ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“จุดยืน” (๒) โดย จักรภพ เพ็ญแข


คอลุมน์ เขียนถึงคนรัก
ตอน "จุดยืน" (๒)
ที่มา : Red Power ฉบับที่ ๒๗ (กรกฎาคม ๕๕)


มวลชนที่รักและเคารพครับ

พวกเราสบายดีไหมครับ ผมหวังว่าท่านจะสบายกายและสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ถึงในใจจะไม่สบาย เพราะได้เห็นเล่ห์กระเท่และความชั่วร้ายของอำนาจเดิมอย่างกระจะตา ก็ขอให้รักษาร่างกายของท่านเตรียมไว้สำหรับขบวนประชาธิปไตยในปัจจุบันและอนาคต ถึงผมอยู่ห่างกายกับท่าน จนหลายท่านนึกเอาเองว่าผมคงทิ้งห่างจากมวลชนไปแล้ว บางครั้งก็เกิดข่าวลือต่างๆ นานาตามประสาคนที่อยู่ไกลกัน แต่ทำงานทุกอณูของชีวิตเพื่อการปฏิวัติประชาธิปไตยในเมืองไทยโดยตรง ขอให้ท่านมั่นใจและอย่าได้ห่วง งานสร้างประชาธิปไตยมีทั้งเปิดเผยและปิดลับ มีทั้งงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โปรดอย่านึกว่าการโผล่หน้าแสดงตัวต่อมวลชนเท่านั้นจึงจะถือว่าทำงาน วันหนึ่งเมื่องานของเราบรรลุผลบ้างแล้ว ผมคงมีโอกาสเล่าให้ท่านฟังกันได้ว่าเราทำอะไรกันไปบ้างและจะทำอะไรต่อไปอีก

สิ่งสำคัญที่สุดคือจุดยืน ในคอลัมน์ "เขียนถึงคนรัก" วันนี้ ผมจึงขอเสนอบทสัมภาษณ์ตอนที่ ๒ กับ "คุณจอม เพชรประดับ" เพราะแสดงจุดยืนของผมได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ขอเชิญรับความสำราญครับ......

จักรภพ เพ็ญแข

Core Respondence จอม เพชรประดับ จักรภพ เพ็ญแข

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

จอม                 ผมก็ได้ฟังคุณจักรภพได้พูดไว้เหมือนกัน การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรใน ๓ ส่วนนี้ครับ

จักรภพ           จริงๆ ไม่ได้พูดขึ้นมาก่อน ผมไปพูดคุยกับกลุ่มเล็กๆ เป็นการภายใน แล้วก็มีท่านหนึ่งถามขึ้นมาว่า ทำไมทางฝั่งประชาธิปไตยจึงไม่มีธงเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลและปฏิรูปกองทัพ เพื่อจะไม่ให้วงจรอุบาทว์ในการทำร้าย ฆ่าฟันประชาชนกลับมาอีก

ผมก็ตอบว่า สถาบันศาลกับสถาบันกองทัพก็ได้พูดชัดเจนแล้วว่าเป็นสถาบันที่เกี่ยวพันกับอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด พูดง่ายๆ คือเกี่ยวข้องกับคำว่าพระราชอำนาจ อย่างกองทัพเองก็ออกมาพูดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยุคนี้ว่า กองทัพเทิดทูนสถาบัน ใครจะมาละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ไม่ได้ กองทัพจะเอาชีวิตเข้าแลก ศาลเองก็พูดตลอดเวลาว่าเป็นการพิพากษาในพระปรมาภิไธย แล้วศาลเวลาออกมานั่งบัลลังก์ไม่ว่าจะเป็นองค์คณะหรือเป็นอย่างไรก็ตามก็จะอยู่ภายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ทุกครั้ง เป็นเหมือนกับองค์ประกอบของกระบวนการพิจารณาคดี
           
เพราะฉะนั้นโดยสัญลักษณ์และโดยเนื้อหา การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสถาบันศาลหรือสถาบันกองทัพโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่ได้

ผมเองถามตัวเองว่าลัทธิที่ว่ามีผู้รู้ดีกว่าประชาชน เวลามันปรับสู่ประชาธิปไตยจะทำยังไง อย่างในสหรัฐอเมริกาเขาไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ และก็ไม่มีผู้ดีเก่า เพราะต่างคนก็ต่างเป็นผู้อพยพกันมาทั้งนั้น ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว เขาก็ตกลงว่าระบบดีที่สุดคือเราต้องมาคานอำนาจกัน ก็คือสถาบันบริหารมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า สถาบันนิติบัญญัติมีสมาชิกวุฒิสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสองสภา แล้วก็สถาบันศาลก็คือ ศาลสูงสุด คือ supreme court มีผู้พิพากษาศาลสูงสุด ๙ คน และเลือกกันเองได้ประธาน ๑ คน เรียกว่า chief justice เป็นระบบที่เขาตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้วเมื่อเขาสร้างประเทศ สุดท้ายมันก็ยังได้ผลอยู่ มีวิกฤติ มีเรื่องระหองระแหง มีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์นินทากันมาตลอด แต่สุดท้ายระบบนี้ก็ยังมี ก็คือว่าเขาคานกันอยู่ เช่น ประธานาธิบดีเป็นคนเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดแต่สภาเป็นคนเลือก ศาลสูงสุดมีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเอาชนะประธานาธิบดีและสภาได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันกับการทำความผิดแต่ละครั้งก็จะมีปัญหาที่ทั้ง ๓ สถาบันต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สมัยประธานาธิบดีนิกสัน เรื่องวอเตอร์เกต สมัยประธานาธิบดีคลินตัน เรื่องเซ็กส์-โมนิก้า ลูวินสกี้, พอล่า โจนส์ ก็ต้องเอาทั้ง ๓ สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกัน

ผมกำลังพูดอย่างนี้ครับว่าการปฏิรูปศาล ผมว่าหลักการของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นและคานอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ มันน่าจะเป็นวิธีการปฏิรูปที่ดี และขณะเดียวกันก็จะเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์พ้นข้อครหาว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

พูดง่ายๆ ว่าถ้าหากศาลเป็นของประชาชน หรือศาลอยู่ภายในระบบการถ่วงดุลและคานอำนาจกัน เวลามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในความรู้สึกของคน คนก็จะไม่มองขึ้นไปในที่สูงมาก คนก็จะมองแค่ตรงผู้พิพากษา แล้วก็ตัดสินใจกันไป

ความจริงผู้พิพากษาในเมืองไทย ท่านมีระบบที่ดีนะ เช่น ท่านมีระบบศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น แล้วแต่ละศาลก็จะมีเหมือนกับคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งจะมีผู้พิพากษาอาวุโสอยู่ในนั้น แล้วก็ทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรอง ขนาดประธานศาลฎีกาซึ่งถือว่าสูงสุดของสถาบันยุติธรรม ท่านก็ยังมีคณะกรรมการตุลาการ ซึ่งท่านเป็นประมุขแล้วก็ต้องตัดสินภายใต้ระบบกลุ่ม ระบบองค์คณะ ระบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ทำไมสถาบันศาลจำเป็นจะต้องอ้างถึงพระราชอำนาจในการมาใช้ในการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีไหนก็ตาม

ผมคิดว่าถ้าหากสถาบันศาลหันมาผูกพันกับประชาชนมากขึ้น แล้วก็ลดความเกี่ยวข้องกับสถาบันกับงานของตนเองลง สถาบันตุลาการก็จะเป็นทางออกให้กับเรื่องต่างๆ มากขึ้น แต่แน่นอนครับ มันยังมีปัญหาอื่นอีกเยอะในการปฏิรูปศาล เช่น ระบบของการไต่สวนที่ยาวนานเจ็ดชั่วโคตร เป็นความกันตอนนี้ได้ผลอีกทีลูกโตแล้ว เข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว อย่างนี้มันก็ทำให้เกิดความไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่ามันไม่ได้ผลทางกฎหมายทันท่วงที อย่างนี้ศาลก็ต้องแก้ไข

