ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แต่งงานใหม่ โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง แต่งงานใหม่

โดย กาหลิบ


เริ่มมีคนถามว่า หากรัฐบาลของประชาชนหรือรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมากับมือทำงานไม่สอดรับกับผลประโยชน์ของประชาชน หรือหนักยิ่งกว่านั้นคือทำงานสอดรับกับผลประโยชน์กับฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนเสียด้วยแล้ว ประชาชนควรทำอย่างไร

ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดในประเทศประชาธิปไตย แต่สำหรับประเทศที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยน้ำใต้ศอกแล้วย่อมเกิดขึ้นได้

และอาจกำลังเกิดอยู่ด้วยซ้ำ

เจตนาของคนส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่น่าเป็นการมุ่งรับใช้เผด็จการ แต่ในจิตใจที่ขาดความมั่นคงทางอุดมการณ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความคิดรับใช้มวลชนคงจะแปรเปลี่ยนไปได้ในทันทีที่พบว่าอำนาจของประชาชนไม่ใช่อำนาจสูงสุด สุดท้ายก็วิ่งไปรับใช้อำนาจที่เหนือกว่าประชาชน

ประเด็นสำคัญจึงมิใช่ว่ารัฐบาลจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่อยู่ที่ระบอบซึ่งเป็นเสมือนฝาครอบรัฐบาลนั้นอยู่

การครอบงำเป็นการแผ่อิทธิพลอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ความคิดดีๆ ความตั้งใจดีๆ และความเป็นตัวแทนของปวงชนเลือนหายไปได้ ไม่ว่าปัญหาน้ำท่วม การจราจรในกรุงเทพฯ การเร่งเร้าให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ความรวนเรในหลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การประกาศสงครามกับสื่อไซเบอร์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างแรกๆ ของการปะทะในหลักการ

ลองคิดดูให้ดีแล้วจะพบว่า เบื้องหลังทุกๆ นโยบายจะต้องมีหลักการที่อธิบายต่อประชาชนได้ ในกรณีที่มีลักษณะขัดผลประโยชน์ในหลายกลุ่มประชาชน กรณีนั้นก็ต้องอธิบายกันอย่างเต็มที่และอดทนจนกว่าจะพบทางออกที่สร้างฉันทามติหรือความขัดแย้งที่เบาบางที่สุด เพราะผู้กำหนดนโยบายจะต้องเลือกระหว่างทางเลือกต่างๆ ซึ่งจะมีผู้สมหวังและผิดหวังอยู่เสมอ

แต่ถ้าเบื้องหลังนั้นไม่ได้มาจากผลประโยชน์ของมหาชน แต่เป็นความต้องการของชนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจเหนือประชาชน ก็จะไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนพึงพอใจได้ สุดท้ายก็ต้องหาเรื่องเบี่ยงประเด็นกันไปจนไม่พูดถึง เหลือแต่เสียงกระซิบกระซาบและการนินทาว่าร้ายที่รัฐบาลนั้นเองต้องรับไป

คนที่คอยสั่งรัฐบาล (และรัฐบาลดันตอบรับ) ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วยเลย

รัฐบาลของประชาชนหลายคณะในอดีต จึงกลายเป็นหนังหน้าไฟ หรือนายหน้าของผู้มีอำนาจในเมืองไทยไปด้วยประการฉะนี้

บทบาทนี้จะดำเนินไปจนกว่ารัฐบาลนั้นจะเสื่อมความนิยม ขัดแย้งกันภายในจนเดินต่อไปไม่ได้ และก็จะพังไปเองในที่สุด

คนที่คอยสั่งรัฐบาลเขาก็จะยักไหล่ ตั้งรัฐบาลชุดต่อๆ ไปมาตายแทนเขาต่อไปโดยไม่รู้สึกรู้สมอะไรด้วย

รูปแบบนี้เห็นกันแล้วเห็นกันอีก ก็ยังไม่ค่อยเรียนรู้กัน หรือจะคิดว่าตัวเองมีคุณวิเศษยิ่งไปกว่าคณะอื่นๆ และไม่ถูกดูดเข้าสู่วงจรอุบาทว์เหมือนคณะอื่นๆ หรืออย่างไรก็ไม่รู้

กลับมาที่คำถามข้างต้นว่า หากสถานการณ์เกิดผันแปรขึ้นจริงๆ เราจะทำอย่างไรกับ รัฐบาลของเรา”?

สิ่งแรกคือต้องใจเย็นๆ แยกคนที่เป็น ของเขาและ ของเราออกจากกัน

บางคนขณะนี้อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จำต้องแสดงละครฉากสำคัญตรงหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีพฤติกรรมเบื้องหลังที่ส่อว่า แปรพักตร์ไปจากมวลชนประชาธิปไตย อย่างนี้ก็สงเคราะห์ในขั้นต้นไว้ก่อนว่าเป็น ของเรา

บางคนมุ่งหน้าทำงานรับใช้ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งมีอิทธิพลในรัฐบาลมากขึ้นก็ยิ่งรับใช้มากขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น พยายามตลอดเวลาที่จะลดทอนอำนาจน้อยนิดที่ประชาชนมีอยู่เพื่อจะเอา การบ้านไปส่งครูว่าตัวเองเป็นนักเรียนในโอวาท อย่างนี้ก็นับว่าเป็น ของเขา

คณะกรรมการมวลชนถูกตั้งขึ้นแล้วและจะทำงานแยกแยะ ของเขาและ ของเราเป็นหลัก

อีกอย่างหนึ่งคือเราควรมองรัฐบาลขณะนี้ว่า เสมือนกำลังทดลองประสานผลประโยชน์กันอยู่ ดูกันสักระยะหนึ่งว่าผลประโยชน์ของอำนาจเดิมกับผลประโยชน์ของอำนาจใหม่จะหาจุดร่วมที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้บ้างหรือไม่

การทดลอง อยู่ร่วมกันนี้เคยทำมาแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ และประสบความล้มเหลว

อยากลองดูอีกทีเมื่อเกือบ ๘๐ ปีให้หลัง ก็ถือเป็นการทดลองครั้งที่สองได้.

---------------------------------------------------------------------------------

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง อำนาจเบื้องหลังนโยบาย

โดย กาหลิบ


ถึงเวลาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอย่างนี้ สีสันของเกมการเมืองก็ทวีความเข้มข้นขึ้นด้วย เสียงของฝ่ายค้านดังพอๆ กับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็เป็นครรลองอันเหมาะสมหากไม่มีใครอยู่เบื้องหลังคอยเสียบฝ่ายค้านเข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีฉ้อฉลแบบเก่า แต่เมื่อการเมืองไทยยังไม่ปกติ เราก็ต้องจับตาทุกขั้นตอน และจับตาทั้งฝ่ายเขาและฝ่าย เรา

วันนี้คงไม่ต้องวิสัชนาเรื่องนโยบาย เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องแถลงเสียก่อน แต่อยากเตือนเพื่อนฝูงพี่น้องด้วยความรักใคร่ชอบพอกันว่า อย่าลืมว่าที่ได้มานั่งและยืนแถลงนโยบายในวันนี้ได้นั้น มันมาจากความช่วยเหลือของใคร?

พูดภาพรวมเลยทีเดียวว่า ศักดินา-อำมาตย์เขาสกัดกั้นอย่างสุดฤทธิ์มาตั้งแต่ปลายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๔๙ เพื่อมิให้แนวทางประชานิยมและรัฐบาลจากประชาชนมีอำนาจชี้นำบ้านเมืองนี้ได้นานนัก อุปกรณ์ของเขาก็มีตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย NGOs สายหมอประเวศฯ และเครือข่าย สหภาพแรงงานสายอนุรักษ์นิยม นักวิชาการสายสะพาย สื่อมวลชนสายหลวง สื่อมวลชนในอุปถัมภ์ของทหาร นักธุรกิจสัมปทานและเครือข่าย ๑๑ ตระกูล ผู้พิพากษาตระลาการบางส่วน ไปจนถึงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย

ถ้านโยบายประชานิยม หรือนโยบายชื่อใดก็ตามที่ทำตรงให้กับประชาชนดังมาจากคนเหล่านี้ ก็ต้องคอยเตือนกันไว้ว่าเขาไม่ได้คัดค้านนโยบายตามเนื้อผ้า แต่เขามีธงคัดค้านเพื่อโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายประชาชนเอาไว้แล้วล่วงหน้า

หน้าที่ของรัฐบาลคือมุ่งหน้าไปตามเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่ สดับตรับฟังเสียงข้างน้อย แต่ไม่ต้องเต้นตามทุกเรื่อง และไม่ลืมว่าได้รับอำนาจอันชอบธรรมมาบริหารประเทศโดยตรง

เรื่องอะไรจะไปชะงักเพียงเพราะถูกผู้ที่มีอาชีพ นายหน้ากล่าวทัก

รัฐบาลทุกชนิดมีไว้เพื่อการชี้นำและใช้อำนาจเพื่อบังคับทิศทางของประเทศทั้งนั้น การใช้อำนาจจึงถือเป็นหน้าที่อันพึงปฏิบัติ ไม่ต้องกระทำอย่างเหนียมอายหรือซ่อนเร้นเลย โดยเฉพาะรัฐบาลอย่างปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ยิ่งต้องแสดงว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ โดยใช้อำนาจผ่านตน

ส่วนจะใช้อำนาจนั้นอย่างเหมาะสมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องใช้กลไกหลายชนิดควบคุมเพื่อมิให้คิดกำเริบเสิบสานอยากเป็นเผด็จการเหมือนพวกศักดินา-อำมาตย์เขา

ทั้งหมดเพื่อหนุนให้ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกท่าน ได้โปรดใช้อำนาจของท่านให้เต็มที่ โดยไม่ลังเลเลย หากใช้อำนาจนั้นโดยถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาล

หากต้องชนกับแนวคิดที่ขัดขวางประชาธิปไตยจนอยู่ได้ไม่นาน ก็จงยอมรับ และออกมาสู้กับมวลชนอย่างมีเกียรติยศเสียในทันที

การเป็นรัฐบาลได้ยาวนาน แต่ต้องแลกกับหลักการเช่นว่านั้น อาจจะทำให้ศักดิ์ศรีของรัฐบาลเสื่อมโทรมลง สุดท้ายเมื่อการยอมรับนับถือจากประชาชนลดลงถึงขีดอันตราย ความชอบธรรมที่ประชาชนมอบผ่านชัยชนะในการเลือกตั้งก็จะลดลงจนหมดสิ้นไปได้ด้วย

จึงขอฝากไปถึงรัฐมนตรีบางกระทรวงที่เริ่มประสานเสียงกับอำนาจเก่า ให้ยุติท่าทีเช่นนั้นเสีย ท่านอาจอยู่ได้นานขึ้นสักสามเดือนจากการทิ่มแทงประชาชนเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ โดยหวังว่าเขาจะชื่นชมพอใจและเห็นเป็นพวก สุดท้ายเขาจะ ฆ่าท่านตามคนอื่นไปในไม่ช้า เขาแบ่งฝ่ายกับท่านมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วแต่ท่านไม่รู้ นึกว่าการสอพลอตื้นๆ จะตบตาเขาได้

ยิ่งเมื่อท่านกล้ายืนคนละซีกกับมวลชนผู้ชอบธรรม ทั้งที่ท่านเป็นหนี้บุญคุณประชาชนมาอย่างใหญ่หลวง เขายิ่งรู้ว่าเขาฆ่าท่านได้และจะไม่มีใครพุทโธให้

ใช้อำนาจให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกกาลเทศะ โดยไม่ต้องคอยให้เผด็จการบอกบท แล้วชีวิตจะเจริญก้าวหน้าในระบอบประชาชน.

-----------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทีมการเมือง โดย กาหลิบ


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ทีมการเมือง

โดย กาหลิบ    


จากรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ฝ่ายประชาชนบางท่านอาจยังไม่รู้ว่า เรามีทีมการเมืองแวดล้อมรัฐบาลอยู่อีกหลายตำแหน่ง ซึ่งหากทำงานด้วยอุดมการณ์และความเข้าใจลึกซึ้งก็จะช่วยพัฒนาระบอบประชาธิปไตยผ่านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มาก

    

ตำแหน่งที่กินเงินเดือนประชาชน ๔ ประเภทที่ขอเอ่ยถึงก่อน ได้แก่ เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    

เลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี (กรณีรองนายกรัฐมนตรีก็จะเป็น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี) จะมีคู่เดียวต่อหนึ่งรองนายกฯ หรือหนึ่งรัฐมนตรี ส่วนผู้ช่วยรัฐมนตรีก็มักจะมีเพียงหนึ่งเดียวต่อหนึ่งกระทรวง แต่จะตั้งมากกว่านั้นก็ได้ ส่วนตำแหน่งที่เรียกกันว่า ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้นมีหลายสิบตำแหน่ง บางคนก็ไปจิกเรียกจนเสียหายว่า เป็นตำแหน่งเทกระโถน จนแม้แต่ฝ่ายการเมืองด้วยกันก็ดูแคลนตำแหน่งนี้

    

ผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้กินเงินเดือนประชาชนทั้งนั้น แต่นั่นยังสำคัญน้อยกว่าโอกาสที่จะได้ช่วยรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรของประชาชนบริหารบ้านเมืองจนเกิดศรัทธามหาชนและช่วยยับยั้งฝ่ายตรงข้ามมิให้เดินเกมทำลายระบอบประชาธิปไตยรวดเร็วจนเกินไปนัก

    

ในฐานะประชาชนคนธรรมดา ขอฝากข้อคิดเล็กน้อยไว้ให้ท่านเหล่านี้ด้วยความปรารถนาดี 

    

เลขานุการรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งใกล้เคียงความเป็นรัฐมนตรีมาก บางท่านได้ตำแหน่งนี้เพราะโควต้ารัฐมนตรีหมด หรือผู้ใหญ่ขอเป็นคราวหน้า บางท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสของพรรคจนสมควรที่จะได้รับความรับผิดชอบในฝ่ายบริหารด้วย และบางท่านก็เป็นคู่บุญ (หรือคู่บาป) เคียงคู่มากับรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้นๆ จนต้องหอบหิ้วกันเข้ามา

    

รัฐมนตรีกับเลขานุการรัฐมนตรีบางคู่จึงสนิทสนมและรู้ทางกันดี แต่บางคู่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็มีไม่น้อย เพราะเกิดสภาพ “คุณขอมา” หรือ “ผู้ใหญ่จัดให้” โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มีอำนาจต่อรองน้อย ในทางการเมืองไทยเขาถือเป็นเรื่องธรรมดา 

    

ในระยะหัวเลี้ยวของการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างนี้ เลขานุการรัฐมนตรีสามารถช่วยงานของรัฐมนตรีได้หลายกรอบงาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลีลาของตัวรัฐมนตรีเองด้วยว่ายอมรับทีมงานมากน้อยแค่ไหน ต้องยอมรับว่าโอกาสของเลขานุการรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาสายตรงเป็นสำคัญ

    

งานแรกที่ช่วยได้คือการบริหารนโยบาย สามารถช่วยหาข้อมูลในเนื้องานและข้อมูลมนุษย์ (โดยเฉพาะในมิติการเมือง) มาช่วยรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีได้ นอกจากนั้น ยังช่วยสรรหาคนทำงานที่มีประสิทธิภาพและไม่มุ่งหน้าหารับประทานจนเกินควรมาเสริมทีม เม็ดเงินงบประมาณก็เช่นเดียวกัน ถ้าเลขานุการรัฐมนตรีมีความเชี่ยวชาญในการระดมทุนอย่างถูกต้อง และศึกษาการใช้เงินภาครัฐอย่างไม่สะเพร่า ก็จะช่วยงานบริหารของรัฐมนตรีของตนได้ไม่น้อย

    

งานที่สองคืองานการเมือง รัฐมนตรีมักจะยุ่งวุ่นวายอยู่กับงานในหน้าที่ เลขานุการรัฐมนตรีควรช่วยรักษาฐานความสนับสนุนจากมวลชนกลุ่มต่างๆ ไว้ให้มั่นคง ถ้าเก่งกว่านั้นก็ควรช่วยขยายฐานให้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย 

    

ทั้งหมดนี้หมายรวมถึงมวลชนคนเสื้อแดงที่หลายคนพยายามไม่พูดถึง เลขานุการรัฐมนตรีควรแลเห็นโอกาสที่กระทรวงทบวงกรมของตนเองจะอำนวยประโยชน์แก่มวลชนที่เสียสละต่อสู้เพื่อความถูกต้องดีงาม และความเป็นประชาธิปไตยตลอดมา ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใส่ใจต่อเสียงยั่วเย้าจากขี้ข้าของฝ่ายตรงข้ามเลย

    

งานสุดท้ายในระยะนี้คือเลขานุการรัฐมนตรีสามารถช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกับพรรค ซึ่งนานไปก็มักจะห่างกันไปด้วยภารกิจ หากเรารักษาพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองได้ พรรคก็จะมีมวลชนและความแข็งแรงพอที่จะปกป้องรัฐบาลในยามวิกฤติได้

    

ที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ก็สามารถนำคำแนะนำต่อเลขานุการรัฐมนตรีไปประยุกต์ใช้ได้ 

    

ส่วนใหญ่ที่ปรึกษารัฐมนตรีจะเป็นนักการเมืองอาวุโสมีประสบการณ์ ก็อาศัยท่านแบบนั้น เพราะรัฐมนตรียุคนี้หลายท่านก็ยังอ่อนเยาว์ในอายุและความเชี่ยวชำนาญทางการเมือง 

    

ผู้ช่วยรัฐมนตรีน่าจะเลือกผู้มีประสบการณ์ในการบริหาร แล้วเอามาช่วยกันให้ตรงประเด็น

    

ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีหลายคน เรียกมาคิดงานเหมือนอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณฯ เคยนำนายทหารและตำรวจชั้นนายพลระดับ ดร. มาใช้งานในทีมงานบ้านพิษณุโลกก็ได้ เพราะบางคนก็มีประสบการณ์และมีพลังงานในตัวมาก งานใหม่ๆ ที่ยังเอาเข้าสารบบราชการไม่ได้ คนในตำแหน่งนี้ก็สามารถดูแล “โครงการสาธิต” หรือ “แปลงทดลอง” ได้ ก่อนจะเอาผลมาปรับใช้เป็นนโยบายต่อไปในอนาคต 

    

เอาตำแหน่งมาแค่พิมพ์นามบัตรและเตร็ดเตร่ไปมาอย่างเดียวเสียดายนัก.


-------------------------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รัฐมนตรี โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง รัฐมนตรี

โดย กาหลิบ


ได้แนะนำไปอย่างประชาชนถึงท่านเสนาบดีแล้วว่า รองนายกรัฐมนตรีชุดล่าสุดของรัฐบาลเลือกตั้งควรทำอะไรบ้าง คราวนี้ก็ถึงท่านรัฐมนตรี เพราะแต่ละท่านคือกลไกสำคัญในการถ่ายทอดอำนาจที่มวลชนมอบให้ มาสู่ผลงานที่จะช่วยยกคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศและสร้างศรัทธาให้กับรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น

รัฐบาลของประชาชนย่อมต้องฟังเสียงรอบข้างทั้งหมด จะไปเลือกฟัง สูงหรือดูถูก ต่ำอย่างศักดินาอำมาตย์เขาไม่ได้ ประชาชนอย่างเราๆ จึงไม่ได้มีเพียงสิทธิ์ที่จะแนะนำรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแสดงความเห็นต่อผู้ถืออำนาจแทนตัวเราที่เราเรียกว่ารัฐบาลนั้นด้วย

รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการช่วยพัฒนาประชาธิปไตยผ่านกลไกในกระทรวงของท่านได้หลายทาง ถึงแต่ละท่านต้องปฏิบัติตามกรอบนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเอาไว้และต้องมีวินัยต่อนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่รายละเอียดของการบริหารภาครัฐมีมากนัก ถ้าละเอียดรอบคอบหน่อยก็จะผันอำนาจอันมากมายนั้นมาเอื้อประโยชน์ต่อมวลชนผู้ด้อยทั้งอำนาจและโอกาสได้ไม่ยาก

เราคงลงรายละเอียดแต่ละกระทรวงกันไม่หวาดไหว แต่ภาพรวมของความเป็นรัฐมนตรีในเวลาอันวิกฤติเช่นนี้น่าจะพอบันทึกไว้ตรงนี้ได้

วลีที่ว่า รัฐมนตรีในเวลาอันวิกฤติ ก็หมายความว่า สภาวะที่เรียกขานกันว่า ปรองดองนั้นขาดความเสถียรยิ่งนัก เกิดเป็นคนไทยเราก็ชอบความสงบราบรื่น ไม่ชอบการเผชิญหน้า ไม่ชอบความขัดแย้ง สภาพปรองดองน่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่ความปรองดองที่ตั้งอยู่บนฐานของความอยุติธรรม ความใจดำเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจ และความไม่เป็นประชาธิปไตยในสาระสำคัญ ย่อมเป็นสภาพที่ไม่อาจประมาทได้

เมื่ออำนาจเก่ายังวนเวียนอยู่เหมือนผีร้ายที่ไม่ยอมออกจากร่าง คอยทำร้ายและทำลายฝ่ายที่มาจากประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ตั้งเงื่อนไขห้ามผู้ประท้วงฝ่ายประชาชนเข้าสู่อำนาจรัฐโดยสิ้นเชิง การส่งเครื่องบินสอดแนมประเทศเพื่อนบ้านจนถูกเขายิงร่วง การเตรียมวางกำลังทหารทุกระดับในขั้นตอนการโยกย้ายที่จะมาถึง การสื่อสารว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น รัฐบาลทั้งคณะควรเห็นชัดว่าเวลาของตนมีไม่มากนัก ฝ่ายตรงข้ามเขายังเตรียมกลศึกอันซับซ้อนที่จะโค่นอำนาจของรัฐบาลที่ไม่ใช่ของเขาอยู่เสมอ

แต่รัฐบาลประชาธิปไตยจะใช้กำลังเข้ากำจัดกวาดล้างเขาเหมือนที่เขาทำกับเราก็คงไม่ได้ เพราะเรามีหน้าที่สร้างประเทศที่ดีกว่า การลดตัวลงสู่ระดับเดียวกับคนชั่วขยายความเสี่ยงที่จะชั่วตามเขาไป การป้องกันตนเองมิให้ถูกคนชั่วทำร้ายก็ต้องทำและทำให้ดีกว่าที่แล้วมา แต่แนวรบอันแท้จริงของฝ่ายประชาธิปไตยคือผลงานที่ช่วยลดปัญหาในชีวิตและเสริมอำนาจของประชาชน เพื่อประชาชนจะได้แข็งแรงขึ้นมาช่วยตนเองและช่วยเหลือกันและกัน งานนี้เป็นงานเร่งด่วนและต้องมีประสิทธิภาพสูง

ต้องระลึกไว้เสมอว่าฝ่ายตรงข้ามเขาแข็งแรงกว่ารัฐบาลของประชาชนและตัวประชาชนเองมากนัก

จึงขอฝากท่านรัฐมนตรีทุกกระทรวงในภาพกว้างไว้ด้วยความเคารพ

ประการแรก รัฐมนตรีควรเลือกงานที่เติมอำนาจให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วขึ้นมาทำก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หรือขยายโอกาส หรือจะได้ผลดีทั้งหมดนั้นก็ขอให้เร่งทำก่อน กลุ่มที่ควรเน้นในฝ่ายประชาชนคือ ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของอำนาจเก่า หรือไม่ได้เป็นลูกน้องโดยตรงของระบบราชการ หรือไม่ได้สังกัดกลุ่มเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ขึ้นตรงต่ออำนาจเก่า นั่นคือประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีมรดกตกทอด ไม่มีนามสกุลใหญ่ๆ เป็นเส้นสาย และเป็นผู้ที่สร้างตัวด้วยหนึ่งสมองและสองมือ กลุ่มเป้าหมายหนึ่งคือผู้ประกอบการ SMEs รัฐมนตรีควรหาทางเชื่อมโยงและสร้างประโยชน์ทางนโยบายให้กับมวลชนเหล่านี้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือชนบทก็จะหามวลชนเหล่านี้เจอทั้งนั้น เพียงต้องแลลึกกว่าสิ่งที่ระบบราชการ ชงขึ้นมา

