ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คอลัมน์ เขียนถึงคนรัก โดย จักรภพ เพ็ญแข



คอลัมน์ เขียนถึงคนรัก
นิตยสาร Red Power ฉบับที่ ๒๕
เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

มวลชนที่รัก

ผมได้รับคำชวนเชิญจาก Red Power ให้เขียนข้อความลงในหน้ากระดาษของท่านมาสักระยะหนึ่งแล้ว ถึงผมจะเป็นผู้อ่านระดับเหนียวแน่นของนิตยสารแห่งการต่อสู้ฉบับนี้มาตลอดทั้งในชื่อนี้และชื่ออื่นๆ ผมก็ยังเฉยอยู่ เหตุที่เฉยก็มิใช่อวดดีหยิ่งยโส หรือคิดว่าตัววิเศษวิโสไม่เหมือนใคร แต่เป็นเพราะผมกำลังเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมืองไทยอย่างพินิจพิจารณา ชั่วเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาบวกกับอีกไม่กี่ปีจากนี้ไป เมืองไทยได้ปรับตัวมามากและกำลังเปลี่ยนแปลงจนถึงรากถึงโคนในทางการเมือง ทั้งนี้เพราะสายสัมพันธ์ระหว่าง “เจ้าของบ้าน” กับ “ผู้อาศัย” ได้ถูกกระทบกระแทกจากสถานการณ์การเมืองจนแลเห็นพระไตรลักษณ์ นั่นคือความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป มาปรากฏอยู่ตรงหน้า จึงเกิดแรงเหวี่ยงเป็นวงๆ ไปโดยรอบ เหมือนโยนหินก้อนใหญ่ลงในบ่อน้ำนิ่งจนเกิดระลอกคลื่น เราทุกชีวิตในหมู่มวลชนต่างได้รับผลกระทบจากระลอกคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งนั้น แม้คนที่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ปฏิเสธที่จะมีทัศนะทางการเมืองใดๆ หรือพวกค้าสงครามที่ได้รับผลประโยชน์เต็มฟายมือจากความขัดแย้งในทางการเมืองแห่งพุทธศักราชนี้ ล้วนได้รับผลกระทบจนชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป มวลชนผู้มีสำนึกรับผิดชอบและติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างคนรู้ทันเสียอีก จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ดีกว่าคนที่ไหลตามน้ำอย่างเห็นแก่ตัว

เมื่อถึงคราวเขียน ผมจึงขอเขียนความในใจมาในรูปจดหมายเปิดผนึกต่อมวลชนที่ผมรักและเคารพ ซึ่งก็จะได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและอื่นๆ ตามควร โดยอาศัย Red Power เป็นพาหนะ เมื่อเป็นจดหมายและใช้ชื่อจริง ผมก็ต้องขอออกตัวล่วงหน้ากับทุกท่านว่าผมคงเขียนไม่ได้ตามใจทุกอย่าง เรื่องหยิกเล็บเจ็บเนื้อยังคงมีความสำคัญและจำเป็นต้องข่มเอาไว้ในใจเพื่ออนาคตของขบวนการบ้าง แต่ทุกอย่างที่ตัดสินใจเขียนนั้นจะเป็นของจริงทั้งความคิดเห็นและข้อเท็จจริง ผมตระหนักดีว่าอนาคตของชาติและของทุกชีวิตรวมทั้งของตัวผมเองขึ้นอยู่กับมวลชน ถึงจะมีนายหน้าการเมืองแทรกเข้ามาทุกยุคสมัย   ทั้งนายหน้าผู้ใหญ่โตไปจนถึงคนระดับไส้ติ่งของนายหน้า แต่มวลชนจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสมอ

จดหมายนี้เป็นฉบับแรก ผมขอใช้เวลาอธิบายความเกี่ยวกับตัวผมเองสักครั้ง เพื่อตอบคำถามหลายคนว่าผมหายไปไหน ทำอะไร มีความสุขทุกข์เป็นประการใด และกำหนดแนวทางในการต่อสู้ไว้อย่างไร ซึ่งล้วนเป็นคำถามของคนที่รักกันและมีความจริงใจต่ออนาคตของบ้านเมืองทั้งสิ้น ฉบับต่อๆ ไปคงจะไม่มีลักษณะพร่ำพรรณนาเรื่องของตัวเองให้ท่านรู้สึกรำคาญ แต่คงจะแทรกอยู่กับบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆ ไปตามเพลง

นับถึงวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ผมออกจากประเทศไทยมาครบสามปีแล้ว เหตุที่ออกมาก็เพราะมีสถานการณ์รุนแรงที่เราเรียกว่า “สงกรานต์เลือด” เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มีวีรชนของเราล้มตายไปอย่างเงียบเชียบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณรอบๆ สามเหลี่ยมดินแดง และไม่มีใครไว้อาลัยหรือคิดชดเชยอะไรให้จนกระทั่งบัดนี้ แต่ถึงจะบาดเจ็บล้มตายกันมาก การลี้ภัยในขณะนั้นดูจะไม่มีเหตุผลเท่าที่ควร แม้แกนนำที่เป็นเพื่อนกันอย่าง “คุณจตุพร พรหมพันธุ์” ซึ่งบัดนี้กลายเป็นรัฐมนตรีโดยไม่ต้องอาศัยพระบรมราชโองการ ก็ยังออกปากผ่านสื่อมาอย่างไม่เข้าใจว่า “จักรภพหนีทำไม” เหตุที่ผมตัดสินใจเช่นนั้นก็ชัดเจน เพราะการจัดตั้งกำลังของรัฐเมื่อคราวสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๕๒ รวมทั้งกำลังเสริมอย่าง “เสื้อสีน้ำเงิน” เป็นไปเพื่อการบดขยี้มวลชนประชาธิปไตยอย่างนองเลือดทั้งสิ้น หากแกนนำ นปก. ในขณะนั้นไม่ประกาศสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล การฆาตกรรมหมู่ ณ ใจกลางเมืองคงจะเกิดขึ้นที่นั่นก่อนคราวราชประสงค์ ถามต่อว่า เพราะกลัวการนองเลือดที่ว่านี้หรือจึงตัดสินใจเดินทางออกไป ก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่ เหตุที่ออกไปเพราะได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า โอกาสในการรอมชอมตามวิถีประชาธิปไตยกับผู้ที่สั่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ฯ มาฆ่าเราอย่างเป็นระบบนั้น ได้หมดสิ้นไปแล้ว หากผู้ที่ออกคำสั่งมีความเป็นประชาธิปไตยเจือปนอยู่บ้าง เขาคงจะได้สติจากการต่อสู้ของมวลชนด้วยหัวใจตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมา และน่าจะตื่นจากหลับด้วยผลการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ แต่เมื่อได้เห็นการจัดตั้งกองกำลังฆ่าคนในคราวนั้น ผมก็รู้โดยประจักษ์แจ้งว่าเราต้องไปจัดตั้งแนวทางการต่อสู้ที่อยู่นอกพื้นที่อำนาจของเขา นี่คือเหตุผลที่ผมต้องวิจารณ์การกระทำต่างๆ ของพวกเราเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือการเชิญฝ่ายตรงข้ามขึ้นเวทีเพื่อแสดงอะไรก็ตาม ทุกๆ ครั้งที่วิจารณ์ออกไปก็ดูเหมือนจะขัดใจแกนนำที่เป็นพรรคพวกกันทุกครั้ง จนต้องยกทีมออกมาโต้ตอบกันแรงๆ มวลชนบางส่วนก็พลอยไม่เข้าใจผม บางท่านก็ตัดพ้อต่อว่า บางท่านก็แสดงความผิดหวังหรือเสียใจที่เห็นเราทะเลาะกันเอง ความรู้สึกเช่นนี้เกิดอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ผมอยากให้มวลชนทุกท่านทราบเถิดครับ คนที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยหัวใจจริงโดยไม่มีผลประโยชน์อื่นๆ เคลือบแฝง ไม่มีวันที่จะทะเลาะกันจริงหรอกครับ เรายังร่วมงานกันได้ในทุกเวลานาที อย่างที่เราเรียกกันติดปากว่า “พบกันเมื่อชาติต้องการ” คนที่ผมจะทะเลาะด้วยจริงและรู้สึกรังเกียจคือเหลือบทางการเมืองที่อาศัยมวลชนมาเป็นพรมเช็ดเท้าของตัวเอง เพื่อก้าวเข้าไปสู่ห้องอันสวยงามอัครฐาน ขณะเดียวกันก็กดหัวมวลชนเพื่อไม่ให้เติบโตทางความคิด อยากให้มวลชนอยู่ในสภาพเด็กที่ว่านอนสอนง่ายและตามใจคนสั่ง ซึ่งเป็นเจตนาที่ไม่ต่างอะไรจากฝ่ายศักดินา-อำมาตย์ที่มวลชนถือเป็นคู่ต่อสู้เลย พวกที่น่ารังเกียจนอกจากนี้ คือพวกที่เล่นเกมการเมืองจนถึงขั้น “ฆ่า” คนในขบวนการเดียวกันเพื่อรักษาความเป็นนายหน้าค้าประชาธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวของตนเองเอาไว้ คนจำพวกนี้ต่างหากที่ผมขออยู่ห่าง ไม่ขอร่วมสังฆกรรมใดๆ ด้วย หากคนเหล่านี้ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผมก็จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องต่อสู้ให้หมดสิ้นไปด้วย รวมความแล้ว การลี้ภัยในวันนั้นเกิดขึ้นเพราะผมตัดสินใจลุกขึ้นสู้อย่างเป็นระบบและหวังผลระยะยาวโดยร่วมมือกับมวลชนในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องจนบัดนี้ บางเรื่องก็ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ควรที่จะนำมาเล่าขานกัน
แต่ประสบการณ์สามปีของผมสอนผมว่า ปัญหาใหญ่มิได้อยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม แต่อยู่ที่เซลล์มะเร็งในเนื้อตัวของขบวนประชาธิปไตยเอง ผมพยายามปฏิบัติภารกิจตามความตั้งใจมาตั้งแต่วินาทีแรกที่ลงหลักปักฐาน แต่แล้วผมก็รู้รสของ “พวกเรา” ที่มิใช่พวกเรา แทรกตัวเข้ามาเป็นผู้นำหรือผู้สนับสนุนที่มิได้มีแนวทางเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองตามอุดมการณ์เลย คนเหล่านี้ใช้ศิลปะในทางการเมืองที่สูงส่งกว่าคนทั่วไป เนื่องจากเขามีคุณธรรมที่ต่ำกว่า ขับเคลื่อนมวลชนแบบเข้าเกียร์ว่างหรือถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ แทนที่จะถนอมและประคองขบวนประชาธิปไตยให้เดินหน้าไปตามธรรมชาติ และนำการจัดตั้งตามอุดมการณ์และมีระบบที่ดีเข้ามาเสริม ผมถามตัวเองหลายครั้งว่าคนเหล่านี้เขาต้องการอะไร เหตุใดจึงไม่ต้องการประชาธิปไตยอันแท้จริงเหมือนพวกเรา สุดท้ายผมต้องตอบตัวเองว่า เขายังต้องการประชาธิปไตยแบบที่เขาควบคุมได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มวลชนเข้ามาควบคุมและชี้นำเขา เขาเพียงต้องการให้กลุ่มพวกของตัวเองเข้ามาแทนกลุ่มเก่าที่เป็นเหลือบเบียดบังบ้านเมืองมาเนิ่นนาน โดยไม่ต้องการระบบการเมืองใหม่ใดๆ พูดง่ายๆ คือการ “ปฏิวัติ” ของคนเหล่านี้ คือการอาศัยกำลังมวลชนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากกลุ่มเก่ามาใส่มือของตนเท่านั้น เขาจึงต้องเข้ามาควบคุมขบวนพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อให้เคลื่อนไหวไปในทางที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของเขาเสียตั้งแต่ต้น ผลคือการต่อสู้ของมวลชนหันเหออกจากแนวทางอันเหมาะสม จังหวะแห่งชัยชนะกลับล่าถอย จังหวะที่ต้องต่อสู้เพื่อมวลชนกลับรอมชอม และจังหวะที่ได้ครอบครองอำนาจรัฐก็กลับยกประโยชน์ให้จำเลย ทำให้มวลชนจำนวนมากที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่า “ตาสว่าง” รู้สึกอึดอัดขัดใจขึ้นเป็นลำดับ และเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังเดินไปทางไหนกัน สู่อิสรภาพหรือกลับเข้าคอกวัวคอกควาย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบนี้แตกต่างจากประวัติศาสตร์มีหลายประการ โดยเฉพาะสองเรื่องหลักที่นักปฏิวัติตั้งแต่ ร.ศ.๑๓๐ เรื่อยมาได้แต่ฝัน นั่นคือ เทคโนโลยีการสื่อสารที่มอบอิสรภาพตามธรรมชาติกลับสู่คนแต่ละคนมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่กลัวเทคโนโลยีและวิ่งเข้าใส่ และการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับสากลหรือระดับโลก ที่ทำให้การต่อสู้ในประเทศไทยไม่โดดเดี่ยว ผมขอตราไว้ตรงนี้ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาชน

การเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารที่ทำให้ความเป็น “สื่อมวลชน” หรือ “mass media” ลดลงมาเป็น “การสื่อสารส่วนบุคคล” หรือ “personalized media” มากขึ้น ผู้คนสามารถใช้เครื่องมือเล็กๆ ในมือของตัวเองในการรับและส่งข้อมูลที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเขาได้เกือบตลอดเวลา ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงอานุภาพของฝ่ายประชาธิปไตยไปโดยอัตโนมัติ วันนี้คนถวิลหา I-Phone, I-Pad, tablet และวันที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้ก็จะมีอีกหลายชื่อจนจำกันไม่หวาดไหว ก็เพราะในส่วนลึกของจิตใจแล้ว คนแต่ละคนกระหายโอกาสที่จะหลุดพ้นออกไปจากกรอบที่คนอื่นขีดให้ใช้ชีวิต และเครื่องมือเหล่านี้กลายเป็นพาหนะชนิดใหม่ในการเดินทางสู่อิสรภาพที่ว่านั้น ผมระลึกถึงด้วยความชื่นใจว่า การกดขี่ทางการเมืองในเมืองไทยได้ช่วยให้คนไทยวิ่งเข้าหาเทคโนโลยีมากขึ้น กี่คนล่ะครับที่ไม่กี่ปีก่อนยังไม่กล้าแตะคอมพิวเตอร์ แต่บัดนี้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญย่อมๆ ขึ้นมาแล้ว เข้าใจหมดทั้งโปรแกรมพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ใหม่ๆ เพราะความกระหายที่จะได้รับและส่งข้อมูลอย่างนักประชาธิปไตยนั่นเองที่เป็นเหตุ เว็บไซต์ที่มีมากมายเหลือคณานับ โปรแกรมพูดคุยต่างๆ และกิจกรรมอีกมากหลายในโลกไซเบอร์ ได้ กลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงทางสังคมขั้นวิเศษอย่างชนิดที่เครื่องมือเก่าๆ ต้องยอมศิโรราบ คนที่ส่งนวัตกรรมเหล่านี้มาสู่โลก เขาก็ทำเพื่อการค้าและผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของเขาเองก็จริง แต่ขณะนี้ผลข้างเคียงของการนี้ทำให้โลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ระบบการเมืองก็กำลังเปลี่ยนตาม เพราะตระหนักกันแล้วไม่มากก็น้อยว่า ไม่มีระบบการเมืองใดๆ อีกแล้วที่สามารถรับมือกับพลังที่ถูกปลดปล่อยออกมาถึงขนาดนี้ได้ ยกเว้นระบอบและระบบประชาธิปไตย หลายประเทศที่หมกมุ่นกับการ “ควบคุม” คือตรงข้ามกับการ “ปลดปล่อย” ซึ่งรวมถึงผู้มีอำนาจในเมืองไทยด้วย ก็เป็นการงัดข้อที่คนทั้งโลกกำลังจับตามองว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าจะประสบความล้มเหลว คนฉลาด (แกมโกง) เพียงไม่กี่คนในระบบรัฐแบบโบราณ จะมาสู้พลังมวลชนขนาดโลกทั้งโลกได้อย่างไร ต่อให้บางส่วนโง่เขลามืดทึบบ้าง เห็นแก่ตัวอย่างหนักชนิดเป็นภัยต่อโลกบ้าง หรือเป็นเผด็จการลึกอยู่ในขั้วหัวใจบ้าง จำนวนคนที่มีความสามารถโต้กลับย่อมมีมากกว่า และรวมถึงคุณภาพโดยรวมที่ย่อมจะสูงกว่าด้วย เทคโนโลยียุคนี้จึงเป็นธรรมชาติการต่อสู้ของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีฐานคิดที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หล่นจากสวรรค์ชั้นฟ้าที่ไหนเลย แท้ที่จริงแล้ว อินเตอร์เน็ตคือความกระหายอย่างถึงแก่นของสัตว์สังคมที่จะสื่อสารกันด้วยเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมเท่านั้นเอง นับเป็นของขวัญของฝ่ายประชาธิปไตยโดยแท้

