ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คำต่อคำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร : เกร็ดชีวิต ตอนที่ 2



โดย : พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ที่มา : รายการ ทอล์ก อะราวด์ เดอะ เวิลด์ #23
เรียบเรียงจากการออกอากาศ วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 โดย Nangfa

*******************************************************************************

เกร็ดชีวิต : ตอนที่ 2

ขอกลับมาเรื่องราวชีวิตผมอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีคนบอกว่าเป็นเกร็ดที่ผมต่อสู้ชีวิตมาอย่างไร ผมผันแปรจากการเป็นนักธุรกิจเล็กๆ จนมาเป็นเจ้าของบริษัทจำกัดมหาชนได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตังค์ก็ไม่มี แต่มีสมอง มีความรู้ มีวิ่งเต้นประสานงานคนนั้นคนนี้

ผมเริ่มมาสู่การขายคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนที่คุณหญิงบอกว่าใช้ความรู้ทำสิ่งที่คุณหญิงรู้ดีกว่า ส่วนเรื่องเงินคุณหญิงจัดการเอง ก็ไปกู้เงินมา ดอกเบี้ยจ่ายร้อยละ 3 บาท

สมัยก่อนไมโครคอมพิวเตอร์พีซีไม่มี เป็นเมนเฟรมตัวใหญ่เบ้อเร่อ ตัวหนึ่งเท่ากับห้องนอนเล็กๆ ห้องหนึ่ง ความจุแค่ 1 เม็กกะไบต์เท่านั้น สมัยนั้นยังไม่สามารถทำของใหญ่มาเล็กได้ ทุกอย่างใหญ่หมด แล้วทุนก็หลายล้านบาท แพงมากเลยครับ เดี๋ยวนี้พีซีมีพลังมากกว่าตัวนั้นเยอะแยะ วิวัฒนาการเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว แต่ความคิดของคนยังอยู่ที่เดิม ไม่ทันโลก สมัยนั้นพูดเรื่องคอมพิวเตอร์ต้อง IBM เท่านั้น คนอื่นยังห่างชั้น สมัยนี้แบล็กเบอร์รี่ยังเก่งกว่าคอมพ์สมัยก่อน

ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ใช้ตัวใหญ่หมด ตัวดิสก์ต้องหิ้วเป็นถังเลยครับ 70 k. ตัวละล้านบาท วันนี้ซื้อ SD Card 32G แค่เป็นพัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนั้น IBM บอกว่าใครจะซื้อ IBM ต้องใช้สัญญาณมาตรฐานของ IBM เท่านั้น ซึ่งเป็นกติกาที่ใช้ทั่วโลกเหมือนกัน ประเทศไหนจะซื้อของก็ต้องใช้สัญญามาตรฐาน ส่วนระเบียบราชการไทยบอกว่าต้องใช้สัญญาราชการที่อัยการไทยตรวจเรียบร้อยแล้ว คุยกันไม่รู้เรื่อง IBM ก็เริ่มเสียตลาดให้เครื่องยี่ห้ออื่น ตอนนั้นมีหลายยี่ห้อ เขาก็ขายกันได้หมด เพราะเนื่องจากทุกคนรับสัญญาราชการได้ แต่ IBM รับไม่ได้ ยังไงก็รับไม่ได้

IBM มานั่งคุยกับผม ผมจะชอบฟังและหาทางออก ใครมีปัญหามาหาผมก็นั่งคุยและหาทางออกให้ วันนั้น IBM บอกว่าทำไงดีในเมื่อเขาต้องใช้สัญญามาตรฐานแต่ส่วนราชการบอกไม่ได้ IBM บอกว่าตอนนี้มีนโยบายใหม่ เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาซื้อเครื่องไปให้เช่าหรือขายต่อก็ได้ แล้วคนๆ นั้นต้องมารับสัญญาจาก IBM ส่วนบุคคลที่ 3 จะรับสัญญาจากไหนก็ได้ ผมถามว่าการไปซ่อมและบริการลูกค้าล่ะ IBM ก็ทำให้เหมือนเดิม ฉะนั้นลูกค้าจะไม่รู้สึกอะไรเลย แต่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการถูกฟ้องร้อง ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งกระด้างของผู้ยิ่งใหญ่ที่ IBM สูญเสียการแข่งขันให้ที่อื่นเพราะว่าใจแคบ

นั่นคือกำลังทำธุรกิจศตวรรษที่ 21 แต่มีแนวคิดศตวรรษที่ 20 IBM เริ่มอ่อนแอจนสุดท้ายต้องเอาประธานบริษัทที่ขายขนมปังมาเป็นประธานใหญ่ เพราะเขาเริ่มมองแล้วว่าขายลูกค้าใหญ่ๆ เอาไม่อยู่แล้ว พีซีเริ่มเกิดแล้ว ต้องทำยังไงให้คิดว่าขายให้ลูกค้าทั่วไป ก็เลยเปลี่ยนประธาน หลังจากนั้นก็เริ่มฟื้นขึ้นมาเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการปรับตัวไม่ทันอันตรายแค่ไหน

กลับมาที่เมืองไทย IBM ก็เลย offer ผมว่าสนใจไหมที่จะมาเป็น third party หมายความว่าซื้อเครื่อง IBM แล้วไปให้ราชการเช่าหรือขายอีกที แล้วก็เพิ่มมูลค่า เช่น ไปติดตั้งให้เขาแบบเบ็ดเสร็จ หรือเรียกว่า turn key ก็คือมีการทำพื้นยกขึ้นมา เดินสาย ติดแอร์ ซึ่ง IBM ไม่ทำเลยงานพวกนี้ ผมบอกก็เข้าท่าก็เลยทำ...ทำไงไม่มีตังค์ครับ ชุดหนึ่ง 10 กว่าล้าน 15 ล้าน 20 ล้าน 100 ล้าน ชุดของบก.ทหารสูงสุดเป็น 100 ล้าน ไม่มีตังค์ ไม่รู้จะทำยังไง สมัยนี้เขาเรียกการเอารายได้ที่จะเกิดในอนาคตมาขายล่วงหน้าก่อน ผมคิดว่ารายได้ผมแน่นอน เพราะถ้าผมให้รัฐบาลเช่า หนึ่ง เป็นองค์กรที่มั่นคง คนเชื่อถือ ผมเลยไปคุยกับธนาคารดูว่า ถ้าผมซื้อเครื่องจาก IBM เสร็จแล้วให้รัฐบาลเช่า เอาค่าเช่าจ่ายเป็นค่าซ่อมบำรุง แล้วก็ผ่อนค่าเครื่องตามสัญญา ธนาคารก็ถามผมว่า เอาละ หนึ่ง IBM ซ่อมให้ใช่ไหม / ใช่ / แล้วก็ถามผมว่าแล้วถ้าไฟไหม้ขึ้นมาทำไง ไฟไหมก็มีประกัน ้ผมก็ซื้อประกันภัย ตอนหลังเขาถามหนักกว่านั้นอีก ว่า เรื่องอย่างนี้มันอยู่ที่ตัวคุณ แล้วถ้าคุณตายไปทำไง ผมต้องไปประกันชีวิตให้แบงค์ครับ ถ้าผมตายไปผมโอนหุ้นให้ ผมโอนหุ้นลอยไว้ให้เลย แบงค์บอกโอนหุ้นก็ไม่เอา เพราะแบงค์ทำไม่เป็น มันอยู่ที่คุณทำเป็นคนเดียว คนอื่นทำไม่เป็น เพราะฉะนั้นทำไงแบงค์จะได้เงินคืน แบงค์ได้หุ้นมาก็ได้เงินคืนไม่ได้ ถ้าทำไม่เป็น ผมก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นผมประกันชีวิตแล้วกัน

ปรากฏว่าผมต้องกู้เงินประมาณเกือบ 200 ล้าน กู้หลายบัญชี ผมไปประกวดราคาชนะมาหลายที่ ก็ไปหาซื้อเบี้ยประกันให้ครบ 200 ล้านให้ได้ ถ้าผมตายไปแล้วต้องมี 200 ล้านมาจ่ายแบงค์ ปรากฏว่าวงการประกันชีวิตเขาเชื่อมกันหมด เขาจะรู้ว่าใครประกันไว้ที่ไหนเท่าไหร่ เพราะเขากลัวว่าทำประกันแล้วฆ่าตัวตาย ผมก็ไปหาได้เต็มที่ทั้งหมดแค่ 50 กว่าล้าน ตอนนั้นคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ ถือว่าเป็นคนที่รวยมากคนหนึ่ง ยังประกันไม่ถึงเลย ผมก็เลยประกันได้แค่นี้ แบงค์ก็เลยบอกยอมๆ ถ้าคุณมีความตั้งใจอย่างนี้ก็ยอม

ผมก็กู้เงินแบงค์ไปซื้อเครื่องไปติดตั้ง เสร็จแล้วก็เริ่มเก็บสตางค์ แต่ว่าบางครั้งกว่าเราจะเก็บสตางค์จากราชการได้ต้องใช้เวลา ติดตั้งเสร็จตรวจรับ ตรวจรับเสร็จกว่าจะเก็บสตางค์ได้เป็นรายเดือน ประมาณอย่างน้อยๆ ต้องมีประมาณ 5-6 เดือน ที่เราจ่ายตังค์ธนาคารไปแล้วแต่ยังรับเงินไม่ได้ ต้องจ่ายดอกเบี้ย แบงค์ไม่เอาเงินผ่อนแต่เอาดอกเบี้ย ตอนนั้นผมยังต้องแลกเช็คอยู่ เพราะผมต้องการทำธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเพื่อไปใช้หนี้ตัวอื่นที่เจ๊งมาให้มันมีเครดิตสูงขึ้น

สุดท้ายผมก็คุยกับแบงค์จนจบ เอาล่ะ เริ่มงานแรกผมก็ไปประกวดราคา ตอนประกวดราคาใช้เงินไม่มาก แต่พอได้แล้วจะเซ็นสัญญาต้องเอาเงินไปวางประกันอีก เอาแบงค์การันตีไปวางประกัน มีอยู่วันหนึ่งต้องวางประกัน 10 ล้าน ผมไม่มี หลักทรัพย์ก็ไม่มี อย่างที่เล่าว่ากลับจากอเมริกา จบปริญญาเอกมา บ้านยังไม่มีอยู่ ต้องไปอาศัยบ้านพ่อตาอยู่ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปจำนำ พอดีไปเจอเพื่อนคนหนึ่งเขามีที่ดิน เขาเล่นที่ เขาไม่ได้ใช้ที่ ก็เลยบอกเพื่อนว่าช่วยหน่อยเถอะ ขอยืมที่ดินไปจำนองแบงค์เพื่อออกหนังสือการันตีให้หน่อย ผมไม่ได้เอาไปใช้อะไรอะไร เพียงเป็นหนังสือค้ำประกันเฉยๆ พอมีตังค์แล้วจะไปถ่ายถอนให้ เพื่อนก็ใจดีเอามาให้

กว่าจะออกแบงค์การันตีได้ ผมจำได้เลยชีวิตรับงานครั้งแรกที่การรถไฟ กว่าจะไปเซ็นสัญญาได้ คณะกรรมการนั่งรออยู่เต็มไปหมดแล้ว แบงค์การันตียังไปไม่ถึง เพราะว่ากว่าจะคุยกับเพื่อนรู้เรื่อง กว่าจะไปทำจำนอง กว่าจะมาวัดที่ เจ้าหน้าที่สินเชื่อไม่อยู่ ไปกินข้าว วิ่งกันกว่าจะเอาไปให้ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กันมาอย่างนี้

สุดท้ายปรากฏว่า account ที่ได้ที่การรถไฟ ค่าเช่าเดือนละ 2 แสนกว่าบาท จ่ายเป็นเงินผ่อนแบงค์ เป็นค่าซ่อมบำรุงให้ IBM จ่ายเบี้ยประกัน เบ็ดเสร็จแล้วเหลือเดือนละประมาณ 30-40 บาท ค่าคนงาน 3-4 หมื่นบาทจะไปพอยังไงครับ คนทำคอมพิวเตอร์แพง ก็ติดลบไปอีก ก็ทำที่ใหม่อีก ให้ได้หลายๆ ที่ ปีนั้นประกวดราคาชนะ 8 ที่ ใช้เงินลงทุนที่ละกว่า 200 ล้าน เบ็ดเสร็จแล้วจ่ายโน่นจ่ายนี่ ถ้าผมจำไม่ผิดเหลือเบ็ดเสร็จ 4-5 แสน ไม่พอใช้หนี้ จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย จ่ายหนี้ยังไม่ได้ ก็ยังลำบากอีก ผมก็คิดแล้วจะทำยังไงดี มันไม่พอ ขนาดเราขายเก่งแล้วนะ ปีหนึ่งขาย 8 แห่งถือว่าขายเก่งแล้ว ก็กลุ้มใจ มันอยู่ได้แต่ใช้หนี้ไม่ได้ ไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะผมก็ทำงานผิดพลาดล้มเหลวมาเยอะ

พอดีช่วงนั้นมีพรรคพวกฝรั่งเข้ามา บริษัทโทรศัพท์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีฐานอยู่ที่ซานฟรานซิสโก มาเซ็นสัญญากับองค์การโทรศัพท์ ตอนนั้นองค์การโทรศัพท์จะมีการประกวดราคาทำชุมสาย ก็หลายตังค์เหมือนกัน เราก็เข้าหุ้นกันไปประกวดราคา ปรากฏว่าสู้ไม่ได้ ก็แพ้ไป

ตอนหลังมาการสื่อสาร อยากจะพัฒนาวิทยุติดตามตัว สมัยก่อนวิทยุติดตามตัวจะมีเสียงบอกมาเลย เป็นวิทยุจริงๆ เขาจึงเรียกวิทยุติดตามตัว ไม่ได้ขึ้นเป็นดิจิตอล บอกมาเลยว่า “กรุณาโทรกลับ หมายเลขเท่านั้นเท่านี้” พูดเสียงดังออกมาเลย เพื่อนๆ ก็ได้ยินกันหมด

ตอนหลังทางการสื่อสารบอกว่าระบบนี้มันล้าสมัยแล้ว อยากจะเป็นระบบดิจิตอล คือเป็นข้อความอยู่ในตัวเพจเจอร์ เป็นหมายเลข เป็นตัวหนังสือแต่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยยังไม่มีตอนนั้น ก็สั่งประกวดราคาว่าจะให้เอกชนลงทุน วันนั้นถ้าผมจำไม่ผิดการสื่อสารมีรายได้จากวิทยุติดตามตัวปีหนึ่งประมาณ 200 ล้านบาท ก็อยากจะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล ผมกับบริษัทพวกที่เข้าหุ้นกันก็ไปเสนอแพ็คลิ้งค์ ประกวดราคา ชนะครับ เราเสนอไปวันนั้น 470 กว่าล้าน ก็เปิดบริการ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าไปได้ดี ตอนหลังแปซิฟิคฯ กับผมทะเลาะกัน เพราะเนื่องจากตามสไตล์อเมริกันอยากจะควบคุมทุกอย่าง อยากเหนือเรา ทั้งๆ ที่เราเป็นหุ้นใหญ่กว่า ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นอยู่กันไม่ได้ ผมก็ขายทิ้ง ได้ไม่กี่ตังค์ด้วย

อยู่ๆ ทางสิงคโปร์ก็มาติดต่อผมว่าเรามาทำโฟนลิ้งค์ที่องค์การโทรศัพท์ดีกว่า ผมก็เสนอราคาแข่ง ตอนนั้น 1,300 ล้าน แพ็คลิ้งค์ให้ 1,400 เขากำลังดัง เขาบอกว่าผมเสนอ 1,300 จะอยู่ได้หรือ เจ๊งแน่นอน ผมบอกว่ามั่นใจครับว่าสู้ได้ ไม่เจ๊ง เสร็จแล้วผมก็เดินทางไปดูเทคโนโลยี มีงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารที่ไหนไปหมด เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ก็ไป เยอรมันก็ไป ฮ่องกง ญี่ปุุ่น สิงคโปร์ ไปหมดครับ ซึ่งตอนนั้นตังค์ก็ยังไม่ค่อยมี นั่งชั้นประหยัดก็เสียฟอร์ม ไป first ไม่มีปัญญาแน่ ก็ไปชั้น business นอนโรงแรมกระจอกก็เสียฟอร์มเวลาเขามาพบมาคุยกัน เลยต้องนอนโรงแรมดี ค่าใช้จ่ายสูง ไปจนไปได้เทคโนโลยีที่เหนือกว่าแพ็คลิ้งค์ เลยทำให้เราชนะแพ็คลิ้งค์ แล้วก็มีรายได้สูงกว่า 1,300 จ่ายได้

มีช่วงหนึ่ง มีคนเอาเทคโนโลยีมาคุยกัน แล้วผมได้เด็กจบใหม่มาทำงาน ได้เรียนรู้จากเด็กกลุ่มนี้มาก เขาก็ทำแผงวงจร แพ็คลิ้งค์หรือโฟนลิ้งค์กดจากศูนย์กระจายเต็มไปหมดเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านตัวได้เลย แต่ว่าทำอย่างไรจึงให้เครื่องเล็กๆ เหมือนกับโฟนลิ้งค์ส่งสัญญาณกลับมาที่ศูนย์ได้บ้าง ก็เลยไปคิดเทคโนโลยีตรงนี้ เลยทำโครงการ SOS ที่เป็นโครงการเรียกรถพยาบาล เรียกตำรวจ ระบบ alarm system ทำแผงวงจรกันที่ราชวัตร พอได้ต้นแบบแล้วไปจ้างโรงงานผลิต ปรากฏว่ามันเร็วไป เทคโนโลยีของเราก็ยังไม่แข็งแรงพอ เจ๊ง เจ๊งอีกแล้ว นี่ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยนะ ทำคอมพิวเตอร์แล้วกำไรน้อย ไม่พอใช้หนี้ มาทำแพ็คลิ้งค์ก็ขายทิ้งไป ทะเลาะกัน ถ้าทำอย่างนี้ซื้อมาขายไปผมอยู่ไม่ได้ ผมจะทำยังไงที่ผมจะได้รายได้ระยะยาวจึงจะอยู่ได้ แล้วจึงจะเอาหุ้นเข้าตลาดได้ จึงคิดว่าทำ SOS แล้วเก็บค่าเช่ารายได้ ค่าบริการรายได้ ทำแล้วไม่เป็นที่นิยม

เสร็จแล้วก็มีคนเอาเทคโนโลยีมาเล่าให้ฟังอีก คือสมัยก่อนสถานีวิทยุมันเต็มหมด อยากจะทำบ้าง ไม่รู้จะไปทำที่ไหน ก็เลยอยากจะทำสถานีวิทยุเอง เขาก็บอกว่ามันมีเทคโนโลยีใหม่ เราทำเป็นสถานีย่อยเกาะสถานีหลักเขาไป ไปทำบนรถเมล์ครับ คือจะจัดวิทยุบนรถเมล์ ลงทุนไปหลายตังค์ครับ ปรากฏว่าระบบนี้มันไม่เหมาะกับการเคลื่อนที่ ก็เหมือนทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปเรื่อยๆ ทดลองไปก็เสี่ยงไป สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้ เพราะรถเมล์มันเคลื่อนที่ บางทีก็บังตึก เพราะสัญญาณบางมาก แค่ 5% เอง สัญญาณหายๆ ก็เลยเป็นที่รำคาญมากกว่าจะเป็นที่ไพเราะ ก็เลยเจ๊งอีก

นี่เจ๊งยาวแล้วนะครับ ผมชักแย่ไม่ไหวแล้ว ก็บังเอิญโฟนลิ้งค์เข้ามาคุย แล้วก็เริ่มสนใจเรื่องโทรศัพท์มือถือ พอจะทำเข้าจริงๆ ปรากฏว่าลูกน้องในบริษัทไปแอบคุยกับผู้บริหาร “คุณหญิงอ้อ” ว่าอย่าทำเลย... ผมก็นั่งกลุ้มใจ ทำอะไรก็ไม่ขึ้น ทำอะไรก็ใช้หนี้เก่าไม่ได้ หนี้ครอบครัวก็มีเยอะ สุดท้ายผมก็คิดว่าแอบทำดีกว่า ผมก็แอบไปเมืองนอก แอบติดต่อเรื่องโทรศัพท์มือถือ ชวนคนมาร่วมธุรกิจ

สุดท้ายต้องมาเริ่มทำโฟนลิ้งค์ ตอนนั้นก็แอบทำ พอเห็นตัวเลขชัดเจนก็ไปคุยกับคุณหญิงอ้อว่านี่นะเธอ มันจำเป็นต้องทำนะ ไม่ทำเราไม่ฟื้นนะ ผู้จัดการไม่รู้หรอก นึกว่าแค่นี้พอ เราก็เป็นหนี้เยอะแยะ หลุดจากโฟนลิ้งค์ก็มาทำโทรศัพท์มือถือ ที่เป็น AIS ทุกวันนี้

ผมเดินทางเยอะครับ ไปเจรจาต่างประเทศ ดวงผมมันดวงต่างประเทศ ดิลล์กับคนต่างประเทศรู้เรื่อง

พี่น้องครับ ในที่สุดเราก็ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเทเลคอมฯ หรือโทรคมนาคม ปรากฏว่าธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก ก็ต้องเอาต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น ทีนี้ทำอย่างไรที่จะให้เขาไม่มาครอบเราได้ เพราะเงินเขามากกว่า เทคโนโลยีเขาก็มีมากกว่าเรา เป็นเรื่องการบ้านใหญ่ คงจะเล่าไม่หมด ไว้คราวหน้าจะเล่าว่าเทคโนโลยีจะจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้ต่างประเทศไม่ครอบงำเรา และสอง ตังค์ไม่มี ลงทุนเป็นพันล้าน ทำอย่างไรให้มีตังค์ แล้วทำยังไงหลังจากใช้หนี้แล้วจึงจะมีเงินสดเป็นร้อยล้าน พันล้าน ร้อยล้านแรกทำยังไง พันล้านแรกทำไง หมื่นล้านแรกทำไง นี่คือสิ่งที่ผมทำมาเป็นขั้นเป็นตอนที่เล่าให้ฟังไป

เนื่องจากเวลาหมดแล้ว คราวหน้าจะเล่าให้ฟังว่าผมได้ทำเทเลคอมฯ แล้วนะ ขออีกนิด บังเอิญว่าตอนที่ผมทำเทเลคอมฯ แล้วก็ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งครับ เขียนโดยนายแอนดรูว์ โกรฟ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท อินเทล ที่ทำไมโครโปรเซสเซอร์ ที่ใส่ในพีซีทุกตัว ไมโครชิฟ นายแอนดรว์ู โกรฟ บอกว่าเขาเองมีคณะกรรมการบริหารของเขาที่เป็นบอร์ด เป็นคนดีหมดเลยแต่เขาเสนอว่าบริษัทควรเลิกทำเซมิคอนดั๊กเตอร์ ทำอย่างเดียวพอ ทุ่มทุนมาเลย ทำวิจัยให้ดีเลย ทำอย่างเดียว ปรากฏว่าบอร์ดทั้งบอร์ดค้าน ยังดีอยู่นะทำไมเลิกทำล่ะ แต่เพราะแอนดรูว์ โกรฟ มีวิสัยทัศน์การแข่งขัน เพราะเทคโนโลยีเซมิคอนดั๊กเตอร์ก็ดีเป็นสิ่งที่เลียนแบบกันง่าย แข่งขันง่าย มีเต็มไปหมด กำไรน้อย 5 ตังค์ 10 ตังค์ต่อชิ้น สู้ทำตัวซีพียูในไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทลชิฟดีกว่า เขาก็ทำมาเรื่อง และพัฒนามาเรื่อยเป็นรุ่นๆๆๆ

สุดท้ายนายแอนดรูว์ โกรฟบอกว่่า ผมจำเป็นต้องปลดบอร์ดทั้งบอร์ด ปลดหมดเลยทั้งที่เขาเป็นคนดี แต่ทำให้ไม่มีวิสัยทัศน์ คือตามโลกไม่ทัน ปลดหมดเลยแล้วเขาก็เอาคนใหม่เข้ามาแทน ซึ่งไม่เก่งเท่าคนเก่าแต่ว่ามีวิสัยทัศน์ที่จะเข้าใจว่าโลกข้างหน้าจะไปตรงไหน และสามารถทำงานร่วมกันได้ ขณะเดียวกันของผม ผู้จัดการคนนี้ก็เลยลาออกจากผมเลย ถือว่าไม่เชื่อเขา คือผมมองเห็นว่าถ้าทำอย่างนี้ไม่มีทางตั้งตัวได้ คือต้องพยายามคิดตลอดเวลาครับว่า รายได้ปัจจุบันและอนาคตกับหนี้สินปัจจุบันจะไปไหวกันไหม เราจะแก้ยังไง เครมยังไง เราต้องคิดตลอดเวลา นั่นคือสิ่งที่ผมมอง ผมก็เสียผู้จัดการไปเหมือนกับแอนดรูว์ โกรฟที่ปลดบอร์ดออก

เขาเขียนหนังสือเรื่อง “During the Crisis” ระหว่างมีวิกฤติ “Only the Paranoid Service” มีเพียงผู้ที่ขี้ระแวงเท่านั้นเองที่จะรอดได้ นั่นก็คือว่าเขามองว่าระหว่างมีวิกฤติของการแข่งขันต้องพยายามระแวงว่าคู่แข่งจะมาอย่างไร เราจะเป็นยังไง เขาจะดักทางเราอย่างไร เราจะดักทางเขาอย่างไร จะหนีไปยังไง เราจะนำหน้าไปยังไง นั่นคือคนที่ต้องละเอียดรอบคอบระแวงแล้วก็มองฝ่ายหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่นายแอนดรูว์ โกรฟ คิด แล้วผมเองก็เข้ามาสู่เทเลคอมฯ

จากนั้นผมจึงตั้งตัวมาจนถึงทุกวันนี้ที่มี 7 หมื่นกว่าล้าน ครอบครัวมี 7 หมื่นกว่าล้านได้ ก็เพราะครอบครัวได้ร่วมต่อสู้กันมาอย่างนี้ คราวหน้าจะเล่าให้ฟังต่อ เพื่อจะเป็นเกร็ดว่าทำไงผมไม่มีตังค์แล้วลงทุนโครงการใหญ่ได้ ไม่มีตังค์แล้วทำไมเอาบริษัทเข้าตลาดได้ แล้วทำไมสามารถขายหุ้นได้ราคาขึ้นมาเรื่อยๆ จนสามารถมีตังค์จนถึงทุกวันนี้ รับรองครับไม่มีโกง ถ้าผมเป็นคนโกงอย่างที่เขากล่าวหาจริงมาถึงตรงนี้ไม่ได้หรอก ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ครอบครัวเติบโตมาด้วยลำแข้ง เรียนจากบทเรียนและความล้มเหลวในอดีต ผมถือว่าผิดเป็นครูรู้เป็นอาจารย์ ผิดก็ถือว่าเป็นบทเรียน ถูกก็ถือว่าเป็นบทเรียน เรียนรู้จากสิ่งเดิมเพื่อปีนขึ้นไปสู่สิ่งที่สูงขึ้นๆ ไม่ใช่หักหลังคนหนึ่งเพื่อให้สูงขึ้น แล้วก็หักหลังอีกคนหนึ่งแล้วก็สูงขึ้น ไม่ใช่ผม ผมใช้เรียนรู้

ครับ วันนี้ก็รบกวนพี่น้องเท่านี้ก่อน พบกันใหม่อังคารหน้า ความจริงเรื่องที่ผมเล่ามีเกร็ดที่ท่านจะเอาไปปรับใช้ ผมได้ผ่านมาหมด อยากให้เอามาปรับใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้ท่านได้รับรู้ ได้รู้ว่านี่คือสิ่งที่เป็นชีวิตจริง ไม่ได้เป็นนักวิชาการที่ออกมาพูดไปวันๆ อยากวิงวอนว่าถ้าเราอ่านหนังสือกันเยอะๆ เรียนกันตอนแก่บ้าง อ่านหนังสือให้รู้เป็นพื้นฐานจะทำให้ความรอบรู้ดีขึ้น

แล้วผมประทับใจอย่างสูงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ศาลต้องเป็นธรรมที่สุดจะทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ผมฟังแล้วรู้สึกว่าจะเป็นความหวังของคนไทยว่าความเป็นธรรมจะกลับมา ถ้ารับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมไว้จะทำให้สังคมเริ่มมีความหวังที่จะเข้าสู่ความสันติได้ หวังว่าความสันติทั้งหลายจะกลับสู่สังคมไทยได้เร็วๆ นี้ ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ.

---------------------------------------------------------------------------------

2 ความคิดเห็น:

  1. เราคิดว่าตัวเราโชคดีที่ได้อ่านประวัติของท่าน ทักษิณ ได้ เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิต และสู้ต่อการดำรงชีพไม่ท้อ ดิ้นรนและ ได้รู้รสของการ ขาด การต้องการ ทำให้เรา เอามาเป็นบทเรียนในชีวิตเรา ขอโทษ เขียนไม่เก่ง ขอคาระวะคนเก่งแบบท่าน จริงๆ

    ตอบลบ
  2. อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว ได้เห็นว่า วิสัยทัศน์ สำคัญยิ่ง ความขยัน และความใฝ่รู้ เรียนรู้แม้กระทั่งสิ่งที่ผิดพลาดล้มเหลวไป ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิด วิสัยทัศน์ ขึ้นมาทั้งสิ้น ต้องขอบคุณท่านนายกทักษิณที่ได้เล่าประสบการณ์ชีวิตที่เป็นประโยชน์ให้พวกเราได้ฟัง และเป็นที่น่าเสียดายของประเทศไทย ที่ได้เคยมีผู้นำที่มี วิสัยทัศน์มองการณ์ไกล ตั้งแต่ในอดีต จนมาถึงท่านนายกทักษิณ มักถูกสกัดกั้นด้วยการก่อรัฐประหาร ไม่สามารถอยู่ในประเทศนี้ได้ ทำให้การพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง

    ตอบลบ