ความยุติธรรมและความเสมอภาคที่แท้จริงไม่มีในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเลือกข้างและกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ผู้นำการต่อสู้แนวปฏิวัติ...
3. อ.ปิยบุตร-อ.วรเจตน์-คุณดอม-ป้าโสภณ รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์ฯ
2. "ท่านวีระกานต์" รำลึกสี่ปีการจากไป...ลุงสุพจน์
1.จักรภพ รำลึกสี่ปีฯ.. ลุงสุพจน์
สด จาก เอเชียอัพเดท
วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553
ประมุขของรัฐ โดย จักรภพ เพ็ญแข
โดย : จักรภพ เพ็ญแข
ที่มา : คอลัมน์ ผมเป็นข้าราษฎร นสพ.วิวาทะ ไทยเรดนิวส์ ฉบับที่ 40
******************************************************************************
เรื่อง ประมุขของรัฐ
รุ่งขึ้นจากวันพิพากษาคดีทรัพย์สินของครอบครัวนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีคำพูดที่น่าคิดออกจากปากของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้เป็นประธานพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรนำมาขบคิดกันให้มาก
ในการแถลงข่าวตอนเช้าของวันเสาร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ พลเอกชวลิตฯ กล่าวว่า เราต่างก็ต้องต่อสู้กันไปเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ได้ ไม่เฉพาะคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย แต่ร่วมกับกลุ่มพลังต่างๆ ที่ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้วในขณะนี้
และประชาธิปไตยแท้จริงนั้นคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขของรัฐ”
เรื่องนี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะในเวลาที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยชอบยกเรื่อง “ล้มเจ้า” ขึ้นมาโจมตีฝ่ายตรงข้ามคือผู้เรียกร้องหาประชาธิปไตยที่แท้ และแสดงว่าตัวเองจงรักภักดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คาดหวังว่าทำแล้วฝ่ายตรงข้ามตายสนิท ไม่มีทางโงหัวขึ้นมาอีกเลย
ใครจะล้มเจ้า ใครจะจงรักภักดี ให้คนอื่นพูดเถิด ผมไม่สนใจและไม่ปรารถนาจะร่วมสนทนาด้วย บัวที่โผล่พ้นน้ำแล้วทุกช่อ ไม่ควรจะหาทางมุดน้ำลงโคลนหรือหาหินมาทับหัวตัวเองอีกต่อไป
แต่ขอวิสัชนาประโยคนี้ของพลเอกชวลิตฯ กันสักนิด
ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ธรรมศาสตร์เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนมีรัฐบาลในรูปแบบเผด็จการเต็มตัว และแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อย่างกรณีรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายอานันท์ ปันยารชุน พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีอำนาจแท้จริง จะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ในบ้านเมืองก็ได้นั้น ก็มีเสียงกระซิบให้เรียกระบอบการปกครองของเราเองว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แทน “ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” อย่างที่เคยเรียนรู้กันมา จนถึงขั้นปรากฏในตำราเรียนทั่วไป
สิ่งที่กระทบใจก็คือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” กับ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขของรัฐ” มีความแตกต่างกันมาก ทั้งที่ดูเผินๆ แล้วอาจนึกว่ากำลังพูดเรื่องเดียวกันอยู่
หนึ่งวลีและหนึ่งประโยคนี้อยู่ห่างกันประมาณห้าแสนไมล์ทะเลเห็นจะได้
ต้องยอมรับว่า เท่าที่ผ่านมาผมไม่ได้ตื่นเต้นกับภารกิจ “โซ่ข้อกลาง” ของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีนัก เพราะไม่รู้ท่านจะเชื่อมโซ่ข้อไหนเข้าด้วยกัน ระหว่างเหล็กกล้าหรือเหล็กน้ำพี้ หรือจะคว้าเหล็กสนิมเขลอะมาพ่วงอยู่ในโซ่ภายใต้คำว่าสมานฉันท์ แต่ท่านพูดประโยคนี้ออกมาทำให้เรดาร์ประชาธิปไตยชูชันขึ้นมาทันทีทันควัน
จะเพราะว่า “ภาวะวิสัย” ของบ้านเมืองมันถึงที่แล้วก็ไม่รู้ ท่านจึงพูดและ (อาจจะ) ทำแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ท่านพูดเรื่อง “ปฏิวัติ” แล้วไม่ทำ เมื่อครั้งครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกควบผู้บัญชาการทหารสูงสุดภายใต้รัฐบาลของคุณเปรม
แทรกตรงนี้หน่อยว่า การ “ปฏิวัติ” ของท่านในครั้งนั้นไม่ใช่เข้ายึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร แต่เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยในเมืองไทยอย่างแท้จริง ถึงระดับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกันทีเดียวล่ะ
คราวนี้จะถึงเวลาแล้วก็ไม่รู้?
ความเป็น “ประมุขแห่งรัฐ” ของกษัตริย์องค์ใดก็ตาม หมายความว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ในระดับสูงกว่าการเวียนว่ายตายเกิดทางการเมือง เพราะไม่ฝักใฝ่อำนาจทางการเมือง หรือ ไม่ “เล่นการเมือง” จนได้รับความเคารพนับถือให้เป็นกรรมการผู้ทรงเกียรติของรัฐ สามารถทำพิธีแต่งตั้งผู้นำการเมือง โดยที่ไม่ต้องเปลืองตัวไปกับเขา
การประกอบพระราชพิธีหรือรัฐพิธีก็มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมองแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมือง สามารถเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของรัฐได้เต็มที่
แต่ความเป็น “ประมุขเชิงระบอบ” นั้นคนละเรื่องทีเดียว เอากระบวนการทางการเมืองทั้งหมดขึ้นมาแบกไว้บนบ่า คอยรองรับความร้อนแรงทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา
การเมืองคือเรื่องของอำนาจ และอำนาจเป็นปิศาจที่จำเป็นในการบริหารบ้านเมือง เป็นคุณและเป็นโทษในขณะเดียวกัน สถาบันกษัตริย์ที่ลงมาอยู่ในฐานะนี้ก็จะไม่ต่างกับนักการเมืองและต้องได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประหนึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ยิ่งสถาบันกษัตริย์ใดมีกฎหมายห้ามวิจารณ์ ก็ยิ่งทำให้คนวิจารณ์ลงใต้ดิน เสียหายหนักกว่าบนดินเพราะควบคุมได้ยาก ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาเป็นผลลบต่อสถาบันกษัตริย์
สถาบันกษัตริย์ในบางประเทศอย่างอังกฤษ ดำรงอยู่ได้หลังยุค โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เพราะเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์กันเต็มที่ ไม่มีลมที่อัดเก็บไว้ในลูกโป่ง ไม่นั่งทับระเบิดเวลาและหลอกตัวเองไปวันๆ ว่า “แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” เหมือนชื่อนิยายของ เอริค มาเรีย เรอมาร์ค
ทางเลือกก็ชัดเจนครับ
๑. ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๒. ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ
จะยึดทรัพย์ ริบราชบาตร หรือจะยุบพรรคกันอีกสักร้อยครั้ง ทำไปเถอะครับ เรื่องขี้ผง มาถึงวันนี้มันไม่สลักสำคัญอะไรแล้วล่ะ
เรื่องสำคัญคือเอาหัวชนกันแล้วพิจารณาทางเลือกทั้งสองทางนั้น โดยไม่เสแสร้ง ไม่ดัดจริต และไม่ต้องมาดีดดิ้นแบ่งคนไทยออกเป็นฝ่ายล้มเจ้าและฝ่ายจงรักภักดี
เตือนด้วยความหวังดีว่า ถ้าไม่เลิกเล่นเกมแบ่งประเทศกันเหมือนเด็กๆ มันจะกลายเป็นจริงเข้าสักวันหนึ่ง
ระวังว่าสิ่งที่อธิษฐานไว้จะเป็นจริง... Be careful what you wish for!
-------------------------------------------------------------------------------
TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146 ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน) Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)
-------------------------------------------------------------------------------
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น