ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ถอดรหัสคึกฤทธิ์ใน “ไผ่แดง” (ตอนที่ ๑)


คอลัมน์ หนังสือกับประชาธิปไตย นิตยสาร Red Power ฉบับที่ ๓๑ (ธันวาคม ๕๕)
ตอน ถอดรหัสคึกฤทธิ์ใน ไผ่แดง” (ตอนที่ ๑)
โดย จักรภพ เพ็ญแข

นักอ่านที่มีอายุเกิน ๔๐ ปี น่าจะคุ้นเคยกับงานเขียนที่โด่งดังมากอีกเรื่องหนึ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นงานเขียนที่สะท้อนความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของตัวผู้เขียนและสังคมไทยได้ดียิ่ง ด้วยเป็นงานผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องของชาวบ้านอย่างมีชีวิตชีวาแบบที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ถนัดนัก กับการทำภารกิจต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคที่ต่อมาเรียกกันว่า สงครามเย็นผู้เขียนจะรับงานจากใครมาเขียนหรือจะเขียนเองด้วยอุดมการณ์ฝ่ายขวาของตนก็สุดจะเดา รู้เพียงว่า งานที่เขียนเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร ชาวกรุงเล่มนี้กลายเป็นงานการเมืองเต็มรูปแบบที่รับใช้ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งในภาวะเผชิญหน้าในครั้งนั้นอย่างเต็มสูบ และที่น่าสนใจก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ไม่ค่อยได้พูดถึงงานชิ้นนี้ในเวลาต่อมานัก ผิดกับ สี่แผ่นดิน” “หลายชีวิต” “ห้วงมหรรณพและอีกหลายเล่มที่ผู้เขียนมักนำมาคุยถึงด้วยอารมณ์สนุกและภาคภูมิใจอยู่เนืองๆ ทั้งที่งานชิ้นนี้แพรวพราวไปด้วยศิลปะการประพันธ์อย่างยากที่จะหางานอื่นมาเปรียบได้ แถมยังเน้นอุดมการณ์แบบ ไทยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พยายามตีตราประทับเอาไว้ให้มั่นคง ทั้งความยอมรับในวิถีชีวิตแบบไทย รวมทั้งให้ยอมรับในความยากจนและความด้อยพัฒนาแบบสุดขั้ว การหลงรักในสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องตั้งคำถาม ความเข้มแข็งของชาวบ้านในการต่อต้านลัทธิที่เห็นว่า แปลกปลอมเข้ามา แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็ไม่นิยมนำหนังสือเล่มนี้มาเอ่ยอ้างถึง ซึ่งทำให้น่าสงสัยว่างานชิ้นนี้อาจเป็นภารกิจเฉพาะหน้าที่ทำแล้วก็อยากให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ต้องมานั่งจดจำกันอีก แบบที่ทางจิตวิทยาใช้คำว่ามีปมความผิดหรือ guilt complex

ไผ่แดงคือหนังสือเล่มที่ว่านี้

ผมอ่าน ไผ่แดงครั้งแรกมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมและอ่านอย่างชื่นมื่นสนุกสนานซ้ำแล้วซ้ำอีกมาจนถึงปัจจุบัน ความรู้สึกที่ไม่ได้เปลี่ยนแปรไปตามเวลาก็คือความชื่นชมในศิลปะของผู้เขียน ซึ่งสามารถนำความเป็น ชาวบ้านมาเล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนาน แถมยังยิ่งใหญ่เกรียงไกรและกลายเป็นกลไกส่งเสริมระบอบรัฐไทยเพื่อสู้กับศัตรูหมายเลขหนึ่งในครั้งนั้นอย่างมีประสิทธิภาพอีกต่างหาก การเล่าถึงฉากหลัง การวางบุคลิกตัวละคร การเดินเรื่องอย่างฉับไวราวภาพยนตร์ ล้วนทำด้วยมือครู ไม่น่าแปลกใจที่ผู้เขียนจะได้รับผลสัมฤทธิ์ในทางการเมืองสมตามความตั้งใจของตน

แต่เมื่อผมมาอ่านงานชิ้นนี้ซ้ำ ซ้ำในห้วงเวลาที่บ้านเมืองเกิดการแบ่งแยกอุดมการณ์และความเชื่อแบบกีฬาสีคือ แดง เหลือง ชมพู และหลากสีขึ้นแล้ว มีอะไรบางอย่างที่กระโดดออกจากตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันสวยงาม อันเป็นสิ่งใหม่ที่ผมไม่ได้นึกคิดมาก่อน สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นผลการสังเกตอาการใหม่ๆ เหล่านั้น เหมือน แดน บราวน์ ที่เห็นอะไรหลายอย่างกระโดดออกจากงานศิลปะของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ื แล้วนำมาแต่งนวนิยายเรื่อง The Da Vinci Code จนทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์สายธารที่สองที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะถูก ประวัติศาสตร์สายหลักทับซ้อนจนมิด

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เริ่มต้นว่า...

