ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“จุดยืน” (๒) โดย จักรภพ เพ็ญแข


คอลุมน์ เขียนถึงคนรัก
ตอน "จุดยืน" (๒)
ที่มา : Red Power ฉบับที่ ๒๗ (กรกฎาคม ๕๕)


มวลชนที่รักและเคารพครับ

พวกเราสบายดีไหมครับ ผมหวังว่าท่านจะสบายกายและสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ถึงในใจจะไม่สบาย เพราะได้เห็นเล่ห์กระเท่และความชั่วร้ายของอำนาจเดิมอย่างกระจะตา ก็ขอให้รักษาร่างกายของท่านเตรียมไว้สำหรับขบวนประชาธิปไตยในปัจจุบันและอนาคต ถึงผมอยู่ห่างกายกับท่าน จนหลายท่านนึกเอาเองว่าผมคงทิ้งห่างจากมวลชนไปแล้ว บางครั้งก็เกิดข่าวลือต่างๆ นานาตามประสาคนที่อยู่ไกลกัน แต่ทำงานทุกอณูของชีวิตเพื่อการปฏิวัติประชาธิปไตยในเมืองไทยโดยตรง ขอให้ท่านมั่นใจและอย่าได้ห่วง งานสร้างประชาธิปไตยมีทั้งเปิดเผยและปิดลับ มีทั้งงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โปรดอย่านึกว่าการโผล่หน้าแสดงตัวต่อมวลชนเท่านั้นจึงจะถือว่าทำงาน วันหนึ่งเมื่องานของเราบรรลุผลบ้างแล้ว ผมคงมีโอกาสเล่าให้ท่านฟังกันได้ว่าเราทำอะไรกันไปบ้างและจะทำอะไรต่อไปอีก

สิ่งสำคัญที่สุดคือจุดยืน ในคอลัมน์ "เขียนถึงคนรัก" วันนี้ ผมจึงขอเสนอบทสัมภาษณ์ตอนที่ ๒ กับ "คุณจอม เพชรประดับ" เพราะแสดงจุดยืนของผมได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ขอเชิญรับความสำราญครับ......

จักรภพ เพ็ญแข

Core Respondence จอม เพชรประดับ จักรภพ เพ็ญแข

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

จอม                 ผมก็ได้ฟังคุณจักรภพได้พูดไว้เหมือนกัน การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรใน ๓ ส่วนนี้ครับ

จักรภพ           จริงๆ ไม่ได้พูดขึ้นมาก่อน ผมไปพูดคุยกับกลุ่มเล็กๆ เป็นการภายใน แล้วก็มีท่านหนึ่งถามขึ้นมาว่า ทำไมทางฝั่งประชาธิปไตยจึงไม่มีธงเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลและปฏิรูปกองทัพ เพื่อจะไม่ให้วงจรอุบาทว์ในการทำร้าย ฆ่าฟันประชาชนกลับมาอีก

ผมก็ตอบว่า สถาบันศาลกับสถาบันกองทัพก็ได้พูดชัดเจนแล้วว่าเป็นสถาบันที่เกี่ยวพันกับอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด พูดง่ายๆ คือเกี่ยวข้องกับคำว่าพระราชอำนาจ อย่างกองทัพเองก็ออกมาพูดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยุคนี้ว่า กองทัพเทิดทูนสถาบัน ใครจะมาละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ไม่ได้ กองทัพจะเอาชีวิตเข้าแลก ศาลเองก็พูดตลอดเวลาว่าเป็นการพิพากษาในพระปรมาภิไธย แล้วศาลเวลาออกมานั่งบัลลังก์ไม่ว่าจะเป็นองค์คณะหรือเป็นอย่างไรก็ตามก็จะอยู่ภายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ทุกครั้ง เป็นเหมือนกับองค์ประกอบของกระบวนการพิจารณาคดี
           
เพราะฉะนั้นโดยสัญลักษณ์และโดยเนื้อหา การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสถาบันศาลหรือสถาบันกองทัพโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่ได้

ผมเองถามตัวเองว่าลัทธิที่ว่ามีผู้รู้ดีกว่าประชาชน เวลามันปรับสู่ประชาธิปไตยจะทำยังไง อย่างในสหรัฐอเมริกาเขาไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ และก็ไม่มีผู้ดีเก่า เพราะต่างคนก็ต่างเป็นผู้อพยพกันมาทั้งนั้น ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว เขาก็ตกลงว่าระบบดีที่สุดคือเราต้องมาคานอำนาจกัน ก็คือสถาบันบริหารมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า สถาบันนิติบัญญัติมีสมาชิกวุฒิสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสองสภา แล้วก็สถาบันศาลก็คือ ศาลสูงสุด คือ supreme court มีผู้พิพากษาศาลสูงสุด ๙ คน และเลือกกันเองได้ประธาน ๑ คน เรียกว่า chief justice เป็นระบบที่เขาตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้วเมื่อเขาสร้างประเทศ สุดท้ายมันก็ยังได้ผลอยู่ มีวิกฤติ มีเรื่องระหองระแหง มีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์นินทากันมาตลอด แต่สุดท้ายระบบนี้ก็ยังมี ก็คือว่าเขาคานกันอยู่ เช่น ประธานาธิบดีเป็นคนเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดแต่สภาเป็นคนเลือก ศาลสูงสุดมีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเอาชนะประธานาธิบดีและสภาได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันกับการทำความผิดแต่ละครั้งก็จะมีปัญหาที่ทั้ง ๓ สถาบันต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สมัยประธานาธิบดีนิกสัน เรื่องวอเตอร์เกต สมัยประธานาธิบดีคลินตัน เรื่องเซ็กส์-โมนิก้า ลูวินสกี้, พอล่า โจนส์ ก็ต้องเอาทั้ง ๓ สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกัน

ผมกำลังพูดอย่างนี้ครับว่าการปฏิรูปศาล ผมว่าหลักการของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นและคานอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ มันน่าจะเป็นวิธีการปฏิรูปที่ดี และขณะเดียวกันก็จะเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์พ้นข้อครหาว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

พูดง่ายๆ ว่าถ้าหากศาลเป็นของประชาชน หรือศาลอยู่ภายในระบบการถ่วงดุลและคานอำนาจกัน เวลามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในความรู้สึกของคน คนก็จะไม่มองขึ้นไปในที่สูงมาก คนก็จะมองแค่ตรงผู้พิพากษา แล้วก็ตัดสินใจกันไป

ความจริงผู้พิพากษาในเมืองไทย ท่านมีระบบที่ดีนะ เช่น ท่านมีระบบศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น แล้วแต่ละศาลก็จะมีเหมือนกับคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งจะมีผู้พิพากษาอาวุโสอยู่ในนั้น แล้วก็ทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรอง ขนาดประธานศาลฎีกาซึ่งถือว่าสูงสุดของสถาบันยุติธรรม ท่านก็ยังมีคณะกรรมการตุลาการ ซึ่งท่านเป็นประมุขแล้วก็ต้องตัดสินภายใต้ระบบกลุ่ม ระบบองค์คณะ ระบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ทำไมสถาบันศาลจำเป็นจะต้องอ้างถึงพระราชอำนาจในการมาใช้ในการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีไหนก็ตาม

ผมคิดว่าถ้าหากสถาบันศาลหันมาผูกพันกับประชาชนมากขึ้น แล้วก็ลดความเกี่ยวข้องกับสถาบันกับงานของตนเองลง สถาบันตุลาการก็จะเป็นทางออกให้กับเรื่องต่างๆ มากขึ้น แต่แน่นอนครับ มันยังมีปัญหาอื่นอีกเยอะในการปฏิรูปศาล เช่น ระบบของการไต่สวนที่ยาวนานเจ็ดชั่วโคตร เป็นความกันตอนนี้ได้ผลอีกทีลูกโตแล้ว เข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว อย่างนี้มันก็ทำให้เกิดความไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่ามันไม่ได้ผลทางกฎหมายทันท่วงที อย่างนี้ศาลก็ต้องแก้ไข

ในสหรัฐอเมริกาเวลามีคดีเข้าศาลเขาจะไต่สวนคดีต่อเนื่องๆ จนจบ จะกี่เดือนกี่ปีก็ต่อนะ เพราะฉะนั้นทุกคนจะสามารถติดตามได้ว่าความยุติธรรมมันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าหากมีอะไรไม่ชอบมาพากลก็เห็นชัด แต่บ้านเราช้าจนลืมกันไปเลย จำไม่ได้แล้วว่าคดีนี้เป็นยังไง เรียกไปไต่สวน “งง” นั่นก็เป็นเรื่องต้องปฏิรูปด้วย แล้วก็เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยึดโยงกับประชาชนที่ผมพูดตอนแรกมันต้องหาวิธี

อย่างในสหรัฐอเมริกา ผมไม่ได้บอกว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุดนะ เป็นแค่แนวคิดหนึ่ง ก็คือเขาให้ผู้ที่มีคุณสมบัติในทางกฎหมาย เช่น ต้องเรียนมาดีกรีนี้ มีตำแหน่งอย่างนี้ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ไม่ใช่ใครก็ไปลงได้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการลงสมัครรับเลือกตั้งนี่แหละแต่เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติและไม่มีการหาเสียง เป็นเรื่องของการเลือก การตัดสินใจ คือเหตุที่เขาเอาประชาชนเลือก เพื่อเขาจะลากประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีด้วย ว่ามันมีความเป็นธรรมหรือไม่มี แต่แน่นอนครับ ระบบบางอย่างที่อเมริกามี ผมก็ไม่แน่ใจว่าพอมาอยู่ในเมืองไทยแล้วมันจะอลเวงไหม เช่น ระบบลูกขุน สมมุติว่าผมถูกกล่าวหาคดีฉ้อโกงแล้วผมขึ้นศาล ผมก็จะมีคน 12 คนซึ่งผมไม่รู้จัก ต้องให้แน่ใจว่าไม่รู้จักนะ มาฟังผมให้การในศาลว่าน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ แล้วเขามีอำนาจที่จะบอกว่า จักรภพ ผิดหรือไม่ผิด แล้วผู้พิพากษาซึ่งนั่งเป็นประธานในการประชุมอยู่จึงจะตัดสินว่า เมื่อเขาบอกว่าผิดแล้วต้องลงโทษอย่างไรตามกฎหมาย มันก็ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจคือผู้พิพากษากับคณะลูกขุน คือตัวแทนประชาชน แต่แน่นอนมันก็มีข้อเถียงเยอะ บ้านเรา สงสัยลูกขุนจะถูกซื้อตัว ตังค์หมด มีคนมาจ่ายตังค์ ก็ว่ากันไป แต่ผมยกตัวอย่างว่าเราต้องเริ่มพูดคุยกันเรื่องนี้ว่าวิธีการแบบไทยจะเอายังไง ที่จะทำให้ระบบศาลเป็นไปได้

ส่วนกองทัพผมคิดว่ากองทัพต้องเริ่มตระหนักว่าธงชาติมี ๓ สี คือ แดง ขาว น้ำเงิน สีแดงที่แปลว่าชาติ และสีน้ำเงินที่แปลว่าพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่สีเดียวกันนะ คนละสี คนละแถบ คิดกันมาแล้วนะว่าคนละแถบ เพราะฉะนั้นกองทัพนอกจากปกป้องสถาบันแล้ว กองทัพจะต้องปกป้องชาติ โดยแยกชาติจากพระมหากษัตริย์ด้วย

คือในวันนี้มีการพูดถึงเรื่องของการเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสองสิ่ง มันก็ทำให้เกิดผลอันหนึ่งก็คือว่าเราไม่สามารถจะแยกระหว่างสถาบันกับตัวบุคคลได้ เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ซับซ้อนเข้าใจยากเหมือนกัน ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานเขาจะแยกออกชัดเจนนะครับ เช่น ยกตัวอย่างว่า อย่างกษัตริย์สวีเดน คาร์ล ที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ เวลาท่านมาร่วมงานลูกเสือแจมบุรีในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ท่านจ่ายเงินเองนะ เพราะมาในฐานะคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ ไม่ใช่มาในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีของสวีเดน เพราะฉะนั้นคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ บางทีก็เป็นคนบางทีก็เป็นกษัตริย์ เพื่อเขาต้องการที่จะบอกว่าสถาบันใหญ่กว่าบุคคล

ตรงนี้ผมเองก็ไม่บังอาจที่จะชี้แนะว่าสมควรหรือไม่ในเมืองไทย เพียงแต่อยากจะบอกว่าหลักคิดทุกอย่างต้องนำมาคิดหมด และที่สำคัญก็คือต้องยอมรับความจริงว่าของทุกอย่างที่อยู่คงทนทานในโลกนี้ต้องผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั้งนั้น ถ้าหากไม่ผ่านการพิสูจน์ก็รอเวลาที่จะมีคนมาพิสูจน์ ถ้าพูดไม่เพราะก็คือรอคนมาลูบคมลองดี ซึ่งมันไม่ดี

จอม                 มองอย่างไรกับขบวนการการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงและ
กลุ่มนิติราษฎร์ สองกลุ่มนี้จะเป็นขบวนการที่ให้ความมั่นใจได้แค่ไหนว่าจะนำไปสู่การที่ทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือมองว่าอย่างไร

จักรภพ          ความจริงชัดเจนมากครับ ขบวนการเสื้อแดงจะในนาม นปช. หรือกลุ่มใดก็ตามเป็นมวลชน แปลว่าประชาชนที่มีพลัง มวลชนต่างจากประชาชนตรงนี้ คือมีพลังบวกเข้าไป ส่วนนิติราษฎร์เป็นเสมือนที่ปรึกษามวลชน

คำว่าที่ปรึกษาหมายความว่า เขามีหน้าที่ในการเสนออะไรใหม่ๆ ให้มวลชนพิจารณา รับหรือไม่รับก็ไม่มีสิทธิบังคับ มวลชนอาจจะบอกว่าไร้สาระไม่ฟังก็ได้ หรือมวลชนจะบอกว่าดีน่าคิด แล้วเอามาทำอะไรกันต่อก็ได้

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อแดงกับนิติราษฎร์สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่อยากเห็นหรือไม่อยากได้ยินใครมาพูดว่า นิติราษฎร์เงียบหน่อยช่วงนี้ นิติราษฎร์อย่าไปพูดเยอะ เขาจะอย่างนั้นอย่างนี้กัน

จริงๆ เราควรจะขอบคุณความหลากหลายในขบวนประชาธิปไตยไทยด้วยซ้ำ ว่าในเมื่อมีคนจะปรองดองก็มีคนที่เตือนอยู่ว่าระวังหน่อยนะ ตรงนั้นตรงนี้ ไม่ดีใจเหรอ ผมว่าเราเป็นคนเราก็ดีใจนะว่ามีคนคอยเตือนเรา

เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือ นิติราษฎร์เป็นที่ปรึกษาและผมไม่ได้เชียร์เฉพาะนิติราษฎร์ ใครก็ตามที่มีสติปัญญา มีประสบการณ์ ควรจะเตือนทั้งสิ้น ควรจะรวมกลุ่มขึ้นมา อย่างไม่ต้องเรื่องการเมืองหรอกครับ เป็นต้นว่าเรื่องของธุรกิจเราก็สามารถที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างได้ เช่น นักธุรกิจที่มีประสบการณ์มารวมตัวกัน ไม่ต้องเป็นหอการค้า ไม่ต้องเป็นสภาอุตสาหกรรม ทำเป็นกลุ่มอิสระขึ้นมาเหมือนนิติราษฎร์ แต่ในทางการค้าธุรกิจ แล้วเตือนรัฐบาลก็ได้ว่า ภาษีอย่างนี้ไม่มีใครเขาลงทุนนะ แรงงานอย่างนี้ตายนะ ก็ควรจะมีนิติราษฎร์ในทางธุรกิจหรือในทางอื่นขึ้นมาเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเรามีวุฒิภาวะและลดการไปขึ้นกับตัวบุคคลแต่มาขึ้นกับพวกเรา ขึ้นกับองค์คณะของประชาชนมากขึ้น

จอม                 คิดว่าถึงที่สุดแล้วขบวนการของคนเสื้อแดงกับนิติราษฎร์จะสามารถ
เดินไปบนเรือลำเดียวกันได้ไหมครับ บนเส้นทางเดียวกันได้ไหม หรือจะมาความขัดแย้งกันในอนาคต

จักรภพ          พูดยากนะครับ ผมตอบได้เพียงแค่ว่าขณะนี้คนเสื้อแดงก็เรือลำหนึ่ง นิติราษฎร์ก็เรือลำหนึ่ง แต่ว่าเป็นเรือในขบวนเดียวกัน ลำใหญ่ลำเล็กแต่ว่ามาด้วยกันเป็นขบวนเรือ เหมือนพยุหยาตรา ต่างฝ่ายก็ต่างเห็นกันแล้วก็มีไมตรีต่อกัน โบกมือยิ้มแย้มแจ่มใส มีบางระยะเหมือนกันที่บอกว่า เรือนิติราษฎร์ไปขับห่างๆ หน่อย เดี๋ยวมาเปื้อนฉัน ก็มี แต่สุดท้ายก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ที่คุณจอมถามคือจะมาเป็นเรือลำเดียวกันไหม ผมเองตอบไม่ได้ แต่พูดได้เพียงว่าสุดท้ายถ้าเป้าหมายเดียวกันมันก็เหมือนนั่งเรือไปเจอกันที่ปากแม่น้ำ ซึ่งมันแคบและจะต้องผ่านคอขวดเพื่อเข้าไปที่ใดสักที่หนึ่ง มันอาจจะไม่มีทางเลือกต้องเหลือลำเดียว ซึ่งคนที่อยู่ในเรือใหญ่จะลงมาเรือเล็กหรือเรือเล็กขึ้นเรือใหญ่ก็ไม่รู้ ผมก็ไม่ได้มีความวิเศษวิโสที่จะไปวิเคราะห์ได้ รู้แต่เพียงว่าความคิดแบบกลุ่มนิติราษฎร์ ถ้าหากนำเสนอในเมืองไทยเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ถ้าไม่โดนโห่ก็โดนยิง แต่มาวันนี้ก็กลายเป็นกระแสธรรมดาคนก็นั่งฟัง แล้วที่ผมปลื้มใจมากก็คืออาจารย์ทั้งหลายท่านก็พูดเป็นภาษาวิชาการ มีทฤษฎีเยอะแยะ พี่น้องที่ดูเหมือนเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยก็นั่งฟังนั่งจด สนใจ ไม่เข้าใจก็กลับไปค้น แรงผลักดันตรงนี้มันมาจากไหน แรงผลักดันที่พยายามจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ตอบได้คำเดียวว่ามันมาจากความรู้สึกที่ว่าแนวทางนี้อาจจะเป็นทางออกของชีวิตเขาก็ได้