ประการที่สอง กฎหมายและระเบียบต่างๆ มีไว้ให้แก้ไข อย่าไปนึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมนต์คาถาอันมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ข้าราชการผู้ภักดีต่ออำนาจเก่าจะบอกรัฐมนตรีเสมอว่า เรื่องนั้นทำได้ตามกฎหมาย เรื่องนี้ทำไม่ได้ตามกฎหมาย จนสุดท้ายรัฐมนตรีที่ขาดข้อมูลจะพบว่าตัวทำอะไรตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนไม่ได้เลย ขอให้ท่านนึกเสียว่า กฎหมายและระเบียบมีไว้ช่วยทำงาน หากสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคและหน่วงเหนี่ยวการทำงาน ก็ขอให้ท่านปรับเปลี่ยนเสียในทันที โดยทำตามกระบวนการปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบอย่างเป็นประชาธิปไตยและสื่อสารทำความเข้าใจกับมวลชนให้ชัดเจน

ประการที่สาม โปรดระวังระบบผลประโยชน์ที่รัฐบาลอำมาตย์ชุดเดิมๆ เขาทำไว้ โดยเฉพาะการทำทุจริตร่วมกับข้าราชการประจำบางส่วน เช่น โครงการมูลค่าต่ำกว่าสิบล้านบาทมอบปลัดกระทรวง แต่โครงการเกินกว่านั้นให้ถามรัฐมนตรีก่อน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ทำลายการต่อสู้กับระบอบศักดินา-อำมาตย์ในระยะยาวทั้งสิ้น อิทธิพลบารมีของรัฐมนตรีแต่ละท่านมีมากอยู่แล้ว แต่ละท่านต่างก็มีหนทางมากมาย ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่กัดเซาะทำลายระบบปฏิบัติการของฝ่ายประชาธิปไตยโดยตรง อย่าลืมว่าทุกวันนี้เราคือรัฐบาลชั่วคราวในสายตาของฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว เราต้องเร่งเสริมแรงมวลชนในการต่อสู้ในยกต่อๆ ไปก่อนที่เวลาในวันนี้จะหมดลง

และประการสุดท้าย ฝ่ายตรงข้ามเขาไม่เคยเล่นในระบบเพื่อทำลายเราและรักษาอำนาจของเขา หากเราหลับหูหลับตาอ้างความเป็นระบบ โดยเฉพาะระบบรัฐสภา อย่างไร้เดียงสา และไม่เตรียมเส้นทางอื่นๆ ไว้เลย สุดท้ายอำนาจรัฐที่เราได้มาจากประชาชนก็จะไร้ประโยชน์ จึงขอฝากแต่ละท่านนึกไว้เสมอว่า ปรองดองยังอยู่ในระยะทดลอง จะออกหัวออกก้อยอย่างไรไม่รู้เลย.

-----------------------------------------------------------------------------

สนับสนุน SMS-TPNews พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย Call center : 084-4566794-5 (จ.- ศ. 10.00-18.00น.)/e-mail :tpnews2009@gmail.com/บล็อก :http://wwwthaipeoplenews.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รองนายกรัฐมนตรี โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง รองนายกรัฐมนตรี

โดย กาหลิบ


เห็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนหนึ่งที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วทำให้รู้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ลืมพระราชพิธีและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์แน่ จึงไม่จำเป็นต้องเตือนกัน ปัญหาคือจะลืมฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำสายเดียวกันคือมวลชนไทยหรือไม่เท่านั้น

มวลชน พลเมือง ปวงชนชาวไทย ฯลฯ เป็นเจ้าของประเทศไทยก็จริง แต่จำนวนเกือบเจ็ดสิบล้านและไม่ได้เห็นหน้ากันทุกคนทุกวันก็ทำให้รัฐบาลเผลอลืมไปได้เหมือนกัน ผิดกับผู้มีอำนาจในโครงสร้างเดิมที่ถูกบังคับให้ได้เห็นหน้าและมีความสัมพันธ์กันในกิจกรรมต่างๆ ตลอดปีนั้น รัฐบาลลืมไม่ลงแน่

วันนี้จึงขอทำหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่ง คือเตือนรัฐบาลไว้เสียแต่ต้นว่าเราคาดหวังอะไรจากแต่ละท่านในคณะรัฐมนตรี วันหลังจะได้ไม่ตอกกลับให้เจ็บใจว่า ทำไมไม่พูดเสียแต่แรก?

เอาแค่รองนายกรัฐมนตรีเสียก่อนก็ยังได้

ตำแหน่งที่เรียกว่า รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นั้น รู้สึกจะกระจายหน่วยงานควบคุมดูแลกันอยู่ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์คงดูแลฝ่ายปกครองทั้งของรัฐและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นตามสายงานของกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกโกวิทย์ วัฒนะ และ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ใครจะได้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่รู้ แต่ภาพที่ยังเบลอกว่านั้นคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ที่เปิดโอกาสให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐ (บาล) ได้ทุกเมื่อ ส่วนหน่วยงานเฉพาะกิจอย่าง ศอฉ. นั้นใครจะดูแลหรือใครจะสั่งปิดกิจการก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน ยังไม่ต้องพูดถึงหน่วยงานข่าวกรองอย่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือหน่วยที่มีลักษณะข้ามกระทรวงอย่างกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งโดยทฤษฎีอยู่กับตำรวจแต่ในทางปฏิบัติอยู่กับผู้ที่มีอำนาจที่สูงส่งกว่านั้นมาก

ยังไม่ได้พูดถึงกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นผู้ดูแลความมั่นคงของรัฐซึ่งจะปล่อยให้ลอยเท้งเต้งไปตามใจของ มือที่มองไม่เห็นไม่ได้เป็นอันขาด

ไม่ต้องดูไกลนัก เอาแค่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาก็พอ หน่วยงานทั้งหลายที่พูดมานี้ ล้วนอยู่ภายใต้คนๆ เดียวคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่มีอำนาจชนิดเบ็ดเสร็จที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ระยะใกล้

คุณสุเทพฯ ใช้อำนาจได้มากขนาดไหน พวกเราที่ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐจนล้มตายกันเป็นร้อยๆ ได้รับรู้มาแล้วด้วยประสบการณ์ตรงไม่ใช่หรือ

หากเราห่วงหน้าตารองนายกรัฐมนตรีจนเกินไป ถึงขนาดต้องเจียดหน่วยงานแบ่งกันคนละนิดคนละหน่อยเพราะกลัวน้อยใจบ้างอะไรบ้าง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจเสียการควบคุมในสายงานด้านความมั่นคงไปได้ ยิ่งเขาเล่นเกมยื้ออำนาจไม่ยอมให้รัฐบาลของประชาชนได้มีอำนาจอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะเป็นผลร้ายมากขึ้นหากเรามาแตกแยกกันเอง

รวมความแล้ว นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะต้องดูแลงานนี้ชนิดรวมศูนย์ ไม่เป็นเบี้ยหัวแหลกหัวแตก จับตามองพฤติกรรมความเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์ และยึดเอาความเข้าใจและประสบการณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (การรัฐประหาร) ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ (พฤติกรรมปราบปรามประชาชนแบบพฤษภาทมิฬ) ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ (การปะทะกับประชาชน) และในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (การล้อมปราบประชาชน) เป็นที่ตั้ง

ส่วนจะบริหารในระดับโครงสร้างและปฏิบัติการ รวมถึงการวางกำลังกันอย่างไร คงไม่ต้องนำมาพูดในที่นี้

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประเด็นร้าวลึกๆ มาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่ร้าวกันในยุคเพื่อไทยเท่านั้น เรื่องนี้เป็นความร้าวเชิงโครงสร้างและอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจโดยตรง

กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวแถวของกระทรวงเศรษฐกิจที่ไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของรองนายกรัฐมนตรีคนใดโดยเบ็ดเสร็จมาก่อน แม้ในยุคที่ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง

แนวคิดโดยประเพณีคือ งานนโยบายเศรษฐกิจควรมีลักษณะถ่วงดุลและคานกัน ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลมากจนเกินไป

แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงาน ในกำกับของกระทรวงการคลัง ก็ยังถูกหุ้มด้วย อำนาจพิเศษนอกรัฐธรรมนูญตามแนวคิดว่านักการเมืองไว้ใจไม่ได้ สุดท้ายดูเหมือนจะกลายเป็นหน่วยงานประเภท untouchable ที่อยู่นอกวงโคจรของรัฐบาลไป

ประเด็นคือจะบริหารงานเศรษฐกิจที่ว่าด้วย ๑) การเงิน ๒) การคลัง ๓) การตลาด (ของชาติ) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่เปิดโอกาสให้แต่ละยูนิตพลิกพลิ้วตามกลไกตลาดและตามสภาพเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร

งานนี้แบ่งกันดูแลก็ไม่มีปัญหา แต่นายกรัฐมนตรีและ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าควบคุมกลไกการบริหารด้วยตัวเอง แทนที่จะมอบรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรูปแบบ ซาร์

การล้มละลายของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดของการกำหนดนโยบายต่อโลก

สุดท้ายคือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ซึ่งอาจรวมถึงสื่อภาครัฐด้วย

โจทย์ใหญ่มีเพียงหนึ่งเดียวคือ จะส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมของคนไทยไปสู่ระบอบอะไร หากเตรียมขี้ข้ารุ่นใหม่ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพียงรักษาความน้ำเน่าอย่างเดิมก็พอเพียง

แต่ถ้าเป้าหมายปลายทางคือ ความเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำนักงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ และอื่นๆ จะมีงานช้างรอให้ทำ

นายกรัฐมนตรีจะดูแลเอง หรือมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นโต้โผใหญ่สักหนึ่งคน ก็ได้ทั้งนั้น.

------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีหมิ่นฯ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง คดีหมิ่นฯ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดย กาหลิบ


ความเป็นเผด็จการในรัฐบาลเผด็จการไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เหมือนความเลวในหมู่โจรที่ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ความเป็นเผด็จการของรัฐบาลที่ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตย ย่อมทำให้ความด่างพร้อยนั้นผุดเด่นขึ้นมาราวกับรอยเปื้อนบนกระโปรงสีขาวทีเดียว

คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นคำตลาดของ ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ และ มาตรา ๑๑๖ ของประมวลกฎหมายอาญา ปัจจุบันได้เร้ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเมืองไทยและระดับโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งที่ครั้งหนึ่งคือเส้นที่ไม่มีใครกล้าข้าม จนเสมือนเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยไปแล้วนั้น ขณะนี้กลายเป็นเครื่องมือดีเยี่ยมในการประเมินระบอบไทยว่าเป็นประชาธิปไตยหรือมิใช่

บารมีของสถาบันกษัตริย์กลายเป็นต้นทุนที่ถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่คนใช้ก็ห่วงแต่การแก่งแย่งแข่งขันที่จะสำแดง ความจงรักภักดีให้คนเห็น และไม่ได้ใส่ใจเลยว่าผลกระทบบั้นปลายของสถาบันที่ตนนำมากล่าวอ้าง จนเสมือนเป็นอนิจจังท่ามกลางสิ่งที่เป็นนิจจังทั้งหลายนั้นจะเป็นเช่นไร

เอาเป็นว่า ได้เกิดการลองเครื่องลองของกันอย่างมโหฬารกันในสังคมไทย ตัวตัดสินไม่ใช่พวกที่คอยสอพลอตอแหลด้วยความจงรักภักดีปลอมๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากหมัดสุนัข

แต่อยู่ที่ปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศว่าจะตัดสินว่าอะไรผิดและอะไรถูก อะไรสำคัญและไม่สำคัญ

การตัดสินใจนั้น จู่ๆ ก็จะเกิดขึ้น โดยไม่เตือนใครและไม่ให้โอกาสกลับตัวกับใครเลย

ผู้ที่เราห่วงใยจึงไม่ใช่คนในระบอบเผด็จการนั้นๆ ซึ่งในที่สุดก็จะถูกตัดสินโดยกฎเหล็ก ๓ ข้อคือ กฎหมาย กฎเกณฑ์ทางสังคม (โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางสังคม) และกฎแห่งกรรมอยู่แล้ว

แต่เราห่วงรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งต้องยืนหยัดอยู่บนทางสองแพร่ง เหมือนคนว่ายน้ำที่ต้องแข็งแรงอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำสองสายที่ไหลสวนทางกันอยู่รอบตัว จนแทบจะขืนไม่อยู่ ประชาชนทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยากเห็นความจำเริญของรัฐบาลประชาธิปไตยทุกชุดอยู่แล้ว แต่การวางตัวในระยะ ปรองดองระหว่างสิ่งที่ปรองดองได้ยากเย็นแสนเข็ญนั้น ก็กลัวว่ารัฐบาลนั้นจะเสียหายไปด้วย

จุดนี้เองที่คดีหมิ่นฯ ก้าวเข้ามาแทรกตรงกลาง ทั้งคดีเดิมและคดีใหม่

กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในระหว่างทำคลอดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.บางเขนได้จับกุม นายนรเวศย์ ยศปิยะเสถียร อายุ ๒๓ ปี ผู้เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามหมายจับศาลอาญา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒

การจับกุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคมที่ผ่านมา

ข้อกล่าวหาได้แก่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ ขณะผู้ต้องหายังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว ได้คัดลอกข้อความบนเว็บไซต์แห่งหนึ่งทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อความ ที่มีลักษณะหมิ่นเบื้องสูงโดยคัดลอกมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว

ต่อมาเมื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ตรวจสอบพบ จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจบางเขน ให้ติดตามจับกุม ในการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนพร้อมส่งฝากขังต่อศาลอาญาจนได้รับการประกันตัว

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือผู้แจ้งความดำเนินคดีกับนายนรเวศย์ฯ ผู้เป็นนิสิตก็มิใช่ใครอื่น แต่เป็นอาจารย์ฝ่ายบริหารเองเลย

เขาคือ นายนิพนธ์ ลิ้มแหลมทอง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คดีนี้จึงเป็นคดีคลาสสิคที่ละม้ายคล้ายคลึงกันแทบทุกครั้ง นั่นคือ ดำเนินการจับกุมตัวแทนของกลุ่มสังคมต่างๆ ให้กว้างขวางทั่วถึง คราวนี้ถึงคิวของตัวแทน คนรุ่นใหม่ที่กำลังทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัวและสว่างทางปัญญามากขึ้นทุกวัน

จุดประสงค์ใหญ่ก็คือ กดขี่คนรุ่นหลังให้เกรงกลัวมหาภัยที่จะเกิดกับตน หากค้นหาความจริงได้มากพอ วิธีการก็คือการใช้มือเปื้อนเลือดของ ผู้ใหญ่ที่เป็นเครื่องมือรุ่นเก่าจนลืมไปแล้วว่าครั้งตนก็เคยมีอุดมการณ์และความปรารถนาดีต่อมวลมนุษยชาติมาเช่นเดียวกันลูกศิษย์ของตน

อย่าลืมว่าคดีนี้หมูหมากาไก่ก็อ้างตัวเป็นผู้เสียหายและเข้าแจ้งความได้ ตามกลยุทธ์การเมืองที่ทำให้ประชาชน ฆ่าประชาชนกันเองเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

คดีนี้ถือเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

วิธีการของรัฐบาลในการจัดการกับคดีนี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จึงจะเป็นบรรทัดฐานว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะเลือกปกป้องประชาชนบริสุทธิ์ที่เลือกตนเข้ามาสู่อำนาจอย่างไร ซึ่งจะมีคนจับตาอยู่มาก

นี่คืองานชนิดเกิดหรือดับทีเดียว.