ถ้าหากว่า จะมีเทวดาตนใดเหาะเหินเดินอากาศจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางเหนือของพระมหานครนั้นประมาณแปดสิบหรือเก้าสิบกิโลเมตร ด้วยระยะทางที่เทวดาเหาะ เทวดาตนนั้นจะมองเห็นคลองเล็กๆ สายหนึ่ง แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเลื้อยคลานเข้าไปอย่างลดเลี้ยว ถ้าหากว่าเทวดาตนนั้นจะเหาะตามคลองนั้นเข้าไป โดยไม่เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นาและควาย ในไม่ช้า เทวดาตนนั้นจะมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ หมู่หนึ่ง มีบ้านคนไม่กี่สิบหลังคาเรือน มีจำนวนคนอยู่ไม่กี่ร้อยคน กลางหมู่บ้านนั้นมีวัดซึ่งเป็นวัดที่แสดงฐานะทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านนั้นเองให้เห็นได้ว่าไม่รุ่งเรืองนัก หลังคาชาวบ้านนั้นมุงด้วยจากเป็นส่วนมาก มีหลังคากระเบื้องดินเผาและสังกะสีอยู่ไม่กี่หลัง ส่วนโบสถ์ของวัดนั้นก็มุงด้วยดินเผาธรรมดา มีศาลาการเปรียญขนาดย่อมมุงสังกะสีอีกหลังหนึ่งและกุฏิพระสองหลัง มุงจากแกมสังกะสี หอระฆังที่โซเซน่ากลัวหอหนึ่งและมีศาลาท่าน้ำของวัดปลูกอยู่ริมคลองอีกหลังหนึ่ง...

อ่านครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมเกิดมโนภาพราวกับว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พาเราไปทัศนาจรชีวิตชาวบ้านไผ่แดงด้วยเครื่องบินขนาดเล็กที่บินต่ำจนมองเห็นสรรพสิ่งต่างๆ ทำให้นึกนิยมในกลวิธีอันชาญฉลาดของผู้เขียน แต่มาในบัดนี้กลับทำให้นึกไปเสียอีกแง่หนึ่ง แท้ที่จริงแล้วผู้เขียนกำลังพาเราซึ่งเป็น ชนชั้นสูงหรือ ชนชั้นกลางไปสังเกตธุระของ ชนชั้นล่างในลักษณะที่มองลงมาจากที่สูง สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีในประโยคแรกของ ไผ่แดงคือสำนึกของความเป็นเทวดาน้อยๆ ของเราเอง ทันที่เรา เหาะไปดูชาวบ้าน ก็เท่ากับเราอยู่เหนือหัวชาวบ้านขึ้นมาแล้ว อะไรจากนี้ไปก็ทำให้เผลอคิดไปได้ว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่ต่ำกว่าตนทั้งนั้น รวมทั้ง (ความ) เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นาและควาย...พอคิดได้อย่างนี้มโนภาพก็เปลี่ยนไปทันที ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น รัฐไทยและผู้มีอำนาจไทยได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากหัวหน้าค่ายโลกเสรีคือสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ รวมถึงพาหนะทางอากาศทั้งเครื่องบินทหารและพลเรือน เราทั้งหลายที่อ่าน ไผ่แดงคงไม่ใช่เทวดาที่เหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยตัวเองเสียแล้ว แต่เรากำลังนั่งเฮลิคอปเตอร์ทหารบินฉวัดเฉวียนไปตามไร่นาสาโทต่างๆ เหนือหัวชาวบ้านด้วยเสียงโรเตอร์ดังพั่บๆ จนหมูหมากาไก่เบื้องล่างต้องตกอกตกใจ และมองลงมาเห็นชีวิตเล็กๆ จนหลงผิดไปได้ว่าชีวิตเหล่านั้นเล็กน้อยและไม่สำคัญเท่ากับตน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ นั่งมากับเราลำนี้ กำลังลดระดับลงจอดที่หมู่บ้านไผ่แดง และกำลังจะส่งกองกำลังชอนไชเข้าไปในหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านไผ่แดงอย่างที่พวกเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพื่อจะผูกอุดมการณ์ใหม่ให้กับเขา นั่นคืออุดมการณ์ที่ดูจะเป็นเป็นพระรัตนตรัยใหม่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเส้นเชือกที่ผูกความคิดและจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ไว้กับเสาต้นหนึ่ง และยังผูกไว้เช่นนั้นจนปัจจุบัน

ตัวละครแรกที่โผล่ออกมารับคนดูบนเวทีก็คือตัวละครที่คลาสสิคที่สุดตัวหนึ่งในโลกวรรณคดีไทย และจะเป็นพระเอกตัวจริงของ ไผ่แดงไปจนตัวอักษรสุดท้ายของเล่ม

“...สมภารกร่างเป็นคนอายุราวสามสิบเจ็ดถึงสามสิบแปดปี อายุพรรษานับได้สิบแปดพรรษาพอดี เพิ่งได้เป็นสมภารเมื่อสองปีที่แล้ว หลังจากที่สมภารเก่าได้มรณภาพไป พระกร่างมีรูปร่างกำยำล่ำสันเหมือนกับชายฉกรรจ์อื่นๆ ในละแวกบ้านนั้น และเมื่อก่อนอายุจะครบบวชก็ได้เคยทำไร่ไถนา อันเป็นสัมมาอาชีพและได้เคยทำบาปกรรมต่างๆ มาไม่น้อยกว่าคนหนุ่มอื่นๆ ในละแวกบ้านเดียวกัน แต่เมื่อพระกร่างได้เข้ามาบวชเรียนตามประเพณี อะไรบางอย่างในวัดได้ทำให้ผ้าเหลืองเกาะตัวอยู่อย่างเหนียวแน่น เปลื้องไม่ออก พระกร่างก็อยู่ในเพศบรรพชิตเรื่อยๆ มา ได้เรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี แต่แล้วก็เรื้อๆ ไป จะสอบนักธรรมโทก็ดูจะติดขัดอยู่ พอดีสมภารองค์เก่ามรณภาพ พระกร่างก็ได้เป็นสมภาร อาศัยที่วัดไผ่แดงนั้นเล็ก อยู่ห่างไกลและไม่มีใครสนใจ และเนื่องด้วยพระกร่างเป็นคนเกิดที่ละแวกบ้านไผ่แดง หายจากบ้านไปนั้นก็เฉพาะเมื่อวันเป็นนาคไปบวชที่วัดปากคลอง เพราะท่านสมภารที่นั่นเป็นอุปัชฌาย์ และเมื่อตอนไปสอบนักธรรม ชาวบ้านบ้านไผ่แดงก็มิได้มีใครรังเกียจ เมื่อพระกร่างกลายเป็นสมภารกร่าง คงให้ความเคารพนับถือและเชื่อฟังต่อไป เช่นเดียวกับที่เคยให้แก่สมภารองค์เก่า...

สังเกตไหมครับว่า ในเรื่องการเมืองการปกครองแล้วเมืองไทยเป็นเมืองประหลาด ผู้นำท้องถิ่นของเรามีมานานแล้วและเรียกขานตำแหน่งเปลี่ยนแปลงกันมาเรื่อยตามยุคตามสมัย ก่อนจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านก็มีพ่อหลวง หัวหน้าคุ้ม และอีกหลายอย่างไปจนถึงพ่อขุน แต่ภายหลังที่ได้รวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่กษัตริย์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ ของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดูเหมือนว่าผู้นำท้องถิ่นจะค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงไปจนแทบจะหมดความสำคัญ จนถึงเล่นรังแกกันอย่าง ครูบาศรีวิชัยทางเหนือหรือ กบฏผีบุญทางอีสานก็โดนกันมาแล้วทั้งนั้น สุดท้ายตัวละครที่เป็นตัวแทนอำนาจท้องถิ่นก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับสมภารกร่าง นั่นคือเป็นคนชั่วๆ ดีๆ ได้เข้าสู่อำนาจก็เพราะไม่มีใครมาแข่งขันด้วย ถึงจะยอมรับกันว่าเป็นผู้นำการเมืองหรือเป็นผู้นำทางความคิดของชาวบ้าน แต่ก็ถูกตีตราว่าไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าชาวบ้านธรรมดาที่ชนชั้นบนเขาเหยียดหยามอยู่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ ทางการมีความชอบธรรมที่จะกวาดต้อนผู้คนทั้งหมดเหล่านี้ไปอยู่ภายใต้อำนาจที่ใหญ่หลวงของแผ่นดิน เพราะอำนาจนั้นเขาดีกว่าวิเศษกว่าและมี ความชอบธรรมในทุกทางมากกว่า อ่านเผินๆ ก็ดีอยู่หรอกครับที่นิทานชาวบ้านทำให้พระสงฆ์องคเจ้าหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านท่านออกมาในแนวเงอะๆ งะๆ เซ่อๆ ซ่าๆ หากว่าเราอยู่ในระบอบอื่นที่มิใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเขาบอกว่าประชาชนปกครองกันเอง จึงต้องหาทางออกในทุกปัญหาและแสวงหาปัญญากันเอาเองในวงประชาชน แต่ถ้าระบอบอื่นเขาจะบอกทีเดียวว่าประชาชนไม่พร้อมหรอก โง่เง่าเซอะซะถึงขนาดนั้นจะไปปกครองตัวเองอย่างไรไหว คนอ่านยุคก่อนอาจจะประทับใจว่าสมภารกร่างท่านเป็นคนธรรมดาสามัญไม่น่าหมั่นไส้ แต่มายุคนี้เรารู้ทันขึ้นมาหน่อยว่า ตัวผู้เขียนเขาวางบุคลิกลักษณะของสมภารกร่างอย่างนั้น ก็เพื่อให้สมภารกร่างท่านเป็นเพียงหัวหน้าชุมชนเล็กๆ และต้องขึ้นกับชุมชนที่ใหญ่โตขึ้นไปจนถึงระดับชาติเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ว่า สมภารกร่างถูกวางตัวให้เหมือนกันชาวบ้านร้านถิ่น เก่งก็ไม่เก่ง ออกจะกลางๆ เรียนหนังสือก็ค่อนมาทางไม่เก่ง หัวไม่ดี แถมยังเคยทำบาปทำกรรมมาก่อนตามประสาลูกทุ่งที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ จะเป็นเทวดาในวันหนึ่งคงไม่ได้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ฯ คงกำหนดไว้ในใจว่า ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับมาตามธรรมชาติโดยไม่มีใครต้องมอบให้ หรือความคิดทางการเมืองแบบทะเยอทะยาน อันเป็นสิทธิที่ชอบธรรมของคนในสังคมประชาธิปไตยนั้น ออกจะแสลงและเป็นอันตรายกับระบอบที่สถาปนาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ จึงต้องทำกรอบเอาไว้ด้วยการตีตราว่าไอ้ชาวบ้านเรามันก็เท่านี้ จะไปตั้งตัวใหญ่โตสลักสำคัญอะไรกันนักหนา

ระหว่างนั่งทอดหุ่ยอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ สมภารกร่างก็มองเห็นกำนันเจิมพายเรือมุ่งหน้ามาหา ทันทีที่เห็นภาพกำเนินเจิม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็บรรยายความในใจของสมภารกร่างในทันที สมภารจะแยกคนอย่างกำนันเจิมว่าเป็นฝ่ายที่เรียกว่า อาณาจักรซึ่งเป็นคนของหลวงหรือของรัฐ ในขณะที่คนอาศัยวัดอย่างสมภารกร่างถือเป็นฝ่าย พุทธจักรแยกกันเสียอย่างเพื่อ ทำให้สมภารได้รับความสะดวกในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้หลายอย่างจนติดเป็นนิสัย...