จอม                คุณจักรภพ มองอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าเป็นนักประชาธิปไตยไหมครับ หรือเป็นแค่นักการเมือง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

*********************************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, นิติราษฎร์, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สมัคร เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"จรรยา ยิ้มประเสริฐ" เปิดตัวหนังสือ "แรงงานอุ้มชาติ"




ที่มา : เว็บไซต์ไทยอีนิวส์ วันที่ 1 เมษายน 2555

ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศเขียน หนังสือที่ "ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน 

1.ทำไมคุณจรรยาเขียนเล่มนี้ออกมา และพล็อตสำคัญของหนังสือนี้คืออะไร และเพราะอะไรคนควรควัก 300 บาท ไปซื้อมาอ่าน


จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กเชื่อและพูดมาโดยตลอดว่า “ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้า ไม่ได้ต้องการผู้นำเก่งเท่านั้น แต่ต้องการประชาชนที่เก่งและรู้เท่าทันผู้นำที่เก่งด้วย”

แต่การเมืองไทยหรือจะพูดว่า วิธีการเมืองไทยที่เห็นและสัมผัสมาตลอดชีวิต เป็นเรื่องของการล่อหลอกและกล่อมเกลาประชาชนด้วยข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ “เท็จปนจริง” ที่แยกกันไม่ออก และมักจะนำเสนอข้อมูลเฉพาะ “ด้านเดียว" และ "ด้านดี” ของผู้นำ

ไม่ว่าจะมาจากสถาบันระดับสูง และ/หรือสถาบันนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารบ้านเมือง ที่อัดฉีดแคมเปญต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค จอมพล ป. ที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เป็นวิถีการเมือง “บนลงล่าง รองรับด้วยโครงสร้างชนชั้นในสังคมวิถี “ไพร่-ผู้ดี-สมมุติเทพ” ที่ให้ค่าและความสำคัญกับชนชั้นสูงมากกว่าประชาชนทั่วไป

ดูได้จากคำกล่าวของทักษิณที่นั่งเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัว และได้รับการต้อนรับอย่างหรูหราในทุกประเทศที่ไปเยือน แล้วบอกว่า "ผมคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด" นี่คือตัวอย่างของการให้คุณค่าตัวเองของผู้นำ

ซึ่งภาพที่ได้เห็นมันต่างกันอย่างสุดขั้วกับภาพของประชาชนที่ออกมาต่อสู้จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 หลายคนเสียสละเงินทองกันจนหมดเนื้อหมดตัวเพื่อการต่อสู้ แม้จะยากจนกว่าทักษิณหลายร้อยหลายพันเท่า

หลายคนต้องสูญเสียชีวิต บางคนเสียหัวหน้าครอบครัว และยังมีอีกนับร้อยที่ "สูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ" และ "อีกไม่ทราบจำนวนที่ต้องลี้ภัยในต่างแดน" เป็นการอยู่ที่ต่างแดนยากลำบากแสนสาหัสกว่าผู้ที่อ้างว่า "ได้รับผลกระทบมากที่สุด" เสียด้วย

ถ้าจะพูดแรงๆ ก็คงขอบอกว่าทักษิณพูดโดยไม่มีความรับผิดชอบมากๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้นำมวลชนที่มีวุฒิภาวะ จะไม่มีทางอ้างว่า "ผมได้รับผลกระทบที่สุด" เพราะ ความสูญเสียของประชาชนที่ไม่มีอะไรจะเสีย แต่ยอมเสีย มันเป็นอะไรที่ผู้นำต้องตระหนักถึงก่อนเสมอ

การเมืองชนชั้นสูงและนายทุนของไทย จึงเป็นการเมืองที่หล่อเลี้ยงประชาชนด้วยความฝัน ให้อยู่ด้วยการฝากความหวัง และรอคอยความช่วยเหลือไว้ ภายใต้วิถีการเมืองระบอบ “พ่อขุนอุปภัมภ์เผด็จการ” ที่ อ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้คำนิยามนี้ไว้ดียิ่ง

วิถีคิดแบบนี้มันควรจะเปลี่ยนได้แล้วในทศวรรษที่ 21 ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีได้หลายทาง และก็ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรจะต้องขวนขวายศึกษาและทำความเข้าใจสังคมและการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากการรับเพียงชุดข้อมูลด้านเดียวที่ถูกยัดเยียดให้ เพื่อการหวังผลทางการสร้างมวลชนสนับสนุนของผู้มีอำนาจ

อีกทั้งไม่ต้องพูดกันถึงลักษณะของข้อมูลที่แทบจะไม่เคยตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนระดับล่างที่ไม่ยอมจำนน

การนำเสนอของกระแสหลักทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชน ทั้งหมดทั้งมวลพุ่งไปที่ความสูญเสีย(ในผลประโยชน์และอำนาจ) ของชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น

เป็นการเมืองที่ไม่ว่า “ทักษิณจะไป อภิสิทธ์จะมา” หรือไม่ว่า “อภิสิทธิ์จะไป ยิ่งลักษณ์จะมา” ประชาชนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายอยู่ดี

หนังสือเรื่อง "แรงงานอุ้มชาติ" เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวของความเดือดร้อน การต่อสู้ และการไม่ยอมจำนนต่อนายทุน และรัฐ (รัฐบาลและลูกจ้างรัฐ) ของคนที่ถูกเรียกว่าชนชั้นล่าง - คนงาน กรรมกร ชาวไร่ชาวนาตาสีตาสา - จากบทเรียนการทำงานกว่ายี่สิบปี

และเป็นเรื่องราวที่เล็กได้เขียนไว้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องอาจจะผ่านตาผู้อ่านแล้ว แต่หลายเรื่องมั่นใจว่าผู้อ่านยังไม่เคยเห็น

และยิ่งไม่นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่รวมข้อเขียนกว่า 30 เรื่องไว้ด้วยกัน ที่หนาถึง 430 หน้า ซึ่งจริงๆ ควรจะตั้งราคาขายที่สูงกว่านี้ แต่ด้วยเราไม่ใช่ต้องการค้ากำไรเกินควร และต้องการร่วมแสดงสัญลักษณ์เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จึงตั้งราคาแค่ 300 บาท

ถ้าคนงานไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาจะเข้าใจได้ทันทีว่า “การทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้นั้น จะได้มาด้วย “การรวมตัวต่อรองทั้งกับนายจ้างและรัฐ ไม่ใช่ได้มาด้วยการร้องขอ” และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็มาจากการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ ทุนและนักการเมืองมาโดยตลอด

2. มีนักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักแรงงานที่เกลียดกลัวทักษิณและคนเสื้อแดงซะส่วนมาก เลยพลอยหันไปสนับสนุนเผด็จการ คุณจรรยาน่าจะเป็นเพียงในไม่กี่คนที่โปรประชาธิปไตย อะไรคือความแตกต่างและมีผลสะเทือนอย่างไรตามมา

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ใช่ค่ะ เล็กตัดสินใจไม่ร่วมกับ NGOs ที่มีการประชุมกันเมื่อปลายปี 2548 ว่าควรจะเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนของสนธิ ลิ้มทองกุล เพราะ “สนธิมีมวลชน” และก็ตัดสินใจไม่ร่วมกับกลุ่มที่ก่อร่างมาเป็น นปช. ในปี 2552 ที่บอกว่า “ต้องรวมตัวกับค่ายเพื่อไทยเพราะมีมวลชน”

แต่สุดท้ายทั้งสองทางเลือก ก็ใช้วิถีการโฆษณาและระดมมวลชนแบบเดียวกัน คือการอัดฉีดความดี และความเป็นสุดยอดมนุษย์ ของคนๆ เดียว ที่แต่ละฝ่ายเชิดชู และ/หรือ ชูและเชิด

ทั้งสองฝ่ายอ้าง “เพื่อประชาธิปไตยคนดี” กับ “เพื่อประชาธิปไตยคนเก่ง” แต่ไม่ได้พยายามกันเลยที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมแห่งการหล่อหลอมหลักการ "ประชาธิปไตยประชน"

อีกทั้งการประท้วงก็ใช้รูปแบบรวมศูนย์ ด้วยเวทีปราศรัยของแกนนำ และสั่งการเคลื่อนไหวจากแกนนำเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้งแกนนำโดยมวลชน ไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ในที่ชุมนุม

พันธมิตรนี่ไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ นปช. ก็เป็นการตั้งกันเองช่วงแรก พอถูกดันหนักขึ้นมาประกาศเลือกตั้งประธาน นปช. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ล็อคสเป็คชิงเลือกตั้งแกนนำระดับชาติก่อนแบบไร้คู่แข่งขัน (อ. ธิดา) แทนที่่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งแกนนำระดับฐาน (หมู่บ้าน จังหวัด) ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งแกนนำระดับชาติ ตามครรลองประชาธิปไตย “ล่างขึ้นบน” ที่ควรจะส่งเสริม

การเมือง 6 ปี ที่ผ่านมา จึงน่าเสียดายตรงที่การจัดตั้งหรือนำมวลชน เลือก “ยุทธวิธีทางการเมือง” มากกว่า “การเมืองหลักการ” เป็นการเมืองที่มุ่งจัดตั้งมวลชนขนาดใหญ่ และแม้ว่ามวลชนร่วมลงขันมาต่อเนื่องตลอดหลายปี แต่่แกนนำก็ไม่เคยวางใจและดูถูกมวลชนมาแบบเดียวกันนี้ทุกยุค ทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญไม่น่าเชื่อว่า นปช. ที่ดึงมวลชนใส่เสื้อแดงได้มากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ กลับไม่สามารถหล่อหลอมวิถี “การเมืองประชาธิปไตยแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน” และเลือกยุทธวิธีการทำงานเป็นกองกำลังของพรรคเพื่อไทย อย่างแยกไม่ออก

ผลสะเทือนและเป็นจุดหักเหของตัวเอง คือ การสังหารประชาชนเดือนเมษาและพฤษภา 2553 ที่ทำให้เล็กลุกขึ้นมาเขียนบทความ “ทำไมถึงไม่รักXXX” แล้วมีปฏิกิริยาของทั้งคนรอบตัว และคนอ่านค่อนข้างแรงทั้งในด้านบวกและด้านลบ

จนต้องตัดสินใจลาออกจากงานทั้งๆ ที่ไม่มีงานใหม่รองรับ ตัดสินใจไม่ติดต่อครอบครัวอีกต่อไป และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยจากต่างแดน ที่ให้พื้นที่เสรีภาพในการคิด เขียน และพูด ได้ดีกว่า “ยอมลำบากกาย แต่มีอิสระทางความคิด”

เล็กมองว่าประเทศจะก้าวหน้า วิถีการเมืองของทุกฝ่ายจะต้องไม่ผูกติดแค่ว่า "คนดีแต่ไม่เก่ง ไม่เป็นไร" หรือ "คนโกงแต่เก่ง ไม่เป็นไร" เราบอกไม่ได้ว่าคนดีนั้นดียังไง คนโกงนั้นโกงจริงหรือเปล่า คนเก่งนั้นเก่งอะไร เก่งแค่ไหน เรื่องพวกนี้มันกลายเป็นเหมือมายาคติมากกว่าที่จะยืนอยู่บนการตรวจสอบ และมาตรฐานด้านกระบวนการศาลสถิตยุติธรรมของไทยก็ถูกตั้งคำถามอีกเช่นกัน

เพื่อวิถีการเมืองที่จะหลุดพ้นจากวงจรอุบาดเดิมๆ สังคมต้องพร้อมที่ยอมรับว่า

1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนประเทศ และต้องไม่มีกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งหลาย โดยเฉพาะข้อเขียนในรัฐธรรมนูญที่ต้องไม่ละเมิดความเสมอภาคของประชาชน และมาตรา 112 ต้องถูกยกเลิก - ต้องไม่มีนักโทษการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าประเทศเปิดรับฟังความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน

2. สิทธิในการรวมตัวในนามสหภาพแรงงาน องค์กร สมาคม และสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างหรือกับรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม และการประท้วงของทั้งคนงานและเกษตร ไม่ใช่เรื่อง “ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายต่อนายทุน” เช่นที่รัฐบาล รัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งสื่อต่างๆ พยายามจะโจมตีทุกครั้งที่คนงานหรือเกษตรกรประท้วง

3. การยอมรับและส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเข้ามาต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตยในรัฐสภาตัวแทนของประชาชน

4. ปรับปรุงคุณภาพ ศักยภาพและการควบคุมราคาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งวางระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นต่อประชาชน ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคนในประเทศ

5. ประเทศไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันและเคารพกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมือง และบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองประชาชน ไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน อาทิ พรก. ฉุกเฉิน และ พรก. ความมั่นคง

6. จำเป็นที่จะมีการปฏิรูปการศึกษา การศาสนา การทหาร สถาบันข้าราชการ สถาบันการเมือง และโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมมานับตั้งแต่ 2549 ให้สอดรับกับอารยประเทศทั้งหลาย

7. การเมืองที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และสังคมต้องถูกหล่อหลอมให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และการต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

8. ต้องให้คำนิยามร่วมกันของคนในชาติใหม่ในเรื่อง "ชาติ" และ "ความมั่นคงของชาติ" ที่ปัจจุบันผูกขาดคำนิยามโดย "ทหาร" และ "ชนชั้นสูง" เท่านั้น

ฯลฯ

3. ทราบว่าได้ลี้ภัยการเมือง(self exile)ในต่างประเทศตั้งแต่ 19 พฤษภา 53 ไปอยู่ต่างประเทศ ฟังแล้วก็น่าจะดูดีเพราะไปอยู่ทางยุโรปคงสุขสบายดี ตอนนี้ยังทำงานในตำแหน่งเดิมก่อนลี้ภัยไหม หรือมีองค์กรใดสนับสนุนการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิืปไตยบ้าง หรือมีผลกระทบต่อเรื่องการงาน การเงิน ครอบครัวอย่างไรบ้าง

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: มันเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยว่าการอยู่ยุโรปนั้นสุขสบายดี เพราะยุโรปดูพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง คนที่นี่จำนวนมากอิจฉาคนไทยที่ “โยนเมล็ดพืชผักอะไรตรงไหนก็งอกงาม” และ “มีอาหารกินกันอย่างหลากหลายเหลือเฟือ” ไม่นับว่าเล็กอยู่ที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ค่าครองชีพแพงอันดับสามในยุโรปได้กระมังตามการสังเกตของตัวเองที่เดินทางทั่วยุโรป (รองจาก นอรเวย์ และสวิสเซอร์แลนด์)

แน่นอนว่าสองปีที่ผ่านมาเล็กต้องเผชิญกับความยุ่งยากและลำบากมากมาย ทั้งเรื่องอยู่เรื่องกิน และเรื่องขอวีซ่าอยู่ยุโรป ในขณะที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาการล้มละลาย และความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย

แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมา เล็กก็ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวในทุกทางที่สามารถทำได้ ทั้งทำการศึกษาและเขียนบทความการเมืองไทยต่อเนื่อง ทั้งติดตามปัญหาคนงานไทยที่ถูกพามาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ จัดผลิตสารคดีหลายเรื่องด้านแรงงานและการเมือง

และไม่นับว่าช่วยดูแลเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกสองสามแห่งโดยเฉพาะ www.timeupthailand.net อีกทั้งยังได้พยายามทำงานกับกลุ่มคนไทยที่ยุโรป และจัดรายการวิทยุทางอินเตอร์เน็ทอีก ทำให้ไม่มีเวลาไปทำงานหารายได้อื่นๆ

และนี่ก็เป็นปัญหาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้คือการไม่สามารถผ่อนส่งคืนเงินกู้กับธนาคารได้ จนธนาคารที่ประเทศไทยกำลังดำเนินเรื่องยึดทรัพย์ สมบัติชิ้นเดียวที่มีคือ "ไร่เปิดใจ" และก็เป็นที่มาของการต้องผลิตหนังสือเรื่อง “แรงงานอุ้มชาติ” เล่มนี้ เพื่อขายสร้างรายได้ทำกิจกรรมการเมืองเช่นที่ทำนี้ต่อไป และหวังว่าจะมีรายได้มากพอจะทำให้ไปจ่ายธนาคารไม่ได้ยึดบ้านตัวเองได้

และคงต้องขออนุญาตใช้โอกาสนี้ กล่าวขอบคุณคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนไม่น้อยเลย ทั้งที่เมืองไทยและที่ต่างประเทศ ทั้งคนไทยและเพื่อนฝูงคนต่างชาติ ที่ช่วยกันลงขันและสนับสนุนด้านการเงินมาบ้าง (เป็นการช่วยของผู้รักประชาธิปไตย โดยไม่มีนายทุนใหญ่ใดๆ หนุนหลังทั้งสิ้น) และแม้จะไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ก็ทำให้อยู่และทำงานได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ก็ต้องขอกราบขอบคุณทุกท่านที่อาจจะไม่สามารถเอ่ยนามได้มา ณ ที่นี้ด้วย

แม้แต่หนังสือเล่มนี้ก็ต้องขายแบบ "สั่งจองและจ่ายเงินล่วงหน้า" เพราะเล็กไม่มีเงินจ่ายค่าพิมพ์หนังสือ ต้องรวบรวมเงินจากผู้สั่งจองไปจ่ายค่าพิมพ์ เป็นการทำงานที่พึงพิงมวลชน (ไม่ใช่นายทุน) อย่างแท้จริง

ก็หวังว่าการตอบรับหนังสือจะเป็นไปด้วยดี ไม่ใช่เพราะต้องช่วยเล็ก แต่เพราะว่าหนังสือเรื่องแรงงานที่ให้ภาพองค์รวมของปัญหาแรงงานและโยงถึงต้นตอของการเมืองไทยเช่นนี้ ไม่ค่อยมีการผลิตออกมา การต่อสู้ของแรงงาน ปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจของทั้งสาธารณชนและรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมสหภาพแรงงานไม่ได้รับการส่งเสริมในประเทศไทย

4. มีคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับคุณจรรยามากไหม ที่ยังกลับประเทศไม่ได้ และต้องการหนุนช่วยอย่างไรบ้างจากองค์กรต่างๆ หรือเพื่อนมิตร

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เท่าที่ทราบและติดต่อกันอยู่บ้าง ก็มีกว่าสิบคน ทุกคนลำบากกันถ้วนหน้า ทั้งเรื่องการทำเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ก็ไม่ได้ง่าย เรื่องการขอวีซ่าอยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศที่เขาเลือกอยู่ก็ยุ่งยาก เรื่องเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง ต้องขายบ้าน ขายรถ และทรัพย์สินที่ขายได้เพื่ออยู่กินที่เมืองนอก หลายคนอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเล็กมาก – ฟังเรื่องของเขาแล้ว ไม่บ่นเรื่องตัวเองเลยค่ะ สงสารพวกเขาแทน

อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจช่วยกันตั้งกองทุนอะไรซักอย่างเพื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองของประเทศไทย มันจำเป็นยิ่งที่การเมืองไทยยังไม่สามารถปล่อยวางได้ ที่จะมีกองทุนตรงนี้ ให้คนกลุ่มนี้ที่ลี้ภัยสามารถทำงานเพื่อประชาธิปไตยของไทย แม้ว่าต้องอยู่ต่างแดนก็ตาม

ไม่ใช่ให้พวกเขาต้องอยู่อย่างปิดตัวและความวิตกกังวลว่าจะเอาชีวิตรอดที่ต่างแดนได้อย่างไร ในสภาพที่หลายคนไม่เคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก และภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง และที่สำคัญเล็กมองพวกเขาเป็น "ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งกับประเทศไทย" ที่ควรสนับสนุนให้ได้ทำงานเพื่อสร้างการตื่่นรู้ทางการเมืองไทยกันต่อไป

เสียดายทุกครั้งที่เวลาและสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกใช้คุ้มค่ากับสิ่งที่เขาควรจะทำ และถูกใช้ไปเฉพาะความสุขส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อความสุขของมนุษยชาติ

5. ในอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ใช้ฐานในต่างประเทศรณรงค์ปฏิวัติใหญ่ทั้งยุคเลนิน ซุนยัดเซ็็น โฮจิมินห์ รวมทั้งปรีดี พนมยงค์ กับ คณะราษฎร์ คิดว่าเวลานี้ขบวนทำนองนี้ของไทยมีหรือไม่และมีศักยภาพเพียงใด

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: เล็กคิดเรื่องนี้อยู่มากเช่นกัน และคิดว่าจะทำได้ไหมในศตวรรษที่ 21

ข้อสรุป ณ ตอนนี้ คือ การจัดตั้งจากต่างประเทศในยุคนี้ไม่ประสบความสำเร็จแน่ เพราะว่านักการเมืองแบบพรรคนายทุน และพรรคชนชั้นสูงก็รู้เกมส์นี้ และใช้การจัดตั้งมวลชนคนไทยจากต่างแดนเป็นฐานหนุนวิถีการเมืองของพรรคพวกตนเช่นกัน และพวกเขามีทุนมากกว่า และทำได้สำเร็จกว่า และไม่ปล่อยให้คนไทยในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเป็นอิสระจากวิถีการเมืองของเขา

เล็กได้เดินทางไปพบคนไทยที่ยุโรปในหลายประเทศ เพื่อพูดคุยกันเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย ทั้งยังได้พยายามเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งที่ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมัน แต่ก็พบสภาพที่ว่าคนไทยในต่างประเทศก็ไม่ต่างจากในประเทศนักคือมีกลุ่ม “รักทักษิณ” มีเงินทุนจัดตั้งดีกว่า และมีทักษิณเป็นตัวพรีเซนเตอร์ จึงเป็นขบวนใหญ่กว่ากลุ่มที่เอาเรื่องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ต้องยอมรับว่าคนไทยที่มาตั้งรกรากหรือทำงานที่ยุโรปมีฐานครอบครัวมาจากชนบท โดยเฉพาะจากอีสาน พวกเขาก็ฝากความหวังไว้กับทักษิณเยอะว่า อาจจะช่วยดันหรือเทงบประมาณมาช่วยพวกเขาสร้างเศรษฐกิจที่ยุโรปด้วย โดยเฉพาะทำร้านอาหารไทย นอกเหนือไปจากเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยในประเทศไทย

กระนั้น เล็กก็เชื่อว่า การก่อร่างของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการเมืองไทย ได้เริ่มขึ้นแล้วและต่อเนื่องที่ประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และเป็นการก่อตัวของกลุ่มการเมืองที่มีจำนวนไม่ใช่ไม่กี่คนเหมือนอดีต

ไม่ใช่การนำด้วยนักคิดที่โดดเด่นคนใดคนหนึ่งเช่นในอดีต แต่มีมากมายมหาศาลมากกว่าที่ผ่านมา และแต่ละกลุ่มก็เลือกยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นยุทธวิถีของตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง

เป็นการผลักดันให้การเมืองประเทศไทยหลุดพ้นจากวิถี “การเมืองเรื่องบุคคลและตระกูล” สู่ “การเมืองเรืองระบอบและหลักการ” และจากคนหลากหลายแนวคิดมาก และไม่มีตัวผู้นำโดดเด่นคนใดคนเดียว แต่เป็นขบวนการผู้ให้แนวคิดทางความรู้มากกว่า

เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ควรจะเป็น และสอดคล้องกับยุคสมัยแห่งโลกศตวรรษที่ 21 ที่วุฒิภาวะของคนส่วนใหญ่ในสังคมหลุดพ้นจากวิถีการเมืองผู้นำเผด็จการไปกันมากแล้ว และกระแสเทพนิยายและสมมุติเทพก็เป็นเพียงนิทานก่อนนอน ที่ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านให้ลูกฟังกันก่อนนอนกันแล้วเช่นกัน

สังคมต้องการความเป็นเหตุเป็นผล เป็นประชาธิปไตย มีความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างกันได้

และการเปลี่ยนแปลงก็ได้เริ่มแล้วมากมาย จากหลายกลุ่ม อาทิ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ การรณรงค์ของครอบครัวและเพื่อนนักโทษการเมือง และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องร่วมสองปีของกลุ่มญาติวีรชน 2553 ฯลฯ

มันเป็นวิถีการปูทางลงของการเมืองผู้นำเทวดา ตามวิถีสมมติเทพที่มีอัตตาสูงเทียบเขาพระสุเมรุ อย่างไม่หักโค่น เป็นการพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาจากชุดข้อมูลความรู้ของประเทศอื่นๆ “ถ้าอำมาตย์ไม่ลงตอนนี้ก็ถึงคราวแตกหัก” ซึ่งไม่มีใครต้องการให้ไปถึงขั้นนั้น

เพราะมันจะต้องมีคนล้มตาย และไม่มีใครอยากเห็นและเจ็บปวดไปกับการเสียชีวิตในประเทศไทยอีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีบทเรียนการยอมรับการเมืองวิถี "คนเท่ากัน" ด้วยสันติวิธี ในหลายประเทศให้เห็นและศึกษาเป็นตัวอย่าง

6. คุณอยากบอกอะไรที่สุดในเวลานี้

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ในฐานะของคนทำงานเขียน ก็คงบอกว่าอยากให้หนังสือขายได้ ฮา . .

ต้องขอบคุณทนายประเวศ ประภานุกูลมา ณ ที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง ที่รับอาสาโดยไม่เอาค่าใช้จ่ายในการติดตามเรื่องคดียึดบ้าน และเปิดบัญชีให้เพื่อใช้ในการขายหนังสือเล่มนี้ และดูแลค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นที่เมืองไทยให้

อยากบอกว่า สองปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองหยุดนิ่ง ศึกษา และวิเคราะห์บทเรียนและข้อมูลต่างๆ ที่ตัวเองสั่งสมมาตลอดกว่า 20 ปีของการเป็นคนทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่ได้มีโอกาสมากกว่าคนจำนวนมาก ในการเดินทางลงศึกษาปัญหาและการพัฒนาในร่วม 70 จังหวัดทั่วประเทศไทยและหลายสิบประเทศทั่วโลก

ซึ่งเมื่อคิดในแง่นี้ เล็กก็ใช้ทรัพยากรโลกไปเป็นจำนวนมาก เพื่อการศึกษาเรียนรู้ และก็ควรจะใช้มันอย่างคุมค่า และจำเป็นจะต้องร่วมเป็นหนึ่งในประชากรไทยและประชากรโลก ที่ร่วมใช้สมอง สองมือและสองเท้า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การละเมิดสิทธิ และการเอารัดเอาเปรียบคนชั้นล่างในสังคม หรือที่เรียกว่าประชาชนกลุ่มใหญ่ "กลุ่ม 99%"

เล็กทำงานด้วยความเชื่อว่า "จะต้องไม่ทำตัวเป็นผู้นำ" แต่เป็นคนทำงานการศึกษาให้ประชาชนเห็นปัญหาและตัดสินใจหาทางแก้ปัญหาร่วมกันตามวิถีการศึกษามวลชนของเปาโล แฟร์ นักปฏิวัติชาวบราซิล และก็ไม่ได้เชื่อว่าชาวบ้านบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่เล่นเกมส์ไปกับการเมืองด้วย

จากบทเรียนการคลุกคลีและทำงานต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านและคนงานมากมาย ทำให้ตระหนักว่า ประชาชนหรือคนที่ถูกเรียกว่าชาวบ้านนั้นฉลาดและเล่นเกมส์การเมืองต่อรองกับอำนาจตลอดเวลา ด้วยวิถีของเขา คือ "เมื่อการต่อรองและพูดกันตรงๆ มันมาด้วยลูกปืน พวกเขาก็ใช้ยุทธิวิถีขอความเมตตา ขอความช่วยเหลือ"

แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ ประชาชนคนไทยเปลี่ยนวิถีการต่อรองกับอำนาจเบื้องบนด้วย วิถีการร้องขอ ฟูมฟาย และปรักปรำกันไปมา แบบนี้เสีย ซึ่งเป็นวิถีที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการประเทศในระยะยาวและอย่างยั่งยืน

จากบทเรียนการพบเห็นบรรยากาศการเมืองในหลายประเทศ ทำให้ตระหนักว่าเพื่อประเทศก้าวหน้าและพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน "การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีวุฒิภาวะ และอย่างเสรี" คือ หัวใจของการพัฒนาที่แท้จริง

ประชาชนต้องหยุดกันตัวเองออกจากความรับผิดชอบในการบริหารประเทศมาสู่การคิดแบบใหม่ ที่ “ต่อรอง นำเสนอข้อเรียกร้อง และร่วมรับผิดชอบในทิศทางการพัฒนาของประเทศ" ไม่ใช่ลอยตัวทุกครั้งที่มีปัญหาด้วยข้ออ้างว่าเป็นเพราะ “ผู้นำไม่เก่ง นักการเมืองคอรัปชั่น หรือเพราะข้าราชการโกงกิน”

เป็นการเมืองที่คนทั้งประเทศก็ร่วมเหนื่อยด้วย สนุกด้วย และไม่ได้ฝากภาระการคิด การลงมือทำ การนำพาประเทศไว้กับผู้นำ และนักการเมือง หรือข้าราชการเท่านั้น

การทำให้คนในสังคมอยู่ได้อย่างเคารพศักดิ์ศรีในตัวเอง และศักดิ์ศรีของคนอื่นอย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนในสังคมต้องอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เคารพกติกาประชาธิปไตย และต้องขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา

และไม่ใช่ไม่มีคน "รู้ทันชาวบ้าน" และ ยังหลงคิดว่าชาวบ้านใสซื่อบริสุทธิ์และเดียงสา เช่นที่ NGOs หรือคนโปรชาวบ้าน เอาชาวบ้านเป็นฐานกิจกรรมทั่วไปมักจะนำเสนอภาพชาวบ้านกันแบบนั้น

อาจจะไม่ถูกใจคนอ่านเหมือนกันว่าถ้าจะบอกประชาชนคนไทย "ที่ไม่สี" หรือ "สีใด" ก็ตามว่า “หยุดเล่นการเมืองลอยตัวเหนือปัญหาและไม่ต้องรับผิดชอบ” แล้วลงมาร่วม "รับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ” กันเสียที เพื่อรวมกันนำพาประเทศไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียมกันโดยทุกคนในประเทศไทย

หนังสือต้องอ่านโดยนักเขียนต้องห้าม-จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมแรงงานที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองพิกลพิการในต่างประเทศเขียน หนังสือ"ต้องอ่าน"ผ่าลึกประเทศไทยผ่านมิติด้านแรงงาน ท่านสามารถสนับสนุนนักสู้ที่อุทิศตัวเพื่อการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยให้อยู่ ได้อย่างยืนหยัด


สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่ตัวแทนจำหน่าย โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอิมพีเรียลลาดพร้าว เลขที่ 224-242394-3 ชื่อบัญชี นุชรินทร์ ต่วนเวช จำนวน 330 บาท (หนังสือราคา300 บวกค่าจัดส่ง30บาท) และส่งอีเมลแจ้งรายละเอียดที่อยู่และการสั่งจองไปที่ tpnews2009@gmail.com หรือโทร. 085-5049944

**************************************************

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จุดยืน (๑) โดย จักรภพ เพ็ญแข


คอลัมน์ เขียนถึงคนรัก
ตอน จุดยืน (๑)
จาก Red Power ฉบับที่ ๒๖ (เดือนมิถุนายน ๒๕๕๕)

มวลชนที่รัก

ก่อนจะเขียนจดหมายถึงมวลชนคนรักกันเป็นฉบับที่ ๒ นั้น ผมได้รับการติดต่อขอสัมภาษณ์จาก “คุณจอม เพชรประดับ” แห่ง Voice TV ในห้วงเวลาเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเยือนนครเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อพบปะมวลชนจำนวนหลายหมื่นที่ข้ามชายแดนมารอพบท่านในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือในวันสงกรานต์ ผมตอบรับทันที เพราะ Voice TV เป็นสื่อที่ช่วยพัฒนาขบวนการประชาธิปไตยมาตลอดและตัวผู้สัมภาษณ์เองก็เป็นพี่น้องเพื่อนฝูงกันมานาน แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่คาดฝัน เพราะไม่นึกว่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีก

การบันทึกเทปสัมภาษณ์เป็นไปอย่างราบรื่น เวลาเป็นชั่วโมงๆ ผ่านไปโดยที่ผู้สัมภาษณ์และวิทยากรแทบจะไม่รู้ตัว ผมเองนึกนิยมอยู่ในใจว่า ทั้ง “คุณจอมฯ” และ Voice TV มีความกล้าหาญ เราต่างก็รู้กันว่าการเปิดช่องทางสื่อสารให้ผมขณะนี้ถือเป็นความเสี่ยง เสี่ยงอันตรายทั้งจากคนที่เห็นผู้ที่มีความคิดอย่างเราเป็นฝ่ายตรงกันข้าม และเสี่ยงความกดดันจาก “ฝ่ายเดียวกัน” ที่เขาเห็นว่าเราเป็นกระแส “เกินธง” ผมก็ได้แต่ขอบคุณที่ทีมสัมภาษณ์เขาเลือกมองการณ์ไกล ไม่ร้อนรนรอมชอมกับศัตรูของฝ่ายประชาธิปไตยจนฝ่ายตรงข้ามดูแคลน แต่ก็ไม่ลืมว่าทีมเดียวกันนี้เคยมาสัมภาษณ์ผม และถูกห้ามออกอากาศโดยผู้บริหารงานของทางสถานีเองมาแล้วครั้งหนึ่ง

และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารระดับใดไม่ปรากฏของ Voice TV สั่งห้ามออกอากาศการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนี้อีก คราวนี้ผมไม่ได้รับแจ้งโดยตรงจาก Voice TV แต่กลับทราบจากนักข่าวคนหนึ่งของเว็บไซต์ “ประชาไท” เนื่องจากมีผู้ส่งเทปสัมภาษณ์ดังกล่าวให้ “ประชาไท” พิจารณานำออกเผยแพร่แทน ผมเองไม่รู้จักผู้บริหารทั้ง Voice TV และเว็บประชาไทเป็นการส่วนตัว และไม่ได้สนใจจะสอบสวนอะไรในเรื่องนี้ ได้แต่นึกเอาเองว่า ยิ่งนานไปเรายิ่งเห็นความซับซ้อนของขบวนประชาธิปไตยในขณะนี้ คำว่า “เรา” และ “เขา” มีความหมายอันลี้ลับในตนเอง จนไม่อาจแยกพวกได้อย่างชัดเจนจนเกิดพลัง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง ไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก และไม่ห่างเหินจนขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งเป็นทักษะที่เรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นส่วนใหญ่ Voice TV ในวันนี้คือใคร จึงเป็นโจทย์ที่ไม่ต้องรีบตอบอะไรนัก

แทนที่จะเขียนจดหมาย ผมจึงนึกถึงท่านผู้อ่านที่อาจจะไม่มีโอกาสเข้าเว็บไซต์ประชาไท และขอให้เขาช่วยนำบทสัมภาษณ์มาตีพิมพ์ในหน้ากระดาษนี้แทน ซึ่งอาจต้องใช้เนื้อที่ต่อกันถึงสามฉบับจึงจะหมดสิ้นพลความ ถือเป็นจดหมายรักอีกรูปแบบหนึ่งจากผมสู่ท่านผู้อ่านที่รัก....


Core Respondence จอม เพชรประดับ – จักรภพ เพ็ญแข

จอม หลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง คุณจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในคดีหมิ่นสถาบันฯ ไปแล้วนั้นนะครับ หลังจากนี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย บทบาทของคุณจักรภพ จะเป็นอย่างไร...

หลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว หลายคนก็คิดถึงและก็ถามว่าจะกลับประเทศไทยไหมครับ มีโอกาสไหมครับ

จักรภพ คิดถึงบ้านอยู่เสมอแหละครับ เพียงแต่อยู่ก็เพราะว่าการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยของเรายังไม่ถึงจุดที่เราปรารถนา คำว่าเราผมอาจจะพูดทึกทักไปหน่อย ผมหมายถึงตัวผมเองกับผู้ที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน เรื่องการสั่งไม่ฟ้อง ผมคิดว่าในแง่ความกล้าหาญที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของ สนง.อัยการสูงสุดท่านแสดงออกมา ผมต้องแสดงความชื่นชมและแสดงความขอบคุณ แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นการบอกว่าข้อกล่าวหาแบบนี้มันเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องมีมูล หรือมีเหตุให้ต้องเป็นคดีความ ผมก็เอาเรื่องนี้มานึกถึงคน ๒ กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ เพื่อนร่วมทุกข์ ที่โดนคดีใกล้เคียงกัน อย่างคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข, คุณดา ตอร์ปิโด, อากง-อำพล ตั้งนพกุลหรือท่านอื่นๆ อีกมากมายหลายท่าน ว่าถ้าหากท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับอิสรภาพหรือยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผมเองคงไม่สามารถดีใจในการพ้นเปลาะนี้ของตัวเองได้

และคนกลุ่มที่ ๒ ที่ผมนึกถึงก็คือ คนไทยทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ ว่า สามารถที่จะทำให้ทุกคนมาอยู่ในสภาพเดียวกันกับผม และท่านที่ผมเอ่ยนามมานั้นได้ทุกเวลา เนื่องจากว่าเป็นกระบวนวิธีที่ค่อนข้างจะแปลก คือทุกคนสามารถเป็นผู้เสียหายได้หมด สามารถจะเดินเข้าไปแจ้งความกับเจ้าพนักงานสอบสวน แล้วเจ้าพนักงานสอบสวนก็สามารถจะรับเรื่องแล้วก็ดำเนินคดี และคดีก็สามารถจะไปได้เร็วหรือช้าตามใจท่านหรือตามคำสั่ง และจนสุดท้าย ก็ต้องไปลุ้นกันว่าแม้กระทั่งยังไม่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล มีสิทธิ์ที่จะได้รับประกันหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการประกันก็ต้องติดคุก อย่าง คุณสุรชัย, คุณสมยศ, คุณดา, คุณอำพลหรืออากงที่เราเรียกกัน ทุกคนก็คือโดนชะตากรรมนี้หมด คือก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดีก็ติดคุกหมด ตรงนี้ผมถือว่าเป็นการดำเนินคดีที่น่าจะมีปัญหา นี่แหละครับที่ผมนึกถึง

เพราะฉะนั้นการพ้นเปลาะตรงนี้ไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ แต่ก็ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความยินดีเข้ามา เพราะท่านรัก แล้วก็เป็นห่วง เพราะฉะนั้นความปรารถนาดีระหว่างกันผมรับเต็มๆ และผมก็ชื่นใจที่มีคนเป็นห่วงเรา แต่ต้องกราบเรียนท่านด้วยความเคารพว่า ไม่ใช่ดัดจริต หรือพยายามจะพูดให้เป็นอื่น แต่เรื่องนี้มันยังไม่สามารถปลงใจได้ว่าปัญหามันสิ้นสุดยุติลง สำหรับโครงสร้างของสังคม มันอาจจะดีขึ้นขั้นหนึ่งสำหรับตัวผมเองก็ได้

จอม ครับ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ดำเนินการอยู่ ณ เวลานี้ เป้าหมายคืออะไรครับ แค่ไหน อย่างไร

จักรภพ คืออย่างนี้ครับ วันนี้เราพยายามจะพูดถึงเรื่องกระบวนการปรองดอง พอหลังจากที่เราเกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีการแบ่งสีแบ่งข้าง มีการพูดถึงเรื่องที่เราไม่เคยคิดว่าจะมาพูดกันด้วยเสียงดังๆ เราก็สะเทือนขวัญกันทั้งประเทศว่ามันจะพาประเทศไปสู่จุดไหน มันจะแตกสลายกันไปหมด เราก็นัดกันว่า เอาล่ะ จะมาขีดเส้นแล้วก็ปรองดองกัน แต่บังเอิญว่าการล้ำเส้นของช่วงที่ผ่านมา มันหนักไง มันถึงขั้นเอาอำนาจรัฐผ่านทางอาวุธสงคราม โดยฝีมือของกองทัพมาฆ่าประชาชนกลางถนน โดยที่ประชาชนเองนั้นก็ไม่ได้มีวี่แววหรือมีหลักฐานว่าจะเป็นผู้ที่เข้าข่ายเรื่องการก่อการร้าย หรือผู้ก่อความไม่สงบในทางที่ใช้อาวุธแต่อย่างใด

อย่าลืมว่าเหตุเกิดขึ้นที่ราชประสงค์ ไม่ได้เกิดขึ้นนอกฟ้าป่าหิมพานต์ที่ไหน แล้วก็มีสื่อมวลชนต่างประเทศ มีชาวต่างประเทศ และชาวไทยอีกมากจับตามองดูอยู่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป้าหมายในขณะนี้ก็คือ เราต้องรวบรวมความกล้าหาญทางจริยธรรมแล้วตั้งประเด็นปัญหาของบ้านเมืองให้ได้ ว่าการปรองดองครั้งนี้ มันปรองดองแล้วจะนำไปสู่การพูดคุยเรื่องอะไรกัน พูดง่ายๆ ว่าคนไทยต้องมาสนทนาธรรมกันต่อจากปรองดองอีกนะ

ปรองดองพูดกันตรงๆ เถอะ มันก็คือภาวะที่ไม่มีทางเลือกใช่ไหม ต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันมาจนเปลืองเลือดเปลืองเนื้อ เปลืองจิตเปลืองใจมามาก แล้ววันหนึ่งก็บอกว่าเอาล่ะ จับมือกันแล้วก็ถอยกัน มีเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นมาเหมือนเกาหลี แล้วก็มายืนอยู่คนละข้าง แล้วหาทางให้กฎหมายมันตอบสนองความเป็นธรรม แต่คำถามก็คือว่า มันแก้ปัญหาในระยะยาวของประเทศได้หรือไม่

เพราะฉะนั้นเป้าหมายประชาธิปไตยตามที่คุณจอมถาม ผมคงต้องตอบว่า มันต้องเป็นปรองดองบวก คือเป็นปรองดอง plus กับการพูดคุยกันในเรื่องสำคัญอื่นๆ ในอนาคต จะบอกว่าปรองดองเป็นทางออกของสังคมไทยคงจะไม่ได้ แต่ถามว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระยะเฉพาะหน้าตอนนี้ไหม ก็ลองดู มันอาจจะได้ผลก็ได้ ซึ่งมันก็ดีตรงที่ช่วยให้เราไม่ต้องมานั่งเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง แต่ถ้าหากปรองดองกันแล้ว ตัดสินใจว่าจะเลิกคิดกันทั้งหมด แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองเดิม ผมก็คิดว่ามันก็รอให้วงจรอุบาทว์เวียนกลับมาอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

จอม ครับ ถ้าพูดถึงเรื่องการปรองดองโดยไม่ได้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ สามารถที่จะปรองดองได้ไหมครับ

จักรภพ ผมคิดว่าเราปรองดองได้เสมอแหละ แต่ถามว่าผลมันเบ็ดเสร็จสมบูรณ์หรือไม่ ผมขออนุญาตตอบว่า เราไม่สามารถจะพูดถึงอนาคตของประเทศไทยได้โดยไม่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเลิกเลี่ยงเรื่องนี้เสียทีนะครับ ถ้าหากว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคในการพูดเรื่องนี้ ก็ไปแก้ตรงนั้นก่อน

นี่คือเหตุที่กลุ่มอย่างนิติราษฎร์, อย่างอาจารย์สมศักดิ์, อย่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, อย่างอีกหลายกลุ่มเรียกร้องว่าไปแก้ตรงนี้ เขาไม่ได้เรียกร้องให้แก้เพื่อจะไปทำร้ายหรือทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์นะ เขาเรียกร้องเพื่อจะให้พูดกันเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่ว่าใครตั้งต้นพูดก็คดีมารออยู่แล้ว คุกมารออยู่แล้ว อย่างนี้วันไหนจะได้พูดอย่างสร้างสรรค์ แล้วถ้าหากไม่ได้พูดอย่างสร้างสรรค์แล้วเมื่อไหร่จะแก้ปัญหาได้

เหตุที่ผมพูดอย่างนี้ทั้งๆ ที่หลายคนบอกว่า คุณจะไปพูดอย่างนั้นได้ยังไง ในเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

จอม ใช่ครับ

จักรภพ อยู่เหนือจริงไหมล่ะ? ถ้าหากว่ามีวิกฤติทางการเมืองขึ้นมา ทุกครั้งเกี่ยวข้องกับสถาบันทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือคนอัญเชิญสถาบันเข้ามาแก้ปัญหา ตั้งแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ จนกระทั่งมาถึงล่าสุด แม้กระทั่งการที่มีการรัฐประหาร แล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ให้ลงพระปรมาภิไธย ตั้งคณะบริหารราชการแผ่นดินต่อจากการรัฐประหาร นี่ก็คือการเมือง

เพราะฉะนั้น เราอย่าเอาคำว่าสถาบันอยู่เหนือการเมืองมาเป็นเหตุให้เราไม่แก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง แล้วเรื่องนี้แหละครับที่ผมคิดว่า การตัดสินใจของสถาบัน ผมพูดถึงสถาบันไม่ใช่องค์หรือบุคคลนะครับ เป็นการตัดสินใจที่อาจจะหมายถึงอนาคตของประเทศ คือทุกอย่างในโลกนี้มันมีครรลองของมัน ไม่มีอะไรที่มันตั้งอยู่ได้โดยที่ไม่มีปัจจัยแปรปรวนเข้ามามีผล บางทีเรายืนอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าหากน้ำไหลมาที่พื้น ดินที่เรายืนอยู่มันก็เปลี่ยน เราก็ยืนไม่อยู่เหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ผมกำลังพูดว่า ถ้าสถาบันเป็นผู้เป่านกหวีดเองว่าเราจะนัดคุยกันยังไง ปัญหาที่ผ่านมาเป็นยังไง แล้วต่อไปจะเป็นยังไง นี่คือเรื่องที่ผมเชื่อว่าจะมีประโยชน์มาก ทุกประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, ญี่ปุ่น, กัมพูชา, สวีเดน, นอรเวย์ และอื่นๆ อีกหลายประเทศ อีกเกือบ ๓๐ ประเทศ ล้วนแล้วแต่ผ่านวิกฤติเรื่องของสถาบันกับประชาชนมาแล้วทั้งนั้น

พูดง่ายๆ ว่าเขาผ่านบทพิสูจน์ ว่าถ้าสถาบันกับประชาชนเกิดความ

เข้าใจไม่ตรงกันจะปรับตัวกันได้ยังไง ถามว่าประชาชนต้องการสถาบัน ทั่วโลกมีไหม ก็ดูตัวอย่างประเทศเหล่านี้สิครับ นี่คือตัวอย่างเพราะเขาผ่านการเผชิญหน้ามาแล้ว และคนส่วนใหญ่ยังบอกว่าต้องการอยู่

อังกฤษ-ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เต็มที่ เรียกว่าไม่มีบันยะบันยังกันเลย จนถึงขั้นหนึ่งต้องลงประชามติเกี่ยวกับสถาบัน ปรากฏว่าสถาบันชนะ คนรักมีมากกว่าคนไม่รัก สถาบันพระมหากษัตริย์ในอังกฤษก็อยู่มาได้อย่างมีเสถียรภาพ คือทั้งหมดมันก็อยู่ในสร้อยพระนามของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์นั่นแหละ คือ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” อเนกคือมากมาย, นิกรคือประชาชน, สโมสรคือมารวมกัน, สมมติคือให้เป็น, “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ก็คือประชาชนมารวมกันแล้วยกให้ท่านเป็น เพราะฉะนั้นถ้ามันเกิดปัญหาว่ามีคนไม่พอใจก็เรียกประชุมใหม่ สโมสรกันใหม่ อเนกนิกรจะได้มา แล้วจะสมมติอะไรต่อไปก็ว่ากัน

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหลักไทยโบราณของเราก็สามารถใช้ได้ ผมเองเป็นคนที่บังเอิญส่วนตัวสนใจเรื่องของสถาบันมามากนะครับ คือสนใจเพราะชอบ ชอบว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามยิ่งใหญ่ มีความอลังการ มีความมลังเมลือง มีความละเมียดละไมทุกอย่าง สิ่งที่ดีที่สุดของชาติหลายอย่างอยู่ในสถาบันกษัตริย์ เช่น เรื่องช่างสิบหมู่ เรื่องการก่อสร้างพระราชวัง แม้กระทั่งพิธีอวมงคล อย่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงยังสวยงาม

เพราะฉะนั้นมันมีของดีที่เราจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างคนไทยด้วยกันโดยผ่านสถาบันอีกมาก แต่วันนี้มันมีคำถามเดียวเท่านั้นเอง ว่าบทบาททางการเมืองจะทำอย่างไร ขออนุญาตพูดเป็นภาษาอังกฤษคำหนึ่ง เพราะไทยมันอาจจะแปลไปแล้วยวบยาบ คือต้อง depoliticized สถาบันพระมหากษัตริย์ คือเอาการเมืองออกไปจากสถาบัน นี่แหละคือวิธีการที่เราจะต้องเดินไป เพียงแต่ว่าด้วยความที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของสูงในวัฒนธรรมไทย แล้วก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้พูดถึง แล้วก็เสี่ยงหมด แค่พูดถึงก็ไม่รู้แล้วจะอยู่จะไปนะ มันก็ทำให้เริ่มนับหนึ่งไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่าทุกคนรู้โจทย์ แต่ทุกคนนับหนึ่งไม่ได้ อย่างนี้มันก็แก้ไขปัญหาไม่ได้

จอม ครับ แต่ทีนี้ถ้าจะให้สามารถนับหนึ่งได้ จะต้องเป็นสถาบันเองใช่ไหมครับ ที่เริ่มต้นให้ประชาชนนับหนึ่งในการที่จะพูดถึงได้ วิจารณ์ได้

จักรภพ ผมคิดว่าหลายเรื่องมันเป็นจิตวิทยา หลายเรื่องมันเป็นความรู้สึก อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามา ทั้งฝ่าย รสช. ซึ่งตัวแทนคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ทางฝ่ายผู้ประท้วงตอนนั้นคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง แล้วท่านก็เรียกประธานองคมนตรี คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตอนนั้นรู้สึกเป็นแค่องคมนตรีด้วยซ้ำ เพราะอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านยังอยู่ แต่ก็เป็นบทบาทนำแล้ว เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา

คนที่ไม่รู้อะไรเลยมองภาพนั้นภาพเดียวก็จะสรุปว่า ประเทศไทยมีลักษณะการเมืองการปกครองพิเศษที่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยองค์พระมหากษัตริย์สามารถจะแก้ไขปัญหาที่คนอื่นเขาแก้ไขไม่ได้ ปัญหาที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง คนต้องฆ่ากันตายเป็นพันๆ หมื่นๆ แสนๆ แต่เราแก้ไขด้วยวิธีนี้ คำถามก็คือ ภาพประทับใจในวันนั้น เมื่อปี ๓๕ มันมีความหมายยังไงใน พ.ศ.นี้ จู่ๆ เราจะลุกขึ้นมาบอกว่าบัดนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวแล้วหรือ แล้วปี ๓๕ คืออะไร

เพราะฉะนั้นเราต้องสม่ำเสมอต่อเนื่องในความคิด ในเมื่อเรารู้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าในทางปฏิบัติแล้วต้องช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองหรือมีบทบาททางการเมือง ในตอนนี้ก็คือปัญหาการเมืองล้วนๆ เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นเลยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ส่วนว่ากระบวนการในการเข้ามาเกี่ยวข้องผมจึงเห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์ที่ว่า อย่างน้อยที่สุดต้องมีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะผมโดนคดีหมิ่นฯ แล้วจะหาทางให้ตัวเองพ้นทุกข์ ไม่ใช่ เพราะมันไม่มีผลย้อนหลัง แต่เราพูดถึงคนในอนาคตที่เขาจะลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้

อย่าลืมนะครับว่าสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป รุ่นคุณจอม, รุ่นผม เราก็เรียกพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นเหมือนกับบิดาแห่งชาติ เป็นพ่อแห่งชาติ วันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาก็เป็นวันพ่อ คนรุ่นลูกของคุณจอมหรือผมหรือหลานเรา โดยอายุแล้วก็มีฐานะถ้าจะนับไปแล้วเป็นหลานหรือเป็นเหลนแล้ว มันมีความห่างโดยธรรมชาติในอายุ ยิ่งจำเป็นจะต้องสร้างความเกี่ยวพันเกี่ยวข้องระหว่างสถาบันกับประชาชนมากขึ้น พูดในเชิงถ้าใช้ศัพท์การตลาดก็ต้อง rebranding จะต้องทำให้สิ่งที่เขารับรู้รับทราบมันเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันเขา

ปัญหาของสถาบันหรือปัญหาเรื่องสถาบันไม่ใช่เรื่องความดีหรือความไม่ดี ปัญหาที่ควรห่วงก็คือ ในอนาคตยังมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนแต่ละคนอยู่หรือเปล่า ชีวิตแต่ละวันของเขายังเกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่ไหม ถ้าหากเขารู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องวันหนึ่งมันก็จะหมางเมินห่างกันไปเอง โดยไม่ต้องมีใครมาทำอะไรเลย จะมีกฎหมายป้องกันกี่ฉบับก็ป้องกันไม่ได้ ถ้าสายใยนั้นมันไม่มีเชื่อมโยง ผมกำลังพูดถึงสิ่งนี้

จอม ครับ เพราะฉะนั้นการที่จะสร้างให้สายใยเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันตลอดไปก็จะต้องเริ่มจากอะไร

จักรภพ ผมคงจะไปเสนออย่างนั้นไม่ได้ เป็นเพียงว่าพูดว่าถ้าหากบุคคลในสถาบันท่านมีความประสงค์จะทำท่านทำได้ ผมขอพูดไว้แค่นี้แล้วกันครับ...

(ต่อฉบับหน้า)
************************************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, นิติราษฎร์, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สมัคร เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน