ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

ยุบสภาสไตล์ใคร? โดย จักรภพ เพ็ญแข


เรื่อง : ยุบสภาสไตล์ใคร?
โดย : จักรภพ เพ็ญแข
ภาพประกอบ : มติชนรายสัปดาห์

*******************************************************************************
การยุบสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษในวันจักรีของไทย ๖ เมษายน ๒๕๕๓ และประกาศเลือกตั้งใหม่ในเวลา ๑ เดือนจากนั้น ดูเป็นสิ่งปกติธรรมดาเสียเหลือเกิน หลังเข้าเฝ้าองค์พระประมุขคือสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่ ๒ เพื่อกราบบังคมทูลให้ทรงยุบสภา ก็ทรงยุบตามนั้น มีผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสภาพอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายนเป็นต้นไป ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรี รีบกลับมาแถลงข่าวหน้าทำเนียบรัฐบาล คือเลขที่ ๑๐ ถนนดาวน์นิ่ง และยืนยันรายละเอียดต่างๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงข่าวลือให้ทั้งประเทศอังกฤษและทั่วโลกได้รับรู้

ที่สนุกมากคือเมื่อแถลงเสร็จ บราวน์ก็ออกจากทำเนียบรัฐบาลไปขึ้นรถไฟกับผู้ช่วยหนึ่งคนและตำรวจติดตามอีกหนึ่งคนมุ่งหน้าไปยังเคนท์และเข้าไปหาเสียงในซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ในโรเชสเตอร์ทันที

คู่แข่งรายสำคัญ เดวิด แคมมารอน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม กวดไปติดๆ แวะเยี่ยมคนไข้และหาเสียงที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเบอร์มิงแฮม ขณะที่ นิค เกล็ก หัวหน้าพรรคใหญ่อันดับสามคือเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) หาเสียงอยู่กับเยาวชนที่วัตฟอร์ด

ถึงทุกคนจะรู้ว่ากอร์ดอน บราวน์จะต้องประกาศวันเลือกตั้งก่อน ๖ มิถุนายน แต่ก็ยังถือว่าสร้างความตื่นตัวให้กับวงการเมืองอังกฤษมาก กิจกรรมหาเสียงของผู้นำพรรคทั้งสามคนเป็นสัญลักษณ์ที่บอกเราว่าระบบรัฐสภาของอังกฤษเป็นธรรมชาติแค่ไหนในใจเขา ถึงเวลาเลือกตั้งเมื่อไหร่ต้องพร้อม และชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษที่ห่อหุ้มระบบรัฐสภาไว้อีกชั้นหนึ่ง มีความแข็งแกร่งเพียงใด

ประชาธิปไตยถือเป็นธรรมชาติที่สอง (second nature) ของคนอังกฤษไปแล้ว

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กอร์ดอน บราวน์ มิได้รอให้คะแนนนิยมในพรรคของตัวเองนำพรรคฝ่ายค้าน แต่ประกาศยุบสภาในขณะที่ตัวเองมีคะแนนรอง

จากการวัดผลโดยเฉลี่ยหลายสำนักเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พรรคแรงงานของบราวน์ตามหลังพรรคอนุรักษ์นิยมอยู่ประมาณ ๑๐% ซึ่งยังแปรผันได้ เพราะถ้าบวกความนิยมของพรรคที่สามและพรรคอื่นๆ แล้วยังสูงถึง ๒๘% คือเกือบหนึ่งในสาม แต่ละพรรคใหญ่ต้องพยายามช่วงชิงคะแนนส่วนนี้มาเป็นของตน ในขณะที่พรรคเล็กๆ ต้องรักษาไว้อย่างสุดความสามารถ

แถมนักวิเคราะห์ทั้งหลายยังพยากรณ์ว่า การเลือกตั้งทั่วไปแรกในรอบห้าปีนี้น่าจะเป็นครั้งที่สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้พรรคที่สามคือเสรีประชาธิปไตยมีโอกาสสูงขึ้นมาทันที สองพรรคแรกอาจจะไม่ได้รับเสียงมากพอที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเที่ยวนี้จะได้สมาชิกมานั่งที่เวสมินสเตอร์มากกว่าชุดก่อน ๔ ที่นั่งเพราะการเปลี่ยนแปลงสำมะโนประชากร คราวนี้มีทั้งหมด ๖๕๐ ที่นั่ง และพรรคผู้นำจัดตั้งรัฐบาลต้องมีเสียงในมือ ๓๒๖ เสียงขึ้นไป

เล่ามาทั้งหมดนี้ ท่านก็คงเดาใจผมได้ว่าต้องวกเข้าไทย เพราะเวทีเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ผ่านฟ้า และทั่วประเทศเรียกร้องอย่างเดียวกันหมดว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรียุบสภาและ “คืนอำนาจให้กับประชาชน”

วลี “คืนอำนาจให้กับประชาชน” ท่านคงเห็นผมใส่เครื่องหมายอัญประกาศกำกับไว้ เพื่อชี้ว่าเรื่องนี้คือทัศนะที่ยังแตกต่างกันมากในเมืองไทย ทำให้การยุบสภาอังกฤษครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างนักหนากับเมืองไทย

ความเหมือนกันมีเพียงประการเดียวคือ ยุบสภาเมื่อไหร่เป็นได้เลือกตั้งแน่ วงเล็บว่าถ้าไม่มีโจรที่ไหนชิงก่อรัฐประหารหรือยุบพรรคบางพรรคเสียก่อน ส่วนอำนาจจะเป็นของใครหลังจากยุบสภาคือเรื่องที่น่าปวดกบาลกว่า

อย่าหาว่าขัดคอกันเลยครับ หรือใครยังไม่อยากฟังก็โปรดตราไว้ก่อนในวันนี้ เผื่อวันหน้าท่านจะเปิดใจกว้างและปล่อยให้เข้าสู่สมองและภาวะจิตได้ เรารู้เหมือนกันไม่ใช่หรือว่าปัญหาเมืองไทยขณะนี้ไม่ได้อยู่ตรงระบบย่อยๆ อย่างระบบเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง กระบวนการยุติธรรม การคานและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ฯลฯ แต่อยู่ที่ระบอบใหญ่คือสิ่งที่หุ้มระบบเหล่านี้เข้าด้วยกันทั้งหมด

ใครยังจำพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ได้บ้างไหม?

“...ก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียว ซึ่งมีความสำคัญเพราะว่าถ้าไม่ถึง ๒๐% แล้วก็เขาคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งก็ไม่ครบสมบูรณ์... ถูกต้องหรือไม่ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมีสิทธิที่จะบอกว่าอะไรที่ควรที่ไม่ควร...”

ระบบเลือกตั้งพังมาตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ที่ผลการเลือกตั้งถูกยกเลิกแล้วครับ

อาจมีคนเถียงว่าในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ประกาศคว่ำบาตรไม่ลงเลือกตั้งร่วมด้วย แต่ครั้งนี้เป็นไฟท์บังคับ ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และพรรคอื่นๆ คงจะลงสมัครกันถ้วนหน้า ปัญหาอย่างเดิมคงไม่เกิด แต่คำถามของผมก็คือ การคว่ำบาตรของประชาธิปัตย์ในครั้งนั้น ซึ่งตามด้วยการเรียกหานายกรัฐมนตรีมาตรา ๗ ซึ่งเป็นวิธีพิเศษ เป็นลูกเล่นที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีอำนาจควบคุมแต่อย่างใด ใครจะรับประกันกับมวลชนที่กำลังเหนื่อยยากอยู่ในที่ชุมนุมประท้วงได้ว่า ฝ่ายอำมาตย์จะไม่ปล่อยลูกเล่นอื่นๆ ออกมาบังคับทางจนประชาชนไม่ได้รับการ “คืนอำนาจ” อย่างแท้จริงอีก

ถึงวันนั้นแล้ว หากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นเพียงตรายางประทับรับรองว่า บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว โดยที่ปวงชนชาวไทยไม่ได้รับอำนาจนั้นจริง ผมหวังว่าจะมีคนจริงสักคนหรือสองคนออกมาประกาศรับผิดชอบและลงโทษตัวเองทางการเมืองด้วยการประกาศถอนตัวจากการเมืองไปโดยเด็ดขาด

เข้าใจดีครับว่า บางท่านกำลังคิดว่าเราต้องได้ผลทีละขั้น ใจร้อนไม่ได้ และต้องลับลวงพรางเสียจนบางครั้งมวลชนก็งุนงงสับสน และออกจะหงุดหงิดกับใครก็ตามที่เอ่ยปากชี้ปัญหาเชิงระบอบเพราะคิดว่ายกปัญหาใหญ่เกินไปและไม่สามารถทำได้

แต่ผมก็ต้องย้ำไว้เช่นกันว่า ทีละขั้นๆ ของท่านมันอาจไม่ได้นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่กลับช่วยเสริมฐานเผด็จการโบราณแบบไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น

เปิดใจกว้างสักนิดเถิดครับ อย่าคิดเอาชนะกันเองมากเกินไป.

---------------------------------------------------------------------------------
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146 ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน) Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น