ตลอดประวัติศาสตร์โลก ไม่ว่าจะในศาสนาใดนั้น การแบ่งสังคมเป็นฝ่ายรัฐและฝ่ายศาสนาเกิดขึ้นตลอดมา ในยุโรปก็มีศาสนจักรและอาณาจักร (Church and State) ที่ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันมาตลอดเพื่อชิงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ในศาสนาอิสลามก็แบ่งชัดเจนระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับคนอื่นๆ ที่มิใช่ แม้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนาก็มิใช่ตัวศาสดานั้นเอง ในสังคมพุทธของไทยก็เป็นอย่างที่สมภารกร่าง ท่านรำพึง แบ่งออกได้เป็นอาณาจักรและพุทธจักรจริงๆ แต่น่าสังเกตตรงที่ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ท่านเริ่มนี้ไว้ใน ไผ่แดงแต่ท่านไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านี้ การเขียนงานต่างๆ ต่อมาหลายครั้ง จะเน้นการโจมตีจนถึงขั้นทำลายล้างต่อพระสงฆ์หรือผู้นำศาสนาหลายองค์และหลายคน เช่น วิวาทะกับท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องจิตว่าง ซึ่งนำมาสู่การเรียกขานสำนักของท่านพุทธทาสคือสวนโมกข์ว่าเป็นเพียง ไนต์คลับเป็นต้น ซึ่งดูจะเป็นงานชั่วชีวิตของท่าน การสร้างอำนาจที่คานกันเองในหมู่บ้าน ระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นการแบ่งปันอำนาจกันอย่างสงบสันตินั้น แท้ที่จริงก็เป็นการคานเพื่อให้หาใครที่ใหญ่จริงไม่ได้เท่านั้นเอง สุดท้ายหมู่บ้านอย่างไผ่แดงก็ต้องขึ้นกับอำนาจตัดสินที่สูงกว่าและใหญ่ยิ่งกว่า และนำไปสู่การปกครองในระบอบที่อำนาจแผ่ไปรวมเก็บไว้ในที่เดียว การเตรียมให้คิดยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าเป็นภารกิจที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ รับมาปฏิบัติมานานนักหนาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่รู้ว่าตนเองจะไม่ได้ดีอะไรในฝ่ายคณะราษฎร์ จึงตัดสินใจออกมาข้างฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎร์เสียเลย

นักเคลื่อนไหวอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ จึงมีนัยซ่อนเร้นอยู่เสมอเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย สิ่งที่ท่านไม่ได้บอกชัดๆ คือประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้นคนพันธุ์ท่านเขาไม่เอา เพราะมีแต่ประชาชน คนที่เหนือกว่าประชาชนจะไม่มีที่ยืนเลย แต่ถ้าบอกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขล่ะก็ได้ ท้ายที่สุดคนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็ต่อต้านทั้งระบอบคู่แข่งทั้งสองระบอบ นั่นคือระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหลือรอดอยู่เพียงระบอบเดียวอย่างที่พรรณนามาอย่างมีศิลปะใน ไผ่แดงนี่เอง

กำนันเจิมมาหาสมภารกร่างด้วยเรื่องร้อนใจเกี่ยวกับตัวละครหลักอีกตัวหนึ่งคือนายแกว่น แก่นกำจร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมก๊วนมากับสมภารกร่างสมัยยังเป็นเด็กและวัยรุ่น แกว่นเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพยำเกรงและมีลูกน้องเดินตามหลังมากที่สุดในหมู่บ้าน เรื่องที่กำนันกังวลคือ แกว่นดูท่าว่าจะได้รับความคิดแทรกซึมจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนเริ่ม จัดตั้งลูกน้องของตัวตลอดจนชาวบ้านร้านถิ่นเข้าให้แล้ว ว่าแต่ว่าอะไรคือคอมมิวนิสต์นั้น ดูกำเนินเจิมแกก็ยังงงๆ อยู่

ท่านรู้จักไอ้ตัวอะไรนั่นไหม?”

ตัวอะไร? สมภารย้อนถามอย่างไม่เข้าใจ

ไอ้ตัวนิดๆ หน่อยๆ อะไรนั่นน่ะครับ... เอ! ติดริมฝีปากอยู่เมื่อกี้นี้เอง... อ้อ! นึกออกแล้ว... ไอ้ตัวคอมมิวนิสต์ที่หลวงท่านสั่งให้ต่อต้านนั่นปะไร ท่านว่ามันร้ายนักเชียว พอมันมาถึง ไร่นามันก็ริบหมด วัดวาอารามก็เลิก แล้วก็ โอ๊ย! อะไรอีกตั้งพะเรอเชียว

แต่จะเข้าใจคอมมิวนิสต์หรือไม่เข้าใจ สิ่งหนึ่งที่กำเนินเจิมแกเข้าใจอย่างแน่นอน คือคำสั่งของฝ่าย อาณาจักรย่อมใหญ่หลวงศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเสียกว่าความรู้สึกของชาวบ้านซึ่งรวมเอาฝ่าย พุทธจักรเข้าไว้ด้วย

ฉันจะไปห้ามเขาอย่างไรกำนัน ฉันเป็นพระ ไม่เห็นจะเกี่ยว...