ไม่เฉพาะกัมพูชาเท่านั้น ที่ออกโรงสนับสนุนฝ่ายประชาชนของไทยอย่างเต็มอัตราศึก ชาติอื่นๆ ในย่านสุวรรณภูมิและอาเซียนส่วนใหญ่ล้วนมีบทบาทในทางบวกต่อเราทั้งสิ้น ต่างเพียงว่าบางประเทศท่านไม่ประสงค์จะออกนามเท่านั้นเอง วันหนึ่งผมคงมีโอกาสเล่าให้ท่านฟังว่าใครช่วยเหลืออะไรเราอย่างไรบ้างในรายละเอียด ต้องขอโทษท่านว่าวันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะเล่าได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อใคร ณ จุดนี้เองที่ผมก็เห็นอัศจรรย์ ประเทศเหล่านี้มีลักษณะพึ่งพา (inter-dependent) ไทยในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เท่าๆ กับที่เราก็พึ่งพาเขา ความสัมพันธ์ระหว่างเราค่อยๆ ลดจากการพึ่งพิงหรือ dependent ลงโดยลำดับ ซึ่งทำให้เราคบกันอย่างคนที่มีวุฒิภาวะสูงขึ้น ไม่ต้องหน้าเนื้อใจเสือหรือมีลักษณะปลิ้นปล้อนตลบแตลงระหว่างกันเหมือนอดีต ผลจากความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ผมพบเห็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ผมเคยคิดว่าผู้มีอำนาจไทยที่ไม่ใช่พวกเราในฝ่ายประชาธิปไตยเขาสามารถสนองตอบผลประโยชน์เหล่านี้ได้ดีกว่าเรา เพราะเขาปกครองมาเนิ่นนาน รู้วิธีกดปุ่มระดมทุนและทรัพยากรทุกชนิดได้ดีกว่าพวกมือใหม่หัดขับอย่างเรามากนัก เหล่าเพื่อนบ้านน่าจะถูกดึงดูดให้ไปคบกับเขามากกว่าเรา  แต่การณ์กลับปรากฏว่า เขาเสนอตัวคบกับเรา โดยเหตุผลอันเรียบง่ายและเข้าใจได้ทันทีว่า ฝ่ายผู้กุมอำนาจเดิมของไทยเป็นต้นเหตุของความคิดหวาดระแวงในภูมิภาค การทรยศหักหลัง และความคิดที่นำมาสู่การดูถูกดูแคลนเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด เขารู้รสเหล่านี้มานานปี จนตัดสินใจชัดเจนแล้วว่าฝ่ายประชาชนด้วยกันเท่านั้นที่จะคบค้าสมาคมกันได้โดยสนิทใจและบังเกิดผลดีในระยะยาว มีหลายตัวอย่างและหลายเหตุการณ์ที่ไม่ควรเล่าในวันนี้ ที่ยืนยันถึงแนวโน้มแห่งความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกและระดับภูมิภาคที่ทำให้ฝ่ายอำนาจเดิมของไทยอยู่ในฐานะตั้งรับและเสียเปรียบ ถึงเราไม่ควรตั้งตนอยู่ในความประมาทเลยก็ตาม เราจะรู้สึกชื่นใจบ้างก็คงไม่ผิดอะไร

พี่น้องมวลชนที่รักครับ ผมจะเขียนจดหมายมาหาท่านเรื่อยๆ บางครั้งก็เล่าแนวคิดทางการเมืองบ้าง บางครั้งก็อาจเล่าเรื่องที่เป็นข้อมูลความรู้อื่นๆ บ้าง เพื่อให้รู้ว่าเรามีกันและกันเสมอไป

ฉบับแรกแปลกตรงไหนใครว่าแปลก
ก็เพียงเริ่มวันแรกเราสื่อสาร
ถึงเว้นว่างห่างเหินมาเนิ่นนาน
อุดมการณ์เดียวกันก็ทันที

คิดถึงกันอยู่เสมอเพราะเกลอเก่า
ครอบครัวเราก็ยังรักในศักดิ์ศรี
วีรชนยังอยู่ท่านรู้ดี
ถนนยาวสายนี้ว่าใครจริง

เขียนจดหมายมาเพราะตัวมาไม่ได้
เพราะเมืองไทยในวันนี้ผียังสิง
หากช่วยล้างสร้างน้ำมนต์บนความจริง
สาดจากหิ้งพระเก่าก็เบาใจ

ใครเล่าท่านมันจะไม่คิดถึงบ้าน
แต่เรื่องงานบ้านเมืองเป็นเรื่องใหญ่
เพียงรู้ว่ามวลชนยังมีใจ
ก็สู้ไหวเพราะใจยอมพร้อมพลีตน...

ด้วยรักและเคารพ
จักรภพ เพ็ญแข

----------------------------------------------------------------------------------
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, นิติราษฎร์, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สมัคร เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แถลงการณ์ของนายจักรภพ เพ็ญแข เรื่อง "นายอำพล ตั้งนพกุล"เสียชีวิต




แถลงการณ์ของ นายจักรภพ  เพ็ญแข
เรื่อง “นายอำพล ตั้งนพกุล” หรือ “อากง” เสียชีวิต
วันอังคารที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕

ผมรู้สึกเศร้าสลดใจอย่างลึกซึ้งต่อข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ “นายอำพล ตั้งนพกุล” หรือ “อากง” ที่พวกเรารู้จักกันดีในฐานะเหยื่อของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การเสียชีวิตของ “อากง” ได้สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนไทยและชาวโลกที่กำลังเพ่งมองประเทศไทยว่า ยังมีความยุติธรรมและความเป็นธรรมหลงเหลือในคำว่ากระบวนการยุติธรรมหรือไม่ การพิสูจน์ทราบว่า “อากง” เสียชีวิตเพราะอะไร จะเป็นเพราะการกลั่นแกล้งรังแก หรือจงใจเจตนาให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกแบบแผนของผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่เวลาจะพิสูจน์ทราบต่อไป แต่สิ่งที่ปรากฏคือ ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย หรือคดีใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐตัวจริง ย่อมอยู่ในภาวะอันตรายและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงทั้งสิ้น

ผมขอให้ดวงวิญญาณของ “อากง” ได้โปรดไปสู่สุคติภพและได้ดลบันดาลให้พวกเราที่ยังเหลืออยู่ประสบชัยชนะในการต่อสู้เชิงโครงสร้างของสังคมไทย ไม่เห็นแก่การรอมชอมแบบตื้นเขินที่ไม่มีความหมายใดๆ ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย และมุ่งตรงไปสู่การยกระดับอำนาจและความเสมอภาคของประชาชนชาวไทยด้วยเถิด และขณะเดียวกันขอให้พี่น้องชาวประชาธิปไตยทั้งไทยและต่างประเทศได้ช่วยขยายความ กระจายข้อมูล และชี้ประเด็นอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นธรรมนี้ไปสู่มวลชนต่างๆ ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก ขอให้การเสียชีวิตของ “อากง” ได้กลายเป็นอนุสาวรีย์ใหม่ช่วยให้เราทุกคนข้ามน้ำไปสู่ฝั่งที่เราพึงประสงค์ได้ในเร็ววันด้วยเทอญ.

แถลง ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕

นายจักรภพ  เพ็ญแข

*****************************************************************************

"อากง" เหยื่อ ม.112 เสียชีวิตคาเรือนจำ








"อากง SMS" เสียชีวิตแล้ว ในโรงพยาบาลเรือนจำพิเศษฯ

วันนี้ (8 พ.ค.55) เวลาประมาณ 10.30น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากอานนท์ นำภา ทนายความสำนักราษฎรประสงค์ว่า อำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะในนามว่า "อากง" ผู้ต้องขังคดี 112 ได้เสียชีวิตลงแล้วในเช้าของวันนี้ที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ก่อนหน้านี้ อำพลได้ถูกแจ้งข้อหาว่าได้ส่ง SMS ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวน 4 ข้อความไปยังเลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในช่วงกลางปี 2553 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.53 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่หลังจากอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้ง ด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี ต่อมา เมื่อวันที่ 23 พ.ย.54 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินจำคุกนายอำพลเป็นระยะเวลา 20 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เม.ย.  ทนายความของนายอำพล ได้ดำเนินการยื่นถอนอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากเจ้าตัวต้องการจะขอพระราชทานอภัยโทษ ประกอบกับอายุมากและเป็นโรคประจำตัว

(11.45น.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก รพ.ราชทัณฑ์  ว่า ประชาชนที่ทราบข่าวทยอยมารอรับศพนายอำพล ขณะที่ภรรยาของนายอำพลเข้าไปดูศพสามีพร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์

***************************************************************************

ทนายอากงเผย อากงปวดท้องหนักตั้งแต่วันศุกร์ เพิ่งได้ตรวจวันจันทร์

Tue, 2012-05-08 13:08


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.30น. ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) และผู้ใกล้ชิดออกมาพบกับประชาชนที่รออยู่ภายนอก หลังจากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์อยู่พักใหญ่ โดยนางรสมาลินร้องไห้ และกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่ขอพูดอะไร ขอตั้งสติก่อน

ขณะที่พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายของนายอำพล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า มีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ว่า อากงถูกส่งมาที่ รพ. ด้วยอาการปวดท้องเมื่อช่วงเที่ยงวันศุกร์ที่ผ่านมา และได้เข้าเตียงเมื่อ 15.40 น. แต่ยังไม่ทันได้เจาะเลือดหรือตรวจอะไร เพราะหมดเวลา และติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต่อมา มีการเจาะเลือดในวันจันทร์ แต่ผลแล็ปยังไม่มา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับตับ เพราะตับโต โดยนายอำพลเสียชีวิตเวลาประมาณ 9.10 น. ของวันนี้ ด้านแพทย์ยังไม่กล้าฟันธงว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด ขณะนี้กำลังรอการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย

ทนายของนายอำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ นายอำพลขอปล่อยตัวมาแปดครั้งแล้ว แต่ศาลยกคำร้องตลอด หากนายอำพลได้สิทธิการประกันตัวตั้งแต่ต้น จะได้ไปหาหมอทุก 3-6 เดือนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะนายอำพลเพิ่งไปผ่าตัดมะเร็งในช่องปาก และอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้

พูนสุข กล่าวว่า จริงๆ อากงมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งเป็นหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะนี้ ถอนอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีกำหนดจะทำภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีผู้สื่อข่าวและประชาชนที่ทราบข่าวมาให้กำลังใจครอบครัวนายอำพล กว่า 50 คน สำหรับศพของนายอำพล จะออกจากโรงพยาบาลในวันพรุ่งนี้ (พุธ 9 พฤษภาคม) หลังชันสูตรศพตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน ผู้ต้องหาคดี 112 นำกระดาษโน้ตซึ่งเขียนโดยสุรชัยหลังรู้ข่าวมาให้ โดยมีข้อความ "เอาคนแก่คืออากงมาขังจนเสียชีวิต ที่ตายก็เพราะ ม.112 การรักษาก็ไม่ทั่วถึง ปวดท้องมานานนับเดือน ขอประกันตัวออกไปรักษาตัวภายนอก ก็ไม่ให้ประกันตัว จนอาการหนักมากแล้วจึงส่งตัวไปรักษา อยากฝากบอกญาติและครอบครัวของอากงว่า ควรจะเอาศพอากงทำประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นครั้งสุดท้าย โดยตั้งศพต่อไปอย่าเพิ่งเผา จนกว่าจะมีการแก้ไข ม.112 และได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง"

***************************************************************************



ที่มา : ประชาไทออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สมยศเบิกความ โยน “จักรภพ เพ็ญแข” ตัวจริงเขียนบทความ ตนอ่านแล้วตีความแค่ “อำมาตย์”



1 พ.ค.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่นายสมยศเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Voice of Taksin ที่มีการตีพิมพ์บทความ 2 เรื่องที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ในปี 2552 เป็นเพียงผู้เขียนคนหนึ่งใน นิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาเมื่อถึงฉบับที่ 9 จึงมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ต่อจากนายประแสง มงคลสิริ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ-ประชาไท) โดยได้ค่าจ้าง 25,000 บาท นิตยสารเล่มนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด เนื่องจากร่วมกันหลายหุ้นและช่วยๆ กันทำ ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาด มีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งถูกสั่งปิดซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะมีเนื้อหาวิพากษ์การโยกย้ายนายพลในช่วงเวลานั้นอย่างหนัก

สำหรับบทความที่ตีพิมพ์นั้น แบ่งเป็นบทความประจำที่ลงต่อเนื่อง และบทความใหม่ๆ ที่ต้องทำเพิ่มให้ทันสถานการณ์ ในส่วนบทความประจำจะมีทั้งผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝง โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมจะได้รับการลงพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการตัดทอนบทความแต่อย่างใด โดยปกติตนมีหน้าที่อ่านเพียงคร่าวๆ เนื่องจากมีบทความต้องพิจารณามาก และต้องเร่งให้ทันการปิดเล่ม

เมื่อถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บก.บห. โดยผู้ประสานงานติดต่อให้จักรภพมาเป็นคอลัมนิสต์ คือ นายประแสง

เมื่ออัยการถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความในขั้นสุดท้าย สมยศขอดูรายชื่อกรรมการในนิตยสารอีกครั้งพร้อมระบุว่า ไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จากนั้นอัยการได้ซักถามเพิ่มเติมจนสุดท้ายสมยศตอบว่า ผู้มีสิทธิตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงบทความ ก็คือตัวนักเขียนเอง ตนมีหน้าที่นำไปส่งโรงพิมพ์

ในด้านเนื้อหาของบทความ นายสมยศตอบทนายว่า เมื่ออ่านบทความของจิตรฯ แล้วคิดว่าสื่อถึง “อำมาตย์” ไม่คิดว่าจะสื่อความถึงสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภาพประกอบบทความก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ไม่น่าจะทำให้ผู้อ่านโน้มเอียงไปในทางนั้นได้ ในส่วนที่พยานอื่นระบุว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เขาไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงท่อนจันทร์ แต่กล่าวถึงถุงแดงซึ่งเขาไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร การกล่าวถึงผู้อยู่ชั้นบนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็ไม่เกี่ยวข้องกษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด ส่วนการกล่าวถึงตัวละคร “หลวงนฤบาล” ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตำแหน่งหลวงนั้นต่ำกว่า อีกทั้งบทความยังระบุว่าหลวงนฤบาลสอพลอทหารใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงนายทหารที่ยศต่ำกว่าจอมพลฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเชื่อว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีการเบิกความเกี่ยวกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสมยศเบิกความว่า เนื่องจากเป็นสื่อมวลชน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง โดยรู้ว่าตาม พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ 2484 บก.ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของหนังสือที่จัดพิมพ์ แต่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ได้ระบุว่าให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ

สุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการสืบพยานว่า กฎหมายใหม่ไม่ได้ระบุว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย หากบทความเข้าข่ายความผิดผู้เขียนต้องรับผิดชอบ การที่เจ้าหน้าที่จับตัวผู้เขียนไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา หรือต่อให้ยืนยันว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตีพิมพ์ก็ยังไม่ใช่นายสมยศอยู่ดี เพราะมีบรรณาธิการอีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือ แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี เพราะดีเอสไออ้างว่านายสมยศแสดงตนเสมือนเป็นบรรณาธิการ

สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา สมยศเบิกความต่อศาลว่า เคยทำสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์และหนังสืออื่นๆ มาก่อนจะมาทำนิตยสาร Voice of Taksin หลังจากโดนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งปิด ก็มาเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Red Power ต่อในเดือน ก.ค.53

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สมยศและสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ จากนั้นทั้งสองก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร โดยสุธาชัยถูกควบคุมตัว 7 วัน สมยศถูกควบคุมตัว 21 วัน โดยไม่มีการสั่งฟ้องคดีใดๆ ระหว่างนั้น Voice of Taksin ถูกปิด ทีมงานเดิมจึงเปิด Red Power ขึ้นมาใหม่โดยตีพิมพ์ได้ 5 เล่ม ก็ถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ จึงได้ไปจ้างพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชาแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทย พร้อมๆ กับการจัดทัวร์ท่องเที่ยวกัมพูชาด้วย

สมยศ ระบุว่า เชื่อว่าการจับกุมเขามีที่มาจากผังล้มเจ้า ซึ่งระบุถึงหนังสือ Voice of Taksin และผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงสุธาชัยด้วย ซึ่งภายหลังสุธาชัยได้ฟ้องหมิ่นประมาท พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ผู้ประกาศผังล้มเจ้า จนสุดท้าย พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่าผังไม่มีมูล จึงได้มียอมความกันไป

ในทัศนะของสมยศ เขาคิดว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ซึ่งย้อนไปในอดีตจะพบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหาร โดยมีข้ออ้างว่ารัฐบาลทักษิณไม่จงรักภักดี และยังแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านและถูกจับกุมด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีจำนวนมาก ทั้งที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าพระมหากษัตริย์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอความจริง กระนั้นตนก็ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเหมือนประชาชนทั่วไป เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 และเห็นว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายอื่น อีกทั้งโทษ 3-15 ปีก็สูงเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักนิติรัฐ ส่วนพฤติกรรมที่ผ่านมา เคยแถลงข่าวถึงปัญหาเรื่องนี้และเสนอการรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา112 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ถูกจับกุมคุมขังในสัปดาห์ถัดมา

“ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว” สมยศให้สัมภาษณ์ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้า

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ “จิตร พลจันทร์” ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ โดยตีพิมพ์ในฉบับที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชื่อ “แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น” และในฉบับที่ 16 เดือนมีนาคม 2553 ชื่อ เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 ซึ่งตามคำฟ้องระบุความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 112 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4

หลังจากถูกจับกุมเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการยื่นขอประกันถึง 9 ครั้ง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯและจะสืบพยานจำเลยในวันที่ 1-3 พ.ค.55 โดยในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้านายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ จะขึ้นให้การเป็นพยาน

**************************************************************************
ที่มา : ประชาไทออนไลน์