-------------------------------------------------------------------------------

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สมดุลนอก-ใน โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง สมดุลนอก-ใน

โดย กาหลิบ


ในการปกครองบริหารรัฐ เราต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางอำนาจทั้งสองส่วนคือปัจจัยภายใน (internal/domestic determinants) และปัจจัยภายนอก (external / cross-national determinants) จึงจะถือว่ามองครบ รัฐหรือประเทศในโลกปัจจุบันต้องมองอย่างนี้ทั้งนั้น ในใจของผู้ปกครองอาจอยากปิดประเทศเป็นกบในกะลาเพื่อผูกขาดในอำนาจต่อไป แต่ก็จะทำไม่ได้โดยสะดวก ขนาดมหาอำนาจผู้มีอำนาจเหนือรัฐอื่นๆ ยังไม่อาจทำได้ และต้องน้อมยอมรับการมีส่วนร่วมของปัจจัยแทรกสอดเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวัน

การแทรกสอดเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยให้กับรัฐหรือประเทศนั้นๆ ได้หากบริหารด้วยสติปัญญาและความไม่ประมาท แต่ถ้าทำอย่างขลาดเขลาหรือเห็นแก่ตัว สถานการณ์ก็อาจเลวร้ายลงถึงขั้นต้องปฏิวัติโดยประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งจะทำให้บอบช้ำมาก

รัฐบาลโดย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้

หลายปีมาแล้วที่ปัจจัยภายในของไทยคือตัวกำหนดแนวคิดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและในการบริหารจัดการประเทศ โดยแทบจะลืมปัจจัยภายนอกไปเลย

คิดกันอย่างกระเส็นกระสายบ้าง ก็เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศแบบระทึกใจ ที่เขาเรียกกันว่า foreign intrigues เช่น ซีไอเอแอบหนุนฝ่ายตรงข้าม เพื่อนบ้านแอบส่งอาวุธเข้ามาหนุนการสู้รบในประเทศ เป็นต้น ราวกับจะสร้างภาพยนตร์เอาไว้ฉายดูเล่น

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ การแข่งขันและการเติมเต็มระหว่างชาติในทางเศรษฐกิจ การใช้สื่อที่มีลักษณะไร้พรมแดน การหลอมรวมและขัดแย้งทางวัฒนธรรม ความเป็นพลโลก (ที่ตีคู่ไปกับความเป็นพลเมืองของแต่ละชาติ) และการพัฒนาทางนวัตกรรม/เทคโนโลยี

สิ่งเหล่านี้ห่างจากประเด็นภายในที่เราสนใจกันนักหนา ไม่ว่าการต่อสู้ระหว่างไพร่-อำมาตย์ การขับเคลื่อนขบวนการเสื้อแดง บทบาทในเชิงสาระและสัญลักษณ์ของชนชั้นบนกับผู้มาใหม่อย่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และอื่นๆ หรือไม่?

คำตอบคือ ใกล้กับตัวเราอย่างที่สุด ใกล้มากกว่าที่เราเคยนึก ใกล้กว่าที่เราอยากยอมรับ

รัฐบาลชุดใหม่ของไทยเกิดขึ้นในขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังจับตามองว่าสหรัฐอเมริกาจะหาทางออกทางเศรษฐกิจให้กับตนเองอย่างไร

บารัค โอบาม่าอยู่ในสภาพว่ายวนอยู่ในบ่อแคบๆ ต่อให้ฉลาดหลักแหลมอย่างไรในการสื่อสาร ก็ไม่อาจแทนที่ยุทธศาสตร์แท้จริงที่คนเขากำลังรอคอยและยังไม่ได้รับจนบัดนี้

เกิด รัฐประหารในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ขององค์กรโลกที่มีบทบาทสูงสุดแห่งหนึ่งในการจัดการเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์โดยอาศัยเหตุผลในเรื่องชู้สาว ก่อนนำตัวแทนของสหภาพยุโรปอย่าง คริสทีน ลาการ์ด เข้ามาสวมตำแหน่งแทน

โอกาสที่สหภาพยุโรปจะ แทนที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้จัดการเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในมือ จะจัดการได้หรือไม่ก็ต้องดูกันต่อ

จีนเพิ่งแถลงข่าวที่ฟังแล้วน่าทึ่งและน่าขำไปพร้อมกัน รัฐบาลปักกิ่งบอกกับโลกว่ายินดีเข้าร่วมในกระบวนการเยียวยา (bail out) เศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านการทหารและความมั่นคงเสียบ้างก่อน

ฟังดูแล้วเหมือนเกิดสิ่งที่ฝรั่งเขาใช้สำนวนว่า เปลี่ยนหัวโต๊ะ (turn the table) อย่างไรชอบกล จู่ๆ จีนกลับเป็นฝ่ายบอกสหรัฐฯ ว่าต้องมีนโยบายการทหารและความมั่นคงอย่างไร ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพกึ่งศัตรูกันมานานหลายสิบปี

บรรยากาศอย่างนี้ย่อมส่งผลที่กว้างขวางและลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจโลก

ยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ดูจะยังว่ายวนหาทางออกไม่ได้ เศรษฐกิจโลกก็เหมือนคนกลั้นหายใจอยู่ในน้ำ จะหมดแรงร่วงผล็อยเมื่อใดก็ไม่รู้

รัฐทุกรัฐรวมทั้งไทยจำต้องตระหนักในความจริงข้อนี้และเตรียมเชื่อมโยงการจัดการเศรษฐกิจในประเทศกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม

โปรดอย่าหมกมุ่นกับอันตรายจากเจ้าของบ้านเพียงอย่างเดียว อย่าลืมด้วยว่าบ้านหลังนี้ยังอยู่ในป่าและอยู่ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ที่ล้อมรอบบ้านนั้นด้วย.

-----------------------------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำอันตราย โดย กาหลิบ


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง น้ำอันตราย

โดย กาหลิบ


    

น้ำท่วมฉับพลันในหลายพ้ืนที่ภาคเหนือขณะนี้ กำลังสร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับพี่น้องประชาชน หากท่วมขังนานกว่านี้ ปัญหาก็จะบานปลาย และทำให้เดือดร้อนมากยิ่งขึ้น นี่กลายเป็นบททดสอบแรกของรัฐบาลใหม่ที่น่าจะนับหนึ่งในวันนี้ด้วยการได้ตัวนายกรัฐมนตรีก่อนหนึ่งคน ซึ่งจะตามมาด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ

    

บททดสอบนั้นมิใช่วัดว่า จะพูดผ่านสื่อเก่งหรืออย่างเฉลียวฉลาดทางการเมืองขนาดไหน และก็มิได้วัดตรงที่สั่งข้าราชการปาวๆ โดยตัวไม่ลงไปบริหารเอง แต่อยู่ตรงที่การนำของนายกรัฐมนตรีกับการทำงานอย่างเป็นระบบและเป็นทีมของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอยู่ที่บทบาทประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ที่เกิดปัญหาว่าจะทำงานในเชิงพรรคและรัฐบาลควบคู่กันไปได้โดยมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ 

    

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรถือโอกาสนี้รวมอำนาจการบริหารมาสู่รัฐบาล โดยเอาประโยชน์ของประชาชนผู้เดือดร้อนเป็นที่ตั้ง รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาใช้วิธีประสานประโยชน์กับระบบราชการ ในทำนอง “แบ่งกันกิน-แบ่งกันใช้” อำนาจบริหารและการปฏิบัติจึงกระจายออกไปสู่กลไกราชการ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองเล่นการเมืองกันอย่างเดียว รัฐบาลใหม่ที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างท่วมท้นต้องแก้กลไกนี้ก่อน 

    

กรณีน้ำท่วมจึงเปรียบเสมือนของขวัญในทางบริหารสำหรับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมองให้ทะลุและทะลวงท่อให้สำเร็จ

    

น้ำท่วมเป็นปัญหา ๒ ระดับอยู่เสมอ นั่นคือ ระดับเฉพาะหน้า และระดับโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ทั้งในเรื่องการช่วยชีวิตและกู้ทรัพย์สิน ต่อมาก็คือปัจจัยสี่ที่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งต้องเร่งเติมให้กับประชาชน เรื่องนี้ต้องทำก่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละพื้นที่ตลอดจนผู้สมัครพรรครัฐบาลที่พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้ง สามารถเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างสวยงาม

    

แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้งได้เคยคิดไว้แล้วอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแนวคิดผันน้ำจากภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ขึ้นมาใช้ในตอนบนและใช้ในภาคอีสานยามแล้ง เรื่องนี้ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือ mega project ที่สำคัญโครงการหนึ่งในขณะนั้น 

    

ความคิดแก้ไขปัญหาในระดับพื้นฐานในเรื่องนี้จึงมีอยู่ โครงการที่ลงลึกและบริหารเสียใหม่จากต้นเหตุจะช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของพี่น้องที่ยากจนได้อย่างมหาศาล และสามารถทำได้จริง

    

หากได้ทำ

    

คำสำคัญอยู่ตรงนี้เอง

    

เพราะท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลเลือกตั้งได้เรียนรู้อย่างเจ็บปวดว่า ในบ้านเมืองนี้ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและบริหารอย่างเป็นระบบ เป็นของที่เกินเอื้อม เพราะอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยบางอย่างจะคอยทำตัวเป็นอุปสรรคสกัดกั้นมิให้ทำได้ โดยอ้างเหตุผลเก่าแก่ว่ามีทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ก็ขาดความรู้ความชำนาญ ใช้สื่อมวลชน นักวิชาการ ข้าราชการในสังกัดเป็นเครื่องมือในการส่ือความทำนองนี้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบจนมติมหาชนหลงตาม

    

แต่สุดท้ายก็เข้าใจได้เองอย่างซาบซึ้งว่า ไม่ใช่เพราะความผิดของรัฐบาล แต่เพราะทรัพยากรน้ำได้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้มีอำนาจในเมืองไทย 

    

จะเพราะลุ่มหลงว่าตนเท่านั้นที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้ 

    

หรือหวังใช้ภาวะ “น้ำเกิน-น้ำขาด” เป็นเครื่องมือทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยากจนต่อไป เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าหากน้ำถึงคนอย่างเหมาะสมและทันการณ์ ชีวิตเขาจะยกระดับขึ้นมากในทุกด้าน จนเขาอาจชี้มือมายังกลุ่มคนที่ทำให้ความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองไทย และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถึงขั้นพื้นฐานได้

    

เพราะอะไรไม่ต้องมาตอบกันตรงนี้ สถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่เป็นจริงจะช่วยเปิดตาให้สว่างและตอบคำถามสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศได้เอง

    

หากรัฐบาลคิดแค่หาเสียงไปวันๆ กับการแก้ไขปัญหาน้ำ เขาคงไม่ว่าอะไร

    

แต่ถ้ามุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบทั่งประเทศ ถึงขนาดจะเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศได้ ขอแนะนำว่าจงสร้างความแข็งแรงทางการเมืองเสียก่อน

    

เพราะงานนี้เจอของแข็งแน่.


------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"จักรภพ" ขอบคุณพี่น้องเสื้อแดงช่วยเคลียร์ซากบ้านไฟไหม้



กราบพี่น้องเสื้อแดงที่รักและเคารพ

ได้รู้ข่าวว่า พี่น้องเสื้อแดงจำนวนมากได้ประสานกับคุณพ่อคุณแม่ของผม และอาสามาช่วยรื้อบ้านของเราที่ถูกไฟไหม้หมดทั้งหลังเมื่อ ๑๐ เดือนก่อน

จนเวลานี้ก็ยังช่วยกันรื้อถอนอยู่ ผมรู้สึกซึ้งใจที่สุดที่พี่น้องนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ของผมที่อยู่ในวัยชรามากแล้ว

น้ำใจที่พี่น้องแสดงต่อคุณพ่อคุณแม่ของผม เท่ากับเติมกำลังใจให้ตัวผมที่อยู่ห่างไกลด้วย เห็นอย่างนี้แล้ว ทุกๆ คนที่กำลังต่อสู้เพื่อให้เมืองไทยของเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็เกิดพลังขึ้นในตัวอีกมาก

ผมขอกราบขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่แสดงน้ำใจในครั้งนี้มาด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจอย่างยิ่งครับ

ด้วยความรักและเคารพ

จักรภพ เพ็ญแข


วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมืองสัญลักษณ์ โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง เมืองสัญลักษณ์

โดย กาหลิบ


ความเก่งฉกาจอย่างหนึ่งของระบอบเผด็จการไทย คือการสร้างภาพลวงตาให้คนเชื่อได้ว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ผู้รับเชื่อก็คือคนไทยในประเทศส่วนหนึ่ง คนไทยในต่างประเทศส่วนหนึ่ง และคนในโลกอีกจำนวนหนึ่ง

บุคลิกของผู้เผด็จการไทยคือ การรวบอำนาจอย่างเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันก็กระหายความรักใคร่นับถือจากคนทั้งหลาย ตามวิสัยคนเอเชียที่เป็นมนุษย์ประเภทรวมฝูง จึงต้องการภาพลักษณ์ส่วนตัวที่งดงามน่าเคารพ งานสร้างภาพและการประชาสัมพันธ์เชิงลึกจึงเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้

มองเผินๆ ก็เป็นเผด็จการที่น่ารัก น่าถนอม จนไม่รู้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยไปหาอะไร

นี่คือความสำเร็จของคนที่ป้อนยาพิษให้กับคนรอบข้าง แต่คนเหล่านั้นก็เข้าใจว่าเป็นวิตามิน

ความเป็นเผด็จการและภาวะที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่มิได้ จึงซ่อนอยู่ลึกๆ ในสังคมไทย ผู้ที่จะเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งต้องรู้จักถอดรหัสและแปลความจากสัญลักษณ์ต่างๆ เมื่อคนไทยเองยังยากจะถอดและมองก็ไม่ใคร่เห็น ประชาคมโลกจึงมองไม่ออกมานานหลายปีว่าปัญหาประชาธิปไตยเมืองไทยมันอยู่ตรงไหน

บางคนถึงกับพูดว่าเป็น ปัญหาในสรวงสวรรค์หรือ “Trouble in a paradise” ไปเลยด้วยซ้ำ

แต่ถ้าจะมองกันจริงๆ เพียงเวลาสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็บอกอะไรมาก

สัญลักษณ์ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ล้วนแสดงปัญหาในโครงสร้างการเมืองไทยทั้งสิ้น

วันจันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ คือวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชบิดามาเป็นองค์ประธานในการเปิดรัฐสภาชุดใหม่

พระราชกรณีกิจซึ่งโดยประเพณีเป็นของพระมหากษัตริย์ จนกลายเป็นบรรทัดฐาน เมื่อเกิดการเสด็จฯ แทนพระองค์ก็ทำให้หลายคนมองความเคลื่อนไหวเช่นนี้ในเชิงสัญลักษณ์​

อย่างน้อยก็เชื่อว่ามีความหมายที่น่าสนใจบางอย่าง ขณะนี้ก็ตีความกันอยู่ในเวทีที่ทำได้ และไม่เสี่ยงให้ใครเขามาจับตัวไปประหารเจ็ดชั่วโคตร ผลการตีความนั้นก็ชัดเจนเพียงพอ ไม่ต้องนำมาเสี่ยงพูดอย่างเฉพาะเจาะจงที่ตรงนี้อีก

สิ่งเหล่านี้คนวงในของระบอบเก่าเขามักจะพูดกันว่าเป็น การส่งสัญญาณ

แปลว่าผู้รับสัญญาณต้องคิดกันเอาเองว่าต้องปฏิบัติภารกิจอะไรต่อไปบ้าง ใครใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ใครใช้ปืนและอาวุธสงครามเป็นสดมภ์หลัก ใครใช้การอ้างรัฐธรรมนูญและระเบียบราชการ ใครหาเงินจากการเอาเปรียบสังคมที่ต้องคอยจ่าย ค่าต๋งชดเชย ฯลฯ ก็ต้องลืมตามองและเงี่ยหูฟังว่าเมื่อใดบทบาทของตนจะมาถึง

ความแนบเนียนของผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในเมืองไทยรวมถึงการออกคำสั่งโดยคำสั่งไม่ต้องผ่านปากออกมาเป็นหลักฐาน

