่อนหน้านั้นคือ พล.อ.ต.สิทธิ เศวตศิลา (ได้ยศ พล.อ.อ. ในภายหลัง) เราต่างรู้กันดีว่าเป็นยุคเรืองอำนาจของ สมช. งบประมาณหน่วยงานและเครื่องมือต่างๆ เพิ่มพูนขึ้นมาก เพราะเป็นช่วงเวลาของการ ยึดบ้านเมืองคืนจากฝ่ายประชาชนภายหลังเหตุการณ์เลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาจนกระทั่งเกือบสิ้นสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อถึงยุคของ นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ นายถวิล เปลี่ยนศรี ฯลฯ เราต่างก็รู้สึกกันว่า สมช. ลดการพองตัวลงมาเป็นหน่วยงานของรัฐธรรมดาๆ งานความมั่นคงออกจะมุ่งไปที่กระบวนการหาข่าว เปรียบเทียบข่าว และส่งคนลงพื้นที่อย่างไม่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงนัก

แต่ยุคที่น่าสนใจคือ เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากและเป็นรัฐบาล โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจในยุคนั้นเลือกเอา พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ข้ามห้วยมาเป็นเลขาธิการ สมช. พร้อมเอา พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

พล.อ.วินัยฯ จะทำหน้าที่ดีเลวอย่างไรไม่ใช่ประเด็นตรงนี้ ประเด็นคือ พล.อ.วินัยฯ ที่ควรมีหน้าที่กระซิบบอกรัฐบาลและทำทุกอย่างเพื่อให้รัฐบาลและรัฐไทยมั่นคง ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นส่วนสำคัญในการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของประชาชนและนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ

สำคัญขนาดเป็นตัวเลขาธิการคณะรัฐประหารเลยด้วยซ้ำ

สรุปให้ชัดเพื่อให้ภาพเป็นที่จดจำจารึกว่า เขาสั่งให้ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพยึดอำนาจ และให้เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติทำหน้าที่ผู้ประสานใหญ่เพื่อร้อยทุกกำลังในการต่อต้านรัฐบาลของประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เลขาธิการ สมช. ในยุค คปค./คมช. จึงเป็นกลไกหลักที่เขาใช้ในการทำลายฝ่ายประชาชนอย่างเราๆ

วันนี้เรามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยจะนานสักเท่าไหร่ยังไม่รู้เลยนั้น เราไม่ควรใส่ใจในตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. กันเสียหน่อยหรือ?

ตำแหน่งนี้ควรจะถูกยกขึ้นมาให้สำคัญนั้นถูกต้องแล้ว แต่ตัวบุคคลที่จะเลือกสรรมารับตำแหน่งนั้นจะต้องสอดคล้องต่อเงื่อนไขความอยู่รอดของรัฐบาลที่อยู่ท่ามกลางคมหอกคมดาบนี้ด้วย พูดง่ายกว่านั้นก็คือเลขาธิการ สมช. ต้องเป็นคนของรัฐบาลฝ่ายประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ใครที่ถูกโยกย้ายมาจากที่อื่นเพราะต้องการแก้ไขปัญหาในที่นั้น

เว้ากันซื่อๆ ก็คือ เราจะไว้ใจให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในยุคที่ประชาธิปัตย์ครองเมือง มารับผิดชอบงานต่อต้านการรัฐประหารทำลายรัฐบาลฝ่ายประชาชนหรือไม่?

ถ้างานนี้เป็นเสมือนการสร้างอสุรกายตัวใหม่ขึ้นมาเตรียมทำลายรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา เหมือนที่ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เคยทำตัวอย่างให้ดูมาแล้ว โปรดบอกด้วยว่าใครจะรับผิดชอบ?

-------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

นอกรัฐบาล โดย กาหลิบ


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง นอกรัฐบาล

โดย กาหลิบ


ช่วงนี้ตำแหน่งแห่งหนต่างๆ ก็เริ่มลงตัวแล้วในทางการเมือง คณะรัฐมนตรีก็ได้เริ่มทำหน้าที่ทางนโยบายแล้ว คนใหม่ๆ ในตำแหน่งที่จะช่วยขับเคลื่อนก็ต้องเร่งศึกษางานและทำตัวให้มีประโยชน์ ในทางการเมืองบางครั้งรอคำสั่งอย่างเดียวมิได้ ต้องรู้จักนำเสนอและวางยุทธวิธีในการทำงานให้สำเร็จตามแนวคิดเพื่อประชาธิปไตยด้วย

ตำแหน่งช่วยขับเคลื่อนเหล่านี้ รวมตั้งแต่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและทีมโฆษกกระทรวง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีกับผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ไปจนถึงทีมที่ปรึกษาแบบไม่มีเงินเดือน ทีมงานใกล้ชิดในทางนโยบาย และที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดนี้โยงกลับไปที่นายกรัฐมนตรีและผู้ที่นายกรัฐมนตรีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งต้องบริหารภาพรวมทางการเมือง

