ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...

3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ

2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์

1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์

สด จาก เอเชียอัพเดท

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : ตอนที่ 49 ราวกับไม่เสียดาย


ซีรีส์ยุทธการตอแหลแห่งชาติ : หลังรัฐประหาร
ตอนที่ 49 : ราวกับไม่เสียดาย
โดย : กาหลิบ
พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2550 (หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน)

****************************************************************************
รัฐประหารจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุน ถ้าเป็นคนดีขนาดหนัก ก็อาจทำให้รัฐประหารนั้นกลายเป็นของดีได้

****************************************************************************

ราวกับไม่เสียดาย

หลายคนบอกว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องแปลกแหวกแนว ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกในสังคมที่คนรู้แล้วว่าสิทธิและเสรีภาพนั้นสำคัญยิ่ง ขนาดถวายชีวิตได้

ผมยอมรับว่ารู้แปลกๆ เช่นกัน ที่เกิดการยึดอำนาจโดยกำลังในวันที่ ๑๙ กันยายน และเราก็เคลื่อนผ่านวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ครบรอบสามสิบปี และกำลังจะเคลื่อนถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม โดยไม่รู้สึกอับอายอะไรนัก

รู้สึกลึกๆ แต่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ นั่นก็ยังดี แต่ไม่รู้สึกรู้สมเลยนั้นอยู่ข้างจะแปลก เห็นจะต้องจุดเทียนส่องหาจิตวิญญาณ คล้ายกับที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ท่านจุดตะเกียงกลางวันแสกๆ ในช่วงต้นๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์เสียแล้วกระมัง

ครับ ทำไมรู้สึกว่าคนจำนวนมากไม่เสียดายประชาธิปไตยก็ไม่รู้สิ

หรือการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างสุภาพ ใช้โทนเสียงสุขุมนุ่มลึก ทำให้รู้สึกสูญเสียน้อยลง

หรือการไม่เสียเลือดเนื้อทำให้คนคิดว่าโชคดีหนักหนา ขนาดคุ้มกะลาหัวได้แล้ว

อาจจะเป็นเพราะคิดว่ารัฐประหารจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุน ถ้าเป็นคนดีขนาดหนัก ก็อาจทำให้รัฐประหารนั้นกลายเป็นของดีได้

เหตุผลหลังสุดนี้เองที่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่า สังคมไทยเห็นการรัฐประหารเป็นคำกลาง ไม่ได้ดีชั่วในตัวของมันเอง รัฐประหารที่ไม่ดีก็มี รัฐประหารที่งามพร้อมก็มี

รัฐประหารที่สร้างความสุขสดชื่น ชนิดที่เปลี่ยนจากอาการซึมเศร้าหม่นหมอง มาเป็นรื่นเริงเบิกบาน และต้องออกเดินยิ้มร่าให้คนทั้งหลายเห็นก็มี

แบบนี้เห็นจะต้องเรียกว่ารัฐประหารส่งเสริมสุขภาพ

โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตชนิดที่บำรุงด้วยยาหรืออาหารเสริมใดๆ ไม่ได้ ยกเว้นแต่ความฉิบหายวายวอดของคนอื่น จะช่วยเยียวยาได้มาก

ส่วนรัฐประหารที่ไม่ดีนั้น เป็นอาการขั้นต้นของโรคร้ายที่เรียกว่ากบฏ นั่นคือมะเร็งที่จะต้องรีบตัดทิ้งโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ลุกลาม แต่หลายครั้งกับหลายคน ตัดไม่ทันและลุกลามไปไกล จนสุดท้ายก็ถึงแก่กาลกิริยา

รัฐประหารที่แพทย์วินิจฉัยผิด ก็ร้ายแรงมาก เพราะในขณะที่ตอนแรกคิดว่าเป็นรัฐประหารส่งเสริมสุขภาพ ความจริงแล้วเป็นเนื้อร้าย ในที่สุดก็จะกลายพันธุ์ไปสู่โรคที่เรียกว่าทรราช ค่อยๆ หมดสภาพไปทีละน้อย ออกจะตายช้า แต่เมื่อตายแล้วจะตายสนิท ลูกหลานก็ต้องตั้งตัวอยู่ในความไม่ประมาท เพราะเป็นโรคที่ติดต่อทางกรรมพันธุ์ได้

เราสนุกกับคำว่า รัฐประหาร ได้ถึงขนาดนี้ เพราะในระดับพื้นฐานของจิตใจแบบไทยแล้วรัฐประหารไม่ใช่ปัญหาอะไร เหมือนไข่เจียวที่ใครๆ ก็เจียวเป็น แต่อร่อยยาก รัฐประหารไม่ใช่ยาพิษที่จะตื่นเต้นกิ๊วก๊าวอะไรในตัวเอง

แค่คำว่ารัฐประหารจึงสร้างความรู้สึกเสียดายมิได้

ต้องรัฐประหาร + กบฏ หรือ รัฐประหาร + ทรราช จึงจะเกิดปัญหามากน้อยไปตามฐานานุรูป

ความเสียดายสิทธิและเสรีภาพในสังคมไทยมีเงื่อนไขที่ละเอียดลึกซึ้ง หากคนทำรัฐประหารได้อย่างถูกอารมณ์ ก็พร้อมที่จะบอกคุ้มดี ไข่เจียวอร่อย เมื่อไหร่ที่ขัดใจขึ้นมานั่นแหละ ความหวงแหนในสิทธิและเสรีภาพจะระเบิดเถิดเทิงออกมาอย่างที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน

รัฐประหาร แปลว่า การประหารรัฐ

รัฐ ในความหมายแบบไทย แปลว่า รัฐบาล ไม่ใช่ รัฐบาล + ดินแดน + ประชากร + อำนาจอธิปไตย แบบที่นักเรียนรัฐศาสตร์ท่องกันมา

การประหารรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่เราไม่ถูกใจ จึงไม่น่าเสียดายอะไรเลย

เมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าเป็นการประหารรัฐที่เราเองก็โดนประหารไปด้วยแล้ว อาจจะรู้สึกขึ้นมาตะหงิดๆ
ตอนนี้ยังก่อน.

---------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น