ผู้ถูกกดขี่มานานๆ มักได้เรียนรู้ว่าสัญญาณใดเป็นอย่างไรและขยับทำหน้าที่ของตัวเองเสียก่อนจะถูกลงโทษโดยตรงหรือโดยอ้อม โทษฐานไม่รับสัญญาณและไม่ทำหน้าที่ของตน

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่ไปแล้วจนเหนื่อยอ่อน บทต่อไปก็น่าจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลปกครอง หรือองค์กรอิสระอื่นๆ รวมทั้งสถาบันในฝ่ายตุลาการออกมาทำหน้าที่ รับมือกับรัฐบาลของประชาชน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเป็นสาระหลักของระบอบประชาชนบ้าง

สัญลักษณ์ที่เพิ่งแสดงเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมานี้คือ การรับรองคุณจตุพร พรหมพันธุ์ด้วยเสียง ๔ ต่อ ๑ ให้ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทำให้เห็นชัดเจนทั่วเมืองว่า จะต่อสู้กับไพร่สามัญด้วยกันก็ทำไปเถิด กองทัพ องค์กรอิสระ หรือระบบราชการอย่างใดได้ทั้งนั้น

แต่ถ้าเผยอขึ้นมามากกว่านั้น ก็จะต้องเจอดี อย่างน้อยก็ต้องขู่เข็ญคุกคามจนถึงขนาดที่สำนวนโบราณเรียกว่าเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ จึงปล่อยตัวมาเข้าสภาผู้แทนราษฎรอย่างล่าช้าและในสภาพอิดโรยต่อหน้าธารกำนัล

สัญลักษณ์เหล่านี้ดารดาษไปทั่วเมือง ใครที่ไม่เห็นคือคนที่ไม่อยากมอง เพราะจะไปดับมายาทั้งปวงที่ตนกำลังเสพอยู่อย่างเมามัน

จนกว่าไฟจะลามถึงตัวนั่นแล.

-----------------------------------------------------------------------------

รวมเล่มบทความกาหลิบ (จักรภพ เพ็ญแข) เล่ม 1-4 : บทวิเคราะห์การเมืองเชิงลึก เข้มข้น ในยุคประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบเผด็จการฯ เล่มละ 100.- สนใจสั่งซื้อได้ที่ 085-5049944 ส่งตรงถึงบ้านขอเพิ่มค่าส่งเล่มละ 30.-

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รัฐบาลสมมติ โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง รัฐบาลสมมติ

โดย กาหลิบ


ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดจะได้จัดตั้งรัฐบาลตามผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ กันได้จริง ส่วนจะเป็นรัฐบาลตัวจริงขนาดไหน เป็นรัฐบาลตามสั่งที่คอยเงี่ยหูฟังอยู่ตลอดว่าทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ หรือเป็นรัฐบาลที่ฟังคำสั่งของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว กว่าจะสรุปได้คงหลายเดือน

ความจริงรัฐบาลทุกชุดก็สมมติกันทั้งนั้น และต่างก็มีสภาพเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ เมื่อเจ้าของพอใจ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารแทนเจ้าของก็อยู่ได้ เมื่อเจ้าของไม่พอใจ ส่งตัวแทนมาขับไล่อย่างรัฐสภา หรือรุมล้อมกันเป็นมวลชนที่ทุกคนยอมรับว่าไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลังขึ้นเป็นเวทีประท้วง รัฐบาลก็ต้องนับถอยหลัง หรือย้อนกลับไปสู่กระบวนการเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนส่วนมากยังเอาตัวเองอยู่

ถามว่าสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ดูความยากเย็นแสนเข็ญของการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ชัดแล้ว ประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งออกเสียงชัดเจนเมื่อวันเลือกตั้ง แต่สภาผู้แทนราษฎรก็เกิดไม่ได้เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ยอมให้เกิด กว่าจะรับรองแต่ละคน เราเห็นภาพผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนแทบต้องไปกราบกรานขอร้ององค์กรอิสระซึ่งเป็นเพียงคนหยิบมือเดียวในสังคม มากกว่ากราบกรานประชาชนในเขตเลือกตั้งด้วยซ้ำ

และสุดท้าย คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าเป็นผู้ต้องขัง ทั้งๆ ที่โดยหลักกฎหมายสากลแล้ว ผู้ต้องขังคือผู้ที่ยังมิได้ถูกชี้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดเลย อำนาจที่ละเมิดสิทธิ์ของคุณจตุพรฯ เที่ยวนี้จึงเหนือกว่าอำนาจของประชาชนชาวไทยมากนัก

ตกลงในประเทศนี้ใครใหญ่?

การจัดตั้งรัฐบาลที่เริ่มคุยกันมาหลายสัปดาห์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และยังไม่มีตัวนายกรัฐมนตรี ก็ส่อให้เห็นถึงปัญหาเดียวกันว่า เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงผ่านการเลือกตั้งมานั้นคงจะไม่ได้รับการยอมรับนับถือนัก

ผู้ที่อยู่ในโต๊ะเจรจาเล่าว่า ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนเขาดีดลูกคิดมาเสร็จสรรพว่า เขาต้องการตำแหน่งใดและใครบ้างที่จะเข้ารับตำแหน่งนั้นๆ เที่ยวนี้ชัดเจนว่าความสนใจของเขาอยู่ที่ตำแหน่งที่สำคัญ ๓ ตำแหน่ง ได้แก่

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เหตุผลก็ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงคุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมอำนาจอันแท้จริงของประเทศ สามารถยื่นมือเข้าไปใช้อำนาจทั้งของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองได้อย่างเป็นระบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้มีอำนาจเสนอลงนามในอนุสัญญาที่ทำให้การเข้าร่วมของไทยในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) สมบูรณ์แบบ และจะสามารถนำตัวฆาตกรฆ่าประชาชนในทุกยุคของเมืองไทยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสากลได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือผู้มีอำนาจและมีบทบาทขั้นต้นในการเปลี่ยนแปลงผู้นำเหล่าทัพได้ทุกเหล่าทัพ และสามารถจัดวางกำลังทางทหารให้เอื้อต่อฝ่ายใดก็ได้

สำคัญอย่างยิ่งต่อดุลอำนาจในระยะอันเปราะบางนี้

ขณะเดียวกันขบวนการประชาธิปไตย รวมทั้ง นปช. ฯ ซึ่งใหญ่ที่สุด ดูเหมือนกำลังถูกกดดันให้มีบทบาทแบบถอยหลังลงไป ด้วยวิธีการส่งสัญญาณต่างๆ ทั้งในฝ่าย เราและฝ่ายเขา

ระวังไว้ก็แล้วกันว่า จะถอยจนถึงขั้นที่ระดมกำลังกันมาช่วยรัฐบาลไม่ทันถ้าหากถูกเขารุกฆาตอีก

รวมทั้งการหลอกใช้รัฐบาลชุดนี้ มาทำลายขบวนการมวลชนที่ตั้งเป้าหมายเพื่อ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกด้วย

แนวโน้มของสถานการณ์การเมืองจึงยังไม่มีอะไรดีกว่าใน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ฝ่ายประชาชนมีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชและรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การกวนเมืองจนไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและการใช้องค์กรอื่นๆ ในการทำร้ายและทำลายรัฐบาลของประชาชนยังจะมีให้เห็นอีกมาก

รัฐธรรมนูญนั้น หัวเด็ดตีนขาด เขาก็ไม่ยอมให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามมติมหาชน

ท้ายที่สุดคุณทักษิณฯ เผลอตัวเดินทางกลับบ้านเมื่อไหร่ เขาก็จะเผยไต๋ออกมาจนหมดตัว ซึ่งก็อาจสายเกินไปสำหรับฝ่ายเรา เพราะในขั้นนี้ตัวบุคคลก็ยังมีความสำคัญต่อขบวนการ

การจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้จึงเป็นเรื่องสมมติ อย่าไปขัดแย้งโกรธเคืองอะไรกันมาก แต่โปรดระลึกไว้ว่าปัญหาที่นำเสนอมาล้วนเป็นเรื่องจริง ประมาทมิได้เลย.

----------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนตั้งแต่ "คุณจตุพร พรหมพันธ์" ยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต.