ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : ตอนที่ 34 ประชาธิปไตยคืออะไร



ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : หลังรัฐประหาร
ตอนที่34 : ประชาธิปไตยคืออะไร
โดย : กาหลิบ
พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2550 (หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน)

********************************************************************************
นักประชาธิปไตยจึงไม่ต้องขโมยอำนาจของคนอื่นเมื่อเขาเผลอ

********************************************************************************

ประชาธิปไตยคืออะไร

นึกมานานว่ารู้จักประชาธิปไตยดี ขนาดทักทายปราศรัยและถามทุกข์สุขกันได้ แต่เมื่อถึงวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ผมก็เกิดอาการใบ้รับประทาน ไม่รู้จักประชาธิปไตยขึ้นมาเฉยๆ อย่างนั้นเอง
เพราะได้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินขึ้นมา

สิ่งที่เรียกว่าการรัฐประหารหรืออย่างที่หลายคนนิยมเรียกผิดๆ ว่าการปฏิวัติ เป็นเครื่องมือที่อยู่ตรงข้ามกับหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นปฏิบัติการของคนกลุ่มเล็กที่มีความมุ่งมาดปรารถนาอำนาจรัฐอันเป็นของคนส่วนใหญ่

จะให้เหตุผลว่าทำเพื่อชาติเพื่อเชื้ออย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญคือการยื้อแย่งอำนาจรัฐโดยไม่ต้องเสียเวลาลงสมัครรับเลือกตั้งเหมือนกันทั้งนั้น

ส่วนประชาธิปไตยเป็นเรื่องของคนส่วนมากคิดกันว่า ควรจะมอบอำนาจรัฐให้กับใคร กลุ่มไหน และเพราะเหตุใด โดยใช้การเลือกตั้งเป็นกลไกหาคำตอบ

ประชาธิปไตยจึงได้มาทีละขั้น

เริ่มต้นจากการดำรงชีวิตที่สังคมยอมรับ เสนอแนวคิดที่ใครๆ เห็นว่าใช้ได้และปรับให้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

เมื่อประชาชนอนุญาตจึงเข้ามารับอำนาจอันจำกัดและมีการตรวจสอบ

จากนั้นก็ต้องผ่านการเลือกตั้งทุกครั้งเพื่อให้ครู (ประชาชน) ตรวจข้อสอบและประกาศผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน
นักประชาธิปไตยจึงไม่ต้องขโมยอำนาจของคนอื่นเมื่อเขาเผลอ

ประชาธิปไตยมักจะคำนึงถึงว่าใครกำลังปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติอยู่หรือไม่ แม้แต่คนที่ตั้งว่าจะโค่นล้มให้ได้ เช่น ทำหน้าที่ตัวแทนของชาติในต่างประเทศ ฯลฯ ก็จะชะลอเกมการเมืองของตัวเองไว้เพื่อหน้าตาและศักดิ์ศรีของชาติ กลับมาค่อยทะเลาะกันต่อ

ประชาธิปไตยไม่เห็นบุคคลว่าสำคัญกว่าระบบ ไม่ชอบหน้าใครก็จะยอมทนไปเรื่อยๆ ตราบที่ผู้นั้นยังอยู่ในระบบที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและนับถือ แต่เมื่อโอกาสเลือกตั้งมาถึงก็ไม่พลาดโอกาสที่จะคิดโค่นล้มอีก แต่โค่นล้มในระบบ

ประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้ระบบได้ทำงาน เพราะรู้ดีว่าคนสร้างระบบขึ้น กว่าระบบจะมีความเก๋าพอที่จะควบคุมพฤติกรรมของคนได้ก็ต้องใช้เวลา และไม่เร่งร้อนส่งคนไปแก้ไขปัญหาด้วยการยกเลิกระบบเดิมและสร้างระบบใหม่

วิธีการยกเลิกระบบนั้นเร็วกว่าจริง แต่สร้างผลร้ายในระยะยาว เพราะจะทำให้รากฐานไม่เกิด เทียวสร้างเทียวทำลายกันเหมือนเด็กไม่ยอมโต ประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วจึงมักจะยอมอดทนกับคนเพื่อรักษาระบบ
ในขณะที่สังคมด้อยพัฒนาจะมัวแต่ทะเลาะกันว่า คนหรือระบบสำคัญกว่า ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าสำคัญทั้งคู่
คน คือจุดเริ่มต้นและเป็นเป้าหมายของงานนั้นๆ

ระบบ คือสิ่งที่อยู่ระหว่างจุดเริ่มต้นและเป้าหมาย มีเอาไว้กำกับพฤติกรรมของคนให้ดำเนินไปตามแนวทางที่วางไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ออกนอกลู่ตามสันดานเดิม

ประชาธิปไตยเกิดจากคน และเพื่อคน แต่ระบบ (หรือระบอบ) ประชาธิปไตยมีเอาไว้เป็นแนวทางเตือนให้คนเป็นประชาธิปไตยตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยเฉพาะเมื่อตัวต้องการและได้รับประโยชน์ หรือไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเป็นตัวตัดสินทุกอย่าง เพราะเป็นการเอาเปรียบคนที่เราไม่รู้จักเขาหรือเขาไม่รู้จักเรา

ก็ฝากกันไว้ครับว่า อย่ามุ่งมั่นเล่นงานเฉพาะ “คน” และลืมรักษา “ระบบ” ไม่อย่างนั้นจะอธิบายการกระทำของตนเองได้ยาก.

-------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น