สิ่งที่ควรวางแนวทางกันอีกเรื่องหนึ่งคือบุคคลและเนื้องานที่อยู่นอกกรอบรัฐบาล

ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามพยายามยุแหย่ว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว ขบวนการคนเสื้อแดงที่ส่วนใหญ่ให้ความสนับสนุนต่อพรรคเพื่อไทยก็ควรยุติบทบาทลงเสียที การเดินเคียงข้างกันไปอย่างนี้เท่ากับเล่นการเมืองแบบ สองขาซึ่งดูเหมือนคนที่ออกมาพูดอย่างนี้จะรู้สึกไม่สบายใจนัก

พูดกันเสียให้ชัดเจนเลยทีเดียวครับว่า การเมืองไทยทุกวันนี้นอกจากจะต้องบริหารกันแบบสองขาแล้ว ยังต้องวางแนวทางอื่นๆ ที่มากกว่าขาข้างที่สองนั้นอีกด้วย สุดท้ายถ้าต้องเป็นการเมืองที่มีขาเก้าขา เป็นชั้นๆ รับกันไปเหมือนฉัตร ก็จำเป็นต้องทำ

ถ้าเขาพูดถึง การเมืองสองขาในแง่ลบ ให้ยืดอกรับอย่างหน้าชื่นตาบานไปเลย แต่ควรยืนยันด้วยว่าขาข้างที่สองนั้นจะไม่กระทำการใดๆ ที่กระเทือนต่อหลักนิติธรรมและนิติรัฐของบ้านเมือง หากรัฐบาลของประชาชนไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจนประชาชนหมดความอดทน

ข้างที่สองนี่ล่ะคือภารกิจของผู้ที่อยู่ นอกรัฐบาล

ภารกิจนั้นพอจะสรุปได้เป็นข้อๆ ให้ง่ายต่อการคิดพิจารณา

๑. การจัดตั้งทางความคิด ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนมากในขณะนี้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองสูงพอสมควรแล้ว ซึ่งแตกต่างจากยุคก่อนๆ ที่ใช้รัฐบาลของซูเปอร์แมนมาบริหาร และโน้มน้าวให้มวลชนรู้สึกเบื่อหน่ายเกลียดชังการเมืองและไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย จนสังคมไทยเกิดภาวะเฉยเมยในทางการเมือง (political apathy) แต่งานใส่ความคิดแนวประชาธิปไตยก็ยังต้องเร่งรัดและกระทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป้าหมายของเราคือประชาชนส่วนใหญ่แข็งแรงในทางความคิด ต่อให้ใครมาขึ้นป้ายหรือออกสป็อตโฆษณาชวนเชื่อให้ถอยหลังไปเท่าไหร่ก็ไม่ไขว้เขว แถมยังเห็นเป็นเรื่องน่าหัวร่อไปเสียด้วย เรื่องนี้คนในรัฐบาลเขาทำลำบากกว่าคนนอก คนนอกจึงต้องถือเป็นภารกิจหลักของตนไปเลย

๒. ความสัมพันธ์กับมวลชนประชาธิปไตย ขณะนี้ขบวนการเสื้อแดงทำให้มวลชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ อยู่ทั่วประเทศ มีความแข็งแรงในทางอุดมการณ์และจิตสำนึก เราต้องสานสัมพันธ์ที่มีแล้วนี้ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการสร้างกิจกรรมร่วมที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งปวงสามารถเข้าร่วมและช่วยเหลืออนุเคราะห์ให้เกิดความสะดวกได้ แต่ให้คนนอกรัฐบาลเป็นหน่วยขับเคลื่อนและเป็นผู้ปฏิบัติชนิดเต็มเวลา มวลชนเหล่านี้ไม่สร้างกิจกรรมให้ หรือไม่บอกภารกิจมา เขาก็ทำของเขาอยู่แล้ว แต่การวางระบบความสัมพันธ์อย่างจริงจังและสร้างกลไกสนับสนุนให้เต็มที่ทะมัดทะแมงจะเร่งการทำงานให้เกิดประโยชน์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

๓. การจัดตั้งสื่อสารมวลชนภาคประชาชน ขณะนี้สื่อกระแสหลักยังถูก เหยียบหางจนกระทั่งผู้ที่มีอุดมการณ์และรู้เท่าทันสถานการณ์ภายในองค์กรสื่อเหล่านั้นก็มิอาจแสดงบทบาทอย่างสื่อที่เหมาะสมได้ ภาพรวมจึงออกมาเป็นสื่อรับใช้อำนาจเดิม และมีแนวโน้มจะถ่มถุยต่อสิทธิและเสรีภาพของฝ่ายประชาชนต่อไป ภาคประชาชนต้องช่วยหนุนผู้ที่มีแนวคิดส่งเสริมประชาธิปไตยในสื่อหลักเหล่านี้ ด้วยการสร้างองค์กรสื่อภาคประชาชนให้มากมายหลากหลายที่สุด สื่อทางเลือกในวันนี้อาจกลายเป็นสื่อที่ประชาชนผู้รับสารเลือกเสพเป็นสื่อหลักในภายภาคหน้า จึงต้องเตรียมการรอไว้อย่างไม่ประมาทเวลา

ภารกิจของผู้ที่อยู่ ข้างนอกยังมีอีกมากมาย แต่สามเรื่องนี้มีความเร่งด่วนและสำคัญต่อความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตยในระยะตั้งไข่เช่นนี้.

--------------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com