ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รัฐบาลสมมติ โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง รัฐบาลสมมติ

โดย กาหลิบ


ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดจะได้จัดตั้งรัฐบาลตามผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ กันได้จริง ส่วนจะเป็นรัฐบาลตัวจริงขนาดไหน เป็นรัฐบาลตามสั่งที่คอยเงี่ยหูฟังอยู่ตลอดว่าทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ หรือเป็นรัฐบาลที่ฟังคำสั่งของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว กว่าจะสรุปได้คงหลายเดือน

ความจริงรัฐบาลทุกชุดก็สมมติกันทั้งนั้น และต่างก็มีสภาพเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ เมื่อเจ้าของพอใจ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารแทนเจ้าของก็อยู่ได้ เมื่อเจ้าของไม่พอใจ ส่งตัวแทนมาขับไล่อย่างรัฐสภา หรือรุมล้อมกันเป็นมวลชนที่ทุกคนยอมรับว่าไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลังขึ้นเป็นเวทีประท้วง รัฐบาลก็ต้องนับถอยหลัง หรือย้อนกลับไปสู่กระบวนการเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนส่วนมากยังเอาตัวเองอยู่

ถามว่าสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ดูความยากเย็นแสนเข็ญของการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ชัดแล้ว ประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งออกเสียงชัดเจนเมื่อวันเลือกตั้ง แต่สภาผู้แทนราษฎรก็เกิดไม่ได้เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ยอมให้เกิด กว่าจะรับรองแต่ละคน เราเห็นภาพผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนแทบต้องไปกราบกรานขอร้ององค์กรอิสระซึ่งเป็นเพียงคนหยิบมือเดียวในสังคม มากกว่ากราบกรานประชาชนในเขตเลือกตั้งด้วยซ้ำ

และสุดท้าย คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าเป็นผู้ต้องขัง ทั้งๆ ที่โดยหลักกฎหมายสากลแล้ว ผู้ต้องขังคือผู้ที่ยังมิได้ถูกชี้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดเลย อำนาจที่ละเมิดสิทธิ์ของคุณจตุพรฯ เที่ยวนี้จึงเหนือกว่าอำนาจของประชาชนชาวไทยมากนัก

ตกลงในประเทศนี้ใครใหญ่?

การจัดตั้งรัฐบาลที่เริ่มคุยกันมาหลายสัปดาห์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และยังไม่มีตัวนายกรัฐมนตรี ก็ส่อให้เห็นถึงปัญหาเดียวกันว่า เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงผ่านการเลือกตั้งมานั้นคงจะไม่ได้รับการยอมรับนับถือนัก

ผู้ที่อยู่ในโต๊ะเจรจาเล่าว่า ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนเขาดีดลูกคิดมาเสร็จสรรพว่า เขาต้องการตำแหน่งใดและใครบ้างที่จะเข้ารับตำแหน่งนั้นๆ เที่ยวนี้ชัดเจนว่าความสนใจของเขาอยู่ที่ตำแหน่งที่สำคัญ ๓ ตำแหน่ง ได้แก่

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เหตุผลก็ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงคุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมอำนาจอันแท้จริงของประเทศ สามารถยื่นมือเข้าไปใช้อำนาจทั้งของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองได้อย่างเป็นระบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้มีอำนาจเสนอลงนามในอนุสัญญาที่ทำให้การเข้าร่วมของไทยในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) สมบูรณ์แบบ และจะสามารถนำตัวฆาตกรฆ่าประชาชนในทุกยุคของเมืองไทยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสากลได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือผู้มีอำนาจและมีบทบาทขั้นต้นในการเปลี่ยนแปลงผู้นำเหล่าทัพได้ทุกเหล่าทัพ และสามารถจัดวางกำลังทางทหารให้เอื้อต่อฝ่ายใดก็ได้

สำคัญอย่างยิ่งต่อดุลอำนาจในระยะอันเปราะบางนี้

ขณะเดียวกันขบวนการประชาธิปไตย รวมทั้ง นปช. ฯ ซึ่งใหญ่ที่สุด ดูเหมือนกำลังถูกกดดันให้มีบทบาทแบบถอยหลังลงไป ด้วยวิธีการส่งสัญญาณต่างๆ ทั้งในฝ่าย เราและฝ่ายเขา

ระวังไว้ก็แล้วกันว่า จะถอยจนถึงขั้นที่ระดมกำลังกันมาช่วยรัฐบาลไม่ทันถ้าหากถูกเขารุกฆาตอีก

รวมทั้งการหลอกใช้รัฐบาลชุดนี้ มาทำลายขบวนการมวลชนที่ตั้งเป้าหมายเพื่อ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกด้วย

แนวโน้มของสถานการณ์การเมืองจึงยังไม่มีอะไรดีกว่าใน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ฝ่ายประชาชนมีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชและรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การกวนเมืองจนไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและการใช้องค์กรอื่นๆ ในการทำร้ายและทำลายรัฐบาลของประชาชนยังจะมีให้เห็นอีกมาก

รัฐธรรมนูญนั้น หัวเด็ดตีนขาด เขาก็ไม่ยอมให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามมติมหาชน

ท้ายที่สุดคุณทักษิณฯ เผลอตัวเดินทางกลับบ้านเมื่อไหร่ เขาก็จะเผยไต๋ออกมาจนหมดตัว ซึ่งก็อาจสายเกินไปสำหรับฝ่ายเรา เพราะในขั้นนี้ตัวบุคคลก็ยังมีความสำคัญต่อขบวนการ

การจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้จึงเป็นเรื่องสมมติ อย่าไปขัดแย้งโกรธเคืองอะไรกันมาก แต่โปรดระลึกไว้ว่าปัญหาที่นำเสนอมาล้วนเป็นเรื่องจริง ประมาทมิได้เลย.

----------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนตั้งแต่ "คุณจตุพร พรหมพันธ์" ยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น