ในสหรัฐอเมริกาเวลามีคดีเข้าศาลเขาจะไต่สวนคดีต่อเนื่องๆ จนจบ จะกี่เดือนกี่ปีก็ต่อนะ เพราะฉะนั้นทุกคนจะสามารถติดตามได้ว่าความยุติธรรมมันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าหากมีอะไรไม่ชอบมาพากลก็เห็นชัด แต่บ้านเราช้าจนลืมกันไปเลย จำไม่ได้แล้วว่าคดีนี้เป็นยังไง เรียกไปไต่สวน “งง” นั่นก็เป็นเรื่องต้องปฏิรูปด้วย แล้วก็เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยึดโยงกับประชาชนที่ผมพูดตอนแรกมันต้องหาวิธี

อย่างในสหรัฐอเมริกา ผมไม่ได้บอกว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุดนะ เป็นแค่แนวคิดหนึ่ง ก็คือเขาให้ผู้ที่มีคุณสมบัติในทางกฎหมาย เช่น ต้องเรียนมาดีกรีนี้ มีตำแหน่งอย่างนี้ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ไม่ใช่ใครก็ไปลงได้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการลงสมัครรับเลือกตั้งนี่แหละแต่เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติและไม่มีการหาเสียง เป็นเรื่องของการเลือก การตัดสินใจ คือเหตุที่เขาเอาประชาชนเลือก เพื่อเขาจะลากประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีด้วย ว่ามันมีความเป็นธรรมหรือไม่มี แต่แน่นอนครับ ระบบบางอย่างที่อเมริกามี ผมก็ไม่แน่ใจว่าพอมาอยู่ในเมืองไทยแล้วมันจะอลเวงไหม เช่น ระบบลูกขุน สมมุติว่าผมถูกกล่าวหาคดีฉ้อโกงแล้วผมขึ้นศาล ผมก็จะมีคน 12 คนซึ่งผมไม่รู้จัก ต้องให้แน่ใจว่าไม่รู้จักนะ มาฟังผมให้การในศาลว่าน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ แล้วเขามีอำนาจที่จะบอกว่า จักรภพ ผิดหรือไม่ผิด แล้วผู้พิพากษาซึ่งนั่งเป็นประธานในการประชุมอยู่จึงจะตัดสินว่า เมื่อเขาบอกว่าผิดแล้วต้องลงโทษอย่างไรตามกฎหมาย มันก็ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจคือผู้พิพากษากับคณะลูกขุน คือตัวแทนประชาชน แต่แน่นอนมันก็มีข้อเถียงเยอะ บ้านเรา สงสัยลูกขุนจะถูกซื้อตัว ตังค์หมด มีคนมาจ่ายตังค์ ก็ว่ากันไป แต่ผมยกตัวอย่างว่าเราต้องเริ่มพูดคุยกันเรื่องนี้ว่าวิธีการแบบไทยจะเอายังไง ที่จะทำให้ระบบศาลเป็นไปได้

ส่วนกองทัพผมคิดว่ากองทัพต้องเริ่มตระหนักว่าธงชาติมี ๓ สี คือ แดง ขาว น้ำเงิน สีแดงที่แปลว่าชาติ และสีน้ำเงินที่แปลว่าพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่สีเดียวกันนะ คนละสี คนละแถบ คิดกันมาแล้วนะว่าคนละแถบ เพราะฉะนั้นกองทัพนอกจากปกป้องสถาบันแล้ว กองทัพจะต้องปกป้องชาติ โดยแยกชาติจากพระมหากษัตริย์ด้วย

คือในวันนี้มีการพูดถึงเรื่องของการเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสองสิ่ง มันก็ทำให้เกิดผลอันหนึ่งก็คือว่าเราไม่สามารถจะแยกระหว่างสถาบันกับตัวบุคคลได้ เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ซับซ้อนเข้าใจยากเหมือนกัน ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานเขาจะแยกออกชัดเจนนะครับ เช่น ยกตัวอย่างว่า อย่างกษัตริย์สวีเดน คาร์ล ที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ เวลาท่านมาร่วมงานลูกเสือแจมบุรีในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ท่านจ่ายเงินเองนะ เพราะมาในฐานะคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ ไม่ใช่มาในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีของสวีเดน เพราะฉะนั้นคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาร์ฟ บางทีก็เป็นคนบางทีก็เป็นกษัตริย์ เพื่อเขาต้องการที่จะบอกว่าสถาบันใหญ่กว่าบุคคล

ตรงนี้ผมเองก็ไม่บังอาจที่จะชี้แนะว่าสมควรหรือไม่ในเมืองไทย เพียงแต่อยากจะบอกว่าหลักคิดทุกอย่างต้องนำมาคิดหมด และที่สำคัญก็คือต้องยอมรับความจริงว่าของทุกอย่างที่อยู่คงทนทานในโลกนี้ต้องผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั้งนั้น ถ้าหากไม่ผ่านการพิสูจน์ก็รอเวลาที่จะมีคนมาพิสูจน์ ถ้าพูดไม่เพราะก็คือรอคนมาลูบคมลองดี ซึ่งมันไม่ดี

จอม                 มองอย่างไรกับขบวนการการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงและ
กลุ่มนิติราษฎร์ สองกลุ่มนี้จะเป็นขบวนการที่ให้ความมั่นใจได้แค่ไหนว่าจะนำไปสู่การที่ทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือมองว่าอย่างไร

จักรภพ          ความจริงชัดเจนมากครับ ขบวนการเสื้อแดงจะในนาม นปช. หรือกลุ่มใดก็ตามเป็นมวลชน แปลว่าประชาชนที่มีพลัง มวลชนต่างจากประชาชนตรงนี้ คือมีพลังบวกเข้าไป ส่วนนิติราษฎร์เป็นเสมือนที่ปรึกษามวลชน

คำว่าที่ปรึกษาหมายความว่า เขามีหน้าที่ในการเสนออะไรใหม่ๆ ให้มวลชนพิจารณา รับหรือไม่รับก็ไม่มีสิทธิบังคับ มวลชนอาจจะบอกว่าไร้สาระไม่ฟังก็ได้ หรือมวลชนจะบอกว่าดีน่าคิด แล้วเอามาทำอะไรกันต่อก็ได้

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อแดงกับนิติราษฎร์สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่อยากเห็นหรือไม่อยากได้ยินใครมาพูดว่า นิติราษฎร์เงียบหน่อยช่วงนี้ นิติราษฎร์อย่าไปพูดเยอะ เขาจะอย่างนั้นอย่างนี้กัน

จริงๆ เราควรจะขอบคุณความหลากหลายในขบวนประชาธิปไตยไทยด้วยซ้ำ ว่าในเมื่อมีคนจะปรองดองก็มีคนที่เตือนอยู่ว่าระวังหน่อยนะ ตรงนั้นตรงนี้ ไม่ดีใจเหรอ ผมว่าเราเป็นคนเราก็ดีใจนะว่ามีคนคอยเตือนเรา

เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือ นิติราษฎร์เป็นที่ปรึกษาและผมไม่ได้เชียร์เฉพาะนิติราษฎร์ ใครก็ตามที่มีสติปัญญา มีประสบการณ์ ควรจะเตือนทั้งสิ้น ควรจะรวมกลุ่มขึ้นมา อย่างไม่ต้องเรื่องการเมืองหรอกครับ เป็นต้นว่าเรื่องของธุรกิจเราก็สามารถที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างได้ เช่น นักธุรกิจที่มีประสบการณ์มารวมตัวกัน ไม่ต้องเป็นหอการค้า ไม่ต้องเป็นสภาอุตสาหกรรม ทำเป็นกลุ่มอิสระขึ้นมาเหมือนนิติราษฎร์ แต่ในทางการค้าธุรกิจ แล้วเตือนรัฐบาลก็ได้ว่า ภาษีอย่างนี้ไม่มีใครเขาลงทุนนะ แรงงานอย่างนี้ตายนะ ก็ควรจะมีนิติราษฎร์ในทางธุรกิจหรือในทางอื่นขึ้นมาเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเรามีวุฒิภาวะและลดการไปขึ้นกับตัวบุคคลแต่มาขึ้นกับพวกเรา ขึ้นกับองค์คณะของประชาชนมากขึ้น

จอม                 คิดว่าถึงที่สุดแล้วขบวนการของคนเสื้อแดงกับนิติราษฎร์จะสามารถ
เดินไปบนเรือลำเดียวกันได้ไหมครับ บนเส้นทางเดียวกันได้ไหม หรือจะมาความขัดแย้งกันในอนาคต

จักรภพ          พูดยากนะครับ ผมตอบได้เพียงแค่ว่าขณะนี้คนเสื้อแดงก็เรือลำหนึ่ง นิติราษฎร์ก็เรือลำหนึ่ง แต่ว่าเป็นเรือในขบวนเดียวกัน ลำใหญ่ลำเล็กแต่ว่ามาด้วยกันเป็นขบวนเรือ เหมือนพยุหยาตรา ต่างฝ่ายก็ต่างเห็นกันแล้วก็มีไมตรีต่อกัน โบกมือยิ้มแย้มแจ่มใส มีบางระยะเหมือนกันที่บอกว่า เรือนิติราษฎร์ไปขับห่างๆ หน่อย เดี๋ยวมาเปื้อนฉัน ก็มี แต่สุดท้ายก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ที่คุณจอมถามคือจะมาเป็นเรือลำเดียวกันไหม ผมเองตอบไม่ได้ แต่พูดได้เพียงว่าสุดท้ายถ้าเป้าหมายเดียวกันมันก็เหมือนนั่งเรือไปเจอกันที่ปากแม่น้ำ ซึ่งมันแคบและจะต้องผ่านคอขวดเพื่อเข้าไปที่ใดสักที่หนึ่ง มันอาจจะไม่มีทางเลือกต้องเหลือลำเดียว ซึ่งคนที่อยู่ในเรือใหญ่จะลงมาเรือเล็กหรือเรือเล็กขึ้นเรือใหญ่ก็ไม่รู้ ผมก็ไม่ได้มีความวิเศษวิโสที่จะไปวิเคราะห์ได้ รู้แต่เพียงว่าความคิดแบบกลุ่มนิติราษฎร์ ถ้าหากนำเสนอในเมืองไทยเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ถ้าไม่โดนโห่ก็โดนยิง แต่มาวันนี้ก็กลายเป็นกระแสธรรมดาคนก็นั่งฟัง แล้วที่ผมปลื้มใจมากก็คืออาจารย์ทั้งหลายท่านก็พูดเป็นภาษาวิชาการ มีทฤษฎีเยอะแยะ พี่น้องที่ดูเหมือนเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยก็นั่งฟังนั่งจด สนใจ ไม่เข้าใจก็กลับไปค้น แรงผลักดันตรงนี้มันมาจากไหน แรงผลักดันที่พยายามจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ตอบได้คำเดียวว่ามันมาจากความรู้สึกที่ว่าแนวทางนี้อาจจะเป็นทางออกของชีวิตเขาก็ได้

จอม                คุณจักรภพ มองอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าเป็นนักประชาธิปไตยไหมครับ หรือเป็นแค่นักการเมือง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

*********************************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือ ข่าวการเมือง, คนเสื้อแดง, นิติราษฎร์, พรรคเพื่อไทย, กิจกรรมเพื่อปชต. ฯลฯ สมัคร เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ PN กดส่งมาที่เบอร์ 4552146 สมัครวันนี้ ใช้ฟรี14วัน ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น