ก็ถึงว่าเถอะครับกำนันพูดอย่างเห็นใจ ผมบอกกับเจ้านายที่อำเภอท่านแล้วเชียว ว่าท่านเป็นพระเป็นเจ้า จะมาเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่เขากลับบอกว่า จะต้องใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์กันให้หมด ไม่ว่าพระว่าสงฆ์กันล่ะ ต้องขอแรงกันทั้งนั้น

เมื่อกำนันตัวแทนฝ่ายอาณาจักรพายเรือกลับไปแล้ว ความกังวลใจของสมภารกร่างก็มิได้ลดน้อยลงไป ท่านจึงทำสิ่งที่ทำทุกครั้งเมื่อเกิดความรู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้ นั่นคือเดินเข้าโบสถ์ที่ว่างคนแล้วปิดประตูลั่นดาลอยู่ในนั้นแต่องค์เดียว เมื่อประตูโบสถ์วัดไผ่แดงปิดลงแล้วนั่นเอง ความสำคัญที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้ก็ปรากฏตัวขึ้น ท่ามกลางความตระหนกตกใจจนแทบคุมสติไม่อยู่ของสมภารกร่าง สมภารกร่างพบว่าทางออกของเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ฝ่ายพุทธจักรหรือฝ่ายอาณาจักรเลย แต่กลับไปอยู่เสียที่อำนาจบางอย่างที่สูงล้ำขึ้นไปอีกจนมนุษย์ธรรมดามิอาจหยั่งได้

นี่คือฉากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พรรณนานำทางมา

“...พอเข้าไปถึงในโบสถ์ สมภารก็ปิดประตูลั่นดาลเพราะอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากให้ใครมากวน ครั้งแล้วก็จุดเทียนหน้าพระหลายดวง และจุดธูปบูชาพระอีกกำมือหนึ่ง ลงกราบพระแล้วก็นั่งมองพระพุทธรูปที่เป็นประธานในโบสถ์วัดไผ่แดง

สมภารกร่างไม่มีความรู้ในทางโบราณวัตถุ แต่ก็รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณมาก พระประธานวัดไผ่แดงเป็นพระสำริด บริสุทธิ์เท่าขนาดคน สมภารกร่างเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้น บางนี้ยังไม่มีหมู่บ้านและยังไม่มีวัด มีคนแก่ปลูกเรือนอยู่ริมคลองหลังเดียว วันหนึ่ง หลวงพ่อพระประธานก็ลอยน้ำมาติดอยู่ริมตลิ่ง คนแก่นั้นไปพบเข้า ก็ไปตามชาวบ้านจากบางอื่นมาช่วยกันยกขึ้นตั้งไปบนฝั่ง เป็นที่สักการะของคนที่สัญจรไปมา จนที่สุดที่ที่หลวงพ่อตั้งอยู่ก็กลายเป็นวัดและบ้านไผ่แดงก็มีคนมาปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กันเป็นหมู่จนทุกวันนี้...

ทันทีทันใดนั้นเอง ผู้เขียนก็วกเข้าสู่หัวใจของเรื่อง ไผ่แดงอย่างชนิดที่คนอ่านแทบจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว

“...สมภารกร่างนั่งมองหลวงพ่ออยู่นาน แสงเทียนจับองค์พระให้แลดูงามนัก ใจนั้นนึกว่า ถ้าปีหน้าข้าวกล้างาดำในบางนี้งอกงามดี ก็จะบอกบุญชาวบ้านปิดทองหลวงพ่อเสียใหม่ให้งดงามขึ้นไปอีก ขณะที่ใจนึกอยู่นั้น ตาก็มองอยู่ที่หน้าหลวงพ่อ แล้วสมภารกร่างก็เห็นกับตาว่าหลวงพ่อยิ้มด้วย

สมภรกร่างขนลุกซู่ไปทั้งตัว แต่ก็ข่มใจไว้ด้วยเหตุผล เพราะแสงเทียนที่เคลื่อนไหวนั้นอาจทำให้ตาฝาดไปก็ได้ แต่จิตใจสมภารยังไม่ทันจะสงบดี หลวงพ่อก็พูดออกมาว่า

สมภารมีทุกข์ร้อนอะไรหรือ วันนี้ดูหน้าไม่สบาย?”

ใจหนึ่งนั้นอยากจะวิ่งหนี แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่เชื่อหู สมภารเหลียวเลิกลักดูในโบสถ์รอบๆ ก็ไม่เห็นว่ามีใครมาแอบแฝงอยู่ได้ เพราะโบสถ์วัดไผ่แดงเป็นโบสถ์เล็ก ไม่มีที่ที่จะแอบแฝง ทันใดนั้นก็มีเสียงพูดมาจากพระประธานอีกว่า

อย่าตกใจไปเลย ฉันอยากคุยกับสมภารมานานแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาและโอกาส

หลวงพ่อ... หลวงพ่อครับ...สมภารพูดละล่ำละลัก ใจนั้นก็นึกถึงผลของการปาฏิหาริย์ครั้งนี้ ชาวบ้านจะแตกตื่นสักเพียงไร คนจะมานมัสการกันสักเท่าไหน และสภาพวัดไผ่แดงจะต้องเปลี่ยนไปเป็นวัดที่ใหญ่วัดที่สำคัญ แต่ทันใดนั้น หลวงพ่อก็พูดสอดขึ้นมาว่า

ฉันพูดกับสมภารแล้ว สมภารอย่าไปบอกกับใครนะ เขาหาว่าสมภารโกหกฉันไม่รู้ด้วย ต่อหน้าคนอื่นฉันไม่พูดหรอก ไม่เชื่อคอยดูไปซี...

ในที่สุดตำนานอันลือลั่นก็พระประธานพูดได้ก็เริ่มขึ้นในบทที่หนึ่งของนวนิยายเรื่อง ไผ่แดงนี่เอง หลวงพ่อพระประธานท่านไม่ได้พูดทักทายสมภารกร่างเพียงเท่านี้ แต่ทั้งเรื่องต่อมาท่านได้กลายเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของสมภารกร่างเลยทีเดียว พูดคุยแนะนำอะไรต่างๆ กันแทบทุกบททุกตอน และเป็นตัวละครที่ใหญ่โตมโหฬารไปจนจบเรื่อง

ผมเองก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิตย์ การได้อ่านนวนิยายในทำนองพุทธสัญลักษณ์อย่างเรื่องนี้ย่อมจะทำให้เกิดความปีติยินดีอยู่มาก ใครเล่าจะไม่ดีใจที่พระพุทธรูปในโบสถ์ท่านพูดได้สอนได้ขึ้นมา ใครเล่าจะเป็นที่ปรึกษาชีวิตได้ดีไปกว่าพระประธานในโบสถ์ที่สงบเงียบสงัดคน นึกแล้วก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในจินตนาการอันสมบูรณ์ของผู้เขียนและหวังให้เป็นเรื่องจริงขึ้นมาในใจเราเอง แต่เมื่อเติบโตขึ้นในแนวคิดทางการเมือง ความรู้สึกนั้นก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป ความสนใจในพระธรรมยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่จะมากขึ้นตามทุกข์ของชีวิตที่มีมากขึ้นตามครรลองของมนุษย์ปุถุชน แต่ความสงสัยในสัญลักษณ์ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ นำมาใช้ในเรื่องนี้มีมากขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ตั้งใจสื่อสารสิ่งใดที่ทำให้พระประธานพูดได้ โดยเฉพาะในเมืองไทยขณะนั้นที่ดูเหมือนจะเคลื่อนใกล้สงครามกลางเมืองระหว่างอำนาจเก่ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ขึ้นทุกขณะ คิดไปก็รู้สึกขึ้นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ คงจะไม่ได้สอนธรรมะผ่านปากพระประธานวัดไผ่แดงอย่างที่เราเคยเข้าใจกันแต่แรก แต่หวังผลการเมืองที่ซ่อนเร้นลึกซึ้งในระดับชาติทีเดียว

โดยเฉพาะเมื่อบทแรกนี้จบลงตรงที่สมภารกร่าง หารือกับหลวงพ่อพระประธานว่าปัญหาของ แกว่น แก่นกำจร ที่หลวงเขากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นี่จะทำอย่างไรดี  

“...(แต่) ผมหนักใจเรื่องทางอาณาจักร เขาสงสัยว่ามันจะผิดอย่างไรอยู่ ผมจึงอยากรู้ว่าผมจะทำอย่างไรดี จะเตือนมันตรงไหนดี เพราะความผิดความถูกเดี๋ยวนี้ ดูมันจะเกินศีลห้าธรรมบถสิบออกไปทุกที ผมเองก็จนปัญญาไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก

ฉันไม่มีปัญญาจะบอกสมภารหรอกในข้อนี้หลวงพ่อว่า เพราะฉันเองอยู่มาจนป่านนี้ ก็ไม่เคยเล่นการเมืองและก็ไม่คิดว่าจะเล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

คำตอบของพระประธานวัดไผ่แดง เสมือนการตอกหน้าผากของคนที่สนใจการเมืองไทยและติดตามการเมืองไทยมานานพอควร สมภารกร่างดีอกดีใจที่หลวงพ่อท่านพูดได้ และถือเอาโอกาสนั้นปรึกษาหลวงพ่อในเรื่องที่หนักอกอยู่ แต่หลวงพ่อท่านก็พูดให้กำลังใจกลับไปกลับมา คล้ายบทสนทนาระหว่างพระเจ้ามิลินทร์กับพระนาคเสน ที่ฟังแล้วก็เลื่อมใสในปัญญาของผู้พูด แค่ผู้ฟังแทบจะไม่ได้อะไรกลับไปเลย สมภารกร่างมิได้แสดงความรู้สึกใดๆ ในคำตอบจากหลวงพ่อ ได้แต่นั่งนิ่งๆ จนเทียนดับไปเอง โดยหลวงพ่อและสมภารต่างก็มิได้สนทนาปราศรัยอะไรกันอีก ผู้เขียนลงท้ายว่าเรื่องหลวงพ่อพูดได้กลายเป็นความลับสำคัญที่สมภารกร่างเก็บไว้กับตนเพียงองค์เดียว มิได้แพร่งพรายให้ใครได้ทราบเลยนับแต่คืนนั้นเป็นต้นมา

เมื่อเราโตขึ้น เราก็รู้ว่าเมืองไทยเรามีพระประธานที่พูดได้เหมือนกัน จะวัดไหนก็คงไม่ต้องบอก พระประธานพูดได้ในเมืองไทยของเรานี้ เอาเข้าจริงแล้วก็พูดตามคติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ อย่างไม่หนีกันเลย หลวงพ่อของเราเลือกที่จะพูดในบางเวลา เลือกที่จะพูดกับคนบางคน และเลือกเสียด้วยว่าจะให้ใครเข้าใจในสิ่งที่พูดและใครจะต้องรู้สึกงุนงงสับสนจนแทบจะไปกระโดดหน้าผาตาย เพราะหลวงพ่อพูดได้ของเราท่านพูดให้คนเอาไปตีความตามใจตัวเอง มองในทางหนึ่งก็เป็นปรัชญาอันลึกซึ้งแหลมคมนัก แต่มองอีกทางหนึ่งก็ขาดความรับผิดชอบอย่างมากในฐานะของผู้เป็นประธาน เพราะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบอะไรใดๆ คำว่า กิจของสงฆ์นั้นมีหลักการและคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่ใช่คำกล่าวอ้างอย่างมักง่ายเพียงเพื่อตนเองจะได้อยู่เหนือน้ำตลอด โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครนอกจากตนเอง

พระประธานในโบสถ์วัดไผ่แดงที่แท้ น่าจะเป็นผู้สอนธรรมะและเตือนสติสมภารกร่างและใครๆ ในยามขาดสติหรือตกเป็นเหยื่อของอกุศลมูลจนโงหัวไม่ขึ้น หาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ไม่ได้เขียน ไผ่แดงและ ไผ่แดงถูกจารจารึกโดยพุทธทาสภิกขุ ศรีบูรพา หรือแม้แต่พระพยอม กัลยาโณแห่งวัดสวนแก้ว เชื่อว่าหลวงพ่อไผ่แดงคงจะยกข้อธรรมะหรือพุทธวัจนะที่จับใจมาแนะนำสมภารกร่าง แทนที่จะแนะนำในทางโลกย์แต่ถ่ายเดียว ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นมีมากนัก และหลายข้อก็ตรงกับปัญหาชีวิตของคนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้อย่างเหมาะเหม็ง พระหรือโยมที่สอนธรรมะได้เพียงจำกัด หากมิใช่เจตนาก็ย่อมแสดงถึงปัญหาส่วนองค์หรือส่วนตนที่ยังศึกษาไม่เพียงพอ หาใช้ความจำกัดของพระศาสนาไม่

(อ่านต่อฉบับหน้า)


********************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สนับสนุน เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน รายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย